นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

Hypoallergenic คืออะไร Allergenic สำคัญต่อลูกอย่างไร

Enfa สรุปให้

  • Hypoallergenic คือคำอธิบายคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อลดโอกาสในการกระตุ้นอาการแพ้หรือระคายเคือง เช่น ของใช้สำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เป็นต้น
  • Allergenic คือ สารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์ สารเคมีบางชนิด ทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง อาการคัดจมูก หรือลมพิษ
  • การเลือกผลิตภัณฑ์ Hypoallergenic สำหรับลูกน้อยช่วยลดโอกาสการเกิดอาการแพ้ได้ โดยควรดูฉลากผลิตภัณฑ์ มองหาสัญลักษณ์ Hypoallergenic พร้อมทั้งอ่านส่วนประกอบให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวและสุขภาพของเราเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กที่มีผิวบอบบางไวต่อการก่อภูมิแพ้ จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยนสำหรับเด็กโดยเฉพาะ หนึ่งในนั้นคือผลิตภัณฑ์ที่ระบุคุณสมบัติว่า Hypoallergenic

โดยในบทความนี้ Enfa จะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้กันว่า Allergenic คืออะไร และ Hypoallergenic คืออะไร มีความสำคัญต่อลูกน้อยมากแค่ไหนกันค่ะ

Hypoallergenic คืออะไร

Hypoallergenic แปลว่า ก่อให้เกิดการแพ้ได้น้อย หรือมีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอาการแพ้ต่ำ ใช้ในการอธิบายคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อลดโอกาสในการกระตุ้นอาการแพ้หรือระคายเคือง เช่น ของใช้สำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เป็นต้น

โดย Hypoallergenic คือการทดสอบทางการแพทย์ที่เป็นมาตรฐานสากลในกลุ่มตัวอย่าง เป็นการทดสอบที่ถูกควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับรองว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการทดสอบนั้นมีความอ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการแพ้และระคายเคืองต่อผิวแพ้ง่ายหรือผิวที่บอบบางอย่างเช่นผิวของทารก

การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ Hypoallergenic จึงเป็นตัวช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้คุณพ่อคุณแม่ว่าลูกมีโอกาสแพ้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวน้อยลง ซึ่งส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมักไม่มีส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้ เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์ พาราเบน หรือสารเคมีที่ระคายเคืองต่อผิวลูกน้อยนั่นเอง

Allergenic คืออะไร

Allergenic คือ สารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ได้ ในบางคนระบบภูมิคุ้มกันจะมองว่าสารก่อภูมิแพ้เป็นสิ่งแปลกปลอมหรืออันตราย ดังนั้น ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจึงตอบสนองด้วยการสร้างแอนติบอดีขึ้นมาเพื่อต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ และปฏิกิริยานี้เองที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ในบางคน เช่น การระคายเคืองผิวหนัง อาการคัดจมูก หรือลมพิษ

โดยสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น

  • โปรตีนในอาหาร เช่น นมวัว ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง ไข่ หรืออาหารทะเล
  • สารเคมี เช่น น้ำหอม สีผสมอาหาร หรือสารกันเสียในเครื่องสำอาง
  • ละอองในอากาศ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่น หรือเชื้อรา
  • ผิวหนังหรือขนสัตว์ เช่น ขนแมว สุนัข หรือไรฝุ่น

อาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้มีตั้งแต่อาการระคายเคืองผิวหนัง มีผื่นคัน คัดจมูก ลมพิษ ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบากหรือช็อก

Hypoallergenic Test คืออะไร

Hypoallergenic Test คือการทดสอบอาการแพ้ หรือการตรวจสอบว่ามีอะไรบ้างที่กระตุ้นอาการแพ้ โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่มีผิวบอบบาง แพ้ง่าย หรือมีแนวโน้มเป็นภูมิแพ้ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการแพ้เพื่อความปลอดภัยนั่นเอง
ในประเทศไทยนิยมทดสอบอาการแพ้ 3 แบบ ดังนี้

1. การทดสอบแผ่นปิดผิวหนัง (Patch Test)

ทำได้โดยใช้แผ่นปิดสารที่มีสารก่อภูมิแพ้ความเข้มข้นต่ำบนผิวหนัง แล้วทิ้งไว้ประมาณ 24-72 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบการตอบสนองของผิวหนัง

เหมาะสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาผิว เช่น ครีม โลชั่น หรือเครื่องสำอางว่าเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองหรือไม่ ซึ่งมีข้อดีคือไม่เจ็บ

2. การทดสอบแบบสะกิด (Prick Test)

ทำได้โดยใช้เข็มสะกิดผิวหนังเพื่อแนะนำสารก่อภูมิแพ้ที่เจือจาง เช่น สารก่อภูมิแพ้จากฝุ่น เกสรดอกไม้ หรืออาหารบางชนิด แล้วดูการตอบสนองของผิวในเวลาที่กำหนด

เหมาะสำหรับการตรวจสอบอาการแพ้ที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในสภาพแวดล้อมรอบตัวหรืออาหาร อาจใช้ในการตรวจสอบการแพ้ของผู้ป่วยที่มีอาการแพ้เรื้อรังได้ด้วย

3. การทดสอบการแพ้แบบเจาะเลือด (Blood Allergy Test)

ทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อวิเคราะห์ปฏิกิริยาของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ อาหาร โดยที่ไม่จำเป็นต้องสัมผัสสารก่อภูมิแพ้กับผิวหนังโดยตรง  

เหมาะสำหรับการระบุว่าภูมิต้านทานมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ประเภทใดบ้าง และระดับการตอบสนองที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร วิธีนี้มักใช้สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือกลัวการทดสอบแบบสะกิดผิว และมักใช้ยืนยันผลการทดสอบการแพ้แบบ 2 วิธีแรก ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายสูง

การทำ Hypoallergenic Test หรือการทดสอบการแพ้ ควรทำโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ และจะต้องพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจสอบการแพ้ด้วย


ทำไมจึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ Hypoallergenic ให้ลูกน้อย

การเลือกผลิตภัณฑ์ Hypoallergenic ให้ลูกน้อยมีความสำคัญมากเนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการแพ้และระคายเคือง ซึ่งเหมาะสำหรับผิวที่บอบบางของทารกและเด็กเล็ก ป้องกันการระคายเคืองผิวหนังและลดความเสี่ยงจากการแพ้ เพราะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่จำเป็นในชีวิตประจำวันนั้นมีหลายชนิด การเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนเหมาะกับลูกน้อยจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของลูกอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่มีผิวแพ้ง่ายหรือมีประวัติการแพ้ หรือมีสมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาภูมิแพ้ เช่น โรคหอบหืดหรือแพ้อาหาร การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ Hypoallergenic ยังช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น เพราะหากไม่เคยทำการทดสอบอาการแพ้มาก่อน จึงเป็นไปได้ว่ายังมีสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่นที่เรายังไม่รู้อีก

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ Hypoallergenic ยังได้รับการรับรองจากองค์กรหรือสมาคมทางการแพทย์ เช่น Dermatologist-tested หรือ Allergy-tested ซึ่งเป็นการยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัย จึงมั่นใจได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกน้อย

วิธีตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ Hypoallergenic

เราควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่มีมาตรฐาน ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. นอกจากนี้ยังมีวิธีตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ Hypoallergenic หรือไม่ด้วยตนเองง่าย ๆ  ดังนี้

  1. ตรวจสอบฉลากหรือคำอธิบายผลิตภัณฑ์ ควรมีคำว่า Hypoallergenic หรือมีสัญลักษณ์เครื่องหมายการรับรอง และควรระบุรายละเอียดว่า ไม่มีสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ไม่มีวัตถุกันเสีย
  2. ตรวจสอบส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ ควรมีการระบุว่าไม่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น น้ำหอม สีสังเคราะห์ หรือระบุว่ามีส่วนผสมจากธรรมชาติที่อ่อนโยนต่อผิว เช่น ว่านหางจระเข้ น้ำมันมะพร้าว ที่ไม่เสี่ยงต่อการระคายเคือง
  3. ค้นหาการรับรองหรือการทดสอบ จากแพทย์ผิวหนัง หรือองค์กรที่เชี่ยวชาญ เช่น มีการระบุว่า Allergy-tested ซึ่งหมายความว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการทดสอบแล้วว่าปลอดภัยจากการแพ้
  4. ดูรีวิวและคำแนะนำจากผู้ใช้อื่น โดยควรเลือกรีวิวที่เชื่อถือได้ เช่น จากผู้เชี่ยวชาญ หรือจากผู้ใช้จริงเท่านั้น และควรระมัดระวังการถูกว่าจ้างหรือทำโฆษณา
  5. ทดสอบการแพ้ก่อนใช้จริง โดยทดลองทาในบริเวณผิวบอบบาง เช่น หลังใบหู แล้วดูผลลัพธ์หลังจาก 24-48 ชั่วโมง หากไม่มีการระคายเคืองหรือแพ้ก็สามารถใช้ได้ แต่ทั้งนี้ก็เสี่ยงต่อการแพ้รุนแรงเพราะเป็นการทดสอบกับผิวหนังโดยตรง
  6. ตรวจสอบตราประทับหรือการรับรองจากองค์กร เช่น สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) ซึ่งจะช่วยยืนยันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพื่อความมั่นใจก่อนใช้ผลิตภัณฑ์

ภูมิแพ้ป้องกันได้ เริ่มต้นวันนี้ เพื่ออนาคตที่ไม่แพ้

รู้หรือไม่? "กรรมพันธุ์" เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ในเด็กเล็ก ซึ่งหากพ่อแม่ทั้งคู่มีประวัติการเป็นภูมิแพ้มาก่อน เด็กจะมีความเสี่ยงในการเป็นภูมิแพ้สูงถึง 70 - 80% เลยทีเดียว โดยอาการแพ้ที่พบมากในเด็กเล็กคือการแพ้อาหาร เช่น นมวัว ข้าวสาลี และอาหารทะเล

โดยเฉพาะอาการแพ้นมวัวที่สามารถพบได้ในเด็กเล็ก เนื่องจากจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารขาดความสมดุล อีกทั้งผนังลำไส้ของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองไวต่อสารอาหาร เช่น โปรตีนนมวัว ส่งผลให้หลังรับประทานนมวัวร่างกายอาจถูกกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ขึ้นมาได้
อาการแพ้นมวัวพบได้หลายรูปแบบ อาจเกิดทันทีหรือภายใน 1 - 3 ชม. หรือใช้เวลานานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์หลังกินนมวัว โดยสามารถสังเกตอาการแพ้นมวัวได้ ดังนี้

สังเกต 14 อาการแพ้นมวัว

1. ร้องงอแงผิดปกติหลังกินนม หงุดหงิดเมื่อถึงเวลาให้นม
2. แหวะนมหรืออาเจียน
3. มีผื่นแดง
4. ถ่ายมีมูกเลือด
5. ผิวแห้งและอาจเป็นขุย
6. คันบริเวณผิวหนัง
7. บวมบริเวณริมฝีปาก ใบหน้า หรือรอบดวงตา
8. เรอบ่อยกว่าปกติ
9. ท้องเสีย
10. ท้องผูก
11. ปวดท้อง ไม่สบายท้อง
12. คัดจมูก หายใจมีเสียงวี้ด
13. บางรายน้ำหนักตัวไม่ปกติ
14. ความอยากอาหารลดลง

หากลูกน้องของคุณพ่อคุณแม่แพ้นมวัวและมีอาการดังกล่าว สามารถดูแลและป้องกันลูกน้อยจากอาการแพ้นมวัวได้ไม่ยาก โดยหากคุณแม่ให้ลูกน้อยกินนมแม่อยู่แล้ว แนะนำให้กินนมแม่ต่อไป แต่ให้ลูกงดการกินนมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนมวัว รวมทั้งคุณแม่ก็ควรงดกินเช่นกัน เนื่องจากลูกน้อยอาจจะเกิดอาการแพ้นมวัวผ่านน้ำนมแม่ได้

หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กแพ้นมวัว ซึ่งแพทย์มักแนะนำ* โปรตีนที่ผ่านการย่อยอย่างละเอียด (eHP) ซึ่งมีคุณสมบัติ Hypoallergenic ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และโพรไบโอติกส์ แล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส (LGG) เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรง หยุดอาการแพ้นมวัว รวมถึงลดโอกาสในการเกิดภูมิแพ้อื่น ๆ ที่อาจตามมาในอนาคต

*แนวทางการรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัวของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama