ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แม่ญี่ปุ่นมีวิธีพูดกับลูกยังไงนะ ลูกเขาถึงว่าง่ายจัง?

แม่ญี่ปุ่นมีวิธีพูดกับลูกยังไงนะ ลูกเขาถึงว่าง่ายจัง?

Enfa สรุปให้

  • หนังสือวิธีพูดกับลูก “พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น” เป็นหนังสือที่เขียนโดย เทรุโกะ โซดะ แปลโดย ภาวิณี ตั้งสถาพรพงษ์ ของสำนักพิมพ์ Sandclock Books เป็นหนังสือที่สอนวิธีการสื่อสารกับเด็ก รวบรวมคำพูดทำร้ายลูกที่พ่อแม่หลายคนอาจจะเผลอใช้กับลูกบ่อย ๆ พร้อมยกตัวอย่างจากสถานการณ์จริง
  • หลายคนมักเห็นเด็กญี่ปุ่นรับฟังหรือชื่อฟังคำพูดของแม่ญี่ปุ่น โดยวิธีพูดกับลูกของแม่ญี่ปุ่นนั้น จะไม่ใช้คำพูดที่ไม่ดี ไม่บังคับ หรือห้ามลูกในสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำด้วยตัวเอง รวมทั้งแม่ญี่ปุ่นไม่ใช้คำพูดซ้ำเติมเมื่อลูกทำอะไรผิดพลาด
  • คำพูดของแม่ที่พูดกับลูก มีผลกับพฤติกรรมของเด็กในทุกช่วงวัย ซึ่งหากแม่และครอบครัวใช้คำพูดที่ดีและมีเหตุผล จะฝึกให้เด็กได้เรียนรู้ เข้าใจ และมั่นใจในตัวเองได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • แม่ญี่ปุ่นทำอย่างไรให้ลูกฟัง
     • ตัวอย่างคำพูดที่ทำร้ายและวิธีพูดกับลูกที่แม่ญี่ปุ่นใช้

แม่ญี่ปุ่นทำอย่างไรให้ลูกฟังกันนะ


เป็นความทึ่งมากๆ ของเราเวลาเห็นเหล่าคุณแม่ญี่ปุ่นเขาคุยกับลูก แค่พูดค่อย ๆ ลูกก็เชื่อแล้วก็ทำตาม เคยเห็นแม่คนหนึ่งนั่งคุยกับลูกบนรถไฟฟ้า โห! ลูกฟังเสร็จ ยังหันมายิ้มให้แม่อีก เลยไปหาข้อมูล ถามจากเพื่อนญี่ปุ่นที่มีลูก และอ่านหนังสือเพิ่ม เจอเล่มนี้ “พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น” เขียนโดย เทรุโกะ โซดะ แปลโดย ภาวิณี ตั้งสถาพรพงษ์ ของสำนักพิมพ์ Sandclock ดีงามจริงๆ ขอเล่าให้แม่ ๆ ฟังบางอันเลยนะ

ผู้เขียนบอกว่าคำพูดของแม่ที่พูดกับลูก เปลี่ยนพฤติกรรมลูกได้ และจะทำให้ลูกเป็นเด็กมั่นใจในตัวเองได้ในอนาคต หัวใจสำคัญคือ ควรยอมรับสิ่งที่ลูกเป็น ไม่ใช้คำพูดที่ไม่ดีกับลูก ไม่บังคับลูก หรือห้ามลูกทำสิ่งที่เขาตั้งใจทำด้วยตัวเอง และไม่ซ้ำเติมเมื่อลูก ทำอะไรผิดพลาด ให้ยอมรับความพยายามของเขา และสิ่งที่เราอาจเผลอพูดกับลูกไป ถ้าจะให้ดี ลองเปลี่ยนมาเป็น…. ถ้าเราบอกลูกว่า

ตัวอย่างคำพูดที่ทำร้ายลูกและวิธีพูดกับลูกที่แม่ญี่ปุ่นใช้ทดแทนในบทสนทนา


อย่าร้องไห้!

ในใจเขาก็ไม่อยากร้องไห้หรอก แต่เด็กๆ มักกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ก็จะร้องออกมา ยิ่งเราไปบอกให้ อย่าร้องไห้! เขาก็จะยิ่งร้อง ยิ่งเสียใจที่แม่ว่า วิธีที่แม่ญี่ปุ่น ใช้ก็คือ “ตอนลูกร้องไห้ ไม่ต้องบังคับให้เขาหยุดร้อง พาลูกไปที่ที่ปลอดภัย แล้วให้เขาร้องไปเลย เขาจะได้ปลดปล่อยความรู้สึกออกมา” แล้วบอกเขาว่า “แม่เข้าใจว่าหนูเสียใจ ร้องไห้ออกมาเถอะ”

ไม่เรียบร้อยเลย!

ลูกๆ ของแม่ๆ ญี่ปุ่นดูเรียบร้อยกันมาก เบื้องหลังไม่ใช่ว่าพวกเขา โดนแม่สั่งนะ แต่แม่เขาสอนลูกอีกแบบหนึ่งมากกว่า แทนที่จะบอกลูกว่า “ต้องเก็บให้เรียบร้อยนะลูก” เขาจะบอกลูกว่า “มาเก็บของด้วยกันนะแทน” และที่สำคัญคือเขาจะทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นเสมอ ความมีวินัยของ คนญี่ปุ่นเป็นที่รู้กันว่าเป๊ะมาก ลูกๆ เขาก็เลยเป็นเด็กเก็บของเรียบร้อย โดยนิสัยตามกันมาด้วย

เด็กไม่ดี!

เรื่องนี้แม่ญี่ปุ่นเขาบอกกันว่า เวลาสอนลูกอย่าว่าที่ตัวลูกว่าไม่ดี แต่ให้บอกถึงสิ่งที่ลูกทำว่าไม่ถูกต้องมากกว่า เช่น “ทำแบบนั้นไม่ดีนะลูก” มากกว่าไปว่าลูกว่าเขาไม่ดี ถ้าไม่ไหวแล้วลูกยังทำสิ่งที่ไม่ใช่อยู่ เทคนิคคือให้จ้องตาลูก ทำเสียงเข้มจริงจัง โฟกัสทุกอย่างไปที่ตัวเขา เขาจะรู้ว่าแม่เอาจริง และลดละพฤติกรรมลงได้

ไม่รักลูกคนนี้แล้ว!

บางทีลูกเราไม่เชื่อมากๆ บวกกับแม่เองก็เหนื่อยแสนเหนื่อย ก็เลยมีเผลอเหวี่ยงลูก แล้วพูดว่า “แม่ไม่รักลูกแล้วนะออกไปได้” แม่ก็เลยต้องคอนโทรลตัวเองดีๆ นะ เพราะประโยคนี้มีผลทางใจกับลูกแน่นอน อย่าให้เขาคิดว่าแม่ไม่รัก เขาจะน้อยใจกับตัวเองมากๆ และเป็นปมได้ ให้เปลี่ยนมาพูดเป็น “แม่รักหนูนะ แต่แม่ไม่ชอบที่หนูทำเลย” แล้วค่อยๆ ปรับนิสัยเขาดีกว่า

ทั้งหมดนี้เป็นแค่บางตัวอย่างวิธีที่แม่ญี่ปุ่นเขาใช้พูดกับลูก แม่ๆ อยากอ่านเพิ่ม ลองไปหาในหนังสือเล่มนี้ดู และค่อยๆ ฝึกทำตาม ยังไงก็น่าจะเวิร์ค ใจเย็นไว้ โพสิทีฟไว้ แล้วคุยกับเขาด้วยใจของแม่นี่ล่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

บทความที่แนะนำ

“อุ้มลูกมากไป เด็กจะติดมือ” คำพูดนี้คือความเข้าใจผิด
7 เคล็ดลับ ฝึกให้ลูกเป็นเด็กกินง่ายตั้งแต่เล็กๆ
สิ่งที่หมอคอยบอก แต่แม่ไม่เคยทำ!
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner