Enfa สรุปให้
โรคหัดเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง ที่พบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเย็น พบได้บ่อยในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี
โรคหัดสามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอ การจาม หรือการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคหัด ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อด้วยเช่นกัน
การรักษาโรคหัดจะรักษาตามอาการ เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการรุนแรง และอาการสามารถดีขึ้นตามลำดับได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
โรคหัด ถือเป็นหนึ่งในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก หรือที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะเรียกกันติดปากว่า “ออกหัด” ซึ่งแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วอาการของโรคหัดนั้นจะไม่ได้รุนแรง แต่...ในกรณีที่เด็กมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง จากโรคหัดธรรมดาก็อาจมีอาการรุนแรงจนน่ากังวลได้เหมือนกันค่ะ
โรคหัด หรือไข้หัด (Measles) เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง เกิดจากการเชื้อไวรัสกลุ่ม Morbillivirus จัดว่าเป็นโรคติดต่อที่พบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเย็น และพบได้บ่อยในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี
โรคหัดนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก ผ่านการไอ การจาม หรือการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคหัด ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อด้วยเช่นกัน
โดยทั่วไปแล้วโรคหัดไม่ใช่อาการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากนัก อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับจนกระทั่งหายเป็นปกติ แต่ก็มีหลายคนที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น มีอาการหูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะพบในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นทุนเดิมอยู่แล้วค่ะ
หลังจากได้รับเชื้อโรคหัด เชื้อไวรัสจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 8-12 วัน จากนั้นผู้ที่ติดเชื้อจึงจะเริ่มมีอาการปรากฎออกมา ดังนี้
มีอาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัด เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล
อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
ตาแดง
น้ำตาไหล
มีจุดสีขาวบริเวณกระพุ้งแก้ม
หลังจากที่มีอาการข้างต้นประมาณ 2-4 วัน จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีมีผื่นแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย โดยระยะที่มีผื่นนั้นจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 วัน ก่อนที่ไข้จะค่อย ๆ ลดลง และใช้เวลาจากนั้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ผื่นแดงเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ หรือมีสีเข้มขึ้น และค่อย ๆ ซีดจางลง
เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหัดจะกระจายตัวอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ดังนั้น เวลาที่ผู้ป่วยไอ จาม แล้วไม่ได้ปิดปาก ปิดจมูก หรือไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย
ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมีโอกาสเสี่ยงที่จะหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนในอากาศมากับละอองเสมหะของผู้ป่วยได้ ดังนั้น หากสมาชิกในบ้านเป็นโรคหัด ควรแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนะคะะ
โรคหัด กับ หัดกุหลาบ หรือโรคส่าไข้ (Roseolar Infantum) แม้จะมีอาการโดยทั่วไปคล้าย ๆ กัน และมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่โรคเดียวกันค่ะ
เพราะสาเหตุของโรคนั้นมาจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน โดยโรคหัดจะเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Morbillivirus ส่วนหัดกุหลาบจะเกิดจากเชื้อไวรัส Human Herpesvirus type 6 (HHV-6)
โรคหัด กับ โรคหัดเยอรมัน (Rubella) แม้จะชื่อหัดเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่โรคเดียวกัน เพราะสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัสที่ต่างชนิดกัน แต่จะมีอาการคล้าย ๆ กัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายเช่นเดียวกัน
มากไปกว่านั้น ความรุนแรงของโรคก็แตกต่างกันด้วยค่ะ เมื่อเทียบกันแล้วหัดเยอรมันถือว่ามีความรุนแรงที่น้อยกว่าโรคหัด
การรักษาโรคหัดนั้นจะไม่มีรูปแบบเฉพาะทางของโรคค่ะ เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการรุนแรง และอาการสามารถดีขึ้นตามลำดับได้ การดูแลจึงเป็นการประคับประคองไปตามอาการ หรือดูแลเหมือนกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทั่วไป ดังนี้
กินยาลดไข้
ดื่มน้ำให้มาก ๆ
เช็ดตัวบ่อย ๆ
กินยาแก้ไอ
นอนพักผ่อน
การดูแลลูกน้อยที่มีอาการออกหัดนั้นไม่ยุ่งยากค่ะ เพียงแค่รักษาตามอาการที่ปรากฎขึ้น คุณพ่อคุณแม่คอยดูแลเช็ดตัวให้ลูกบ่อย ๆ กินยาลดไข้ หากลูกมีอาการไอ ก็ให้ลูกกินยาแก้ไอ หมั่นเตือนให้ลูกดื่มน้ำบ่อย ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
ที่สำคัญคืออาจจะต้องแยกลูกออกจากคนอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากโรคหัดนั้นสามารถติดต่อกันผ่านการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือได้รับเชื้อผ่านการไอหรือจามได้
แต่ถ้าหากลูกเริ่มมีไข้สูงโดยไม่ลดลง ตาแฉะ ตาแดง ปากแดง น้ำมูกไหล อาจจะต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าลูกกำลังมีอาการแทรกซ้อนหรือไม่
วิธีป้องกันโรคหัดในเด็กเล็ก หลัก ๆ ก็คือการแยกเด็กออกจากผู้ป่วยโรคหัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดต่อ และที่สำคัญคือควรพาลูกไปเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคหัดตามตารางวัคซีนเด็ก เพื่อให้ลูกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดค่ะ
Enfa สรุปให้ อาการไข้ขึ้นตอนกลางคืน กลางวันปกติ พบได้บ่อยในเด็ก เพราะเป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ เมื่อทารกคัดจมูก คุณแม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูกสูตรสำหรับทารกโ...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ฟลูออไรด์ เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติทั้งจากดิน หิน น้ำโดยเฉพาะใน...
อ่านต่อ