นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

Gluten free คืออะไร Gluten free ห้ามกินอะไรบ้าง

Enfa สรุปให้

  • Gluten free คือ อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากส่วนประกอบของกลูเต็น โดยอาหารที่ปราศจากกลูเต็นหรือกลูเต็นฟรีนี้ ช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ในผู้ที่แพ้กลูเต็น และช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
  • เด็กที่มีแพ้กลูเต็นจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ผื่นคัน ปวดหัว หรืออ่อนเพลีย หลังกินอาหารที่มีกลูเต็น พ่อแม่ควรสังเกตอาการเหล่านี้ให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ และเลือกอาหารที่เป็น Gluten free แทน
  • ปัจจุบันมีอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารกลูเต็นฟรีให้เลือกมากมาย โดยควรอ่านฉลากให้ละเอียด เลือกอาหารที่ระบุว่า Gluten free และระมัดระวังข้อความส่วนผสมในอาหารที่มีกลูเต็นแฝง เช่น มอลต์ สารเติมแต่ง และรสปรุงแต่งธรรมชาติ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ปัจจุบันการแพ้กลูเต็นและผลิตภัณฑ์กลูเต็นฟรีได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การเลือกอาหารให้เหมาะสมต่อการดูแลสุขภาพของลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่อย่างมาก ในบทความนี้ Enfa จะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกันว่า Gluten free คืออะไร อาหาร Gluten free มีอะไรบ้าง

Gluten free คืออะไร

กลูเต็นฟรี (Gluten Free) หมายถึง อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากส่วนประกอบของกลูเต็น โดยอาหารที่ปราศจากกลูเต็นหรือกลูเต็นฟรีนี้ ช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ในผู้ที่แพ้กลูเต็น และช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น

กลูเต็น คืออะไร ทำไมเด็กบางคนจึงแพ้กลูเต็น

กลูเต็น (Gluten) เป็นโปรตีนที่ให้ความยืดหยุ่นในแป้งข้าวสาลี ทำให้ขนมปังหรือเบเกอรี่นุ่มและมีโครงสร้างเหนียว มักพบในธัญพืชบางชนิด เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของธัญพืชเหล่านี้ เช่น ขนมปัง พาสต้า เบเกอรี่ ซอสถั่วเหลือง น้ำซุปข้น ซอสปรุงรส และอาหารแช่แข็งบางชนิด

ภาวะแพ้กลูเต็น เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อกลูเต็นในลักษณะที่ผิดปกติ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

1. โรคเซลิแอค (Celiac Disease)

โรคเซลิแอคคือภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายรับกลูเต็น ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องอืด น้ำหนักลด ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยโรคเซลิแอคจัดเป็นโรคแพ้ภูมิตนเองชนิดหนึ่ง เกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรม โดยในปัจจุบันสามารถวินิจฉัยโดยการตรวจพันธุกรรมได้

2. อาการแพ้กลูเต็นที่ไม่ใช่เซลิแอค (Non-Celiac Gluten Sensitivity)

การที่เด็กบางคนอาจมีอาการไวต่อกลูเต็น ร่างกายไม่ย่อยกลูเต็น แต่อาการไม่รุนแรงเท่าโรคเซลิแอค เด็กที่ไวต่อกลูเต็นมักมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ผื่นคัน ปวดหัว หรืออ่อนเพลีย ซึ่งหากร่างกายไม่สามารถย่อยกลูเต็นเป็นเวลานานอาจพัฒนาไปสู่โรคเซลิแอคได้

3. ภูมิแพ้ข้าวสาลี (Wheat Allergy)

ภูมิแพ้ข้าวสาลีหรืออาการแพ้โปรตีนในข้าวสาลีซึ่งอาจรวมถึงการแพ้กลูเต็นด้วย โดยอาการแพ้จะเกิดขึ้นทันที มีความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน เช่น  บวมแดงตามผิวหนัง หลอดลมบวมแดงหายใจไม่ออก หรืออาจแพ้รุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ปัจุบันสามารถตรวจเลือดดูการแพ้อาหารหรือการตรวจภูมิแพ้ผ่านทางผิวหนังได้

กลูเต็นพบได้ในอาหารหลายชนิดทั้งยังอยู่ในอาหารส่วนใหญ่ที่เด็กชอบรับประทาน กลูเต็นเป็นโปรตีนพืชจากธรรมชาติซึ่งดีต่อสุขภาพ แต่กลูเต็นมีข้อเสียคือไม่เหมาะต่อผู้ที่แพ้กลูเต็น รวมถึงเด็กที่มีระบบย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ หรือมีปัญหาสุขภาพลำไส้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคเซลิแอคหรือมีภูมิคุ้มกันผิดปกติ จะมีโอกาสแพ้กลูเต็นมากขึ้น

คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้กลูเต็น

การสังเกตอาการของลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ว่าลูกแพ้กลูเต็นโดยสังเกตอาการลูกเบื้องต้นหลังจากที่รับประทานอาหารที่มีกลูเต็น โดยสังเกตจากอาการระบบย่อยอาหาร อาหารทางผิวหนัง และพฤติกรรม ดังนี้

อาการทางระบบย่อยอาหาร

  • ท้องอืดหรือปวดท้อง
  • ท้องเสียเรื้อรังหรือท้องผูก
  • มีไขมันในอุจจาระ (อุจจาระมันและมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ)
  • อาเจียน

อาการทางผิวหนัง

มีผื่นคัน โดยเฉพาะผื่นแพ้ที่เรียกว่า Dermatitis Herpetiformis

อาการทางระบบประสาทและพฤติกรรม

  • อารมณ์แปรปรวน เช่น หงุดหงิดหรือซึมเศร้า
  • สมาธิสั้น
  • อ่อนเพลียหรือรู้สึกเหนื่อยง่าย
  • การเจริญเติบโตผิดปกติ
  • น้ำหนักไม่ขึ้น
  • ส่วนสูงไม่เพิ่มตามวัย

หากลูกมีอาการดังกล่าวโดยเฉพาะทางระบบย่อยอาหารและผิวหนัง คุณพ่อคุณแม่อาจงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารกลูเต็นเพื่อสังเกตอาการต่อ เพื่อป้องกันอาการแพ้ระยะยาวส่งผลถึงภาวการณ์เจริญเติบโตและพฤติกรรมของลูกน้อย ทั้งนี้ หากสงสัยว่าลูกแพ้กลูเต็นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือดหรือตรวจชิ้นเนื้อจากลำไส้เล็ก เพื่อยืนยันอาการแพ้


กลูเต็นฟรี ห้ามกินอะไร  

กลูเต็นฟรี ห้ามกินอะไรบ้าง เรื่องนี้ไม่ยากเลยค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าอาหารอะไรบ้างที่มีกลูเต็น ก็สามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเต็น หรือเลือกอาหารที่เป็นกลูเต็นฟรีโดยเฉพาะ โดยสามารถสังเกตได้จากคำว่า Gluten Free หรือ ปราศจากกลูเต็น บนบรรจุภัณฑ์
อาหารที่เด็กแพ้กลูเต็นควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

  • ธัญพืชและผลิตภัณฑ์ที่มีกลูเต็น เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์
  • อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธัญพืชที่มีกลูเต็น เช่น ขนมปัง พาสต้า โดนัท เค้ก คุกกี้ และขนมอบ ซีเรียลบางชนิด
  • อาหารแปรรูปและซอสบางชนิด เช่น ซอสถั่วเหลือง ซอสเกรวี่ ซุปข้นและซุปกระป๋อง และน้ำสลัด
  • เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของข้าวบาร์เลย์ เช่น เครื่องดื่มมอลต์
  • ขนมขบเคี้ยวและของว่างบางประเภท เช่น แครกเกอร์ที่ทำจากแป้งสาลี ขนมกรอบบางชนิด
  • อาหารปรุงสำเร็จ เช่น อาหารแช่แข็งหรืออาหารสำเร็จรูปบางชนิด ไส้กรอก นักเก็ต

ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถหลีกเลี่ยงกลูเต็นในอาหารได้ โดยอ่านฉลากอาหารก่อนทุกครั้ง ควรเลือกอาหารที่มีคำว่า Gluten Free หรือ ปราศจากกลูเต็น บนบรรจุภัณฑ์ และระวังส่วนผสมที่ซ่อนอยู่ในอาหารสำเร็จรูป เพราะบางครั้งกลูเต็นอาจแฝงอยู่โดยไม่ได้บอกตรง ๆ เช่น มอลต์ (Malt) สารเติมแต่ง (Modified Food Starch) และรสปรุงแต่งธรรมชาติ (Natural Flavorings)

