ลูกกินยาก...แก้ได้
ลูกวัยนี้เดินได้จึงเริ่มสนุกกับประสบการณ์ใหม่นี้ จึงกินอาหารยาก ลูกอมข้าว ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจและกังวลใจให้กับคนเป็นพ่อแม่มาก เพราะเกรงลูกจะได้รับอาหารไม่เพียงพอ คุณแม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้ดังนี้
- หากพ่อแม่เช็คตามกราฟน้ำหนักและส่วนสูงของลูฏ และพบว่า น้ำหนักและส่วนสูงของลูกยังอยู่ในช่วงปกติ ให้บอกตนเองเสมอว่าอาหารที่ลูกได้อยู่นั้นเพียงพอแล้ว อย่ากังวลมาก แม้ว่าเมื่อเทียบกับเด็กบางคนเขาอาจจะอ้วนและตัวโตกว่าลูกเรา แต่เด็กคนนั้นอาจจะมีน้ำหนักมากเกินไปก็ได้
- ไม่ใช้วิธีผิดๆ เพื่อให้ลูกกินมากขึ้น เช่น การตี ดุว่า บังคับ ใช้อารมณ์กับลูกหรือการตามใจ ต่อรอง หรือให้รางวัลเกินความจำเป็น
- งดอาหารหรือขนมจุกจิกระหว่างมื้อ ไม่ว่าจะเป็นขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน ไอศกรีม ลูกอม ฯลฯ เพราะลูกจะอิ่ม และไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงมื้ออาหาร เขาจึงกินอาหารได้น้อย โดยหากจะให้ของจุกจิกเหล่านี้ ควรให้หลังอาหาร
- ไม่ให้นมมากเกินไป เพราะเมื่อเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรกินข้าวเป็นอาหารหลัก วันละ 3 มื้อ ส่วนนมจะเป็นอาหารเสริมเท่านั้น จึงต้องลดปริมาณลงเหลือวันละ 2-3 มื้อ และควรให้นมหลังอาหารเท่านั้น
- ฝึกให้ลูกกินอาหารเป็นเวลา และควรกินพร้อม ๆ กันทั้งครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศการกินอาหารให้เด็ก
- ขณะมื้ออาหารไม่ดูทีวี หรือเล่นของเล่นไปด้วย เพราจะทำให้ลูกไม่สนใจเรื่องกิน ทำให้กินช้า อมข้าว และอิ่มเร็วโดยที่ยังกินได้น้อย
- ให้ลูกนั่งกินอาหารบนเก้าอี้จนเสร็จจึงจะให้ลง ไม่เดินตามป้อน
- ทำบรรยากาศขณะมื้ออาหารให้ผ่อนคลาย พูดคุยกันเรื่องอาหาร หรือเรื่องเบาๆ ไม่ควรเป็นเวลาที่เคร่งเครียด
- เปิดโอกาสให้ลูกช่วยเหลือตัวเองเรื่องการกินให้มากที่สุดตามวัย โดยค่อย ๆ ลดการให้ความช่วยเหลือลงตามลำดับ เช่น ให้ลูกถือหรือหยิบอาหารเข้าปากด้วยตัวเองบ้าง แม้จะเลอะเทอะไปบ้างก็ต้องยอม เพื่อเป็นการฝึกลูก
- สังเกตเมนูอาหารเด็ก 1 ขวบ ที่ลูกชอบ ปรุงรสชาติและจัดแต่งหน้าตาให้ถูกปากถูกใจลูก จะช่วยให้เขาเพลิดเพลินกับการกินอาหารได้
- กำหนดระยะเวลามื้ออาหารประมาณ 30-45 นาที เมื่อถึงเวลาที่กำหนดให้เก็บจาน แม้ว่าจะยังกินไม่หมดหรือกินได้น้อยก็ตาม
- โดยไม่ต้องแสดงความวิตกกังวลหรือโกรธ แต่ให้งดของหวาน ขนม หรืออาหารว่างต่างๆ ทั้งหมดก่อนจะถึงมื้อถัดไปเพื่อให้ลูกเกิดความหิว ซึ่งจะกระตุ้นให้เจริญอาหารและรับผิดชอบเรื่องการกินของตนได้ดีขึ้น