Enfa สรุปให้
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน ขอทารกเพศชายจะมีน้ำหนักประมาณ 7.0 กิโลกรัม สูงประมาณ 63.9 เซนติเมตร ส่วนทารกเพศหญิงวัย 4 เดือน หนักประมาณ 6.4 กิโลกรัม สูงประมาณ 62.1 เซนติเมตร
- เด็ก 4 เดือน จะมีพัฒนาการของสมอง ตา และกล้ามเนื้อคอ สามารถทำงานร่วมกันมากขึ้น เพื่อให้ลูกน้อยสามารถเงยหน้าขึ้นมองซ้ายมองขวาและมองไปรอบ ๆ ได้ สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลมากขึ้น
- เด็ก 4 เดือน จะมีพัฒนาการสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น เริ่มควบคุมกล้ามเนื้อคอได้ดีจนสามารถยกศีรษะได้ 90 องศา และหันหน้าไปทิศต่าง ๆ ได้ เริ่มเหยียดแข้งเหยียดขาได้อิสระ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 4 เดือน
• การกินของลูกน้อยวัย 4 เดือน
• การขับถ่ายของลูกน้อยวัย 4 เดือน
• การนอนหลับของลูกน้อยวัย 4 เดือน
• ทารก 4 เดือน เป็นแบบนี้ ปกติหรือผิดปกติกันแน่?
• พัฒนาการเด็ก 4 เดือน
• กระตุ้นพัฒนาการลูก 4 เดือนยังไงดี
• ของเล่นเสริมพัฒนาการ 4 เดือน
• ตารางเลี้ยงลูก 4 เดือน
• ไขข้อข้องใจเรื่องทารกวัย 4 เดือนกับ Enfa Smart Club
เด็ก 4 เดือน เป็นช่วงวัยที่พัฒนาการด้านต่าง ๆ สามารถแสดงออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย การเคลื่อนไหว สติปัญญา และการเรียนรู้ ทารกวัยนี้เริ่มที่จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งรอบข้างมากขึ้น อยากจะเล่น อยากจะสนุกกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณพ่อคุณแม่มาดูกันว่า เจ้าตัวเล็กวัย 4 เดือนนี้ มีอะไรให้ต้องคอยติดตามบ้างนะ
น้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก 4 เดือน
เมื่อทารกเข้าเดือนที่ 4 ทารกก็จะมีรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น และมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนจะมีน้ำหนักและส่วนสูงที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่ทารกวัย 4 เดือนมีน้ำหนักและส่วนสูงที่เกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น
น้ำหนักทารก 4 เดือน
น้ำหนักของทารกวัย 4 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้
- ทารกเพศชายวัย 4 เดือน หนักประมาณ 7.0 กิโลกรัม
- ทารกเพศหญิงวัย 4 เดือน หนักประมาณ 6.4 กิโลกรัม
ส่วนสูงทารก 4 เดือน
ส่วนสูงของทารกวัย 4 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้
- ทารกเพศชายวัย 4 เดือน สูงประมาณ 63.9 เซนติเมตร
- ทารกเพศหญิงวัย 4 เดือน สูงประมาณ 62.1 เซนติเมตร
การกินของลูกน้อยวัย 4 เดือน: เด็ก 4 เดือนกินอะไรได้บ้าง
ทารกวัย 4 เดือน ยังไม่ควรที่จะกินอาหารชนิดอื่น ๆ ค่ะ เพราะระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารของทารกนั้นยังทำงานได้ไม่เต็มระบบ ดังนั้น แหล่งโภชนาการที่สำคัญที่สุดก็คือ นมแม่ และทารกควรจะได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวและต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานสูงสุด 2 ปี
โภชนาการสำหรับทารก 4 เดือน
นมแม่ถือเป็นอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับทารกวัยแรกเกิด - 6 ซึ่งในนมแม่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญมากมายหลายชนิด ทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันที่มีส่วนช่วยให้ทารกแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่ายด้วย
โดยสารอาหารสำคัญที่พบได้ในนมแม่ เช่น
- โปรตีน ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ เวย์และเคซีน ประมาณ 60% เป็นเวย์โปรตีน และอีก 40% เป็นเคซีนโปรตีน ด้วยสัดส่วนที่สมดุลของโปรตีนทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงช่วยให้ทารกสามารถที่จะดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย สามารถย่อยได้ง่าย อีกทั้งโปรตีนยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของกล้ามเนื้อ