กลูเต็นฟรี กินอะไรได้บ้าง

หลังจากเห็นรายการอาหารที่เด็กแพ้กลูเต็นห้ามกินแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เหลืออะไรให้ลูกน้อยกินอีกเลยนะคะ Enfa จะแนะนำให้ว่ากลูเต็นฟรี กินอะไรได้บ้าง

อาหารกลูเต็นฟรีมีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

  • ธัญพืชและแป้งที่ปลอดกลูเต็น เช่น ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว เมล็ดข้าวโพด ป๊อปคอร์น แป้งข้าวโพด ควินัว ลูกเดือย บัควีท แป้งมันสำปะหลัง แป้งอัลมอนด์ แป้งมะพร้าว
  • ผักและผลไม้สดทุกชนิด เช่น ผักโขม บร็อกโคลี ผักกาดหอม แอปเปิ้ล กล้วย แตงโม
  • โปรตีนจากธรรมชาติ เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู (ที่ไม่ผ่านการปรุงรส) ไข่ ปลาและอาหารทะเล เต้าหู้
  • อาหารจำพวกถั่วและเมล็ดพืช เช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์ วอลนัท เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย
  • ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมสด โยเกิร์ต (ที่ไม่มีสารแต่งเติมกลูเต็น) ชีส
  • เครื่องปรุงที่ปลอดกลูเต็น เช่น น้ำมันพืช น้ำมันมะกอก เกลือ พริกไทย น้ำผึ้ง และซอสถั่วเหลืองสูตรกลูเต็นฟรี
  • ของว่างและขนมกลูเต็นฟรี เช่น ป๊อปคอร์น และขนมหรือของขบเคี้ยวที่เป็น Gluten free โดยควรอ่านฉลากหรือส่วนประกอบให้ละเอียด

สังเกตได้ว่าอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปมักปลอดภัยที่สุด โดยการรับประทานแบบกลูเต็นฟรีสามารถทำได้หลากหลายและยังคงสารอาหารครบถ้วน เพียงเลือกอาหารให้เหมาะสมตามที่แนะนำไปค่ะ

แป้งกลูเต็นฟรี มีอะไรบ้าง

แป้งกลูเต็นฟรีมีหลายชนิดให้เลือก เช่น แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวโพด แป้งอัลมอนด์ แป้ง มะพร้าว แป้งควินัว แป้งมันฝรั่ง แป้งถั่วลูกไก่ และแป้งอเนกประสงค์กลูเต็นฟรี

ข้อดีของแป้งกลูเต็นฟรี นอกจากเหมาะสำหรับผู้แพ้กลูเต็น โดยช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเสีย หรือไม่สบายในผู้ที่ไวต่อกลูเต็นแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการจากส่วนผสมเฉพาะ เช่น โปรตีนจากควินัว ไขมันดีจากอัลมอนด์ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรตรวจสอบฉลากให้แน่ใจว่าเป็นแป้งกลูเต็นฟรีซึ่งไม่มีการปนเปื้อนกลูเต็นในกระบวนการผลิต

เมนูอาหารกลูเต็นฟรีสำหรับลูกน้อย

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเตรียมเมนูอาหารกลูเต็นฟรีสำหรับลูกน้อย ควรเน้นอาหารสดที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งจะดีที่สุด โดยเลือกวัตถุดิบที่เป็น Gluten free เพื่อความปลอดภัย ซึ่งสามารถทำอาหารได้หลากหลายเมนู ตัวอย่างเช่น

1. ข้าวต้มปลาแซลมอน

ต้มข้าวกล้องหรือข้าวหอมมะลิให้สุกในน้ำซุปไก่หรือน้ำซุปผัก ใส่แครอทและฟักทองหั่นเต๋าเล็ก ๆ ลงไปต้มจนผักนุ่ม แล้วใส่เนื้อปลาแซลมอนที่ลอกหนังและหั่นเป็นชิ้นเล็กลงไปต้มจนสุก ตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟ

2. มันบดอบชีส

นำมันฝรั่งไปต้มและบด จากนั้นผสมกับเนยและนมกลูเต็นฟรีให้เข้ากันจนเนื้อเนียน ขูดชีสลงไปคลุกให้เข้ากัน ตักใส่ถ้วยแล้วนำไปอบที่อุณหภูมิ 180°C ประมาณ 10 นาที

