ทารกที่ยังเล็ก เด็กที่อายุยังน้อย เป็นช่วงวัยที่มีความบอบบาง จึงเสี่ยงที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่าง ๆ ได้ง่าย เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านั้นได้ดีพอ การฉีดวัคซีนสำหรับเด็กจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเสริมเกราะป้องกันโรคชนิดต่าง ๆ ที่เสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อเด็ก เพื่อให้เด็กแข็งแรงและสามารถเติบโตได้อย่างปลอดภัย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
วัคซีนวัณโรคจะฉีดเมื่อแรกเกิด หรือหลังการคลอด จะฉีดบนไหล่ด้านซ้าย ไม่ฉีดที่สะโพก โดยส่วนใหญ่แล้ว หลังคุณแม่คลอดทางโรงพยาบาลก็จะจัดการฉีดวัคซีนตัวนี้ให้เลย ก่อนที่คุณแม่และลูกน้อยจะออกจากโรงพยาบาล
ในกรณีที่เด็กยังไม่เคยมีประวัติ หลักฐาน หรือแผลเป็นจากการฉีดวัคซีนตัวนี้มาก่อน สามารถเข้ารับการฉีดได้ทันที และไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำหากมีประวัติในการฉีดแล้ว
วัคซีนตับอักเสบบี เป็นวัคซีนอีกตัวหนึ่งที่เด็กจะได้รับหลังคลอด ซึ่งวัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนที่เด็กทุกคนต้องได้รับอย่างน้อย 3 ครั้ง และเข็มสุดท้ายที่ได้รับต้องอายุมากกว่า หรือเท่ากับ 6 เดือน โดยมีข้อแนะนำในการรับวัคซีนตับอักเสบบี ดังนี้
• เด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่มี HBsAg เป็นลบ ให้ฉีดวัคซีน จำนวน 3 ครั้ง เข็มแรกหลังการคลอดภายใน 24 ชม. เข็มที่ 2 ช่วงอายุ 1 – 2 เดือน และเข็มสุดท้ายในช่วงอายุ 6 เดือน ตามลำดับ
• กรณีไม่ทราบผลเลือดของคุณแม่ ควรให้วัคซีนครั้งแรกภายใน 12 ชม. หลังคลอด ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ที่อายุ 1 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ
• เด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่มี HBsAg เป็นบวก (โดยเฉพาะ HBeAg เป็นบวกด้วย) พิจารณาให้ HBIG 0.5 มล. ภายใน 12 ชม. หลังคลอด และให้วัคซีนครั้งที่ 1 พร้อมกันคนละข้างกับ HBIG
• ในกรณีที่มาทราบภายหลังว่า คุณแม่มี HBsAg เป็นบวก ควรพิจารณาให้ HBIG ถ้าเด็กได้รับวัคซีนมาแล้วไม่เกิน 7 วัน
• ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ใช้วัคซีนรวมที่มี คอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน – ตับอักเสบบี – ฮิบ (DTP-HB-Hib) ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน ถ้าหากคุณแม่มี HBsAg เป็นบวก และเด็กไม่ได้รับ HBIG ควรให้วัคซีนตับอักเสบบีแบบเดี่ยวเพิ่มตอนอายุ 1 เดือนด้วย (รวมเป็น 5 ครั้ง)
• เด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่มี HBsAg เป็นบวก ควรตรวจ HBsAg และ anti-HBs เมื่ออายุประมาณ 9 – 12 เดือน
วัคซีนชนิดนี้ เด็ก ๆ จะได้รับในช่วงวัย 2, 4 และ 6 เดือน สามารถใช้วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (DTaP) แทนชนิดเซลล์ (DTwP) ได้ทุกครั้ง ในกรณีที่ใช้ชนิดไร้เซลล์ (DTaP) ควรใช้ชนิดเดียวกันทั้ง 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน หากไม่สามารถใช้ชนิดเดียวแทนกันได้ ให้ใช้ชนิดใดแทนกันก็ได้ และยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้
สำหรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 18 เดือน อาจใช้ DTwP หรือ DTaP หรือ pentavalent (DTP-HB-Hib) ชนิดใดก็ได้
เมื่ออายุ 4 – 6 ปี อาจจะใช้ DTwP, DTaP หรือ Tdap (Boostrix™ หรือ Adacel™) ก็ได้
เมื่อเด็กอายุ 11 – 12 ปี ควรได้รับการฉีด Td หรือ TdaP (Boostagen™) ไม่ว่าจะเคยได้รับ Tdap เมื่ออายุ 4 – 6 ปี มาก่อนหรือไม่ หลังจากนั้นควรได้รับการฉีดกระตุ้นด้วย Td/Tdap ทุก 10 ปี
สำหรับผู้ใหญ่ควรได้รับ Tdap หรือ TdaP 1 เข็ม ไม่ว่าจะเคยได้รับ TT หรือ Td มานานเท่าไหร่แล้วก็ตาม จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นด้วย Td/Tdap ทุก 10 ปี
หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ Tdap/TdaP 1 เข็ม ที่อายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์ทุก ๆ การตั้งครรภ์
ในปัจจุบันมีวัคซีน aP (Pertagen™) สำหรับผู้ที่มีอายุ 11 ปีขึ้นไป ที่ต้องการภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนเพียงอย่างเดียว โดยมีภูมิคุ้มกันต่อคอตีบ และบาดทะยักเพียงพอแล้ว
ฮิบ หรือ เชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี (Haemophilus influenzae type B) คือเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคอย่าง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดอักเสบ เป็นต้น โดยเด็กจะได้วัคซีนฮิบในช่วงวัย 2, 4 และ 6 เดือน เช่นเดียวกับวัคซีนคอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน
หากเด็กมีสุขภาพแข็งแรง อาจจะไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่ออายุ 12 – 18 เดือน แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ และไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนฮิบในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันปกติ อายุ 2 ปี ขึ้นไป
สำหรับวัคซีนโปลิโอ จะเป็นวัคซีนชนิดกิน (OPV) และชนิดฉีด (IPV) เด็กจะได้วัคซีนแบบกินก่อน โดยแต่ละครั้งจะต้องหยดวัคซีน 5 ครั้ง และเมื่อเด็กอายุ 4 เดือน จะให้วัคซีนชนิดกิน ร่วมกับวัคซีนชนิดฉีด 1 เข็ม โดยจะเด็กจะได้รับวัคซีนโปลิโอเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน ตามลำดับ
วัคซีนโรต้า เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า ที่ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ และอาเจียนรุนแรงในทารกและเด็กเล็ก โดยเด็กจะได้รับวัคซีนในช่วงวัย 2, 4 และ 6 เดือน ซึ่งมีข้อแนะนำในการรับวัคซีน ดังนี้
วัคซีนโรต้า มีด้วยกัน 2 ชนิด แบ่งออกเป็น
ชนิด monovalent มี 2 ชนิด ได้แก่
human monovalent (Rotarix™) ให้กิน 2 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2 และ 4 เดือน และ human-bovine monovalent (Rotavac™) ให้กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2, 4 และ 6 เดือน
ชนิด human-bovine pentavalent (RotaTeq™, Rotasiil™) ให้กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2, 4 และ 6 เดือน
โดยวัคซีนทั้ง 4 ชนิด สามารถเริ่มให้ได้ครั้งแรก เมื่ออายุ 6 – 15 สัปดาห์ และครั้งสุดท้ายไม่เกิน 8 เดือน โดยแต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ หรืออาจจะพิจารณาให้ในเด็กที่มีอายุมากกว่าที่กำหนดไว้ได้ แต่อายุต้องไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเป็นคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยแพทย์ควรอธิบายความเสี่ยงให้ผู้ปกครองได้ทราบ
ควรใช้วัคซีนชนิดเดียวกันจนครบ หากจำเป็นต้องใช้วัคซีนต่างชนิดกันในแต่ละครั้ง หรือไม่ทราบว่าครั้งก่อนหน้าได้รับวัคซีนชนิดอะไรมา ต้องให้วัคซีนทั้งหมด 3 ครั้ง
สามารถให้วัคซีนโรต้าร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดกินได้
ห้ามใช้วัคซีนนี้ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (severe combined immune deficiency: SCID) และในเด็กที่มีประวัติลำไส้กลืนกัน
วัคซีนหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน จะให้ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9 – 12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 18 เดือน หากเด็กอยู่ในพื้นที่ที่มีการรายงานโรคหัดจำนวนน้อย อาจจะฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12 เดือน และยังมีข้อแนะนำในการรับวัคซีนตัวนี้ ดังนี้
ในกรณีที่มีการระบาด หรือสัมผัสโรค ควรเริ่มฉีดวัคซีน และฉีดให้ครบโดยเร็ว ดังนี้
