Enfa สรุปให้
- ทารกแรกเกิด 1-3 เดือน ควรนอนให้ได้ 16-18 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นตอนกลางวัน 8-9
ชั่วโมง ตอนกลางคืนอีก 8-9 ชั่วโมง
- ทารกแรกเกิด 1-3 เดือน ไม่ควรนอนเกิน 3 ชั่วโมงในแต่ละรอบ และทุก ๆ 3 ชั่วโมง
ควรจะต้องปลุกทารกขึ้นมากินนม
- ทารกแรกเกิด 1-2 เดือน จำเป็นจะต้องได้กินนมแม่ในตอนกลางคือย่างน้อย 1 ครั้ง
เพื่อให้ได้รับปริมาณน้ำนมที่เพียงพอเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต

ทารกแรกเกิด ยังไม่สามารถที่จะมีทำกิจกรรมใด ๆ มากไปกว่าการกินนม การนอน การเล่น และการขับถ่าย
เพราะยังเล็กเกินกว่าที่จะลุกขึ้นมาทำภารกิจใด ๆ ได้ ซึ่งการนอนของทารกนั้น เรียกได้ว่าเป็น 70-80%
ของกิจกรรมตลอดทั้งวันเลยทีเดียวค่ะ
แต่ถ้าลูกนอนหลับนานเกินไป ผิดปกติไหม จริง ๆ แล้วทารกควรจะนอนนานแค่ไหน หากทารกนอนนานควรปลุกไหม
แล้วจะมีวิธีปลุกทารกแรกเกิดได้ยังไงบ้างนะ
ทารกนอนนานควรปลุกไหม
แล้วทำไมคุณแม่ต้องปลุกด้วยนะ
สำหรับเด็กทารกแล้ว การนอนถือว่าเป็นกิจกรรมหลักของทารก
ซึ่งถือว่าใช้ระยะเวลามากที่สุดในแต่ละวันเมื่อเทียบกับการกิน การขับถ่าย และการเล่น ซึ่งการนอนสำหรับทารกนั้น
ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ เพราะถ้าหากทารกนอนหลับได้ไม่ดี
จะส่งผลต่อพัฒนาการและปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
สำหรับเด็กทารกแรกเกิดนั้นควรจะต้องนอนให้ได้ 16-18
ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นตอนกลางวัน 8-9 ชั่วโมง ตอนกลางคืนอีก 8-9 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม
ไม่ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะตะบี้ตะบันให้ทารกนอนหลับให้ได้ยาวนานทั้งวันนะคะ
เพราะคุณพ่อคุณแม่ยังจำเป็นจะต้องปลุกทารกกินนมเป็นรอบ ๆ ในแต่ละวันด้วยค่ะ
โดยทารกแรกเกิด 1-3 เดือน ทารกควรจะได้กินนมประมาณ 8-12 ครั้งต่อวัน
ซึ่งนอกจากจะเป็นวงจรตามธรรมชาติของเด็กที่อยากจะกินนมให้ได้เยอะ ๆ แล้ว ก็ยังมีผลช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมไหลออกมาเรื่อย ๆ
ด้วย เพราะมีการกระตุ้นน้ำนมด้วยการดูดนมนั่นเอง
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรแบ่งเวลานอนของทารกแรกเกิดเป็นรอบ รอบละ 3 ชั่วโมง แล้วปลุกให้ทารกตื่นขึ้นมากินนม
ระวังอย่าให้ลูกนอนนานเกินกว่านั้นในแต่ละรอบ เพราะเสี่ยงจะทำให้ทารกได้รับปริมาณน้ำนมที่ไม่เพียงพอในแต่ละวัน
และมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายค่ะ
ช่วงเวลาไหนและอายุเท่าไหร่ที่คุณแม่ควรปล่อยให้ลูกนอนยาว ไม่ควรปลุก
เมื่อทารกมีอายุได้ 4 เดือนขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกได้นอนเป็นระยะเวลาได้แล้วค่ะ โดยสามารถให้ลูกนอนรอบละ 3-6
ชั่วโมงต่อเนื่อง แต่ไม่ควรนานเกิน 6-8 ชั่วโมง ส่วนตอนกลางคืน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปลุก ปล่อยให้ลูกนอนยาวได้เลย
วิธีปลุกทารกแรกเกิด ปลุกอย่างไรให้สมูท
นอกจากการดูแลให้ทารกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว
คุณพ่อคุณแม่ก็ยังจำเป็นจะต้องปลุกทารกให้ตื่นขึ้นมากินนมให้ได้ด้วยค่ะ โดยอาจจะใช้วิธีปลุกทารกตอนกลางวัน
และวิธีปลุกทารกให้ตื่น ดังต่อไปนี้
• สัมผัสลูกน้อย เขย่าตัวเบา ๆ จับแขน จับขา
อุ้มลูกขึ้นมาจากที่นอน พูดคุย หรือส่งเสียงเรียกให้ตื่น
• อุ้มลูกเข้าเต้าให้หัวนมสัมผัสกับปากลูกน้อย
ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยกระตุ้นสัญชาตญาณการกินนมของทารก และช่วยให้ทารกตื่นขึ้นได้ค่ะ
• หากยังไม่ยอมตื่น
ให้ลองเปลื้องผ้าออก เพื่อเปลี่ยนชุดใหม่ ทารกมักจะไม่ชอบการเปลือยนัก
เพราะร่างกายจะสัมผัสกับอากาศเย็น ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
• เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว
ก็ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย วิธีนี้ก็จะช่วยกระตุ้นให้ทารกรู้สึกตัวและตื่นนอนค่ะ
• อาบน้ำให้ลูก หากเจ้าตัวเล็กยังไม่ยอมตื่นจริง ๆ
การอาบน้ำถือว่าเป็นอีกวิธีที่ได้ผลดีทีเดียวค่ะ
คุณแม่ต้องปลุกลูกขึ้นมากินนมตอนกลางคืนด้วยไหมนะ
สำหรับทารกแรกเกิด 1-2 เดือน คุณแม่จำเป็นจะต้องให้นมลูกในตอนกลางคืนด้วยค่ะ
เนื่องจากในช่วงกลางคืนนี้ฮอร์โมนโปรแลกตินจะทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมออกมามากขึ้น
ทำให้ทารกได้รับน้ำนมในปริมาณที่เพียงพอ และยังได้รับฮอร์โมนโปรแลกตินในปริมาณสูงด้วย
มากไปกว่านั้น ทารกแรกเกิดจำเป็นจะต้องได้รับน้ำนมที่เพียงพอเพื่อช่วยในการเจริญเติบโต
การกินนมแค่ตอนกลางวันจึงอาจจะยังไม่เพียงพอ ทำให้คุณแม่ต้องตื่นมาให้นมลูกตอนกลางคืน โดยควรจะให้อย่างน้อย 1 ครั้งค่ะ
ทำอย่างไรดี
ถ้าปลุกลูกแล้ว ลูกไม่ยอมตื่น
หากถึงเวลาตื่นนอนแล้วทารกยังไม่ยอมตื่น แม้ว่าจะพยายามปลุกด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วก็ยังไม่เป็นผล
ให้คุณพ่อคุณแม่ลองปล่อยให้ลูกนอนต่ออีกสัก 1 ชั่วโมง แล้วค่อยปลุกอีกที ด้วยวิธีปลุกทารกแบบเดิม
แต่อาจจะต้องออกแรงให้มากขึ้นนิดหน่อย เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยตื่นขึ้นมากินนม
แต่...ถ้าหากว่าลูกยังไม่ยอมตื่นจริง ๆ อย่าชะล่าใจค่ะ ให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยในทันที
ลูกนอนเยอะเป็นไรไหม
การนอนนานแบบไหนถึงน่ากังวล
สำหรับเด็กแรกเกิด 1-6 เดือน ไม่ควรนอนนานเกิน 3 ชั่วโมงในแต่ละรอบ หากเกินกว่านี้จะเริ่มส่งผลเสีย
เสี่ยงจะทำให้ลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอในแต่ละวัน มีผลต่อพัฒนาการได้ค่ะ จนกระทั่งทารกมีอายุครบ 4 เดือนขึ้นไป
ก็จะสามารถนอนได้ 3-6 ชั่วโมงโดยไม่ต้องปลุก
แต่ถ้านานเกินกว่านี้ อาจจะต้องดูว่าลูกป่วยหรือเปล่า ถ้าหากลูกไม่ได้มีอาการป่วยใด ๆ
คุณพ่อคุณแม่จะต้องปลุกลูกทุกครั้งเมื่อครบชั่วโมงการนอนในแต่ละรอบ
เพราะเสี่ยงจะทำให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมและสารอาหารที่ไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตค่ะ
มากไปกว่านั้น หากลูกนอนนาน ๆ และเริ่มมีน้ำหนักตัวลดลง ทารกอาจเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการช้าได้ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ
ไขข้อข้องใจเรื่องทารกนอนนานควรปลุกไหมกับ Enfa Smart
Club
เด็กแรกเกิดนอนทั้งวันไหม?
เด็กแรกเกิด 1-3 เดือนแรก ทารกจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนจริง แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนติดต่อกันนานเกิน 3
ชั่วโมงค่ะ ควรจะปลุกลูกให้ตื่นขึ้นมากินนมทุก ๆ 3 ชั่วโมง เพื่อให้ทารกได้รับน้ำนมและสารอาหารที่เพียงพอ
ทารกนอนนาน ปัญญาอ่อน จริงหรือไม่?
ทารกนอนนาน เสี่ยงที่จะมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ช้าได้จริงค่ะ แต่...ก็ไม่เสมอไป
จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เสียก่อนว่าการที่ลูกนอนนานนี้ เกิดจากการไม่สบาย มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร
หรืออยู่ในภาวะเสี่ยงด้านพัฒนาการทางสติปัญญาหรือเปล่า ถ้าหากไม่มีความผิดปกติใด ก็ไม่ต้องกังวลค่ะ
ทารก 3 เดือน นอนนาน ควรปลุกไหม?
ทารกวัย 1-3 เดือนแรก ไม่ควรให้นอนนานเกิน 3 ชั่วโมงในแต่ละครั้งค่ะ เพราะทารกวัยนี้จำเป็นจะต้องได้รับน้ำนมในปริมาณมาก
เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตตามวัย จึงควรจะต้องตื่นขึ้นมากินนมให้ครบทุกรอบ
หากลูกนอนนานเกินกว่า 3 ชั่วโมง ให้รีบปลุกลูกขึ้นมากินนมทันที เพื่อให้ลูกได้รับน้ำนมที่เพียงพอในแต่ละวัน
บทความแนะนำเรื่องการนอนของลูกน้อย