
Enfa สรุปให้
- การนอนกัดฟัน (Bruxism) คือ ความผิดปกติของการนอน เนื่องจากระบบบดเคี้ยวมีการทำงานผิดปกติในขณะที่นอนหลับโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวนั้นเกิดการหดตัวผิดปกติ จึงทำให้เกิดการกัดฟัน บดฟัน หรือขบเน้นที่ฟันตามมานั่นเอง
- การที่เด็กนอนกัดฟันสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุ เช่น ฟันขึ้นซ้อนเก ฟันห่าง ความสูงของฟันผิดปกติ ฟันแท้กำลังขึ้น เกิดจากกรรมพันธุ์ ถ้ามีคนในครอบครัวนอนกัดฟันก็มีส่วนทำให้เด็กนอนกัดฟัน สภาพจิตใจถ้าเกิดอาการวิตกกังวลหรือเครียดก็มีส่วนทำให้เด็กนอนกัดฟัน รวมถึงการกินยารักษาโรคบางชนิดด้วยเช่นกัน
- แม้ว่าการนอนกัดฟันจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นทุกวัน เป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะกระทบต่อสุขภาพฟันได้ ดังนั้น ถ้าเด็ก ๆ มีอาการเหล่านี้ เช่น อาการเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็น หรือได้ยินเสียงดังติดขัดในขณะที่ลูกกำลังอ้าและหุบปาก หรือได้ยินเสียงลูกหายใจค่อนข้างแรงทางปากอย่างชัดเจน รวมถึงฟันที่อุดได้รับเสียหาย อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กมีโอกาสที่จะนอนกัดฟัน
-
โดยการรักษาอาการนอนกัดฟัน สามารถทำได้ด้วยการใส่เฝือกสบฟัน หรือการทำศัลยกรรมช่องปากเพื่อซ่อมแซมฟันที่เสียหายที่เกิดจากการนอนกัดฟัน นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก ๆ เพื่อช่วยให้อาการนอนกัดฟันหายไป

เลือกอ่านตามหัวข้อ
• การนอนกัดฟัน (Bruxism) คืออะไร
• เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากสาเหตุอะไร
• สัญญาณเตือนเด็กนอนกัดฟัน
• วิธีรักษาอาการเด็กนอนกัดฟัน
• เด็กนอนกัดฟัน มีผลกระทบต่อสุขภาพฟันอย่างไร
การนอนกัดฟัน (Bruxism) ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็ก ๆ ก็สามารถนอนกัดฟันได้เหมือนกัน เมื่อลูกนอนกัดฟันคุณแม่หลายคนอาจจะคิดว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หายไปเอง เมื่อลูกโตขึ้นแต่ยังนอนกัดฟันเหมือนเดิม หากปล่อยไว้อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพฟัน เช่น ฟันสึก มีอาการปวดฟัน และปวดกรามตามมาได้
วันนี้เรามีบทความดี ๆ เกี่ยวกับ การนอนกัดฟัน คืออะไร เด็กนอนกัดเกิดจากสาเหตุอะไร มีผลกระทบอะไรบ้าง วิธีรักษาการนอนกัดฟันอย่างไร รวมถึงวิธีการนอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กนอนกัดฟันมาฝากคุณแม่กันด้วยค่ะ
การนอนกัดฟัน (Bruxism) คืออะไร
การนอนกัดฟัน (Bruxism) คือ ภาวการณ์เกิดการบด กัด หรือขบฟัน โดยฟันกรามด้านบนและฟันกรามด้านล่างขบเข้าหากัน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในขณะนอนหลับโดยไม่รู้ตัว การที่เด็กนอนกัดฟันถือว่าเป็นความผิดปกติการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ มักจะพบว่าเป็นโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการนอนหลับ เช่น นอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แม้ว่าการนอนกัดฟันจะไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นทุกวัน เป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจจะกระทบต่อสุขภาพฟันได้
เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากสาเหตุอะไร
ปัจจุบันสาเหตุเด็กนอนกัดฟันยังไม่สามารถบอกสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่ทันตแพทย์สามารถประเมินได้จากหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กนอนกัดฟัน ดังนี้
- เด็กเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพฟัน เช่น ฟันขึ้นซ้อนเก ฟันห่าง ความสูงของฟันผิดปกติ ช่วงฟันแท้กำลังขึ้น การสบฟันที่ผิดปกติ รวมถึงการจัดฟัน
- การนอนกัดฟันสามารถเกิดมาจากพันธุ์กรรม หากสมาชิกในครอบครัวมีคนนอนกัดฟัน มีโอกาสที่เด็กจะนอนกัดฟันได้เหมือนกัน
- ส่วนหนึ่งมาจากสภาพจิตใจของเด็ก ๆ ที่มีความวิตกกังวลหรือเครียดกับอะไรบางอย่าง ทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีนและคอร์ติซอลออกมามาก จนส่งผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็งโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกัดฟัน
- เกิดจากร่างกายของเด็กที่มีระบบสมองและประสาทอัตโนมัติ ซึ่งอาจจะถูกกระตุ้นมากจนเกินไป จนทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้
- ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล แต่สาเหตุนี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เพราะเด็กคงจะไม่กินยาประเภทนี้

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากสาเหตุอะไร สัญญาณเตือนที่สามารถบ่งบอกว่าเด็กนอนกัดฟัน
คุณแม่ที่อยากรู้ว่าลูกน้อยมีโอกาสจะนอนกัดฟันไหม? ให้คุณแม่ลองสังเกตว่าลูก ๆ มีอาการเหล่านี้หรือไม่
- เคลือบฟันกร่อน
- ฟันที่เคยอุดเสียหาย
- ฟันมีรอยบิ่น หรือฟันดูสึก
- อาการเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็น
- เกิดอาการปวดหัวและรู้สึกเสียวฟันได้ง่าย
- ลูกเกิดอาการปวดบริเวณหน้าหูหรือบริเวณกกหู
- ได้ยินเสียงดังติดขัดในขณะที่ลูกกำลังอ้าและหุบปาก
- ได้ยินเสียงลูกหายใจค่อนข้างแรงทางปากอย่างชัดเจน
- ลูกมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย และนอนหลับไม่เต็มอิ่ม
วิธีรักษาอาการเด็กนอนกัดฟัน
สำหรับการรักษาเด็กนอนกัดฟัน จะไม่มีการใช้ยารักษาโดยเฉพาะ โดยทันตแพทย์จะรักษาตามอาการ หรือตามสาเหตุที่มีส่วนทำให้เด็กนอนกัดฟัน ซึ่งวิธีการรักษาจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ดังนี้
การรักษานอนกัดฟันด้วยวิธีการทางการแพทย์
- การใส่เฝือกสบฟัน หรือ ฟันยางกันกระแทก ซึ่งเป็นเครื่องมือทางทันตกรรมที่เป็นอะคริลิคใสภายในช่องปาก เพื่อลดอาการปวดของข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อในขณะบด และช่วยป้องกันฟันสึกขณะกัดฟันด้วย โดยจะใส่เฉพาะกลางคืนตอนนอนเท่านั้น เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป
- การทำศัลยกรรมช่องปาก กรณีที่เด็กเกิดมีปัญหาฟันเสียหายรุนแรง ฟันที่สึกมีอาการเสียวฟันมากหรือเคี้ยวอาหารลำบก คุณหมออาจทำการกรอฟันหรือครอบฟัน เพื่อซ่อมแซมฟันที่เสียหายที่เกิดจากการนอนกัดฟัน
การรักษานอนกัดฟันด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- คุณพ่อคุณแม่หากิจกรรมทำร่วมกับลูก ทำให้ผ่อนคลาย ช่วยลดอาการเครียดและความวิตกกังวลของเด็ก
- สอนให้ลูกฝึกบริหารกรามด้วยตัวเอง เช่น เช่น ยืดกล้ามเนื้อกรามโดยการอ้าปากให้กว้างที่สุด ให้ทำทุกวัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรให้ลูกเข้านอนตรงเวลา ไม่นอนดึกจนเกินไป และการสร้างบรรยากาศในห้องนอนลูกให้น่านอน
- เปลี่ยนยาที่รับประทาน หากอาการกัดฟันเกิดจากการใช้ยารักษาโรค แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อขอเปลี่ยนตัวยาที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อการนอน
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกทานอาหารมื้อหนักก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง หากลูกหิวแนะนำให้ดื่มนมแทน จะช่วยทำให้คลายหิวและนอนหลับสบายขึ้น
เด็กนอนกัดฟัน มีผลกระทบต่อสุขภาพฟันอย่างไร
โดยทั่วไปแล้วการที่เด็กนอนกัดฟันส่วนใหญ่จะไม่พบว่าเป็นอะไรร้ายแรง หรือมีผลกระทบรุนแรงมากนัก แต่สำหรับเด็กบางคนอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย หรือปล่อยให้นอนกัดฟันไปบ่อย แรงๆ ในขณะหลับแบบโดยไม่รู้ตัวอาจจะส่งผลต่อสุขภาพฟัน เช่น ทำให้ฟันสึกกร่อน ฟันมีขนาดสั้นลง และเกิดอันตรายที่โครงสร้างฟันจนทำให้ทะลุถึงโพรงประสาทฟันได้
MFGM สารอาหารในนมแม่ เพื่อ IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ขวบปีแรก
โภชนาการที่สำคัญที่ลูกน้อยควรจะได้รับก็คือนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารอาหารสำคัญอย่าง MFGM สุดยอดสารอาหารในนมแม่ สารอาหารสมองชนิดเดียวที่ช่วยให้ลูกมี IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ขวบปีแรก ประกอบด้วยไขมันและโปรตีนกว่า 150 ชนิด รวมทั้งสฟิงโกไมอีลิน ฟอสโฟลิปิด แกงกลิโอไซด์ ซึ่งเป็นกลุ่มสารอาหารที่มีส่วนช่วยสำคัญต่อการเสริมพัฒนาการรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านสติปัญญาและความจำ
- โรงพยาบาลสมิติเวช. ทำไมลูกชอบนอนกัดฟัน [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ [23 เมษายน 2020]
- ThaiPBS Kids. เด็กนอนกัดฟัน อันตรายที่ทำร้ายสุขภาพฟัน [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.thaipbskids.com/contents/ [30 เมษายน 2024]
- Hello คุณหมอ. เด็กนอนกัดฟัน สามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://hellokhunmor.com/ [24 มิถุนายน 2022]
- ศูนย์ทันตกรรม บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล เดนทัล เซ็นเตอร์ (BIDC). นอนกัดฟันเกิดจากอะไร ส่งผลอย่างไรกับสุขภาพช่องปากและฟัน [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://thailanddentalclinic.com/what-is-bruxism-and-how-it-affects-your-dental-health/ [28 เมษายน 2024]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์