- ไขมัน ในนมแม่มีไขมันที่ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานหลักของทารก อีกทั้งไขมันในนมแม่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาสมอง และช่วยในการดูดซึมวิตามินที่สามารถละลายในไขมันได้ดี
- วิตามินต่าง ๆ ทารกจะได้รับวิตามินต่าง ๆ ผ่านนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินเค วิตามินดี วิตามินอี เป็นต้น ถามว่าวิตามินเหล่านี้มาจากไหน ก็มาจากอาหารการกินต่าง ๆ ที่คุณแม่กินเข้าไปนั่นแหละค่ะ ยิ่งคุณแม่กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ทารกก็จะได้รับสารวิตามินที่สำคัญเหล่านั้นด้วย
- คาร์โบไฮเดรต ในนมแม่นั้นจะมีสารอาหารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แลคโตส ซึ่งถือว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตหลักที่พบในนมของแม่ แลคโตสนี้จะช่วยลดปริมาณของแบคทีเรียที่ไม่ดีในกระเพาะอาหาร มากไปกว่านั้น แลคโตสยังทำหน้าที่สำคัญคือ ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม เพราะสารอาหารเหล่านี้จะทำช่วยเพิ่มปริมาณของแบคทีเรียชนิดดีในกระเพาะอาหารของทารก
- MFGM นมแม่มี MFGM หรือ Milk fat globule membrane ซึ่งเป็นสารอาหารเฉพาะที่พบได้ในนมแม่หรือนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น โดย MFGM ประกอบไปด้วย โพลาร์ลิพิด (Polar lipid) ไกลโคลิพิด (Glycolipid) และโปรตีน โดย MFGM ในนมแม่ มีส่วนช่วยพัฒนาระบบประสาท ป้องกันการติดเชื้อต่างและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
ปริมาณนมที่เหมาะสมสำหรับลูกวัย 4 เดือน
เมื่อทารกเริ่มโตขึ้น ปริมาณนมแม่ต่อออนซ์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แล้วแบบนี้ ลูก 4 เดือนกินกี่ออนซ์กันนะ?
สำหรับปริมาณนมแม่ในแต่ละวันที่เหมาะสมกับเด็กทารกวัย 3 เดือนนั้น คุณแม่ควรจะต้องให้ทารกกินนมครั้งละ 4-6 ออนซ์ ในทุก ๆ 4-5 ชั่วโมง
การขับถ่ายของเด็ก 4 เดือน
เรื่องของการขับถ่าย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตและเอาใจใส่อยู่เสมอนะคะ เพราะบางครั้งอุจจาระของทารกก็สามารถที่จะบอกถึงความผิดปกติได้เหมือนกัน
ทารก 4 เดือนถ่ายวันละกี่ครั้ง
เจ้าหนูวัย 4 เดือนนั้นจะมีการขับถ่ายบ่อยมากขึ้น สังเกตได้ว่าผ้าอ้อมจะแฉะแทบทั้งวัน ต้องเปลี่ยนกันทุกชั่วโมง ส่วนจะกี่ครั้งต่อวันนั้น อาจจะแตกต่างกันไปค่ะ เด็กบางคนอาจจะอึ 2-3 ครั้ง เด็กบางคนอาจจะอึ 4-5 ครั้งต่อวัน หรืออาจจะ 2-3 วัน ถึงจะอึกทีหนึ่งก็มี
ตราบเท่าที่อุจจาระของทารกยังนิ่มอยู่ แม้ว่าจะ 2-3 วันถึงจะถ่ายออกมาสักที ก็ยังถือว่าปกติค่ะ อุจจาระที่ผิดปกติของทารกคือ อุจจระที่เป็นก้อนแข็ง แห้ง และเบ่งออกยาก
สีอุจจาระทารก 4 เดือนเป็นอย่างไร
เด็กทารกที่กินนมแม่ จะมีอุจจาระเป็นสีเหลืองเข้มค่ะ ดังนั้น สีอุจจาระของทารกวัย 4 เดือน ก็จะเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้มค่ะ เนื่องจากทารกในวัยนี้จะได้รับอาหารแค่เพียงนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น
การนอนหลับของเด็ก 4 เดือน
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และแข็งแรง จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกน้อยเข้านอนให้เหมาะสม
ทารกช่วงอายุ 4 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน หรือประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 4 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 10 ชั่วโมง
เด็ก 4 เดือน เป็นแบบนี้ ปกติหรือผิดปกติกันแน่
ทารกวัย 4 เดือน มีพฤติกรรมและพัฒนาการตามวัยหลายอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต บางอย่างอาจเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการเด็กในวัยนี้ แต่บางอย่างก็อาจจะเป็นสัญญาณความผิดปกติที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยหรือรับการรักษา
- ชอบอมมือ
ลูก 4 เดือนชอบอมมือ อาการแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไปของเด็กทารกวัยนี้ค่ะ การอมมือจะทำให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย สงบ และปลอดภัย และเมื่ออายุมากขึ้นอาการชอบอมมือก็จะค่อย ๆ หายไปได้เองค่ะ
สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือนิ้วมือที่สกปรก หรือทำความสะอาดไม่เพียงพอ อาจจะทำให้ทารกได้รับสิ่งสกปรกหรือเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ควรทำความสะอาดมือของทารกอยู่เสมอ
หรืออาจจะทดแทนด้วยการใช้จุกนมปลอมแทนก็ได้นะคะ จุกนมปลอมจะดีกว่าจุกหลอกเพราะสามารถเลิกได้ง่ายกว่า แต่เวลาให้ลูกใช้จุกนมปลอม อย่าลืมทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังใช้งานให้เรียบร้อยด้วยนะคะ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ
- ชอบกรี๊ด
ลูก 4 เดือนชอบกรี๊ด ถือเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ค่ะ การที่เด็กกรี๊ดนั้นถือเป็นกระบวนการสื่อสารอย่างหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเด็กยังไม่สามารถที่จะพูด หรือควบคุมการออกเสียงของตนเองได้ ไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ออกมา ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดที่เด็กจะสามารถพยายามสื่อสารเป็นภาษาของตัวเองออกมาได้ ก็คือการเปล่งเสียงกรี๊ดออกมานั่นเองง
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องคอยเช็กดูด้วยว่าลูกกรี๊ดเพราะมีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือเปล่า เช่น มีแมลงสัตว์กัดต่อย หรือบาดเจ็บตรงไหนไหม
- ชอบก้มหน้า
ลูก 4 เดือนชอบก้มหน้า เด็กวัยนี้เริ่มสามารถที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากขึ้น สามารถที่จะหันซ้าย หันขวา ได้คล่องตัว บางครั้งเด็กจึงอาจจะมีการก้มหน้ามองแขน มองขาตัวเอง หรือก้มมองสิ่งต่าง ๆ อยู่ ไม่ถือว่าผิดปกตินะคะ
แต่ถ้าหากว่าทารกเอาแต่ก้มหน้า และไม่สามารถจะประคองศีรษะให้ตั้งตรงได้ หรือไม่สามารถหันซ้าย หันขวาได้ กรณีนี้ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยค่ะ
- ชอบกระโดด
ทารก 4 เดือนชอบกระโดดไม่ถือว่าอันตรายค่ะ โดยเฉพาะเวลาคุณพ่อคุณแม่ประคองตัวให้ยืนขึ้น ก็จะพบว่าลูกน้อยชอบที่จะกระโดด นั่นเป็นเพราะพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของทารกเริ่มที่จะทำได้มากขึ้นแล้ว จึงมีความกระตือรือร้นที่อยากจะเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำให้เวลาคุณพ่อคุณแม่ประคองตัวให้ยืนขึ้น ทารกจึงชอบใจ กระโดดขึ้นลง อยากเล่น อยากรู้ อยากเห็น
- ดูดปากตัวเอง
ทารก 4 เดือนดูดปากตัวเอง ถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ โดยอาจเกิดจากฟันล่างกำลังจะเริ่มแทงขึ้น หรืออาจเป็นเพราะกำลังหิว หรือบางครั้งก็เป็นการทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายใจ ปลอดภัย คล้ายกับการดูดนิ้วนั่นเองค่ะ
พัฒนาการเด็ก 4 เดือน
เมื่อลูกน้อยเข้าสู่เดือนที่ 4 คุณแม่จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของลูกตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถที่จะพบเห็นพัฒนาการ 4 เดือนของลูกน้อยเพิ่มมากขึ้น
โดยพัฒนาการทารก 4 เดือน หลัก ๆ ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน มีดังนี้
พัฒนาการทารกด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา
• สมองของลูกน้อยมีพัฒนาการการเรียนรู้มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่สามารถมองเห็นได้ในระยะไม่เกิน 7 – 8 นิ้ว ตอนนี้สามารถมองเห็นในระยะที่ไกลกว่าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
