Enfa สรุปให้
- พาหะธาลัสซีเมียคือการที่พ่อหรือแม่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมียีนธาลัสซีเมียเป็นยีนเด่น หรือมียีนธาลัสซีเมียแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว
- โดยผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียก็จะมีสุขภาพที่เป็นปกติ ไม่มีอาการหรือข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่าตัวเองเป็นพาหะธาลัสซีเมีย เว้นเสียแต่ว่าจะเข้ารับการตรวจเฉพาะทางกับแพทย์ จึงจะทราบว่าตนเองมีพาหะธาลัสซีเมียแฝงอยู่
- ซึ่งการที่พ่อหรือแม่มีพาหะธาลัสซีเมียแฝงอยู่นั้น จะทำให้ลูกจะเกิดมามีโอกาสที่จะเป็นพาหะธาลัสซีเมีย หรือมีโอกาสที่ลูกจะเกิดมาเป็นโรคธาลัสซีเมียด้วย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• พาหะธาลัสซีเมียคืออะไร
• พาหะธาลัสซีเมียมีกี่ชนิด
• แม่ท้องเป็นพาหะธาลัสซีเมีย จะมีผลกระทบต่อลูกในท้องไหม
• ไขข้อข้องใจเรื่องพาหะธาลัสซีเมียกับ Enfa Smart Club
ธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่สามารถส่งต่อกันภายในครอบครัว จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้ ซึ่งโรคนี้เมื่อเป็นแล้วในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ และในการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรงที่พบเป็นสำคัญ
พาหะธาลัสซีเมีย คืออะไร
พาหะธาลัสซีเมีย คือ ผู้ที่มียีนของธาลัสซีเมีย หรือมียีนผิดปกติที่จะนำไปสู่โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งยีนนี้สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง และหากมียีนนี้ในพ่อหรือแม่ ก็สามารถที่จะส่งต่อไปยังรุ่นลูกให้กลายเป็นพาหะธาลัสซีเมีย หรือเป็นโรคธาลัสซีเมียได้
พาหะธาลัสซีเมียกับธาลัสซีเมียต่างกันอย่างไร
พาหะของธาลัสซีเมียกับธาลัสซีเมียนั้น อาจแบ่งได้เป็น 2 กรณี
- เป็นพาหะธาลัสซีเมีย เกิดจากพ่อหรือแม่ มียีนธาลัสซีเมียเป็นยีนเด่นเพียงยีนเดียว ลูกที่เกิดมาอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะธาลัสซีเมียได้
- เป็นโรคธาลัสซีเมีย เกิดจากพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อทั้งแม่ มียีนผิดปกติของธาลัสซีเมีย หรือเป็นพาหะของธาลัสซีเมีย ลูกที่เกิดมาอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคธาลัสซีเมียได้
กล่าวคือลูกที่เกิดมาจากพ่อหรือแม่ที่มีพาหะธาลัสซีเมียนั้น มีโอกาสที่จะเป็นพาหะธาลัสซีเมียเหมือนพ่อหรือแม่ หรือมีโอกาสที่จะเป็นโรคธาลัสซีเมียได้
พาหะธาลัสซีเมียอันตรายไหม
พาหะธาลัสซีเมียคือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมียีนธาลัสซีเมียเป็นยีนเด่น หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นยีนธาลัสซีเมียแฝง ดังนั้น ผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียก็จะมีสุขภาพที่เป็นปกติ ไม่มีอาการหรือข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่าตัวเองเป็นพาหะธาลัสซีเมีย เว้นเสียแต่ว่าจะเข้ารับการตรวจเฉพาะทางกับแพทย์ จึงจะทราบว่าตนเองมีพาหะธาลัสซีเมียแฝงอยู่
พาหะธาลัสซีเมียมีกี่ชนิด
พาหะธาลัสซีเมีย อาจสามารถแบ่งออกได้เป็นชนิดต่าง ๆ ดังนี้
อัลฟ่าธาลัสซีเมีย (Alpha-Thalassemia)
- อัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 1 (α-thalassemia 1)
- อัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 2 (α-thalassemia 2)
- ฮีโมโกลบินคอนสแตนท์สปริง (Hb Constant Spring)
กลุ่มของอัลฟ่าธาลัสซีเมียนั้น สามารถทำให้เกิดโรคธาลัสซีเมียที่มีความรุนแรงในระดับที่อันตราย โดยมากมักส่งผลกระทบต่อกระดูก หรือในกรณีที่รุนแรงมากก็อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์
เบต้าธาลัสซีเมีย (Beta-Thalassemia)
- เบต้า-ธาลัสซีเมีย (β-thalassemia)
- ฮีโมโกลบินอี (Hb E)