3. ไข่ตุ๋นทรงเครื่อง

ตีไข่ไก่สัก 2 ฟองให้เข้ากัน แล้วกรองผ่านตะแกรงเพื่อให้เนื้อเนียน เติมน้ำซุปผักหรือไก่ 1/2 ถ้วย เติมแครอทหั่นเต๋าและหมูสับลงไปในถ้วยไข่ นำไปนึ่งไฟอ่อนประมาณ 15 นาที หรือจนไข่สุก

4. ข้าวผัดไข่ใส่ผักรวม

ตั้งกระทะใส่น้ำมันมะกอก แล้วตอกไข่ไก่ลงไปและผัดให้แตกเป็นชิ้นเล็ก จากนั้นใส่ข้าวกล้องและผักรวม เช่น ถั่วลันเตา ข้าวโพด แครอท ผัดจนทุกอย่างเข้ากันดี ตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟ

5. คุกกี้ข้าวโอ๊ตกล้วย

ผสมกล้วยสุกบด ข้าวโอ๊ต (Gluten Free) และลูกเกดหรือช็อกโกแลตชิพ (Gluten Free) จนเข้ากัน จากนั้นตักส่วนผสมแบ่งเป็นก้อนเล็ก ๆ วางลงบนถาดอบ แล้วนำไปอบที่อุณหภูมิ 180°C ประมาณ 15-20 นาที

นอกจากนี้ ยังสามารถทำอาหารด้วยวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ Gluten Free ได้อีกมากมาย โดยเน้นการใช้วัตถุดิบสดใหม่และปลอดภัย อ่านฉลากอาหารเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นสูตรกลูเต็นฟรี และสามารถเพิ่มผักและโปรตีนที่หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน

ทำอย่างไรเมื่อลูกแพ้กลูเต็น

เมื่อลูกแพ้กลูเต็น คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. ปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการ เพื่อวินิจฉัยอาการและขอคำแนะนำเรื่องการจัดเมนูอาหาร
  2. ปรับเปลี่ยนอาหารให้เป็น Gluten Free โดยได้โภชนาการครบถ้วน และระมัดระวังการกินอาหารบางชนิด เช่น ขนมปัง พาสต้า คุกกี้ เค้ก ขนมอบ รวมถึงซอสปรุงรสและน้ำจิ้ม  
  3. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง อย่าลืมมองหาคำว่า Gluten Free บนฉลากอาหาร และหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีคำว่า Wheat, Barley, Rye, Malt, หรือ Hydrolyzed Wheat Protein
  4. สอนลูกให้เข้าใจข้อจำกัดของตัวเอง อธิบายเรื่องการแพ้กลูเต็นให้เข้าใจว่าทำไมเราต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด และฝึกลูกให้สอบถามพนักงานร้านอาหารหรือเพื่อนเกี่ยวกับส่วนผสมในอาหาร
  5. เตรียมอาหารเองเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งใช้อุปกรณ์ทำอาหารแยกเพื่อป้องกันการปนเปื้อน
  6. เตรียมตัวเมื่อต้องกินอาหารนอกบ้าน นอกจากระมัดระวังเรื่องเมนูและส่วนผสมแล้ว ควรเตรียมอาหารสำรอง เช่น ขนมปังกลูเต็นฟรี หรือของว่างที่ลูกสามารถกินได้
  7. สังเกตอาการหลังรับประทานอาหารเสมอ หากลูกมีอาการผิดปกติ เช่น ท้องเสีย ผื่นแพ้ หรืออ่อนเพลีย ควรสังเกตและจดบันทึกอาหารที่อาจเป็นสาเหตุ

นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันภูมิแพ้ในเด็กได้ด้วยวิธีเหล่านี้

- ให้ลูกได้กินนมแม่เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้
- หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรีกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ในกรณีที่คุณแม่น้ำนมไม่เพียงพอหรือไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์มักแนะนำ* โปรตีนที่ผ่านการย่อยอย่างละเอียด (eHP) ซึ่งมีคุณสมบัติ Hypoallergenic ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และโพรไบโอติกส์ แล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส จีจี (LGG) เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง รวมถึงลดโอกาสในการเกิดภูมิแพ้อื่น ๆ ที่อาจตามมาในอนาคต

*แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัว พ.ศ. 2555

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama