Enfa สรุปให้
- อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ คุณแม่หลายคนเริ่มมีอาการแพ้ท้องมากขึ้น มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน แต่ถ้าคุณแม่ยังไม่มีอาการแพ้ท้องในระยะนี้ ก็ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด
- อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดประมาณ 0.25 นิ้ว หรือมีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดถั่ว มีการสร้างหัวใจ และโครงสร้างของอวัยวะเริ่มเป็นรูปร่าง มีแก้ม ตา จมูก คาง
- อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ เพื่อให้แพทย์ได้ติดตามการตั้งครรภ์ และตรวจหาและป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เป็นอย่างไร
• อาการคนท้อง 6 สัปดาห์
• การอัลตราซาวนด์ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์
• ท้อง 6 สัปดาห์ ขนาดใหญ่แค่ไหน
• การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์
• พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ 6 สัปดาห์
• อาหารคนท้อง 6 สัปดาห์
• คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์
• ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ คุณแม่หลายคนเริ่มมีอาการแพ้ท้อง หรือเริ่มแพ้ท้องหนักมาก ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่ตั้งท้อง 6 สัปดาห์ สิ่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเริ่มปรับตัวให้ชิน เพราะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นจะต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ อีกมาก
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์นี้ทั้งแม่และตัวอ่อนในครรภ์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนไปพร้อม ๆ กัน คุณแม่ก็เริ่มที่จะมีอาการแพ้ท้องที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นอาการแพ้ท้อง ขณะที่ตัวอ่อนก็เริ่มมีพัฒนาการด้านรูปร่างที่ดูคล้ายกับลักษณะของทารกทั่วไป
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ คือ ช่วงอายุครรภ์ที่นับย้อนไปจนถึงวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด ได้ 6 สัปดาห์ เพราะในทางการแพทย์แล้วอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด
ดังนั้น จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่จะต้องจำรายละเอียดสำคัญ ๆ อย่างวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด วันไข่ตก และจำนวนวันของรอบเดือนในแต่ละครั้ง เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณอายุครรภ์
ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือน จะเท่ากับ 1 เดือน กับอีก 2 สัปดาห์ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่เดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วแพทย์จะนิยมนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์มากกว่าการนับเป็นเดือนเพราะสะดวกและแม่นยำมากกว่า
อาการคนท้อง 6 สัปดาห์ เป็นแบบนี้
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ยังถือเป็นช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ ดังนั้น โดยมากแล้วคุณแม่จะยังไม่มีอาการใด ๆ มากนัก แต่ก็พบว่าคนท้อง 6 สัปดาห์หลาย ๆ คน เริ่มมีอาการคนท้องรุนแรงแล้วค่ะ โดยอาการคนท้องที่อาจพบได้ มีดังนี้
• เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เนื่องจากความผันผวนของฮอร์โมนในร่างกาย
• อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ มักพบได้บ่อยในช่วงตื่นนอนหรือตอนเช้า
• เจ็บเต้านม เนื่องจากเริ่มมีการไหลเวียนของเลือดที่เต้านมของคุณแม่มากขึ้น เพราะร่างกายกำลังเตรียมพร้อมที่จะเริ่มกระบวนการสร้างน้ำนมแล้วค่ะ
• ปัสสาวะบ่อย ระดับฮอร์โมน HCG ที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้กระแสเลือดไหลเวียนไปที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