โรคเบต้าธาลัสซีเมียนั้น มีอาการรุนแรงเช่นกัน แต่จะไม่เท่ากับกลุ่มของอัลฟ่าธาลัสซีเมียแต่ก็ส่งผลเสียได้ เช่น มีอาการตัวซีด ตัวเหลือง ตับโต ซึ่งต้องการการรักษาตลอดชีวิต
พาหะธาลัสซีเมีย อาการเป็นอย่างไร
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีพาหะธาลัสซีเมียมักจะมีสุขภาพร่างกายที่เป็นปกติ ไม่มีสัญญาณอันตรายใด ๆ หากไม่ได้มีการตรวจโดยเแพทย์เฉพาะทาง ก็จะไม่รู้เลยว่าตัวเองมีพาหะธาลัสซีเมียฝงอยู่
อย่างไรก็ตาม พาหะธาลัสซีเมียนั้นก็ยังต้องขึ้นอยู่กับว่าเป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดใด หากเป็นอัลฟ่าธาลัสซีเมีย (Alpha-Thalassemia) ก็ถือว่ามีอาการที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อกระดูกได้โดยตรง และกรณีที่รุนแรงมาก ก็อาจเกิดการเสียชีวิตตั้งอยู่ในครรภ์ได้เลย
แต่ถ้าเป็นเบต้าธาลัสซีเมีย (Beta-Thalassemia) ก็จะมีอาการโดยทั่วไปคือตัวซีด ตัวเหลือง ไม่ถือว่ารุนแรงนัก
พาหะธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ มีผลกระทบต่อครรภ์อย่างไรบ้าง
หากคุณแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมียและกำลังตั้งครรภ์ ผลกระทบหลัก ๆ เลยก็คือ ทารกนั้นจะมีโอกาสที่จะเป็นพาหะธาลัสซีเมียต่อจากคุณแม่ หรือมีโอกาสที่จะเป็นโรคธาลัสซีเมีย
ดังนั้น คุณแม่จึงควรไปเข้ารับการตรวจกับแพทย์ พร้อมสามี เพื่อประเมินดูว่าทารกในครรภ์มีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะธาลัสซีเมีย หรือจะเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ และพาหะธาลัสซีเมียนั้น เป็นพาหะที่มีความรุนแรงหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาต่อไป หรือขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่ว่าจะดำเนินการกับการตั้งครรภ์ในครั้งนี้อย่างไร สามารถรับได้หรือไม่หากทารกจะคลอดออกมาพร้อมกับ เป็นโรคธาลัสซีเมีย
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือควรมีการตรวจสุขภาพก่อนที่จะวางแผนตั้งครรภ์ เพื่อให้ทราบว่าทั้งพ่อและแม่มีความเสี่ยงใด ๆ ที่อาจจะส่งผลต่อทารกที่จะเกิดมาในอนาคตหรือไม่ และจะสามารถหาทางยับยั้งหรือรับมือกับความเสี่ยงนั้นได้อย่างไรบ้าง ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจให้กับคู่สมรสก่อนที่จะวางแผนสร้างครอบครัวร่วมกัน
พาหะธาลัสซีเมียมีลูกได้ไหม
พาหะธาลัสซีเมียสามารถมีลูกได้ แต่ลูกที่เกิดมานั้นอาจจะมีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะธาลัสซีเมีย หรืออาจจะเป็นโรคธาลัสซีเมีย
พาหะธาลัสซีเมีย ควรกินอะไร
ผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียสามารถกินอาหารได้ตามปกติ คือควรกินอาหารที่หลากหลาย และมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลาย เสริมให้ร่างกายแข็งแรง
รวมถึงอาจจำเป็นจะต้องรับกินอาหารหรือรับอาหารเสริมจำพวกกรดโฟลิก ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในอาหารจำพวกผักใบเขียว และผลไม้รสเปรี้ยว หรือโฟลิกในรูปแบบของอาหารเสริม
เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ควรดูแลตนเองอย่างไร
ผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียเองก็มีหลักการปฏิบัติตนไม่ต่างไปจากคนทั่วไปเลยค่ะ อย่าลืมว่าคนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ส่วนใหญ่แล้วมีร่างกายแข็งแรงตามปกติ ไม่มีอาการรุนแรงใด ๆ แสดงออกมา
ดังนั้น ผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียจึงสามารถดูแลตัวเองโดยทั่วไปได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ควรกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด และหากิจกรรมคลายเครียดอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด
ไขข้อข้องใจเรื่องพาหะธาลัสซีเมียกับ Enfa Smart Club
พาหะธาลัสซีเมียเป็นโรคประจําตัวไหม?
การเป็นพาหะธาลัสซีเมีย ยังไม่ถึงกับว่าเป็นโรคประจำตัว เพราะเป็นเพียงพาหะที่สามารถส่งต่อความเสี่ยงในการเป็นพาหะหรือโรคธาลัสซีเมียไปยังลูกได้ แต่ไม่ได้เป็นโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียก็จะมีสุขภาพแข็งแรงทั่วไปตามปกติ ไม่มีอาการใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
พ่อแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ลูกมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?
ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง หากทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดเดียวกัน ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสในการเป็นพาหะธาลัสซีเมียหรือโรคธาลัสซีเมีย ดังนี้
- ลูกที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมีย ร้อยละ 25
- ลูกที่เกิดมามีโอกาสพบยีนแฝง หรือเป็นพาหะธาลัสซีเมีย ร้อยละ 50
- ลูกที่เกิดมามีโอกาสปกติ ร้อยละ 25
แม่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย พ่อปกติ ลูกมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?
ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง หากทั้งพ่อหรือแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสในการเป็นพาหะธาลัสซีเมียหรือโรคธาลัสซีเมีย ดังนี้
- ลูกที่เกิดมามีโอกาสพบยีนแฝง หรือเป็นพาหะธาลัสซีเมีย ร้อยละ 50
- ลูกที่เกิดมามีโอกาสปกติ ร้อยละ 50
พาหะธาลัสซีเมียชนิด E ต่างจากชนิดอื่นอย่างไร?
พาหะธาลัสซีเมียชนิด E หรือฮีโมโกลบินอี (Hb E) จัดเป็นพาหะธาลัสซีเมียในกลุ่มของเบต้าธาลัสซีเมีย ซึ่งจะไม่คอยมีอาการรุนแรง โดยมากมักจะส่งผลให้มีอาการตัวซีด ตัวเหลือง
แต่ในกรณีที่รุนแรง อาจส่งผลให้ทารกหลังคลอดมีอาการตัวซีดขั้นรุนแรง หรือมีอาการตัวซีดในวัยเด็กได้
- โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุนย์. ธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางแฝงทางพันธุกรรม. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/thalassemia. [23 พฤศจิกายน 2022]
- โรงพยาบาลลาดพร้าว. โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://ladpraohospital.com/th/content/4083/. [23 พฤศจิกายน 2022]
- โรงพยาบาลจุฬารัตน์ อินเตอร์ 3. ธาลัสซีเมีย ( Thalassemia). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=th&id=409. [23 พฤศจิกายน 2022]
- โรงพยาบาลวิภาวดี. โรคเลือดจางธาลัสซีเมียคืออะไร. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/289. [23 พฤศจิกายน 2022]
- โรงพยาบาลเพชรเวช. ธาลัสซีเมีย ความผิดปกติของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Thalassem…. [23 พฤศจิกายน 2022]
- โรงพยาบาลพญาไท. โลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคทางพันธุกรรมที่ไม่ควรมองข้าม. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/article_detail/3208/th/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B…. [23 พฤศจิกายน 2022]
- Phyathai 2 hospital. ถ้าเป็นพาหะธาลัสซีเมีย สามารถตั้งครรภ์ได้ไหม? และต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=uoh3ywgaMlU. [23 พฤศจิกายน 2022]
- โรงพยาบาลนครธน. ทำไม “คู่สมรส” ต้องตรวจธาลัสซีเมียก่อนตั้งครรภ์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.nakornthon.com/article/detail/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E…. [23 พฤศจิกายน 2022]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- สังเกต 20 อาการคนท้องระยะเริ่มต้น ในช่วง 1-4 สัปดาห์แรก
- ตารางกรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูก กรุ๊ปเลือดลูกทำนายได้จากกรุ๊ปเลือดพ่อแม่
- แผลผ่าคลอด ดูแลอย่างไร ให้หายเร็ว และลดรอย
- อาการใกล้คลอด สังเกตทัน รับมือได้
- โรคทางพันธุกรรม ความเสี่ยงก่อนการตั้งครรภ์ที่พ่อแม่ควรรู้!
- ภูมิแพ้ในเด็ก อาการและปัจจัยเสี่ยง คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกเป็นภูมิแพ้
- ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ อันตรายมากน้อยแค่ไหน