ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ตารางกรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูก

ตารางกรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูก กรุ๊ปเลือดลูกทำนายได้จากกรุ๊ปเลือดพ่อแม่

Enfa สรุปให้

  • กรุ๊ปเลือด คือวิธีการบอกความแตกต่างของเลือด โดยใช้สารที่เรียกว่า “แอนติเจน” และ “แอนดิบอดี” เป็นตัวระบุ ระบบกรุ๊ปเลือดที่ใช้กันในปัจจุบันคือ ระบบ ABO และระบบ Rh
  • ตารางกรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูก คือตารางที่บอกความเป็นไปได้ของกรุ๊ปเลือดเด็กโดยพิจารณาจากกรุ๊ปเลือดของพ่อแม่ และจับคู่ยีนควบคุมหมู่เลือดที่พ่อแม่ส่งต่อให้ลูก
  • การไม่เข้ากันของกรุ๊ปเลือดของคุณแม่และลูกในครรภ์ อาจนำไปสู่ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้ เพราะร่างกายของคุณแม่จะสร้างแอนติบอดีมาทำลายแอนติเจนในเลือดของลูก

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • กรุ๊ปเลือด คืออะไร
     • กรุ๊ปเลือด Rh คืออะไร
     • กรุ๊ปเลือดหายาก
     • ตารางกรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูก
     • พ่อกรุ๊ป O แม่กรุ๊ป O ลูกกรุ๊ป B ได้ไหม
     • พ่อกรุ๊ป O แม่กรุ๊ป B ลูกกรุ๊ปอะไร
     • พ่อกรุ๊ป B แม่กรุ๊ป B ลูกกรุ๊ปอะไร
     • กรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูกไม่ตรงกัน
     • วิธีดูกรุ๊ปเลือดลูกในสมุดสีชมพู
     • ทารกตัวเหลืองจากกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกับแม่

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณพ่อคุณแม่ต่างก็เฝ้ารอคอยวันที่จะได้รู้เพศลูก วันที่ลูกดิ้นครั้งแรก ไปจนถึงวันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก กรุ๊ปเลือดของลูก มักถูกลืมเลือนโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่าแปลก ในประเทศไทยของเรามีคนวัยผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่เคยรู้กรุ๊ปเลือดของตัวเอง และอาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคตได้เมื่อเกิดปัญหาสุขภาพบางอย่าง หรืออุบัติเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องให้หรือรับบริจาคเลือด

กรุ๊ปเลือด คืออะไร

กรุ๊ปเลือด คือวิธีการบอกความแตกต่างของเลือด โดยอาศัยสารที่เรียกว่า “แอนติเจน” และ “แอนดิบอดี” เป็นตัวระบุ โดยแอนติเจน (Antigen) คือโมเลกุลของโปรตีนที่เกาะอยู่บนผิวของเซลล์เม็ดเลือดแดง ส่วนแอนติบอดี (Antibody) เป็นสารในน้ำเลือดที่รับหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย 

ระบบกรุ๊ปเลือดที่เป็นสากลและนิยมที่สุด คือระบบ ABO ซึ่งจะแบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่

  • กรุ๊ปเลือด A คือ กรุ๊ปเลือดที่มีสารแอนติเจนชนิด A ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนดิบอดีชนิด B ในพลาสม่า (น้ำเลือด)
  • กรุ๊ปเลือด B คือ กรุ๊ปเลือดที่มีสารแอนติเจนชนิด B ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง มีสารแอนดิบอดีชนิด A ในพลาสม่า
  • กรุ๊ปเลือด O คือ กรุ๊ปเลือดที่ไม่มีสารแอนติเจน แต่มีทั้งแอนติบอดีชนิด A และ B ในพลาสม่า
  • กรุ๊ปเลือด AB คือ กรุ๊ปเลือดที่มีสารแอนติเจนทั้งชนิด A และชนิด B แต่ไม่มีสารแอนติบอดีในพลาสม่า

กรุ๊ปเลือด Rh คืออะไร

เรามักพบเห็นการใช้ชื่อกรุ๊ปเลือด A,B,O, หรือ AB คู่กับเครื่องหมาย + หรือ - นำไปสู่อีกคำถามว่า กรุ๊ปเลือด + - คืออะไร ซึ่งจริงๆ แล้วเครื่องหมาย + หรือ - มาจากการใช้ระบบกรุ๊ปเลือด ABO คู่กับระบบ Rh เพราะเซลล์เม็ดเลือดแดงของบางคนอาจจะมีแอนติเจนชนิดอื่นๆ อยู่ด้วย โดยระบบ Rh จะแบ่งเป็น 2 แบบคือ 

