ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 9 สัปดาห์ อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 9 สัปดาห์ อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ ขนาดทารกจะอยู่ราว ๆ 0.9 นิ้ว หนักประมาณ 1.9 กรัม มีขนาดเท่ากับลูกเชอร์รี หรือลูกองุ่น
  • อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ ทารกจะเปลี่ยนสภาพจากเอ็มบริโอหรือตัวอ่อน มาเป็นมนุษย์ตัวจิ๋วที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับทารกแรกเกิดมากขึ้น
  • อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ สามารถอัลตราซาวนด์เห็นตัวเด็กชัดเจน มองเห็นอวัยวะส่วนศีรษะ ก้น แขนและขา รวมถึงสามารถตรวจพบการเต้นของหัวใจทารกได้ชัดเจนด้วย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 9 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 9
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 9 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 9 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • อัลตราซาวนด์ในสัปดาห์ที่ 9
     • มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ คุณแม่กำลังก้าวเข้าสู่เดือนสุดท้ายของไตรมาสแรกแล้วค่ะ เวลาผ่านไปกว่าที่คิดเลยใช่ไหมคะ อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสสองกันแล้ว

มาดูกันดีกว่าค่ะว่าท้อง 9 สัปดาห์นี้คุณแม่จะมีอาการอย่างไร แล้วช่วงอายุครรภ์ 9-10 สัปดาห์นี้ ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการสำคัญอะไรบ้าง

ท้อง 9 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


อายุครรภ์ 9 สัปดาห์นี้ คุณแม่หลายคนยังคงต้องต่อสู้กับอาการแพ้ท้องอย่างหนักอยู่เช่นเดิมค่ะ เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายได้พุ่งสู่จุดสูงสุดแล้ว ร่างกายของคุณแม่เริ่มอาจจะรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียมากขึ้น แต่อดทนไว้นะคะ อีกไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้ อาการเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงค่ะ

ท้อง 9 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ เมื่อนับเป็นเดือน จะได้เท่ากับ 2 เดือน 1 สัปดาห์ เป็นการตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 3 แล้วค่ะ เรียกได้ว่าคุณแม่ผ่านการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกมาครึ่งทางแล้ว

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์สัปดาห์ที่ 9 เป็นอย่างไร


หากไปอัลตราซาวนด์ในช่วงนี้ รูปอายุครรภ์ 9 สัปดาห์ก็จะสามารถมองเห็นตัวอ่อนของทารกที่มีรูปร่างคล้ายกับทารกแรกเกิดมากขึ้น เริ่มมองเห็นส่วนที่เป็นศีรษะ และก้นชัดเจน สามารถมองเห็นแขนและขาเล็ก ๆ และทารกช่วงอายุครรภ์ 9 สัปดาห์ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว ขยับไปมาเล็กน้อยแล้วด้วยค่ะ

ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ ขนาดทารก ในครรภ์มีขนาดเท่าไหนนะ

อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ ขนาดทารกจะอยู่ราว ๆ 0.9 นิ้ว หนักประมาณ 1.9 กรัม มีขนาดเท่ากับลูกเชอร์รี หรือลูกองุ่นค่ะ

อวัยวะและระบบต่าง ๆ

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 9 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยจะเปลี่ยนสภาพจากเอ็มบริโอมาเป็นมนุษย์ตัวจิ๋วที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับทารกแรกเกิดมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการด้านอวัยวะและระบบสำคัญควบคู่ไปด้วย ดังนี้

          • เริ่มสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อที่จะพัฒนาไปเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ในอนาคต

          • ลักษณะใบหน้ามีความชัดเจนมากขึ้น ดวงตาซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ด้านข้างศีรษะ ก็จะค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้า จมูก ปาก และหูก็เริ่มมีรูปร่างที่ชัดเจนขึ้นเช่นกัน

          • เริ่มเข้าสู่กระบวนการสร้างระบบสืบพันธุ์ โดยอีกไม่นานหลังจากนี้คุณพ่อคุณแม่จะสามารถอัลตราซาวนด์ดูเพศลูกได้

          • หัวใจทั้งสี่ห้องของทารกเริ่มมีการก่อตัวขึ้น ขณะที่อัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ก็เริ่มมากขึ้นและชัดเจนขึ้น

          • รกมีการเชื่อมต่อกับสายสะดือและเริ่มทำหน้าที่ในการลำเลียงโลหิต ออกซิเจน และสารอาหารต่าง ๆ

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์


อายุครรภ์ครบ 2 เดือนเต็มแล้ว คุณแม่คงเริ่มอยากรู้ว่าท้อง 2 เดือน ท้องโตขนาดไหนกันนะ ในช่วงนี้ท้องของคุณแม่จะยังไม่ได้ขยายหรือนูนโค้งออกมาค่ะ

แต่...คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้แล้วว่าเสื้อผ้าไซซ์ที่ใส่อยู่ทุกวันนั้นเริ่มคับ เริ่มแน่น เริ่มติดกระดุมไม่ได้ รูดซิปขึ้นลำบาก คล้ายกับตอนที่กินอาหารเสร็จใหม่ ๆ

อาหารคนท้อง 9 สัปดาห์ ต้องกินอะไรบ้าง


แม่ท้อง 9 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ คือ

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางวันคุณแม่อาจกินอาหารได้น้อย หรือมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ได้รับอาหารได้ไม่ตรงตามที่ต้องการในแต่ละวัน หรือมีอาการแพ้อาหาร เป็นต้น คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ

โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 9 สัปดาห์ เป็นแบบไหน


แม่ท้อง 9 สัปดาห์ อาจพบอาการต่าง ๆ ในระยะนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

          • แพ้ท้อง คลื่นไส้และอาเจียน อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาของวัน เพราะความผันผวนของฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งยังส่งผลต่อความไวของการได้กลิ่น ทำให้คุณแม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนง่ายกว่าปกติ

          • ความเหนื่อยล้า เมื่อทารกเริ่มโตขึ้น ร่างกายของคุณแม่ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น และทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อรองรับพัฒนาการของลูกน้อยที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน

          • การเปลี่ยนแปลงของเต้านม ฮอร์โมนทำให้หน้าอกของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น และไวต่อความรู้สึกมากขึ้น เมื่อจับ หรือสัมผัสจะรู้สึกเจ็บโดยในระยะนี้คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าบริเวณหัวนมเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำและเริ่มมีเส้นเลือดเด่นชัดขึ้นด้วย

          • ปัสสาวะบ่อย ขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น เริ่มจะกดดันกระเพาะปัสสาวะ ประกอบกับไตที่ทำงานงานหนักมากขึ้น จึงมีการสร้างปัสสาวะมากขึ้น คุณแม่จึงมักปัสสาวะบ่อย

          • อารมณ์แปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนยังส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่ ทำให้คุณแม่มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ หงุดหงิดง่าย เสียใจง่าย

อย่างไรก็ตาม มีคุณแม่หลายคนที่ท้อง 9 สัปดาห์ ไม่แพ้ท้องเลย หรือแพ้ท้องน้อยมาก หรือแทบไม่มีอาการคนท้องกวนใจเลย ซึ่งอาการเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะไม่มีอาการแพ้ท้องมารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ ดูอะไรบ้างนะ


การอัลตราซาวนด์ในระยะนี้ แพทย์จะตรวจดูความยาวของทารกในครรภ์ว่ายาวเท่าไหร่ เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณอายุครรภ์จริงที่แม่นยำขึ้น และยังสามารถคำนวณวันคลอดได้แม่นยำมากขึ้นด้วยค่ะ

มากไปกว่านั้น การอัลตราซาวนด์ในระยะนี้แพทย์ยังจะตรวจดูอัตราการเต้นหัวใจของทารก เพื่อประเมินดูว่าทารกในครรภ์ยังปกติอยู่ไหม หรืออาจอยู่ในความเสี่ยงของการแท้งบุตร

อัลตราซาวนด์ท้อง 9 สัปดาห์ ไม่เห็นหัวใจ ผิดปกติไหม

การอัลตราซาวนด์อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ โดยมากจะต้องได้ยินเสียงหัวใจเต้นชัดเจน แต่ถ้าไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ ถือว่าเริ่มมีความเสี่ยงของการแท้งบุตร หรืออาจเป็นการท้องลม ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ค่ะ

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะต้องรอให้มีการตรวจอัลตราซาวนด์ในครั้งถัดไป เพื่อดูว่าทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตขึ้นไหม ถุงการตั้งครรภ์ขยายไหม ตัวอ่อนขยายไหม และสามารถตรวจเจอการเต้นของหัวใจไหม

ซึ่งถ้าหากครั้งถัดไปทุกอย่างปกติ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากผลลัพธ์ยังออกมาคล้ายเดิม แพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพราะอาจเป็นการแท้งบุตรหรือเป็นการท้องลมค่ะ

อัลตราซาวนด์ท้อง 9 สัปดาห์ ไม่เห็นตัวอ่อน หมายความว่าอย่างไร

การอัลตราซาวนด์ช่วงอายุครรภ์ 9 สัปดาห์ คุณแม่ควรจะต้องเห็นทารกชัดเจนแล้วค่ะ แต่ถ้าหากอัลตราซาวนด์แล้วไม่พบจริง ๆ กรณีนี้ถือว่าเริ่มมีความเสี่ยงที่อาจจะมีการแท้งบุตรเกิดขึ้น หรือมีภาวะท้องลมสูงมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ในขณะนั้นด้วยค่ะว่าข้อมูลที่มีอยู่ในมือจะวินิจฉัยออกมาในทิศทางใดได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะวินิจฉัยให้มีการตรวจอัลตราซาวนด์ในครั้งถัดไปอีกที เพื่อดูว่าทารกในถุงตั้งครรภ์มีการเจริญเติบโตไหม ซึ่งถ้าหากตรวจพบ และทุกอย่างปกติ ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลค่ะ แต่ถ้าหากตรวจแล้วยังไม่พบตัวอ่อนอีก อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่ได้แท้งไปแล้ว หรือเป็นภาวะท้องลมค่ะ

อายุครรภ์ 9 10 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายครรภ์ 9-10 สัปดาห์นี้ คุณแม่หลายคนอาจพบกับอาการที่ผิดปกติ ซึ่งอาการที่พบอาจเป็นอาการปกติโดยทั่วไปก็ได้ค่ะ หรืออาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ก็ได้

ดังนั้น หากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 9 สัปดาห์ มีเลือดออก ปกติไหม

หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ไม่ควรชะล่าใจนะคะ แต่ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยว่าอาการเลือดออกนั้นเกิดจากสาเหตุใด เป็นเลือดที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ หรือเกิดจากภาวะความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การแท้ง การท้องนอกมดลูก ภาวะแท้งคุกคาม

ท้อง 9 สัปดาห์ ปวดหน่วงแบบนี้ อันตรายไหม

อาการปวดหน่วงท้องในช่วงอายุครรภ์ 9 สัปดาห์ อาจเป็นเรื่องปกติถ้าหากว่ามีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูกและเส้นเอ็นต่าง ๆ ในท้องค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดหน่วงท้องติดต่อกันหลายวันและอาการไม่ดีขึ้นเลย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีภาวะความผิดปกติเกิดขึ้น

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

มากไปกว่านั้น ยังต้องหมั่นสังเกตอาการความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ หรือมีอาการแพ้ท้องรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ และทำให้สุขภาพของคุณแม่แย่ลงได้

การฝากครรภ์และตรวจสุขภาพ

การไปฝากครรภ์และไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพตามที่แพทย์นัดเป็นประจำนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญของแม่ท้องทุกคนค่ะ เพราะแพทย์จะได้สามารถติดตามความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ พร้อมทั้งหาวิธีรับมือและป้องกันภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์ด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุครรภ์ 9 สัปดาห์ คุณแม่หลายคนอาจมีปัญหาอัลตราซาวนด์แล้วไม่พบตัวอ่อนหรือไม่พบการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ ซึ่งถ้าหากมาเข้ารับการตรวจกับแพทย์ทุกครั้ง ก็จะช่วยให้ทราบว่าขณะนี้คุณแม่มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือกำลังท้องลมอยู่หรือเปล่า

น้ำหนักช่วงตั้งครรภ์

การมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสูงในช่วงอายุครรภ์ 9 สัปดาห์นั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีค่ะ เพราะในระยะนี้ขนาดทารกในครรภ์ยังไม่ได้มีขนาดใหญ่มากจนทำให้คุณแม่น้ำหนักพุ่งสูงอย่างผิดสังเกต

ซึ่งน้ำหนักตัวของแม่ตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสจะต้องสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกาย จะมากไปหรือน้อยไปไม่ได้ โดยคุณแม่ที่มีค่า BMI ปกติ น้ำหนักช่วงตั้งครรภ์ควรจะเป็นดังนี้

          • ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสแรกนี้ทารกยังตัวเล็กอยู่ คุณแม่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากเกินกว่า 1-2 กิโลกรัม

          • ไตรมาสที่ 2 ระยะนี้ทารกมีขนาดตัวที่โตขึ้น ทำให้คุณแม่อาจจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-6 กิโลกรัม

          • ไตรมาสที่ 3 ไตรมาสสุดท้ายทารกมีขนาดตัวที่พร้อมสำหรับการคลอดที่เริ่มใกล้มาถึง คุณแม่ควรจะดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นระหว่าง 3.5-4.5 กิโลกรัม แม้ว่าจะมีขนาดท้องที่ใหญ่และทำให้กินอาหารได้น้อยลงก็ตาม

คำนวณวันกำหนดคลอด

การคำนวณวันคลอดนั้น แพทย์จะใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกันค่ะ ก่อนอัลตราซาวนด์ แพทย์จะคำนวณจากวันแรกที่มีประจำเดือน มาจนถึงวันที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ เพื่อให้สามารถคำนวณอายุครรภ์ได้คร่าว ๆ ว่าขณะนี้ท้องได้กี่สัปดาห์ และอีกกี่สัปดาห์จะมีการคลอด

ดังนั้น หากคุณแม่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์มาอัลตราซาวนด์ แพทย์ก็จะใช้ข้อมูลจากขนาดของถุงตั้งครรภ์และขนาดตัวอ่อนมาใช้ในการคำนวณอายุครรภ์และคำนวณวันคลอดค่ะ

1,000 วันแรก คืออะไร และสำคัญอย่างไร

ช่วงเวลา 1,000 วันแรก คือช่วงเวลาที่นับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น

รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งท้อง 9 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ท้อง 9 สัปดาห์ ไม่เห็นตัวอ่อน หมายความว่าอย่างไร?

กรณีเช่นนี้ถือว่าเสี่ยงที่คุณแม่อาจจะมีการแท้งบุตร หรือมีภาวะท้องลมค่ะ ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ตามข้อมูลที่แพทย์ได้รับจากการตรวจร่างกายและการอัลตราซาวนด์เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะรอจนถึงการตรวจอัลบตราซาวนด์ในครั้งถัดไปเพื่อดูว่าสามารถมองเห็นทารกไหม ถุงการตั้งครรภ์ขยายไหม และมองเห็นการเต้นหัวใจของทารกไหม ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ยังเป็นเหมือนเดิม แพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพราะคุณแม่อาจแท้งหรือมีภาวะท้องลมค่ะ

ท้อง 9 สัปดาห์ ท้องใหญ่มาก ไหม?

อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ ขนาดท้องจะยังไม่นูนออกมาจนเห็นได้ชัด แต่คุณแม่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนว่าส่วนเอวและหน้าท้องเริ่มขยาย เสื้อผ้าและกางเกงไซซ์ปกติเริ่มมีการคับ การแน่น เริ่มรู้สึกรูดซิปขึ้นลำบาก

ทำอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ มีเลือดออก?

หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยดูว่าอาการเลือดออกนั้นเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ตอนท้อง หรือเกิดจากการแท้ง ภาวะแท้งคุกคาม หรือเกิดจากการท้องนอกมดลูก

อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ หัวใจเต้น แล้วหรือยัง?

อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ สามารถได้ยินเสียงหัวใจเต้นอย่างชัดเจนแล้วค่ะ ซึ่งการตรวจอัลตราซาวนด์จะช่วยให้พบการเต้นของหัวใจได้

ท้อง 9 สัปดาห์ ไม่แพ้ท้อง แบบนี้ปกติไหม?

ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่มีอาการแพ้ท้องค่ะ การไม่แพ้ท้องเลยตลอดการตั้งครรภ์ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามถือว่าเป็นโชคดีที่คุณแม่ไม่ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของการแพ้ท้อง ทำให้สามารถดูแลสุขภาพได้อย่างเต็มที่เลยค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

คนท้องท้องอืด อาหารไม่ย่อย รับมือยังไงให้อยู่หมัด
ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร จะเสี่ยงแท้งไหม
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner