เลือกอ่านตามหัวข้อ
การที่ลูกหายใจไม่ออกตอนกลางคืนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวลและตกใจ อาการลูกคัดจมูกตอนกลางคืนเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น ภูมิแพ้ หวัด หรือปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการคัดจมูก ในบทความนี้ Enfa จะชวนคุณแม่ทำความเข้าใจอาการลูกหายใจไม่ออกตอนกลางคืน พร้อมแนะนำวิธีแก้คัดจมูกทารกแบบธรรมชาติ ไปอ่านพร้อมกันเลยค่ะ
ลูกหายใจไม่ออกตอนกลางคืน อันตรายไหม
การที่ลูกหายใจไม่ออกตอนกลางคืนอาจไม่ใช่เรื่องปกติและอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางการแพทย์ที่ควรใส่ใจ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea, OSA) ซึ่งเกิดจากการที่ทางเดินหายใจถูกบล็อกชั่วขณะในระหว่างการนอนหลับ ทำให้ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง
หากพบว่า ลูกหายใจไม่ออกตอนกลางคืน มีอาการหายใจไม่สะดวกบ่อยครั้ง หรือหยุดหายใจในระหว่างการนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสม
ลูกคัดจมูกตอนกลางคืน เกิดจากอะไร
ลูกคัดจมูกตอนกลางคืน เกิดจากหลายสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการลูกน้อยให้ดี โดยเฉพาะทารกคัดจมูกตอนกลางคืน มักเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
-
ไข้หวัดหรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทำให้มีน้ำมูกและอาการบวมของโพรงจมูก
-
อากาศแห้ง ส่งผลให้เยื่อบุจมูกแห้งและเกิดการระคายเคือง
-
ภูมิแพ้ อาจเกิดจากไรฝุ่น ขนสัตว์ หรือเกสรดอกไม้
-
ผนังกั้นจมูกคด ทำให้อากาศไหลเวียนไม่สะดวก
-
กรดไหลย้อนในเด็ก ในบางกรณี ทารกที่มีอาการกรดไหลย้อนอาจมีอาการคัดจมูกตอนกลางคืนได้เช่นกัน
วิธีแก้คัดจมูกเวลานอนทารก
วิธีแก้คัดจมูกเวลานอนทารกสามารถทำได้หลายวิธี โดยใช้อุปกรณ์ช่วยหรือใช้วิธีแก้คัดจมูกทารกแบบธรรมชาติ ดังนี้
-
ใช้น้ำเกลือช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกของทารก โดยสามารถใช้สเปรย์น้ำเกลือพ่นลงในจมูกของทารก เพื่อช่วยให้จมูกชุ่มชื้นและช่วยขจัดสิ่งอุดตันภายในจมูก โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากน้ำมูกข้น
-
เพิ่มความชื้นในห้องนอน โดยใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ ป้องกันไม่ให้จมูกของทารกแห้งเกินไป
-
ยกหัวเตียงของทารกเล็กน้อยประมาณ 30 องศา จะช่วยให้น้ำมูกไหลออกและไม่คั่งอยู่ในจมูก ทำให้ทารกหายใจสะดวกขึ้นขณะนอนหลับ
-
ให้ทารกดื่มน้ำหรือให้นมบ่อย ๆ ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้
-
อาบน้ำอุ่นให้ทารกก่อนนอน ช่วยให้ทารกได้รับไอน้ำ ซึ่งช่วยให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้นและทำให้การหายใจสะดวกขึ้น และน้ำอุ่นยังช่วยคลายความตึงเครียดและทำให้ทารกนอนหลับสบายด้วย
-
หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ฝุ่นละออง ขนสัตว์ หรือเกสรดอกไม้ โดยการรักษาความสะอาดในบ้านและใช้เครื่องฟอกอากาศจะช่วยลดปัจจัยที่กระตุ้นอาการภูมิแพ้ได้
ลูกเป็นภูมิแพ้ คัดจมูก รักษาอย่างไร
ลูกเป็นภูมิแพ้ คัดจมูก รักษาและป้องกันได้หลายวิธี โดยหากลูกน้อยคัดจมูกบ่อย ๆ หรือมีอาการภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ ดังนี้
-
หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ โดยควรสังเกตว่าลูกแพ้อะไร หรืออะไรเป็นสิ่งกระตุ้นบ้าง เช่น ฝุ่นละออง ขนสัตว์ ตุ๊กตา ผ้าห่มที่มีขนฟู สารเคมีในบ้าน เป็นต้น ควรรักษาความสะอาดในบ้านด้วยการดูดฝุ่นเป็นประจำ
-
การใช้ยาบรรเทาอาการลูกคัดจมูก เช่น ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน ยาพ่นจมูก ยาหยอดหรือสเปรย์น้ำเกลือ โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
-
การใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีฟิลเตอร์ HEPA เพื่อลดสารก่อภูมิแพ้ในอากาศได้ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5
-
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในบ้าน เพื่อลดมลพิษกระตุ้นอาการภูมิแพ้
-
ใช้เครื่องนอน หมอน ผ้าห่ม แบบป้องกันฝุ่น ป้องกันไรฝุ่น โดยหมั่นซักทำความสะอาดเป็นประจำ
หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม อาจต้องมีการตรวจการแพ้เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนและการรักษาที่ตรงจุด เช่น การใช้ยาต้านภูมิแพ้ที่มีความเข้มข้นเหมาะสม หรือการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์อื่นๆ
ลูกคัดจมูกตอนกลางคืน ไม่มีน้ำมูก คุณแม่ควรดูแลอย่างไร
ลูกคัดจมูกตอนกลางคืน ไม่มีน้ำมูก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อากาศในห้องนอนแห้งเกินไป โดยเฉพาะในฤดูหนาวหรือในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ รวมถึงอาจมีสารก่อภูมิแพ้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่กระตุ้นอาการภูมิแพ้ ท่าทางการนอนที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการอักเสบทางเดินหายใจและความเครียด
หากลูกคัดจมูกแต่ไม่มีน้ำมูก คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นอาการและพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เช่น หากเป็นเพราะอากาศแห้งอาจใช้เครื่องช่วยเพิ่มความชื้น ใช้เครื่องฟอกอากาศ และทำความสะอาดท้องนอนเป็นประจำ รวมถึงปรับแอร์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเลี่ยงการเปลี่ยนอุณหภูมิเร็วเกินไป หากทำทุกวิถีทางแล้วลูกยังอาการไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์
ทารกคัดจมูก หนึ่งในสัญญาณอาการภูมิแพ้ในเด็ก
ทารกคัดจมูก หนึ่งในสัญญาณอาการภูมิแพ้ในเด็ก โดยเฉพาะหากอาการเกิดขึ้นบ่อยหรือยืดเยื้อ การคัดจมูกในทารกสามารถเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งภูมิแพ้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดเมื่อทารกมีการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ฝุ่น ขนสัตว์ หรือสารเคมีบางชนิด โดยมักมาพร้อมอาการดังนี้
- จามบ่อย
- คันจมูก ขยี้จมูกบ่อย
- น้ำมูกใสไหลเรื้อรัง
- ตาแดง คันตา
หากลูกจมูกตัน หายใจไม่ออกบ่อย ๆ และสงสัยว่าลูกเป็นภูมิแพ้ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่เหมาะสม
ภูมิแพ้ป้องกันได้ เริ่มเลยวันนี้ เพื่ออนาคตที่ไม่แพ้
เด็กไทยพบความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้สูงถึง 30% กันเลยทีเดียว และยิ่งหากคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ หรือพี่น้อง มีประวัติการเป็นภูมิแพ้มาก่อน ลูกก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นภูมิแพ้สูงถึง 70% - 80%
แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะมีปัจจัยทางพันธุกรรม แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยให้ลูกกินนมแม่เป็นเวลานานที่สุดเพื่อลดโอกาสเกิดภูมิแพ้ พร้อมทั้งหลีกเลี่ยง ควันบุหรี่ ฝุ่น และมลพิษทางอากาศ รวมถึงสารก่อภูมิแพ้ และรักษาความสะอาดบ้านให้ปลอดไรฝุ่น ดูดฝุ่นเป็นประจำ ใช้เครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสมกับพื้นที่บ้าน และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลูกด้วยอาหารที่มีประโยชน์
ไขข้อข้องใจเรื่อง ลูกหายใจไม่ออกตอนกลางคืน กับ Enfa Smart Club
ทารกหายใจไม่ออก สังเกตอย่างไร
ทารกหายใจไม่ออก สังเกตได้จากการหายใจลำบาก เสียงหายใจดังหรือหายใจมีเสียงหวีด หากเด็กทารกคัดจมูกหรือมีอาการหายใจเร็วหรือกระชาก หน้าอกบุ๋มหรือกล้ามเนื้อที่ซี่โครงยุบ สีผิวเปลี่ยนเป็นซีดหรือฟ้า หากพบอาการเหล่านี้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
ลูกคัดจมูกนอนไม่ได้ ทำไงดี
ลูกคัดจมูกนอนไม่ได้ ทำไงดี หากลูกคัดจมูกกลางคืนอาจลองใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในห้อง ยกหัวเตียงให้สูงขึ้น ใช้น้ำเกลือพ่นจมูกเพื่อบรรเทาอาการ และให้ทารกดื่มน้ำหรือนมบ่อย ๆ พร้อมตรวจสอบสิ่งแวดล้อมและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้