
Enfa สรุปให้:
- มอนเตสซอรี่ (Montessori) เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาโดย ดร. มาเรีย มอนเตสซอรี่ (Dr. Maria Montessori) แพทย์และนักการศึกษาชาวอิตาลีในช่วงต้นทศวรรษ 1900
- หลักสูตรการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่จะเน้นการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กได้ทำตามความสนใจของตนเองอย่างเป็นอิสระ เสริมความคิดสร้างสรรค์ และความมีระเบียบวินัยในตนเอง
- บทบาทของครูในหลักสูตรมอนเตสซอรี่จะเป็นเพียงผู้ชี้แนะ แต่จะไม่ชี้นำ เพราะเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง สามารถเลือกทำกิจกรรมหรือเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้อย่างอิสระโดยไม่มีการตีกรอบจากครู

เลือกอ่านตามหัวข้อ
• มอนเตสซอรี่คืออะไร
• ทฤษฎี
Montessori เหมาะกับเด็กวัยไหน
• ข้อดี - ข้อเสีย
ของโรงเรียนมอนเตสซอรี่
• หลักสูตร
Montessori แตกต่างจากหลักสูตรอื่นอย่างไร
• เลือกของเล่นมอนเตสซอรี่
• กิจกรรมมอนเตสซอรี่
ปัจจุบันนี้มีรูปแบบการเรียนการสอนมากมายหลายหลักสูตรให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกสรรตามความเหมาะสมและตามความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร ทั้งโรงเรียน 2 ภาษา โรงเรียน 3 ภาษา โรงเรียนนานาชาติ ไปจนถึงโรงเรียนที่เน้นเสริมทักษะการเรียนรู้อย่างอิสระมากกว่าการเรียนรู้ทางวิชาการ
รวมไปถึงโรงเรียนที่เปิดสอนในหลักสูตรมอนเตสซอรี่ (Montessori) ซึ่งได้รับความนิยมในหลายประเทศ แต่การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่คืออะไร และดีต่อเด็กอย่างไร บทความนี้จาก Enfa จะมาเล่าให้ฟังค่ะ
มอนเตสซอรี่ (Montessori) คืออะไร ทำไมใคร ๆ ก็พูดถึง
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าโรงเรียนแนวมอนเตสซอรี่ คืออะไร? โรงเรียนลักษณะนี้ก็คือโรงเรียนที่ดำเนินรูปแบบการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่เรียกว่า มอนเตสซอรี่ (Montessori) ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่พัฒนาโดย ดร. มาเรีย มอนเตสซอรี่ (Dr. Maria Montessori) แพทย์และนักการศึกษาชาวอิตาลีในช่วงต้นทศวรรษ 1900
โดยจะเน้นการเรียนรู้ที่ให้เด็กได้ทำตามความสนใจของตนเองอย่างเป็นอิสระ เสริมความคิดสร้างสรรค์ และความมีระเบียบวินัยในตนเอง สื่อการเรียนการสอนและกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ซึ่งช่วยให้เด็กๆ ได้สำรวจและเรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เด็กรู้จักเข้าสังคมและเรียนรู้ที่จะเคารพผู้อื่นด้วย
วิธีการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่นี้ ถือว่าได้รับความนิยมและมีการปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นเวลานานในหลายโรงเรียนทั่วโลก และจากผลการศึกษาพบว่ารูปแบบการเรียนการสอนเช่นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ทฤษฎีมอนเตสซอรี่เริ่มใช้กับเด็กได้ตั้งแต่ช่วงวัยใด
การเรียนการสอนแบบ Montessori นั้นจะไม่มีการกำหนดช่วงอายุที่ตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับโปรแกรมการเรียนการสอนของโรงเรียนหรือสถาบันนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วมอนเตสซอรี่จะเหมาะสำหรับเด็กที่อายุตั้งแต่ 2 - 2.5 ปี ไปจนถึงเด็กอายุ 6 ปี แต่ก็มีหลายโรงเรียนที่อาจจะเปิดรับหลักสูตรนี้ตั้งแต่ในระดับเนิร์สเซอร์รี หรือเริ่มรับเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา หรือชั้นมัธยมศึกษา
มากไปกว่านั้น อย่าลืมว่าเด็กจะพร้อมต่อการเรียนรู้ในรูปแบบและหลักสูตรต่าง ๆ ได้ จำเป็นจะต้องเริ่มต้นจากการได้รับโภชนาการและสารอาหารที่เหมาะสม
เด็กที่กินนมแม่ตั้งแต่แรกคลอด จะมีโอกาสได้รับสารภูมิคุ้มกันสำคัญอย่างแลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) ซึ่งเป็นโปรตีนในนมแม่ที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสต่าง ๆ จึงช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในทารกแรกเกิดได้ดี ทั้งยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับทารกให้แข็งแรงมากขึ้นด้วย
ดังนั้น หากคุณแม่อยากให้ลูกเติบโตมาอย่างแข็งแรง และมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ สมบูรณ์ และสมวัย โดยไม่ถูกปิดกั้นจากปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ก็ควรให้ลูกได้กินนมแม่ตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ในระยะน้ำนมเหลือง
เพราะแลคโตเฟอร์รินที่ดีที่สุด จะอยู่ในช่วงที่นมแม่ยังเป็นน้ำนมเหลือง หรือ Colostrum ซึ่งเป็นช่วงที่นมแม่จะมีระดับแลคโตเฟอร์รินสูงที่สุด ด้วยเหตุนี้ เด็กที่กินนมแม่ตั้งแต่แรกคลอด จึงมีแนวโน้มที่จะแข็งแรงมากกว่า
ข้อดี - ข้อเสียของ Montessori คืออะไร ลองเช็กกันดูตอบโจทย์คุณพ่อคุณแม่หรือเปล่า
รูปแบบการเรียนการสอนมอนเตสซอรี่นั้นอาจจะมีข้อดีที่เหมาะกับเด็กบางคน ขณะเดียวกันก็อาจจะมีข้อเสียที่ไม่เหมาะกับเด็กอีกหลายคน ดังนั้น ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียนในหลักสูตรมอนเตสซอรี่ เรามาดูกันดีกว่าว่า การเรียนการสอนแบ Montessori นั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ข้อดีของการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่
• เน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง: ปกติโรงเรียนทั่วไปจะเน้นครูเป็นศูนย์กลางมากกว่าที่จะเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางแล้วครูเป็นผู้ตาม แต่หลักสูตรมอนเตสซอรี่ส่งเสริมให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเองและสำรวจหัวข้อที่พวกเขาสนใจตามจังหวะเวลาของตนเองผ่านสื่อการเรียนการสอนและกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับช่วงวัย
• ห้องเรียนที่มีความหลากหลายทางอายุ: ห้องเรียนปกตินั้นเด็กในระดับชั้นเดียวกันจะมีอายุที่ไล่เลี่ยกัน ไม่ห่างกันมาก แต่ห้องเรียนของมอนเตสซอรี่มักจะมีเด็กที่มีอายุและช่วงพัฒนาการต่างกันเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งสามารถเสริมสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่าง โดยในหนึ่งกลุ่มจะมีเด็กอายุตั้งแต่ 3-6 ปี ร่วมเรียนและทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการปูพื้นฐานให้เด็กรู้จักการเข้าสังคม เรียนรู้และยอมรับในความแตกต่าง และรู้จักให้เกียรติผู้อื่น
• เน้นความเป็นอิสระและความมีวินัยในตนเอง: จะไม่มีการบังคับหรือตีกรอบการเรียนรู้แก่เด็ก แต่จะเน้นการพัฒนาความเป็นอิสระ เพื่อให้เด็กได้เปิดกว้างทางการเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งที่จะส่งเสริมเรื่องความรับผิดชอบ และความมีวินัยในตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ๆ เมื่อเติบโตขึ้นในอนาคต
• การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริง: ห้องเรียนมอนเตสซอรี่จะใช้ทั้งสื่อและกิจกรรมที่เน้นให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนมีการโต้ตอบกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน และลงมือปฏิบัติจริงในทุก ๆ กิจกรรม เพื่อส่งเสริมประสาทสัมผัสของเด็กและส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการสำรวจและการค้นพบ
• เน้นทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง: มอนเตสซอรี่ไม่เพียงเน้นด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง เช่น การทำอาหาร การทำความสะอาด และการดูแลตนเอง ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถสร้างความมั่นใจและความรู้สึกเป็นอิสระได้ โดยไม่รู้สึกว่าชีวิตจะต้องถูกจำกัดให้เก่งแค่วิชาการอย่างเดียว
• เอาใจใส่ได้ทั่วถึง: จะไม่ใช่ชั้นเรียนขนาดใหญ่ แต่เป็นชั้นเรียนขนาดเล็ก โดยระดับชั้นปฐมวัยอาจมีเด็กแค่เพียง 20 คน หรือมากสุดเพียง 30 คนต่อหนึ่งห้อง ส่วนเด็กเล็กอาจมีนักเรียนแค่เพียง 10-15 คน เพื่อให้ครูสามารถเข้าถึงเด็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น เด็กทุกคนจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ และการสนับสนุนอย่างเต็มที่
ข้อเสียของการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่
• ไม่เน้นวิชาการเป็นหลัก: แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเด็กยังไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทางด้านวิชาการที่เกินกว่าวัย แต่...ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครอบครัวอยากให้ลูกเด่นเรื่องวิชาการมาก่อน ซึ่งหลักสูตรมอนเตสซอรี่อาจจะมีสัดส่วนรายวิชาดังกล่าวที่น้อย จึงอาจจะไม่ถูกใจผู้ปกครองที่ต้องการจะเตรียมพร้อมให้ลูกก้าวเข้าสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งที่ลูกอาจจะเต็มใจเอง หรือเป็นความต้องการของผู้ปกครองก็ตาม
• ไม่เน้นการเรียนการสอนแบบชี้นำ: ครูโดยทั่วไปมักจะมีการชี้นำทั้งกระบวนการคิด วิธีการปฏิบัติ และผลลัพธ์ให้เด็กเห็นทั้งหมด แต่ครูมอนเตสซอรี่มักทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและคอยให้คำชี้แนะมากกว่าการจะให้คำแนะนำโดยตรง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ไม่ใช่เด็กทุกคนที่เหมาะกับรูปแบบการเรียนการสอนเช่นนี้ เด็กบางคนจำเหมาะสำหรับการเรียนรู้ที่ต้องมีคนชี้นำก่อน แต่เด็กบางคนขอแค่เพียงได้รับคำชี้แนะก็เพียงพอแล้ว
• การวัดผลทางการเรียนการสอนค่อนข้างจำกัด: กล่าวคือหลักสูตรของมอนเตสซอรี่มักจะไม่เน้นการสอบเพื่อวัดผลประสิทธิภาพทางการเรียนรู้ ซึ่งในบางมุมอาจเป็นข้อดี เพราะเด็กจะได้ไม่เครียดหรือกดดัน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบพัฒนาการของเด็กว่าพร้อมสำหรับการทดสอบจากระบบการศึกษาในแบบดั้งเดิมหรือไม่
• ราคาแพง: หลักสูตรมอนเตสซอรี่นั้นแม้จะมีการเปิดใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ก็ยังถือว่ามีน้อยมากเมื่อเทียบกับการเรียนการสอนรูปแบบอื่น ๆ จึงมักจะพ่วงมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับหลักสูตร และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
การสอนเป็นอย่างไร หลักสูตรมอนเตสซอรี่ ต่างจากหลักสูตรอื่นยังไงบ้าง
การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่นั้น ถ้าจะพูดกันง่าย ๆ ก็คือ โลกหมนุรอบตัวเด็ก เด็กคือศูนย์กลาง และครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะ ไม่ชี้นำ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระทางการเรียนรู้ และสามารถเลือกทำตามสิ่งที่สนใจได้
เนื่องจาก Dr.Montessori เชื่อว่าเด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ดีขึ้น เมื่อเด็ก ๆ สามารถเลือกสิ่งที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จึงกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ที่ไม่เหมือนใคร ดังนี้
• สื่อการเรียนการสอน รูปแบบหรือฐานกิจกรรมต่าง ๆ มีความหลากหลาย และเด็กสามารถเลือกเล่นได้เองตลอดทั้งวัน
• ครูจะไม่มายืนอยู่หน้าห้องเรียน แต่จะเน้นย้ายจากนักเรียนกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่งแทน เพื่อให้สามารถเข้าถึงนักเรียนได้ทุกคนอย่างใกล้ชิด
• ไม่เน้นระบบการประเมินศักยภาพด้วยการสอบหรือการให้เกรด
• ส่งเสริมให้เด็กเติบโตอย่างบูรณาการ ไม่เน้นวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่เน้นให้เด็กเติบโตควบคู่ไปกับพัฒนาการทางสังคม อารมณ์ สติปัญญา และร่างกาย
ของเล่นมอนเตสซอรี่ เป็นแบบไหน เลือกยังไงดี
ของเล่นมอนเตสซอรี่นั้น จะเน้นเป็นกลุ่มของเล่นเพื่อการศึกษาที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะที่สำคัญ เช่น สมาธิ ความเป็นอิสระ การแก้ปัญหาผ่านการเล่นและการสำรวจ
ตัวอย่างของของเล่นมอนเตสซอรี่
• บล็อกไม้หรือของเล่นที่ต้องนำมาเรียงซ้อนกัน
• ของเล่นแบบที่ต้องคัดแยกหรือจำแนกออกตามประเภท เช่น แสตกแอนด์ซอร์ทบอร์ด
•
ตัวต่อปริศนา หรือของเล่นจำพวกที่ต้องนำมาเรียงลำดับรูปร่าง
•
ของเล่นเสริมประสาทสัมผัส เช่น ทราย น้ำ และแป้งโดว์
•
ของเล่นเสริมทักษะศิลปะ เช่น สี ดินสอสี และปากกามาร์คเกอร์
•
ของเล่นเสริมทักษะการแต่งกาย ฝึกให้เด็กได้รู้จักหัดผูกโบว์ ติดกระดุม รูดซิปเสื้อผ้า
• ของเล่นหรือสื่อกิจกรรมการสำรวจธรรมชาติ เช่น เครื่องดูแมลง แว่นขยาย
และคู่มือสำรวจภาคสนามสำหรับเด็ก
• เครื่องดนตรี เช่น กลอง เชกเกอร์
และไซโลโฟน
• อุปกรณ์ครัวสำหรับเด็ก เช่น มีด ตะหลิว และเขียง
• เกมกระดานหรือเกมไพ่เพื่อส่งเสรริมทักษะการคิดในเชิงกลยุทธ์ การรู้จักวางแผน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะเสริมให้ลูกมีทักษะการเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ ยังมีของเล่นและวัสดุประเภทอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้ในห้องเรียน
สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตว่าไม่ใช่ของเล่นทุกชิ้นที่เป็นของเล่นของมอนเตสซอรี่ และวัสดุของมอนเตสซอรี่ได้รับการคัดเลือกและออกแบบอย่างระมัดระวังเพื่อส่งเสริมทักษะพัฒนาการและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง
และเพื่อให้ลูกได้มีการฝึกฝนทักษะอย่างเต็มที่ เวลาที่จะเลือกซื้อของเล่นมอนเตสซอรี่ให้ลูก จึงควรเลือกอย่างพิถีพิถัน ดังนี้
• มองหาของเล่นปลายเปิดที่ช่วยให้เด็กได้เล่นและสำรวจอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ถูกจำกัดการเรียนรู้และการเล่น
