Enfa สรุปให้
ก้างปลาติดคอ ปฐมพยาบาลได้ง่าย ๆ ด้วยการดื่มน้ำแล้วกลั้วคอแรง ๆ จะช่วยดันให้ก้างปลาเล็ก ๆ หลุดออกมาได้
หากลองกลั้วคอแล้วก้างปลายังติดอยู่ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเพื่อนำก้างออกมา โดยอาจจะต้องมีการส่องกล้อง หรือทำซีทีสแกนในกรณีที่ก้างอยู่ในตำแหน่งที่ลึก
ไม่ควรกินอาหาร หรือใช้นิ้วล้วงคอ เพราะนอกจากก้างจะไม่หลุดแล้ว ยังเสี่ยงทำให้ก้างเลื่อนลงไปลึกกกว่าเดิม และทำให้เกิดการขีดข่วนจนเป็นแผลในลำคอด้วย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ปลาเป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย มากไปกว่านั้น ปลายังมีสารอาหารสำคัญอย่าง ดีเอชเอ และโอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนช่วยสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ดีต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาของลูก
แต่...ปลาบางชนิดอาจจะมีก้างอยู่มากสักหน่อย หากปรุงไม่ดี หรือนำก้างออกไม่หมด จะทำให้ก้างปลาติดคอลูกได้ เพราะฉะนั้น เตรียมพร้อมไว้ไม่เสียหาย วันนี้ Enfa จะมาแนะนำวิธีแก้ก้างติดคอลูกกันค่ะ
หากลูกบอกว่าก้างปลาติดคอ ให้คุณพ่อคุณแม่สำรวจดูก่อนว่าอาหารที่ลูกกินเข้าไปล่าสุดนั้นเป็นปลาชนิดใด และเป็นปลาที่มีก้างขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก จากนั้นให้เริ่มทำการปฐมพยาบาลทันที
โดยให้ลูกดื่มน้ำแล้วกลั้วคอแรง ๆ เพื่อช่วยดันให้ก้างปลาหลุดออกมาได้ ซึ่งวิธีนี้จะได้ผล ถ้าหากว่าก้างปลานั้นมีขนาดเล็กค่ะ แต่ถ้าหากลูกยังรู้สึกว่ามีก้างปลาติดคออยู่ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ไม่ควรพยายามเอามือล้วงเข้าไปในคอ เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ก้างปลาหลุดออกมาได้ง่าย ๆ แล้ว อาจจะไปดันให้ก้างปลาหลุดเข้าไปลึกกว่าเดิม หรือดันให้ก้างปลาข่วนกับคอของลูกจนเกิดการบาดเจ็บมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดแผล และเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อตามมา หรืออาจทำให้ผลอดอาหารเป็นแผลหรือทะลุได้ค่ะ
ขึ้นอยู่กับขนาดของก้างค่ะ ถ้าหากเป็นก้างที่มีขนาดเล็กและบาง การดื่มน้ำ หรือกินอาหารตามเข้าไป ก็สามารถทำให้ก้างนั้นหลุดออกจากคอหรือหลอดอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ก้างปลาที่ติดคอเสี่ยงที่จะทำให้เกิดแผลจากการขีดข่วนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าก้างนั้นมีขนาดใหญ่และหนา
หากก้างปลาติดคอลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีแก้ก้างติดคอได้ ดังนี้
• ให้ลูกดื่มน้ำแล้วกลั้วคอแรง ๆ จากนั้นบ้วนน้ำออกมา หากก้างปลามีขนาดเล็ก ไม่หนามากนัก ส่วนใหญ่จะหลุดออกมาได้ค่ะ
ซึ่งการดื่มน้ำแล้วกลั้วคอนี้ ถือว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องและปลอดภัยที่สุดในการปฐมพยาบาลด้วยตนเอง หากลองใช้วิธีนี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
หากพยายามแล้ว แต่ลูกยังรู้สึกว่าก้างปลายังติดคออยู่ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ การปล่อยให้ก้างปลาติดคอลูกนาน ๆ จะทำให้ลูกรู้สึกเจ็บ และอาจเกิดการขีดข่วนจนเกิดแผล และยังเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อตามมาได้อีกด้วย
อาการก้างปลาติดคอ โดยทั่วไปแล้วเด็ก ๆ จะรู้ได้เองค่ะว่าก้างปลานั้นหลุดออกจากคอแล้วหรือยัง โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องถามไถ่อาการเป็นระยะว่า
• ยังมีอาการเจ็บจี๊ดที่คออยู่ไหม
• เวลากลืนน้ำหรือกลืนน้ำลาย รู้สึกเจ็บที่คอไหม
• รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอม หรือมีก้างติดอยู่ที่คอหรือเปล่า
ถ้าหากลูกยังมีอาการต่าง ๆ อยู่ แสดงว่าก้างยังไม่หลุดค่ะ แต่ถ้าลูกไม่รู้สึกเจ็บ และไม่รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในลำคอแล้ว แสดงว่าก้างปลาน่าจะหลุดไปแล้ว
หรือบางครั้ง ก้างปลาอาจจะหลุดไปแล้ว แต่ลูกยังรู้สึกเจ็บอยู่ ก็อาจจะต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าก้างปลานั้นมีการขีดข่วนจนเกิดแผลในลำคอ จนทำให้รู้สึกเจ็บที่คอหรือเปล่า
มีความเชื่อผิด ๆ ที่ทำส่งต่อกันมานานเพราะเข้าใจว่าจะช่วยให้ก้างปลาหลุดออกจากคอได้ ซึ่งอาจจะได้ผลจริง หรือไม่ได้ผลจริงก็ได้ค่ะ แต่วิธีเหล่านี้ถือว่าไม่ถูกต้อง และมีแนวโน้มที่จะทำให้อาการก้างปลาติดคอแย่ลงได้
ความเชื่อ: ก้างปลาติดคอให้กินข้าวเหนียว กินขนมปัง กินกล้วย กินมาร์ชเมลโล แบบไม่ต้องเคี้ยว จะทำให้หลุดออกจากคอได้
ความจริง: บางคนอาจทำแล้วได้ผลจริง แต่วิธีนี้ถือว่ามีความเสี่ยงที่อาหารจะดันให้ก้างลึกลงไปกว่าเดิม และมีโอกาสสูงที่ก้างจะไม่หลุดออกไป แต่กลับทำให้เกิดรอยแผลในลำคอ ทำให้รู้สึกเจ็บมากขึ้น และอาจเกิดการติดเชื้อได้
ความเชื่อ: ก้างปลาติดคอให้ดื่มน้ำมะนาว จะทำให้ก้างปลาบางลง และหลุดออกจากคอได้
ความจริง: น้ำมะนาวไม่ได้มีคุณสมบัติในการละลายก้างปลาให้มีขนาดเล็กลงจนหลุดออกไปได้ค่ะ กลับกันการดื่มมะนาวเข้าไปมาก ๆ จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการระคายเคืองกระเพาะอาหารมากกว่า
ความเชื่อ: ก้างปลาติดคอให้การนวดหรือบีบคอ จะทำให้ก้างปลาหลุดออกมาได้
ความจริง: วิธีนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้ก้างปลาหลุดออกมาแล้ว ยังจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ก้างปลาทิ่มคอลึกกว่าเดิมด้วยค่ะ
ความเชื่อ: ก้างปลาติดคอให้แหย่นิ้วเข้าไปเอาก้างปลาออกมาได้
ความจริง: เป็นวิธีที่ลำบาก และค่อนข้างที่จะทุลักทุเล ทั้งยังทำให้ลูกบาดเจ็บมากกว่าเดิม แย่กว่านั้นคือนิ้วของคนเราก็ไม่สามารถจะแหย่เข้าไปถึงลำคอได้สะดวกหรอกค่ะ อีกทั้งการแหย่นิ้วเข้าไปก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นก้างปลาได้อย่างถนัดด้วย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นอกจากก้างปลาจะไม่หลุดออกมาแล้ว ยังเสี่ยงที่จะดันให้ก้างปลาลงลึกไปกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้ลูกเจ็บตัวเพิ่มขึ้นเปล่า ๆ
หากลองปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วไม่เป็นผล ปัญหาก้างติดคอ หาหมอดีที่สุดค่ะ โดยแพทย์จะทำการส่องไฟฉาย และใช้อุปกรณ์กดลงไปที่บริเวณลิ้น เพื่อดูในบริเวณเบื้องต้นที่พบเจอก้างได้บ่อย ๆ ก่อน ว่ามองเห็นก้างหรือไม่