สามารถเริ่มฉีดเข็มแรก ตั้งแต่อายุ 6 – 9 เดือน ให้ฉีดซ้ำเข็มที่ 2 ที่อายุ 12 เดือน และเข็มที่ 3 ที่อายุ 18 เดือน
ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่อายุ 9 – 12 เดือน ให้ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน ได้ 2 เข็ม ถือว่าฉีดครบ
ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกหลังอายุ 12 เดือน ให้ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน ได้ 2 เข็ม ถือว่าฉีดครบ ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องการควบคุมโรคระบาดของหัด อาจใช้วัคซีนหัด – หัดเยอรมัน (MR) แทนได้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 ปี และผู้ใหญ่
ในกรณีที่ต้องการฉีดวัคซีน หัด – คางทูม – หัดเยอรมัน และอีสุกอีใสในเวลาเดียวกัน สามารถใช้วัคซีนรวม หัด – คางทูม - หัดเยอรมัน – อีสุกอีใส (MMRV) แทนการฉีดแบบแยกเข็มได้ทุกครั้งในเด็ก ที่มีอายุตั้งแต่ 1 – 12 ปี
การใช้วัคซีนรวม MMRV ในเด็กอายุ 12 – 23 เดือน เข็มแรกมีโอกาสที่จะเกิดอาการชักได้มากกว่าการฉีดแยกเข็ม สำหรับการฉีดวัคซีนรวม MMRV ที่อายุ 2 – 4 ปี พบว่ามีอาการข้างเคียงไม่ต่างกัน
กรณีเคยได้วัคซีน MMR หรือ VZV มาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนรวม MMRV ห่างจากวัคซีน MMR และ VZV ครั้งก่อน อย่างน้อย 3 เดือน
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี มีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (inactivated; JEVAC™) ฉีด 3 ครั้ง เริ่มเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป เข็มต่อมาอีก 1 – 4 สัปดาห์ และ 1 ปีตามลำดับ อีกชนิดคือ วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live JE; CD-JEVAX™ และ IMOJEV™/THAIJEV™) ให้ฉีด 2 ครั้ง เข็มแรกที่อายุ 9 – 12 เดือน เข็มต่อมาอีก 12 – 24 เดือน live JE ทั้งสองชนิดสามารถใช้แทนกันได้
นอกจากนี้ สามารถใช้วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live JE) ฉีดกระตุ้นในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนชนิดไม่มีชีวิต (inactivated JE) ได้ และสามารถใช้วัคซีนชนิดไม่มีชีวิต (inactivated JE) ฉีดกระตุ้นในผู้ที่เคยฉีดชนิดมีเชื้อชีวิต (live JE) ได้ โดยห่างกันอย่างน้อย 12 เดือน
สำหรับผู้ที่เคยรับวัคซีนเชื้อไม่มีชีวิตชนิด (mouse-brain derived vaccine) ครบแล้ว อาจจะพิจารณาให้วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตกระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง โดยห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 1 ปี
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนสำคัญอีกตัวที่เด็กทารกควรได้รับ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะพิจารณาให้ฉีด ตอนเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรง เช่น เด็กที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง (รวมหอบหืด), โรคหัวใจ, โรคอ้วน (มีค่าBMI มากกว่า 35), ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, หญิงตั้งครรภ์ และโรคเรื้อรังอื่น ๆ เป็นต้น
วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ป้องกันไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก และเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ทำลายสุขภาพของผู้หญิงในปัจจุบัน การฉีดวัคซีน HPV จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9-26 ปี อย่างไรก็ตาม วัคซีน HPV ยังสามารถฉีดในเด็กผู้ชายได้เหมือนกัน โดยจะไปช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งองคชาต มะเร็งช่องปากและหลอดคอ มะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศของผู้ชาย
แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กผู้หญิงที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี แพทย์จะแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ในเดือนที่ 0, 6 – 12 เดือน สำหรับหญิงอายุ 15 – 26 ปี ให้ฉีด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1 - 2 และ 6
เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลใหม่จากกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงรายการการฉีดวัคซีนเด็กประจำปี 2565 คุณแม่จึงอาจใช้ตารางฉีดวัคซีนหลักและวัคซีนเสริมประจำปี 2564 เป็นแนวทางในการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กเบื้องต้นก่อนได้ ดังนี้
ทั้งนี้การให้วัคซีนช่วงตลอดช่วงอายุ 1 – 12 เดือนของลูกน้อย อาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่โดยหลัก ๆ แล้ว เด็กในช่วงวัยนี้ จะได้รับวัคซีนตามที่กำหนดไว้หลัก ๆ ประมาณ 9 ตัวด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอื่น ๆ ที่จะเสริม หรือทดแทน ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมิน และคำแนะนำของแพทย์ ดังนั้นคุณแม่ ควรพาลูกน้อยเข้ารับวัคซีนตามที่แพทย์นัดหมายให้ครบถ้วน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของสุขภาพลูกน้อย
การรับวัคซีนหลักสำหรับเด็ก ถือว่าเพียงพอต่อการป้องกันโรคพื้นฐานที่เสี่ยงต่อเด็ก อย่างไรก็ตาม วัคซีนเสริมชนิดอื่น ๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเจ้าตัวเล็กได้มากขึ้นไปอีก ส่วนจะจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเสริมหรือไม่นั้น ขอให้พิจารณาดูว่าเจ้าตัวเล็กมีความเสี่ยงต่อโรคนั้น ๆ มากหรือน้อยเพียงใด หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาก ก็อาจจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเสริมสำหรับเด็ก โดยวัคซีนเสริมสำหรับเด็ก มีดังนี้
วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ วัคซีนชนิดไร้เซลล์นี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนได้ตามปกติ แต่มีผลข้างเคียงหลังฉีดที่น้อยกว่า
วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด การฉีดวัคซีนโปลิโอให้ประสิทธิภาพเท่ากับวัคซีนชนิดกิน และสามารถใช้แทนชนิดกินได้ทุกครั้ง ซึ่งมักฉีดรวมพร้อมกับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี อย่างไรก็ตาม เด็กที่ฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ก็ยังสามารถเป็นอีสุกอีใสได้อยู่ แต่มักเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เป็นมากเท่ากับเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ จะฉีดให้เด็กที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยให้ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการดีซ่านจากโรคไวรัสตับอักเสบเอ
วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม (ไอพีดี) ฉีดเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกล้ำ โดยจะเริ่มฉีดเมื่อเด็กมีอายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 12-15 เดือน
วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ป้องกันไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะแนะนำให้ฉีดในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่อายุ 9 - 26 ปี ซึ่งสำหรับเด็กผู้ชายนั้นวัคซีน HPV จะช่วยป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนัก
วัคซีนไข้เลือดออก สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี โดยแพทย์จะเว้นระยะการฉีดเป็น 3 ครั้ง คือ 0, 6 และ 12 เดือน
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถเข้ารับการฉีดได้ทุกช่วงวัยโดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน แต่เพื่อลดความเสี่ยง ควรไปเข้ารับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เนิ่น ๆ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่ควรฉีดปีละ 1 ครั้ง และสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน
ก่อนพาลูกไปเข้ารับวัคซีนหลักหรือวัคซีนเสริมตามกำหนด พ่อแม่ควรปฏิบัติดังนี้
พ่อแม่ควรนำสมุดบันทึกการรับวัคซีนติดตัวมาด้วยทุกครั้ง
หากลูกมีอาการแพ้ยา หรือแพ้อาหาร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ
ในกรณีที่เด็กมีไข้ขึ้นสูง ไม่สบาย ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายดี
ในกรณีที่ไม่สามารถมาตามนัดได้ ควรแจ้งต่อแพทย์ และสามารถพาลูกมารับวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ครบโดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
หลังรับวัคซีน ควรรอสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที แล้วจึงกลับบ้าน
การฉีดวัคซีนเด็ก เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันเด็กให้แข็งแรง สามารถต่อสู้กับโรคและไวรัสต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเมื่อรับวัคซีนไปแล้ว ร่างกายจึงอาจมีปฏิกิริยากับวัคซีนที่เพิ่งรับไป และแสดงอาการบางอย่างออกมาให้เห็น แต่เนื่องจากวัคซีนที่ฉีดเป็นวัคซีนต่างชนิดกัน ป้องกันโรคคนละชนิดกัน อาการหลังการฉีดวัคซีนก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนี้
มีไข้ ตัวร้อน มักพบได้หลังจากฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
มีอาการไอ น้ำมูกไหล ผื่นขึ้น มักพบได้หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน
มีตุ่มหนอง มักพบได้หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG)
มีอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน อาจเกิดจากการร้องงอแง การขยับตัวขณะฉีดวัคซีน การประคบเย็นสามารถช่วยบรรเทาได้
มีอาการชัก มักพบในเด็กที่มีไข้สูงหลังฉีดวัคซีน
สำหรับวัคซีนหลักสามารถพาลูกที่ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ในส่วนของวัคซีนเสริมอาจมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของวัคซีนที่ฉีด และสถานพยาบาลที่เข้ารับการฉีด
สำหรับวัคซีนหลัก สามารถพาลูกที่ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน (กรณีนี้อาจมีค่าใช้จ่าย ควรสอบถามกับคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนที่สนใจก่อน)
ในส่วนของวัคซีนเสริม อาจมีค่าใช้จ่ายตามแต่ประเภทของวัคซีน คุณแม่จำเป็นที่จะต้องสอบถามค่าใช้จ่ายกับสถานพยาบาลก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เนื่องจากราคาอาจมีการปรับขึ้นหรือลงได้ในแต่ละปี
การเลื่อนฉีดวัคซีนเด็กแม้จะไม่ใช่คำแนะนำที่ดีนัก เพราะการรับวัคซีนที่ไม่ตรงตามกำหนด อาจเสี่ยงที่จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรคไม่ตรงตามช่วงวัยอย่างเพียงพอ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ติดโรคหรือไวรัสต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็น หรือในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ อาจส่งผลให้การเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปฉีดวัคซีนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย ซึ่งสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทยได้แนะนำว่าหากเป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดตามกำหนด ควรไปเข้ารับวัคซีนตามกำหนด เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัขกัดจำเป็นต้องมารับวัคซีนตามกำหนด
วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB) 3 เข็มแรก
วัคซีนโรต้า (Rota)
วัคซีนโปลิโอ (OPV, IPV)
วัคซีนคอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน (DTwp) 3 เข็มแรก
วัคซีนไอพีดี (IPD) 3 เข็มแรก
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live JE)
วัคซีนหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน (MMR)
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
วัคซีนโปลิโอ (OPV, IPV) และวัคซีนคอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน (DTwp) สำหรับเข็มกระตุ้นตอนอายุ 1 ขวบครึ่ง และอายุ 4 ขวบ
วัคซีนไอพีดี (IPD) เข็มกระตุ้นตอนอายุ 12-15 เดือน
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ
วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV
วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยักสำหรับวัยรุ่น
การเลื่อนฉีดวัคซีนเด็ก หรือไปเข้ารับวัคซีนเด็กไม่ตรงตามกำหนด อาจเสี่ยงที่จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรคไม่ตรงตามช่วงวัยอย่างเพียงพอ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ติดโรคหรือไวรัสต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
โดยปกติแล้ววัคซีนป้องกันบาดทะยักมักจะถูกให้ร่วมกับวัคซีน DTaP เพื่อป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ซึ่งวัคซีนรวม DTap นี้ จำเป็นที่จะต้องฉีด 5 เข็ม โดยจะได้รับตามช่วงอายุคือ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 15 ถึง 18 เดือน และอายุ 4 ถึง 6 ปี
เมื่อเด็กมีอายุ 4 ปีควรได้รับวัคซีนหลักและวัคซีนเสริม ดังนี้
วัคซีนหลักสำหรับเด็กอายุ 4 ปี
วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ กระตุ้น เข็มที่ 2 (DTwP กระตุ้น 2)
วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน กระตุ้น ครั้งที่ 2 (OPV กระตุ้น 2),
วัคซีนเสริมสำหรับเด็กอายุ 4 ปี
วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดไร้เซลล์กระตุ้น เข็มที่ 2 (DTaP กระตุ้น 2)
วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็มที่ 5 (IPV 5)
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ครั้งที่ 2 (VZV 2) หรือ วัคซีนรวมหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม, อีสุกอีใส เข็ม 2 (MMRV 2)
ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่สถานพยาบาล จึงควรติดต่อและสอบถามกับสถานพยาบาลโดยตรงเพื่อให้ได้ข้อมูลล่าสุดที่ถูกต้อง
เมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน ควรได้รับวัคซีนดังนี้
วัคซีนรวม 6 โรค (วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-วัคซีนโปลิโอ-วัคซีนฮิป-วัคซีนตับอักเสบบี) เข็มที่ 3
วัคซีนไวรัสโรต้า (RV) ป้องกันโรคท้องร่วง ครั้งที่ 3
วัคซีนเสริม : วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (IPD) ครั้งที่ 3
สามารถพาลูกไปฉีดวัคซีนเด็กได้ตามสถานพยาบาลทั่วไปทั้งรัฐบาลและเอกชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงคลินิกด้วย
หากลูกฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไข้ตามมา ควรให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ นำผ้าเช็ดตัวหรือผ้าสะอาดมาชุบน้ำอุ่น เพื่อเช็ดตัวทำความสะอาดร่างกาย และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง แต่ถ้ามีอาการไข้นานเกินกว่า 2 วัน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา
หากสมุดฉีดวัคซีนเล่มสีชมพูหาย คุณแม่สามารถไปติดต่อขอรับสมุดเล่มใหม่ได้ที่โรงพยาบาลที่มีการเกิด หรือโรงพยาบาลที่มีประวัติการฉีดวัคซีนได้เลย
Enfa สรุปให้ อาการไข้ขึ้นตอนกลางคืน กลางวันปกติ พบได้บ่อยในเด็ก เพราะเป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ เมื่อทารกคัดจมูก คุณแม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูกสูตรสำหรับทารกโ...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ฟลูออไรด์ เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติทั้งจากดิน หิน น้ำโดยเฉพาะใน...
อ่านต่อ