• สมอง ตา และกล้ามเนื้อคอทำงานร่วมกันมากขึ้น เพื่อให้ลูกน้อยสามารถเงยหน้าขึ้นมองซ้ายมองขวาและมองไปรอบ ๆ ได้
• ดวงตาและมือทำงานประสานกันได้ดีขึ้น ลูกจะสามารถจับสิ่งของด้วยมือทั้งสองได้ และสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้
• เริ่มเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นคนละส่วนกับสิ่งแวดล้อมและสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นเป็นผลจากการกระทำของแก เช่น หากทำของเล่นหลุดมือ ลูกจะมองตามของที่หล่นและมองที่มือตัวเอง
พัฒนาการทารกด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว
• ตอนนี้ลูกควบคุมกล้ามเนื้อคอได้ดีจนสามารถยกศีรษะได้ 90 องศา และหันหน้าไปทิศต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะจับนอนคว่ำหรือนอนหงาย รวมทั้งสามารถพลิกคว่ำพลิกหงายไปมาได้แล้ว
• สามารถเหยียดแข้งขาได้ตามอิสระ บางครั้งก็ทำท่าเหมือนเครื่องบินร่อน คือเงยหน้า แอ่นอก เหยียดแขนขาในขณะนอนคว่ำ เวลานอนหงายมักจะก้มหน้ามองมือหรือคว้าจับเท้าตัวเองเล่น
• เริ่มพัฒนากล้ามเนื้อลำตัวเพื่อเตรียมพร้อมสู่การนั่งในเดือนต่อไปแล้ว การจับลูกนั่ง พิงเบาะ หรือพิงตัวคุณแม่บ่อย ๆ จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อส่วนนี้ได้ดี ซึ่งลูกเองก็ดูเหมือนจะชอบให้คุณแม่จับนั่งบ่อย ๆ ด้วย
• กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างนิ้วและมือแข็งแรงขึ้นมาก ฉะนั้นหากคุณแม่ไว้ผมยาวก็ควรจะรวบไว้ให้เรียบร้อย เพราะลูกอาจดึงผมได้
• เมื่อลูกเคลื่อนไหวได้มากขึ้น พลิกคว่ำพลิกหงาย คว้าจับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ได้มาก คุณแม่ต้องคอยดูแลเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดด้วย
พัฒนาการทารกด้านภาษา และการสื่อสาร
• ลูกจะส่งเสียงอืออาในลำคอได้นาน 10 – 20 นาที ชอบเล่นน้ำลายและส่งเสียงคล้ายพูดคุยอยู่คนเดียว สังเกตได้จากน้ำเสียงที่จะมีระดับสูง ๆ ต่ำ ๆ
พัฒนาการทารกด้านอารมณ์ และสังคม
• จำหน้าคุณแม่และคนคุ้นเคยได้มากขึ้น และจะชอบมองหน้าคนจริง ๆ มากกว่ารูปภาพคน
• สามารถแยกความแตกต่างระหว่างคนกับสิ่งของ ตัวเองกับสิ่งแวดล้อมได้บ้างแล้ว โดยคุณแม่สามารถสังเกตได้จากอาการ “ติด” สิ่งของบางอย่าง เช่น ติดผ้า หรือของนุ่ม ๆ ซึ่งนับเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าอีกขั้น แตกต่างจากช่วง 3 เดือนแรกที่ลูกจะยังคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของแม่และสิ่งแวดล้อมอยู่ อาการติดสิ่งของลูกวัยนี้ไม่เป็นอันตราย แต่เป็นวิธีปลอบประโลมใจตัวเองของลูก
• คุณแม่จะสังเกตได้ว่าลูกชอบเล่นของเล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นพิเศษ เรียกว่ามีของเล่นชิ้นโปรดของตัวเองแล้ว
• ยิ้มและหัวเราะเมื่อถูกใจหรือมีความสุข และจะแผดเสียงร้องดังสนั่นหวั่นไหวเพื่อร้องเรียก เมื่อถูกปล่อยให้อยู่คนเดียวนาน ๆ หรือเมื่อรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว
• สนใจและอยากปฏิสัมพันธ์กับคนและสิ่งรอบตัวมากขึ้น รวมทั้งเริ่มสนใจมองและยิ้มให้กับเงาของตัวเองในกระจกบ้างแล้ว
กระตุ้นพัฒนาการเด็ก 4 เดือนยังไงดี
เพื่อให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ แข็งแรง และสมวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ทุกวัน ดังนี้
1. พัฒนาการทารกวัย 4 เดือน ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้
มองกระจก ฝึกการเรียนรู้
คุณแม่รู้ไหมว่า สามารถที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้ง่าย ๆ ด้วยการส่องกระจก การชวนทารกส่องกระจกเด็ก ๆ จะสามารถมองเห็นภาพที่ปรากฎตรงหน้า และมีการโต้ตอบกับภาพที่เห็น เช่น เริ่มยิ้ม เริ่มหัวเราะ และเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถจดจ่อกับกระจกได้นานขึ้น คุณแม่อาจจะลองชี้นิ้วไปที่ลูก แล้วเรียกชื่อ จากนั้นก็สลับไปชี้ที่อวัยวะต่าง ๆ พร้อมพูดกำกับว่า นี่คือจมูก นี่คือพุง นี่คือนิ้วมือ วิธีนี้จะช่วยให้เด็กมีสมาธิจดจ่อ และเริ่มจดจำอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของตนเอง
2. พัฒนาการทารก 4 เดือน ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว
วางลูกไว้บนท้อง ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อ
คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่า การให้เจ้าตัวน้อยนอนคว่ำน้อยเกินไป อาจทำให้พัฒนาการเด็ก 3-4 เดือนช้ากว่าวัยของเขาได้ เนื่องจากจะทำให้เบบี๋ไม่มีโอกาสได้ใช้ข้อศอกดันตัวเองขึ้นแล้วมองไปรอบ ๆ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณคอและกล้ามเนื้อส่วนหลังค่ะ
มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญว่า เด็กเล็ก ๆ ควรจะต้องมีเวลาที่ได้นอนคว่ำในช่วงขณะที่เขาตื่น เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทารก 4 เดือนที่เหมาะสม เนื่องจากขณะที่นอนคว่ำ หน้าท้องราบติดกับพื้น ทารกจะได้หันหน้ามองหาของเล่น และใช้สายตามองไปรอบ ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อคอ ไหล่ และต้นคอส่วนหลังของศีรษะพัฒนา นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่นเวลาลูกนั่งหรือคลานอีกด้วย ที่สำคัญยังช่วยให้เขาได้สายตาเพื่อมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อพัฒนาการเด็ก 4 เดือนในการเรียนรู้ของเขาได้มากกว่าการนอนหงาย ที่ทำได้แค่เพียงมองตรงอย่างเดียว
เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเด็กทารกที่พ่อแม่จับให้นอนหงายตลอดทั้งวัน กับทารกที่ได้นอนคว่ำในระหว่างวัน พบว่าเด็กกลุ่มหลังจะมีพัฒนาการดีกว่า คือ สามารถพลิกตัว คลาน นั่ง ลุก ยืน ไปจนกระทั่งเดินได้เร็วกว่าเด็กกลุ่มแรกค่ะ
3. พัฒนาการทารก 4 เดือน ด้านภาษาและการสื่อสาร
เล่นเกมเรียกชื่อ ปูพื้นฐานภาษาให้ลูกน้อย
ชวนคุณแม่มาเล่นเรียกชื่อกับลูก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทารก 4 เดือน ด้วยการปูพื้นฐานภาษาและการสื่อสารให้กับเขา โดยให้คุณแม่จับลูกนั่งตัก จากนั้นจับส่วนต่างๆ บนหน้าของลูกพร้อมทั้งเรียกชื่อไปด้วย
จากนั้นเลือกสัมผัสส่วนต่าง ๆ บนใบหน้าของลูกสองส่วน โดยแต่ละครั้งต้องพูด " จมูกของ...(ชื่อลูก) " " แก้มของ...(ชื่อลูก) " ทำอย่างนี้ซ้ำหลายๆ ครั้ง
จากนั้นก็จับมือของลูกมาจับหน้าคุณแม่บ้างพร้อมพูดนำ "จมูกของแม่" "แก้มของแม่" จากนั้นให้ถามลูก "จมูกของ (ชื่อลูก) อยู่ที่ไหน" แล้วจับมือลูกไปจับจมูก พร้อมกับพูดว่า "อยู่นี่ไง" อย่าลืมพูดซ้ำในแต่ละส่วนของใบหน้า
การเล่นนี้จะจะช่วยให้ลูกได้ค่อย ๆ รู้จักชื่อตัวเอง และรู้จักส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 4 เดือน ด้านภาษา ด้านความคิดและการเรียนรู้ของลูก
4. พัฒนาการทารก 4 เดือน ด้านอารมณ์และสังคม
เปลี่ยนที่นอน เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ลูก
เด็กเล็ก ๆ ก็มีความเบื่อเช่นเดียวกับเราค่ะ หากอยู่ในบรรยากาศเดิม ๆ เช่น นอนตรงจุดเดิมทุกวัน เขาอาจจะพูดบอกเราไม่ได้ แต่สิ่งเดิม ๆ เหล่านั้นส่งผลต่อการเรียนรู้และอารมณ์ของเขาได้ค่ะ
ดังนั้น เพื่อลดความเบื่อของลูก และกระตุ้นให้ลูกอารมณ์ดี คุณแม่ควรเปลี่ยนที่นอนให้ลูกบ้าง นอกเหนือไปจากที่นอนในห้องนอนแล้ว ควรมีฟูกเล็ก ๆ ที่สามารถเคลื่อนย้าย เพื่อให้ลูกได้เปลี่ยนบรรยากาศในการนอนบ้าง เช่น อาจปูฟูกนอนบนพื้นห้องโปร่ง ๆ ในที่ใกล้โต๊ะทำงานของคุณแม่ หรืออาจจะเอาเด็กใส่รถเข็นแล้วเข็นออกไปในสวนก็ได้เหมือนกันค่ะ
ระหว่างเข็นรถไปมา คุณแม่ก็อย่าลืมชวนลูกคุย ชวนลูกฟังเสียงที่เกิดขึ้น เช่น ใบไม้ ลมพัด เสียงนก ฯลฯ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกมีอารมณ์แจ่มใสมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมาเป็นเด็กอารมณ์ดีได้ไม่ยากค่ะ
ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 4 เดือน
เด็กวัยนี้สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้มากขึ้นแล้ว ดังนั้น ของเล่นเด็ก 4 เดือน จึงควรจะมีความหลากหลาย และอาจจะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย เพื่อเสริมพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ของทารก
โดยของเล่นเด็ก 4 เดือน ที่เหมาะสมตามวัย ได้แก่ของเล่นจำพวก
- ของเล่นแบบปลายเปิด คือของเล่นที่สามารถนำมาเล่นได้หลายแบบ ไม่จำกัดแค่วิธีการเล่นเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เด็กสามารถเริ่มใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น เช่น ตุ๊กตาที่กอดได้ ขณะเดียวกันมีเสียงโต้ตอบได้ โมบายล์ตุ๊กตา
- ของเล่นที่มีการโต้ตอบไปมาได้ เป็นการกระตุ้นให้เด็กมีทักษะการปฏิสัมพันธ์ และฝึกทักษะการสื่อสาร เช่น ตุ๊กตาที่มีเสียงโต้ตอบ กล่องดนตรี สมุดนิทานแบบมีเสียง
- ของเล่นที่ฝึกความเป็นเหตุเป็นผล คือของเล่นที่แสดงให้เด็กเห็นว่า ถ้าหากทำแบบนี้ จะเกิดสิ่งนี้ตามมา เช่น ของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียง เด็กก็จะได้เรียนรู้ว่าของสิ่งนี้ต้องเขย่าก่อน เพื่อให้เกิดเสียงตามมา
สิ่งสำคัญคือ ควรเลือกของเล่นที่มีความปลอดภัย ผลิตจากวัสดุที่ได้มาตรฐาน และเวลาเล่นจะต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่เสมอ เพราะเด็กอาจจะเผลอหยิบของเล่นบางชิ้นเข้าปาก อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ค่ะ
ตารางเลี้ยงเด็ก 4 เดือน
ตารางการเลี้ยงลูกนั้น อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แต่โดยพื้นฐานสำหรับเด็กทารกวัย 4 เดือนนั้น ก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่นักค่ะ เน้นสำคัญอยู่ที่กินให้พอ นอนให้พอ เพื่อให้ทารกได้มีพัฒนาการที่แข็งแรงและสมวัย
- การกิน ทารกวัย 4 เดือนควรได้รับแค่นมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยในแต่ละวันทารกควรจะได้กินนมแม่ครั้งละ 4-6 ออนซ์ ในทุก ๆ 4-5 ชั่วโมงค่ะ
- การนอน ทารกวัย 4 เดือนควรจะนอนให้ได้ประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน หรือประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 4 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 10 ชั่วโมง
- การขับถ่าย จริง ๆ แล้วทารกในวัย 4 เดือนนี้มีการขับถ่ายที่แตกต่างกันไปค่ะ บางวันอาจจะขับถ่าย 3-4 ครั้ง บางวันอาจจะแค่ 1-2 ครั้ง แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะขับถ่ายอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อวัน คอยดูว่าหากทารกไม่ขับถ่ายเลย 1 สัปดาห์ขึ้นไป อาจจะต้องลองพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
- การเล่น ช่วงที่ทารกตื่นนอน อาจจะมีการอุ้มลูกไปเดินเล่น หรือพาลูกเล่นของเล่นบ้าง เพื่อฝึกให้ลูกมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ และเห็นสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ด้วย
ไขข้อข้องใจเรื่องเด็ก 4 เดือนกับ Enfa Smart Club
เด็กอายุ 4 เดือน ชอบกรี๊ด แก้ยังไงดี
ลูก 4 เดือนชอบกรี๊ด ถือเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ค่ะ การที่เด็กกรี๊ดนั้นถือเป็นกระบวนการสื่อสารอย่างหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเด็กยังไม่สามารถที่จะพูด หรือควบคุมการออกเสียงของตนเองได้ ไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ออกมา ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดที่เด็กจะสามารถพยายามสื่อสารเป็นภาษาของตัวเองออกมาได้ ก็คือการเปล่งเสียงกรี๊ดออกมานั่นเอง
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องคอยเช็กดูด้วยว่าลูกกรี๊ดเพราะมีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือเปล่า เช่น มีแมลงสัตว์กัดต่อย หรือบาดเจ็บตรงไหนไหม
มากไปกว่านั้น พยายามไม่ปรากฎตัวเวลาที่ลูกกรี๊ดเร็วเกินไป บางครั้งเด็กสามารถที่จะหยุดกรี๊ดได้ก่อนที่พ่อแม่จะมาถึง การปรากฎตัวทันทีที่ลูกกรี๊ดในทุกครั้ง อาจจะเป็นการปลูกฝังนิสัยการเรียกร้องความสนใจได้ค่ะ เพราะเด็กก็จะซึมซับว่า ถ้ากรี๊ดแล้วพ่อแม่จะมาหา
ลูก 4 เดือนกินกี่มื้อ
ในแต่ละวันทารกวัย 4 เดือน ควรจะได้กินนมแม่ครั้งละ 4-6 ออนซ์ ในทุก ๆ 4-5 ชั่วโมงค่ะ
ทารก 4 เดือนนอนยาก ไม่ยอมนอน รับมืออย่างไร
บางครั้งทารกก็หลับยาก และไม่ยอมนอน กว่าจะกล่อมให้หลับเล่นเอาคุณพ่อคุณแม่หมดแรงเสียก่อน ซึ่งหากเกิดปัญหาเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจสามารถใช้วิธีดังต่อไปนี้เพื่อรับมือได้ค่ะ
- ให้นมลูกตอนกลางวันจนอิ่ม เพราะถ้าให้ลูกกินนมไม่อิ่มจากตอนกลางวัน อาจทำให้หิวตอนกลางคืน และไม่ยอมนอนได้ค่ะ
- อุ้มไป ปลอบไป วิธีเบสิกสุด แต่ก็ได้ผล พยายามอุ้มลูกไปมา เขย่าตัวเบา ๆ ปลอบไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งทารกเริ่มจะเคลิ้มหลับ
- ปรับไฟในห้องนอนให้สลัว แสงไฟที่สว่างมากเกินไป บางครั้งก็รบกวนการนอนของทารกค่ะ ควรปรับแสงไฟให้สลัวหน่อย เพื่อช่วยเพิ่มบรรยากาศให้เหมาะแก่การนอนหลับ
- เริ่มจัดตารางการนอน เด็กวัย 4 เดือนสามารถที่จะเริ่มเข้านอนตามเวลาได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้เข้านอนตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น งีบตอนกลางวันสองครั้ง และให้ลูกได้นอนหลับตอนกลางคืน 10-12 ชั่วโมง
- สร้างสัญญาณการเข้านอน เช่น เริ่มร้องเพลงกล่อมเด็ก เริ่มเล่านิทานก่อนนอน ทำให้เป็นกิจวัตร เด็กจะเริ่มจำว่าเมื่อกิจกรรมแบบนี้เริ่มขึ้น แปลว่าได้เวลาเข้านอนแล้ว
การเลี้ยงทารกแรกเกิด 4 เดือน
การเลี้ยงเด็กทารกวัย 4 เดือน ควรดูแลในทุก ๆ เรื่องเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการกิน การนอน การขับถ่าย การเล่น เพื่อให้ทารกเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และสมวัย
- ทารกวัย 4 เดือน ควรจะได้กินนมแม่ครั้งละ 4-6 ออนซ์ ในทุก ๆ 4-5 ชั่วโมงค่ะ
- ทารกวัย 4 เดือนควรจะนอนให้ได้ประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน หรือประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 4 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 10 ชั่วโมง
- การขับถ่ายของทารกวัย 4 เดือนในแต่ละวันอาจจะไม่เหมือนกันทุกวัน คอยดูว่าถ้าอุจจาระมีลักษระนิ่ม แม้ว่าอาจจะ 2-3 วันถึงจะถ่ายสักทีก็ถือว่าปกติ แต่ถ้าเริ่มมีอุจจาระแข็ง หรือถ่ายยาก ควรพาลูกไปพบแพทย์
- เพื่อฝึกให้ลูกมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ และเห็นสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกออกไปเล่นข้างนอก หรือเล่นของเล่นเสริมพัฒนาการบ้าง
ลูก 4 เดือนเริ่มคันเหงือก ปกติไหม
ปกติแล้วฟันน้ำนมซี่แรกจะเริ่มขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป แต่ก็มีบางกรณีค่ะที่เด็กฟันขึ้นเร็วก่อนกำหนด ดังนั้น เด็กวัย 4 เดือนบางคนจึงอาจจะเริ่มมีอาการคันเหงือก เพราะฟันกำลังจะขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติค่ะ
ลูก 4 เดือนจำเป็นต้องให้อาหารเสริมไหม
ในบางกรณีแพทย์อาจจะแนะนำให้คุณแม่เริ่มทดลองให้เด็กได้กินอาหารเสริมสำหรับเด็กแบบอื่น ๆ บ้าง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้เด็กเริ่มคุ้นเคยกับอาหารใหม่ ๆ
อย่างไรก็ตาม อาหารหลักของทารกวัย 4 เดือนยังคงเป็นนมแม่อยู่นะคะ อาหารอื่น ๆ จะเสริมเข้ามาได้ก็ต่อเมื่อแพทย์เห็นชอบเท่านั้น หากแพทย์ไม่อนุญาต ก็ไม่ควรให้เด็กได้กินอาหารอื่น ๆ นอกจากนมแม่ค่ะ เพราะระบบทางเดินอาหารของทารกบางคนอาจจะยังพัฒนาไม่เต็มที่ การกินอาหารชนิดอื่นนอกจากนมแม่เร็วเกินไป อาจทำให้เกิดการย่อยยาก หรือเสี่ยงต่อปัญหาในลำไส้ได้ค่ะ
- Very Well Family. Your 4-Month-Old Baby’s Milestones & Development. [Online] Accessedhttps://www.verywellfamily.com/your-4-month-old-baby-development-and-milestones-4172533#toc-4-month-old-baby-food. [10 January 2023]
- Very Well Family. Average Baby Weight and Length By Age. [Online] Accessedhttps://www.verywellfamily.com/first-year-infant-growth-431721. [10 January 2023]
- Very Well Family. A Guide to Your Newborn or Infant's Poop. [Online] Accessedhttps://www.verywellfamily.com/breastfeeding-and-baby-poop-whats-normal-431718. [10 January 2023]
- Very Well Family. Why Is My Baby's Poop Green?. [Online] Accessedhttps://www.verywellfamily.com/why-is-my-childs-poop-green-5081667 [10 January 2023]
- What to expect. Nutritional Needs of Babies: the First 12 Months. [Online] Accessedhttps://www.whattoexpect.com/first-year/feeding-baby/nutritional-needs-of-babies/. [10 January 2023]
- What to expect. Here’s How Much Sleep Babies Need. [Online] Accessedhttps://www.whattoexpect.com/first-year/sleep/how-much-sleep-do-babies-need/#notenough. [10 January 2023]
- What to expect. Best Toys for 4-Month-Olds. [Online] Accessedhttps://www.whattoexpect.com/baby-products/toys/best-toys-for-4-month-olds/. [10 January 2023]
- STANFORD MEDICINE CHILDREN'S HEALTH. Infant Sleep. [Online] Accessedhttps://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=infant-sleep-90-P02237. [10 January 2023]
- Kids Health. Your Child's Checkup: 4 Months. [Online] Accessedhttps://kidshealth.org/en/parents/checkup-4mos.html. [10 January 2023]
- Kids Health. Teething Tots. [Online] Accessedhttps://kidshealth.org/en/parents/teething.html. [10 January 2023]
- Healthline. Your Guide to Managing the 4-Month Sleep Regression. [Online] Accessedhttps://www.healthline.com/health/parenting/4-month-sleep-regression. [10 January 2023]
- เรื่องเด็กๆ by หมอแอม. ลูกคอเอียง ผิดปกติไหม?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttps://web.facebook.com/bymoramm/photos/a.2495900240502472/2738815249544302/?paipv=0&eav=AfawaH-bRBFR3ti4EQBxdXtpmWUCKnflix1WbH__cl37bugbVeO9N6qhn4vz8dAj7Tw&_rdc=1&_rdr. [10 มกราคม 2023]
- เลี้ยงลูกตามใจหมอ. ทำไมเด็กถึงร้องกรี๊ด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttps://web.facebook.com/SpoiledPediatrician/posts/2884965371600428/. [10 มกราคม 2023]
- พบแพทย์. ลูกดูดปาก. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com/ถาม/หัวข้อ/ลูกดูดปาก-2 . [10 มกราคม 2023]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 1 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 2 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 3 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 4 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 5 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 6 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 7 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 8 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 9 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 10 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 11 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 1 ขวบ
- ปัญหาทารกไม่ยอมนอน จะรับมืออย่างไรเมื่อลูกงอแงไม่ยอมนอน