  • Rh+ (Rh Positive) คือพบแอนติเจน D ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง สามารถรับเลือดของคนที่มีหรือไม่มีแอนติเจนชนิด Rh ก็ได้
  • Rh- (Rh Negative) คือไม่พบแอนติเจน D ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง สามารถรับได้เฉพาะเลือดของคนที่ไม่มีแอนติเจนชนิด Rh เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนไม่รู้ว่ากรุ๊ปเลือด + - คืออะไร เพราะประชากรไทยส่วนใหญ่กว่า 99% มีหมู่เลือด Rh+ มีเพียง ผู้ที่มีหมู่เลือด Rh- มีเพียง 0.3% เท่านั้น

กรุ๊ปเลือดหายาก

กรุ๊ปเลือดหายากในประเทศไทย คือเลือดในหมู่ Rh- ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น AB- (เอบีเนกาทีฟ) B- (บีเนกาทีฟ) O- (โอเนกาทีฟ) หรือ A- (เอเนกาทีฟ) ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดหายากต่อไปนี้และมีสุขภาพแข็งแรงตามเกณฑ์ มักจะได้รับเชิญจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้มาบริจาคเลือดทุกๆ 3 เดือน เนื่องจากเป็นกรุ๊ปเลือดที่ขาดแคลน

ตารางกรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูก

ลูกน้อยจะได้รับยีนที่ควบคุมหมู่เลือดมาจากคุณพ่อและคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่ทราบกรุ๊ปเลือดตัวเอง ก็สามารถตรวจสอบกรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูกได้จากตารางกรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูก ดังต่อไปนี้

  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = A กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = A กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ O
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = A กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = B กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ B หรือ AB หรือ O
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = A กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = AB กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ B หรือ AB
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = A กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = O กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ O
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = B กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = A กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ B หรือ AB หรือ O
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = B กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = B กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = B หรือ O
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = B กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = AB กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ B หรือ AB
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = B กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = O กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = B หรือ O
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = AB กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = A กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ B หรือ AB
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = AB กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = B กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ B หรือ AB
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = AB กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = AB กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ B หรือ AB
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = AB กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = O กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ B
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = O กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = A กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ O
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = O กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = B กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = B หรือ O
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = O กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = AB กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = A หรือ B
  • กรุ๊ปเลือดคุณแม่ = O กรุ๊ปเลือดคุณพ่อ = O กรุ๊ปเลือดที่เป็นไปได้ของลูก = O

พ่อกรุ๊ป O แม่กรุ๊ป O ลูกกรุ๊ป B ได้ไหม

หากทั้งพ่อและแม่มีเลือดกรุ๊ป O ลูกจะไม่สามารถมีเลือดกรุ๊ป B ได้ เพราะทั้งคู่ต่างส่งต่อแอลลีล (Allele) หรือกลุ่มยีนที่ควบคุมหมู่เลือด OO ให้ลูก เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีเลือดกรุ๊ป O จึงมีโอกาส 100% ที่จะมีเลือดกรุ๊ป O เช่นเดียวกัน

พ่อกรุ๊ป O แม่กรุ๊ป B ลูกกรุ๊ปอะไร

คุณพ่อที่มีเลือดกรุ๊ป O จะส่งต่อแอลลีล O ให้ลูก ส่วนคุณแม่ที่มีเลือดกรุ๊ป B จะส่งต่อแอลลีล B หรือ O ให้ลูก ลูกจึงมีโอกาสที่มีจะมีเลือดกรุ๊ป B หรือ O ก็ได้

พ่อกรุ๊ป B แม่กรุ๊ป B ลูกกรุ๊ปอะไร

คุณพ่อที่มีเลือดกรุ๊ป B จะส่งต่อแอลลีล B หรือ O ให้ลูก และคุณแม่ที่มีเลือดกรุ๊ป B ก็จะส่งต่อแอลลีล B หรือ O ให้ลูกเช่นกัน ลูกจึงมีโอกาสที่มีจะมีเลือดกรุ๊ป B หรือ O ก็ได้

กรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูกไม่ตรงกัน

กรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูกไม่ตรงกัน ลูกกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกับพ่อแม่ แม้พบได้ไม่บ่อย แต่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะมีความเป็นไปได้ที่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดกับลูกแท้ๆ จะมีกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกันได้ เช่น

  • คุณพ่อเลือดกรุ๊ป A คุณแม่เลือดกรุ๊ป B ลูกเลือดกรุ๊ป O (ลูกได้รับแอลลีล O จากคุณพ่อคุณแม่)
  • คุณพ่อเลือดกรุ๊ป AB คุณแม่เลือดกรุ๊ป O ลูกเลือดกรุ๊ป A (ลูกได้รับแอลลีล A จากคุณพ่อและแอลลีล O จากคุณแม่)
  • คุณพ่อเลือดกรุ๊ป A คุณแม่เลือดกรุ๊ป B ลูกเลือดกรุ๊ป AB (ลูกได้รับแอลลีล A จากคุณแม่ และแอลลีล B จากคุณพ่อ)

กรุ๊ปเลือดลูกไม่ตรงกับพ่อแม่จึงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อนแบบในละครหลังข่าวเสมอไป หรือในกรณีที่ลูกมีกรุ๊ปเลือดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย ก็ควรลองตรวจเลือดของทั้งครอบครัวดูก่อน เพราะในสมัยนี้ก็ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบกรุ๊ปเลือดที่แท้จริงของตัวเอง

วิธีดูกรุ๊ปเลือดลูกในสมุดสีชมพู

วิธีดูกรุ๊ปเลือดลูก แบบง่ายๆ ก็คือดูจากสมุดสีชมพู หรือสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ที่คุณแม่ได้รับมาตั้งแต่วันฝากครรภ์ เพราะหลังคลอดจะมีการตรวจเลือดคัดกรองในเด็กแรกเกิด ซึ่งรวมถึงการตรวจความสมบูรณ์ของจำนวนปริมาตรเลือดที่ร่างกายลูกผลิตขึ้น ซึ่งจะทราบผลกรุ๊ปเลือด ABO ด้วยเช่นกัน โดยจะมีการระบุกรุ๊ปเลือดของทารกแรกเกิดเอาไว้ในสมุดเล่มชมพูนี้

ทารกตัวเหลืองจากกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกับแม่

อาการตัวเหลืองของทารก โดยมีสาเหตุจากคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยมีกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกัน (Blood Type Incompatibility) สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ ทารกตัวเหลืองจากกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกับแม่ แบ่งได้ 2 แบบ ดังนี้

ABO incompatibility 

คือ การไม่เข้ากันของกรุ๊ปเลือด ABO เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์มีเลือดกรุ๊ป O แต่ลูกในครรภ์มีเลือดกรุ๊ป B แอนติบอดี้ B ในพลาสม่าของคุณแม่อาจส่งผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ และทำลายเม็ดเลือดที่มีแอนติเจน B ของลูก ทำให้เม็ดเลือดแดงของลูกแตกได้ 

การไม่เข้ากันของหมู่เลือด ABO พบได้ค่อนข้างน้อยและมักไม่รุนแรง แต่ในกรณีที่เม็ดเลือดแดงของลูกแตกมาก อาจมีการปล่อยสาร “บิลิรูบิน” ออกมาในกระแสเลือด สารนี้มีสีเหลือง และมักจะมาเกาะที่ผิวหนังและเยื่อบุตาขาวของทารก จึงอาจทำให้ทารกมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหลังคลอดได้

Rh Incompatibility 

คือ การไม่เข้ากันของกรุ๊ปเลือด Rh เช่น คุณแม่มีกรุ๊ปเลือด Rh- แต่ลูกในครรภ์มีกรุ๊ปเลือด Rh+ ร่างกายของคุณแม่จะสร้างแอนติบอดี้ไปทำลายแอนติเจน D ในเลือดของลูก ทำให้เม็ดเลือดแดงของลูกถูกทำลาย ในครรภ์แรกอาจจะทำให้ทารกแรกคลอดเกิดอาการตาเหลือง ตัวเหลือง แต่ในครรภ์ที่ 2 ปริมาณแอนติบอดี้ที่ร่างกายของคุณแม่ถูกกระตุ้นให้สร้างขึ้นอีกครั้ง อาจทำให้ลูกในครรภ์เกิดภาวะซีด หัวใจวายจากการทำงานอย่างหนักเพื่อสูบฉีดเลือด และเสียชีวิตในครรภ์แม่ได้

แม่ลูกกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกตัวเหลือง วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือการป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการเข้าฝากครรภ์โดยเร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ เมื่อแพทย์ตรวจพบความไม่เข้ากันของกรุ๊ปเลือดของคุณแม่และลูกในครรภ์ ก็จะมีการให้ยาที่ลดการสร้างแอนติบอดี้ของแม่ที่มีต่อเลือดของลูก ป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงของลูกถูกทำลายจนนำไปสู่การเกิดภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

Reference:

บทความที่แนะนำ

genetics-disorder
โครโมโซมคืออะไร โครโมโซมผิดปกติเป็นยังไง ฉบับเข้าใจง่าย
thalassemia-carrier
Enfa Smart Club

Leaving page banner