• อารมณ์แปรปรวน ระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เพิ่งสูงขึ้นในระยะนี้ ส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ของคุณแม่ เช่น หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า มักจะอ่อนไหวเป็นพิเศษ
• ท้องอืด โปรเจสเตอโรนที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อในลำไส้เกิดการคลายตัว ระบบย่อยอาหารจึงทำงานช้าลง ทำให้ย่อยอาหารไม่ทัน เกิดเป็นอาการท้องอืด แน่นท้อง
ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ กับการอัลตราซาวนด์
การอัลตราซาวนด์ในช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์นี้ยังถือว่าเร็วเกินไปค่ะ โดยมากแล้วถ้าหากไม่ได้มีความเสี่ยงสูงในขณะตั้งครรภ์ แพทย์ก็ไม่ได้เร่งรัดให้คุณแม่ต้องรีบมาอัลตราซาวนด์ในระยะนี้แต่อย่างใด เพราะการอัลตราซาวนด์ที่เหมาะสมนั้นมักจะเริ่มทำกันเมื่อมีอายุครรภ์ 8-9 สัปดาห์ขึ้นไป
ขนาดถุงตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ การอัลตราซาวนด์จะสามารถมองเห็นขนาดของถุงตั้งครรภ์และถุงไข่แดงในตำแหน่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนค่ะ
ขนาดตัวอ่อน 6 สัปดาห์
ท้อง 6 สัปดาห์ ขนาดตัวอ่อนจะมีความยาวประมาณ 0.25 นิ้ว หรือมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเท่านั้นเองค่ะ ซึ่งก็ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่มาอัลตราซาวนด์ตอนอายุครรภ์ 6 สัปดาห์แล้วจะเห็นตัวอ่อนนะคะ เพราะการอัลตราซาวด์ท้อง 6 สัปดาห์ ไม่เห็นตัวอ่อนก็ถือเป็นเรื่องปกติเช่นกันค่ะ
โดยอาจจะเกิดจากการนับอายุครรภ์คลาดเคลื่อน คือตั้งครรภ์จริง แต่อายุครรภ์ยังไม่ถึง 6 สัปดาห์ หรืออาจเพราะขนาดถุงตั้งครรภ์และตัวอ่อนยังมีขนาดเล็กอยู่ ทำให้อัลตราซาวนด์แล้วไม่เจอตัวอ่อนค่ะ
ท้อง 6 สัปดาห์ ไม่เห็นหัวใจ ไม่เห็นตัวอ่อน คุณแม่อย่าเพิ่งเครียดจนเกินไป
สำหรับคุณแม่ที่มาอัลตราซาวนด์ในระยะนี้ ก็อาจจะมองเห็นตัวอ่อนทารกที่มีขนาดเล็กมาก ๆ และยังอาจพบสัญญาณการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ด้วย
แต่...ก็มีคุณแม่หลายคนที่มาอัลตราซาวนด์ตอนอายุครรภ์ 6 สัปดาห์แล้วไม่พบหัวใจ ไม่พบตัวอ่อน อันนี้คุณแม่ยังไม่ต้องตกใจค่ะ เพราะกรณีนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
• การนับอายุครรภ์คลาดเคลื่อน ตั้งท้องจริง แต่อายุครรภ์ยังไม่ถึง 6 สัปดาห์
• ขนาดถุงตั้งครรภ์ยังเล็กอยู่มาก จึงทำให้อัลตราซาวนด์แล้วยังไม่พบ รอให้อายุครรภ์สัก 8-9 สัปดาห์ขึ้นไปแล้วมาตรวจอีกครั้งอาจจะพบก็ได้ค่ะ
• ตัวอ่อนอายุครรภ์ 6 สัปดาห์มีการสร้างหัวใจจริง และอาจตรวจพบการเต้นของหัวใจได้จริง แต่เป็นเรื่องปกติที่จะไม่พบสัญญาณการเต้นของหัวใจในช่วงนี้ เพราะตัวอ่อนยังเล็กมาก สัญญาณการเต้นหัวใจยังไม่ชัดเจน แต่จะไปเริ่มชัดเจนเมื่ออายุครรภ์ 8-9 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ
ท้อง 6 สัปดาห์ใหญ่แค่ไหน
ขนาดท้องของแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มนูนออกมาเมื่อตั้งครรภ์ถึงไตรมาสสอง ซึ่งอายุครรภ์ 6 สัปดาห์นั้นยังอยู่ในช่วงไตรมาสแรก และอายุครรภ์ก็ยังไม่ครบ 2 เดือน ดังนั้น ขนาดหน้าท้องของคุณแม่จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในระยะนี้ค่ะ ขนาดหน้าท้องเดิมเป็นอย่างไรก็จะยังคงเป็นอย่างนั้น
เข้าใจร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์
คุณแม่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ อาจพบกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่สำคัญอย่างอาการแพ้ท้อง เพราะระดับฮอร์โมน HCG ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนพุ่งสูงขึ้น
ความผันผวนของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้นี่แหละที่ทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย อ่อนเพลียง่าย มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนบ่อย ๆ และยังพบว่าคุณแม่อาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดได้ง่ายด้วย
ซึ่งนี่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไปของอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ แต่...ก็ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนนะคะที่จะเริ่มมีอาการแพ้ท้องตั้งแต่ตอนนี้ ยังมีคุณแม่อีกหลายคนที่พบว่าแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นเลยในระยะนี้
พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ 6 สัปดาห์
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์นี้ พัฒนาการที่สำคัญหลายด้านของทารกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ระบบไหลเวียนโลหิตของทารกเริ่มทำงานในระดับที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ตัวอ่อนในครรภ์เริ่มสร้างจมูก ตา หู คาง และแก้ม
ขนาดของทารกในครรภ์ 6 สัปดาห์
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ขนาดตัวอ่อนจะมีขนาดแค่เพียง 0.25 นิ้วเท่านั้นเองค่ะ ถือว่ายังเล็กอยู่มากค่ะ หรือถ้าจะเทียบง่าย ๆ ก็จะมีขนาดเท่าเมล็ดถั่ว
ลูกน้อยของคุณแม่กำลังทำอะไรอยู่นะ
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ทารกขนาดเท่าเมล็ดถั่วของคุณแม่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตอนนี้ทารกมีช่องประสาทตาที่จะค่อย ๆ พัฒนามาเป็นดวงตา มีหัวใจที่แบ่งออกเป็นสี่ห้อง และหัวใจก็จะเริ่มเต้นในอายุครรภ์นี้ด้วย คุณแม่บางคนจึงอาจตรวจพบสัญญาณการเต้นหัวใจของทารกได้ตั้งแต่ตอนท้องได้ 6 สัปดาห์
มากไปกว่านั้น ทารกเริ่มที่จะมีแขนขาเล็ก ๆ และเริ่มมีโครงสร้างลักษณะใบหน้าที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ได้แก่ จมูก ตา หู คาง และแก้ม
อาหารคนท้อง 6 สัปดาห์
ท้อง 6 สัปดาห์ ควรกินอะไรถึงจะดี? ง่าย ๆ เลยค่ะ คุณแม่ควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ พยายามกินอาหารในแต่ละวันให้หลากหลายเอาไว้ก่อน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์
มากไปกว่านั้น ยังต้องเน้นกลุ่มสารอาหารสำคัญที่ดีต่อสุขภาพการตั้งครรภ์ ได้แก่
• ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
• โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
• แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
• ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น
• โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น
• โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์
คุณแม่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ควรเริ่มใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด มากไปกว่านั้น หากพบว่าตั้งครรภ์ ให้รีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจครรภ์และติดตามการตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งคลอด
ฝากครรภ์
การฝากครรภ์ถือเป็นหนึ่งเช็กลิสต์สำคัญที่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด หากคุณแม่ไปพบแพทย์เมื่ออายุครรภ์ 6 สัปดาห์พอดี ควรเริ่มทำการฝากครรภ์ทันที เพื่อที่แพทย์จะได้ช่วยติดตามการตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้อย่างใกล้ชิด และยังช่วยเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้ด้วย
ทำไมคุณแม่บางคนไม่แพ้ท้อง ไม่คัดเต้า ไม่มีอาการอะไรเลย
แม่ท้อง 6 สัปดาห์เริ่มมีอาการแพ้ท้องแล้วก็จริง แต่...ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนค่ะที่มีอาการแพ้ท้อง เพราะร่างกายของแม่แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ก็ต่างกัน กิจวัตรประจำวันและการดูแลตนเองก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น แม่แต่ละคนจึงมีอาการแพ้ท้องมากหรือน้อยต่างกันไป
ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่ไม่มีอาการแพ้ท้องใด ๆ เลย อาจเป็นไปได้ว่าอายุครรภ์ยังน้อยอยู่ และอาการแพ้ท้องอาจเริ่มปรากฎออกมาเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นก็ได้ค่ะ
แต่..ถ้าหากว่าจนถึงกำหนดคลอดแล้วคุณแม่ยังไม่เคยแพ้ท้องเลย ก็ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ นั่นถือเป็นความโชคดีที่น้อยคนนักจะได้พบค่ะ เพราะคุณแม่ไม่ต้องผ่านช่วงเวลาอ่อนเพลีย กินนอนลำบาก จะลุก จะเดิน ก็รู้สึกคลื่นไส้ จะกินอะไรก็อาเจียนออกมา ซึ่งตราบเท่าที่ไปตรวจครรภ์แล้วทารกในครรภ์ปกติดี การไม่แพ้ท้องเลย ก็ไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญแล้วค่ะ
มีเลือดออก ทำไงดี
หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ จะอายุครรภ์เท่าไหร่คุณแม่ก็ควรไปพบแพทย์ทันทีค่ะ เพราะเราไม่ทราบได้เลยว่าเลือดที่ไหลออกมานี้เกิดจากอะไร อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือเป็นเลือดล้างหน้าเด็กก็ได้ ซึ่งเลือดล้างหน้ามาเยอะสุดกี่วัน โดยปกติแล้วจะมาที่ 1-2 วัน ถ้ามากกว่านั้นควรรีบพบแพทย์ค่ะ
ในกรณีที่ร้ายแรง อาจเกิดจากการแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือมีภาวะแท้งคุกคาม ดังนั้น หากมีเลือดออก คุณแม่ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป
ได้เวลาขอความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน
ไม่ต้องกลัวที่จะบอกให้คนใกล้ตัวรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ค่ะ เพราะเพื่อร่วมงานจะได้ช่วยดูแลและระมัดระวังในกรณีที่คุณแม่อาจเกิดอาการแพ้ท้องรุนแรง หรือมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทันที
มากไปกว่านั้น การแบ่งปันกำลังใจ ความรู้ หรือเคล็ดลับการตั้งครรภ์จากเพื่อร่วมงานที่มีประสบการณ์ ก็จะช่วยให้คุณแม่ได้รับทั้งกำลังใจและได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งนี้มีผลทำให้คุณแม่มีแนวโน้มของสุขภาพจิตดีขึ้น อุ่นใจขึ้น
ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์กับ Enfa Smart Club
ท้อง 6 สัปดาห์ ท้องใหญ่มาก ผิดปกติหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้วอายุครรภ์ 6 สัปดาห์นั้นขนาดท้องของคุณแม่จะยังไม่ขยายค่ะ แต่ในกรณีที่หน้าท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นมาในตอนนี้ ขอแนะนำให้คุณแม่ไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยค่ะ เพราะขนาดท้องโตนั้นอาจเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป หรือมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ ซึ่งคุณแม่อาจมีอาการท้องอืด กรดไหลย้อน หรืออาจมีภาวะน้ำคั่งในช่องท้อง ภาวะบวมน้ำ หรือสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ก็ได้ค่ะ
ครรภ์ 6 สัปดาห์มีหัวใจไหม?
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ตัวอ่อนมีการสร้างหัวใจและแบ่งหัวใจออกเป็น 4 ห้องแล้วค่ะ มากไปกว่านั้น ยังอาจตรวจพบสัญญาณการเต้นหัวใจอ่อน ๆ ได้ด้วยค่ะ
ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ ตัวเท่าไหน?
ทารกอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ จะมีขนาดประมาณ 0.25 นิ้ว หรือมีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดถั่วค่ะ
- What to Expect. 6 Weeks Pregnant. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/week-by-week/week-6.aspx#section-symptoms. [11 August 2023]
- The Bump. 6 Weeks Pregnant. [Online] Accessed https://www.thebump.com/pregnancy-week-by-week/6-weeks-pregnant. [11 August 2023]
- Baby Center. 6 weeks pregnant: Ultrasound, symptoms, belly, and more. [Online] Accessed https://www.babycenter.com/pregnancy/week-by-week/6-weeks-pregnant. [11 August 2023]
- Healthline. Your 6-Week Ultrasound: What to Expect. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/pregnancy/6-week-ultrasound. [11 August 2023]
- What to Expect. Pregnancy Nutrition Chart: 33 Essential Nutrients for Pregnant Women. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/diet/pregnancy-nutrition-chart/. [11 August 2023]
- คนท้อง ก็ต้องสวย by หมอนุ่น. ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ อัลตร้าซาวด์ไม่เจออะไร ผิดปกติไหม. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://web.facebook.com/watch/?v=574925767358156. [11 สิงหาคม 2023]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์