ถ้าหากไม่พบเนื่องจากก้างปลาติดคออยู่ในตำแหน่งที่ลึกเกินไป แพทย์ก็จะทำการส่องกล้อง หรือทำการเอกซเรย์ แต่ถ้ายังหาไม่พบ อาจจะต้องมีการทำ CT Scan เพื่อหาตำแหน่งของก้าง จากนั้นจึงจะใช้ที่คีบดึงเอาก้างออกมา
ส่วนในกรณีที่หาไม่พบจริง ๆ และยังรู้สึกเจ็บคออยู่ อาจเป็นไปได้ว่าก้างได้หลุดออกไปแล้ว ส่วนอาการเจ็บคอนั้นอาจมาจากแผลที่เกิดจากการขีดข่วนของก้างจนทำให้เกิดแผลค่ะ
หากเป็นกรณีข้างต้น แพทย์จะสั่งจ่ายยาสเปรย์สำหรับอาการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอให้ค่ะ แต่ถ้าหากเลวร้ายจริง ๆ คือก้างยังคงติดคออยู่ ก็จะสามารถรู้ได้ค่ะ เพราะจะมีอาการอักเสบและเจ็บคอมากขึ้น
การรักษาก้างปลาติดคอกับแพทย์นั้น แน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายพ่วงเข้ามาด้วย ซึ่งแต่ละสถานพยาบาลนั้นก็จะแตกต่างกันไปค่ะ โดยอาจมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,200 บาทขึ้นไป หรืออาจสูงถึง 5,000 บาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาทค่ะ
ซึ่งถ้าสงสัยว่าทำไมแค่เอาก้างปลาออกถึงมีราคาที่พุ่งสูงไปหลักหมื่นบาท ให้นึกถึงหลักความเป็นจริงว่า ก้างปลาติดคอเนี่ยไม่ได้ติดในตำแหน่งเดียวกันทุกคน บางคนอาจจะติดลงไปในตำแหน่งที่ลึกจนถึงหลอดอาหาร และมีความยากมาก ๆ ในการนำก้างออกมา
โดยบางรายอาจจะต้องมีการดมยาสลบก่อนด้วยก่อนที่จะส่องกล้องและนำเอาก้างปลาออกมา อย่างไรก็ตาม หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน ค่ารักษาพยาบาลก็จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง และจะสูงมากขึ้นไปอีกหากกระบวนการรักษามีความยากและซับซ้อนค่ะ
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยเช่นกันค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถลดความเสี่ยงป้องกันไม่ให้ก้างติดคอลูกได้ ดังนี้
• หากเมนูอาหารในวันนั้นจะทำเมนูปลา ให้เลือกปลาที่มีก้างน้อย ๆ
• ก่อนจะนำปลามาปรุงอาหาร ให้นำก้างปลาออกให้หมด อย่าชะล่าใจนะคะ เพราะบางครั้งอาจจะหลงเหลือก้างชิ้นเล็ก ๆ และทำให้ก้างติดคอลูกได้
• นอกจากอาหารจำพวกปลาแล้ว อาหารที่มีกระดูก ที่อาจจะเสี่ยงต่อการติดคอลูก ก็ควรระมัดระวังเช่นกัน หรือนำกระดูกออกไปให้หมด ก่อนจะนำมาปรุงอาหารให้ลูกค่ะ
ปัญหาก้างติดคอนั้น อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่เกิดได้ทั่วไป แต่ถ้าหากป้องกันเอาไว้ก่อน ก็จะลดความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงในลำคอได้ค่ะ เพราะในบางรายที่ก้างมีขนาดใหญ่ จนทำให้เกิดแผลในลำคอ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อ หรือหลอดอาหารเป็นแผล หรือทะลุตามมาได้ด้วยค่ะ
Enfa สรุปให้ อาการไข้ขึ้นตอนกลางคืน กลางวันปกติ พบได้บ่อยในเด็ก เพราะเป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ เมื่อทารกคัดจมูก คุณแม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูกสูตรสำหรับทารกโ...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ฟลูออไรด์ เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติทั้งจากดิน หิน น้ำโดยเฉพาะใน...
อ่านต่อ