90 วันที่กฎหมายอนุญาตให้คุณแม่ลาคลอดได้นั้นผ่านไปไวเหมือนโกหก คุณแม่ต้องกลับไปทำงานกันแล้วแทบจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว คุณแม่ลูกอ่อนจึงควรมีเช็คลิสต์เตรียมพร้อมสิ่งต่างๆ เมื่อถึงวันที่ต้องจากลูกไปทำงานจะได้รู้สึกมั่นใจ มีสมาธิกับงานจริงๆ ไม่มาคอยห่วงลูก เอนฟาจะช่วยจัดระเบียบชีวิตคุณแม่ทำงานทั้งหลายกันค่ะ
มาเช็กกันดูค่ะว่าก่อนถึงเวลากลับไปทำงาน คุณแม่ได้ทำหรือตระเตรียมสิ่งเหล่านี้แล้วหรือยัง
ช่วง 1 เดือนแรกหลังคลอด
สำหรับคุณแม่ลูกอ่อนที่เพิ่งคลอดลูกมาในช่วงนี้ ให้พยายามเทความสนใจไปที่การปรับตัวของลูกเลยค่ะ ตอนนี้ความสำคัญหลักๆ คือการมุ่งมั่นให้น้ำนมแม่ให้สำเร็จ ค่อยปรับตัวเข้าหาลูก และเริ่มปั๊มนมเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด
อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อนไปทำงาน
-
หาข้อมูลคุณแม่ทำงานที่เลี้ยงด้วยน้ำนมแม่
ลองคุยกับเพื่อนคุณแม่ท่านอื่นที่มีประสบการณ์ในการให้นมว่ามีอะไรที่ควรจะต้องรู้ไว้ก่อนบ้าง วันหนึ่งลูกต้องกินประมาณกี่ออนซ์ การเก็บรักษานม กระเป๋าเก็บนมแบบไหนเวิร์คสุด
ช่วงลาคลอด 3 เดือน คุณแม่ควรปั๊มนมเก็บเป็นสต็อกไว้ให้มากพอสมควร ประมาณ 30-50 ถุง ถุงๆ ละ 2-4 ออนซ์ เก็บน้ำนมที่ปั๊มได้ใส่ถุงเก็บน้ำนมเขียนวันที่ เวลาที่เก็บไว้ แล้วช่วงคุณแม่กลับมาทำงานก็ทยอยเอานมที่ปั๊มก่อนออกมาให้ลูกกินก่อน -
ฝึกทั้งคุณแม่และลูกน้อย
ลองปั๊มนมในช่วงเวลาที่คุณแม่ถนัด ดูว่าเราไปถึงที่ทำงานกี่โมง ปั๊มทุกๆ 2-3 ชั่วโมงจะตรงกับเวลาเท่าไหร่ นมที่ได้ต่อวันจะหมุนเวียนในสต็อกกี่ออนซ์ ตรงนี้คุณแม่คำนวณตามการกินของลูกได้เลย รวมทั้งฝึกลูกให้ดูดนมจากขวดเอาไว้ด้วย
-
คุยกับหัวหน้าและฝ่าย HR
แจ้งว่าจะกลับไปทำงานวันไหน ทางบริษัทเองจะได้เตรียมแผนงานว่าเราได้กลับไปรับผิดชอบงานและเตรียมส่งต่องานในช่วงที่เราหายไป และแจ้งด้วยว่าจะขอปั๊มนมที่บริษัทด้วย และถ้าที่บริษัทไม่มีห้องปั๊มนม คุณแม่อาจต้องหามุมปั๊มนมใกล้ๆ โต๊ะทำงาน โดยเตรียมผ้าคลุมและเครื่องปั๊มนมแบบปั๊มมือ
-
มองหาคนที่จะเลี้ยงลูกให้เรา
ข้อนี้สำคัญมากและคุณแม่เองก็คงต้องเลือกคนที่ไว้ใจได้ มีประสบการณ์หรือทุ่มเทเวลาในการเลี้ยงเด็ก คุณแม่ก็จะไปทำงานได้อย่างสบายใจ ถ้ามีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายหรือญาติๆ ก็แค่พูดคุยให้รายละเอียดไว้ว่าลูกของเราจะกินนอนหรือมีลักษณะเป็นยังไง ถ้าเป็นพี่เลี้ยงก็ต้องสัมภาษณ์ถึงวิธีคิด ทัศนคติต่างๆ รวมทั้งสอบถามและหาข้อมูลศูนย์เลี้ยงเด็กที่เชื่อมั่นได้จากคนอื่นๆ
-
ติดอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน
หน้าที่นี้ยกให้คุณพ่อดูแลเลยดีกว่า พวกของไฮเทคกล้องวงจรปิดที่จะคอยดูลูกของเราระหว่างวันผ่านทางแอปพลิเคชัน เป็นต้น
-
เตรียมตัวปั๊มนม ในที่ทำงานให้พร้อม
ผ้าคลุมมีหรือยัง เสื้อเปิดเพื่อให้ปั๊มนมง่ายๆ เครื่องปั๊มนมพกพาแรงดูดดีๆ กระเป๋า กระติก น้ำแข็งแพ็ค ฯลฯ เตรียมพร้อมหรือยัง -
ลองออกไปทำธุระให้ลูกกับคนเลี้ยงได้อยู่ด้วยกัน
คุณแม่ควรให้พี่เลี้ยงมาอยู่กับลูกก่อนคุณไปทำงานสัก 2-3 วัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างคนเลี้ยงกับลูก ลูกจะได้ไม่รู้สึกแปลกหน้า ตอนใกล้ไปทำงานให้เวลาลูกได้ปรับตัวอยู่กับคนเลี้ยงตามลำพังประมาณ 2-3 ชั่วโมง จะได้ฝึกการให้นม อุ้มให้คุ้นมือ และจัดการกับปัญหาเมื่อลูกงอแง
เมื่อต้องไปทำงาน
-
วางแผนเวลากับทุกสิ่ง
คุณแม่ต้องวางแผนว่าจะเอาลูกเข้านอนตอนกี่ทุ่มก่อนวันไปทำงาน ตื่นมาให้ลูกกินนม อาบน้ำ เตรียมอุปกรณ์ ออกจากบ้านกี่โมง กลับกี่โมง เวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าทุกอย่างเป๊ะ ก็จะเข้าที่ได้ง่ายมาก
-
ตั้งใจเป็น Working Mom
เมื่ออยู่ที่ทำงาน แน่นอนว่าความคิดถึงลูกคงจะมีล้นปรี่ พาลให้น้ำตาไหลได้ แต่การห่างครั้งนี้คือหน้าที่ที่เรามีเป้าหมายของความมั่นคงในชีวิต และการเป็นแม่ทำงานหรือ Working Mom ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป ความรักและความผูกพันกับลูกนั้น กลับมาบ้านก็เติมให้กันได้ทุกวัน เมื่ออยู่ที่ทำงานก็ทำงานให้เต็มที่ค่ะ
-
วางแผนการปั๊มนมที่ทำงาน
ขณะอยู่ที่ทำงาน ให้คุณแม่เริ่มปั๊มหรือบีบน้ำนมทุกครั้งที่รู้สึกว่าเต้านมตึงคัด หรือในช่วงเวลาที่เหมาะที่สุด เช่น ก่อนเริ่มงาน พักเที่ยง หรือบ่าย เลือกตามสะดวก และไม่ควรเว้นช่วงนานเกิน 3 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมอย่างต่อเนื่อง
-
ควรเลือกสถานที่ปั๊มนมที่ปลอดภัย มิดชิด และเป็นมุมสงบ
-
นมที่ปั๊มได้ควรเก็บในภาชนะที่สะอาด แนะนำว่าควรเป็นขวดปากกว้าง หรือถุงเก็บน้ำนมจะได้ไม่ลำบากเวลาปั๊มหรือบีบ และต้องล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนปั๊มนม และอย่าลืมว่าการเก็บนมใส่ถุงต้องรีดอากาศออกก่อนปิดถุงทุกครั้ง
-
นมที่ปั๊มใส่ภาชนะเรียบร้อยแล้ว ถ้าที่ทำงานมีตู้เย็น ให้เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา เมื่อเดินทางกลับบ้านจึงย้ายมาใส่กระติกหรือกระเป๋าแช่แพ็คน้ำแข็งเพื่อนำกลับไปแช่ตู้เย็นที่บ้าน เตรียมไว้ให้ลูกกินวันรุ่งขึ้นเมื่อแม่ไปทำงาน
-
การเก็บน้ำนมควรแยกเก็บเป็นมื้อๆ เขียนวันที่และเวลาที่ปั๊มกำกับไว้ จะได้รู้ว่าต้องเอาถุงไหนมาให้ลูกกินก่อน
-
ในตอนกลางวัน หากคุณแม่ไม่สามารถปั๊มนมตามตารางได้ แนะนำให้คุณแม่มาปั๊มชดเชยตอน เวลา 23.00-24.00 น. กับตี 5 เพิ่มด้วย เพื่อให้ร่างกายยังคงสร้างน้ำนมอยู่ เพราะหากไม่ได้ปั๊มนมเลยในตอนกลางวันและกลางคืน ร่างกายก็จะหยุดสร้างน้ำนมในที่สุด
เมื่อคุณแม่ลูกอ่อนได้ทำเช็คลิสต์เหล่านี้แล้ว เชื่อมั่นว่าคุณแม่จะกลับไปทำงานได้อย่างปลอดโปร่งใจมากขึ้นค่ะ