• หากเป็นไปได้ควรเลือกของเล่นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ โลหะ และผ้า หลีกเลี่ยงของเล่นพลาสติกที่อาจมีสีสันสดใสหรือมีเสียงรบกวนหรือมีไฟกระพริบ
• พิจารณาอายุและระยะพัฒนาการของลูกด้วยว่าอยู่ในช่วงวัยใด เหมาะกับของเล่นแบบไหน เพราะของเล่นมอนเตสซอรี่จะได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งเสริมทักษะเฉพาะด้าน และอาจกำหนดช่วงอายุที่เฉพาะเจาะจงเอาไว้ ดังนั้น หากซื้อของเล่นผิดช่วงอายุ ก็อาจจะไม่ได้ช่วยส่งเสริมทักษะให้ลูกอย่างที่ควรจะเป็น
• คำนึงถึงคุณภาพและความทนทานของของเล่น ของเล่นมักได้รับการออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานหลายปีและยังสามารถส่งต่อไปยังเด็กคนอื่น ๆ ได้ในภายหลังอีกด้วย
• มองหาของเล่นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและกระตุ้นให้เด็กใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ได้ใช้ทักษะควบคู่กันหลาย ๆ ด้าน
กิจกรรมมอนเตสซอรี่ ที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มได้ที่บ้าน
การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่นั้น ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่โรงเรียนเสมอไป เพราะคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกลูกน้อยได้ตั้งแต่ที่บ้าน ให้ลูกน้อยได้ฝึกทักษะ EF ปฐมวัย 9 ด้าน ผ่านกิจกรรมมอนเตสซอรี่ง่าย ๆ ดังนี้
• ทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง: ส่งเสริมทักษะชีวิตง่าย ๆ ให้เด็ก ๆ ผ่านการช่วยเหลืองานบ้านประจำวัน เช่น ทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ ดูแลสวน หรือแม้แต่กิจกรรมง่าย ๆ อย่างการสอนให้เด็กอาบน้ำด้วยตัวเอง หรือใส่เสื้อผ้าเอง
• ทักษะด้านประสาทสัมผัส: เปิดโอกาสให้ลูกได้สำรวจพื้นผิว สี และกลิ่นต่างๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การช่วยกันแยกขยะ การเล่นน้ำ หรือแม้แต่การเดินชมธรรมชาติในบ้าน หรือในละแวกที่อยู่อาศัย
• ทักษะด้านการเคลื่อนไหว: จัดหาวัสดุต่างๆ เช่น การร้อยลูกปัดหรือร้อยกระดุม เพื่อช่วยให้ลูกได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวที่ดี ควบคู่ไปกับการประสานงานระหว่างมือและตา
• ทักษะด้านภาษา: การอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำและจัดหาสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ การ์ดจับคู่ภาพ-คำ และตัวอักษรที่ขยับได้ ก็สามารถช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาของลูกได้เป็นอย่างดี
• ทักษะด้านคณิตศาสตร์: จัดหาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น การนับลูกปัด การใช้ลูกคิด แท่งตัวเลข และรูปทรงเรขาคณิต เพื่อช่วยให้ลูกได้ฝึกนเรียนรู้แนวคิดทางคณิตศาสตร์ผ่านกิจกรรมง่าย ๆ
• ทักษะศิลปะและความคิดสร้างสรรค์: จัดเตรียมวัสดุต่างๆ เช่น สี ปากกามาร์คเกอร์ และดินน้ำมัน เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออกทางศิลปะของลูก และยังได้ใช้เวลาร่วมกันด้วย
กิจกรรมมอนเตสซอรี่นั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถพลิกแพลงและเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับลูก หรือกิจกรรมที่สามารถทำพร้อมกันได้ในครอบครัว ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สมบูรณ์และสมวัยให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี
- American Montessori Society. Montessori FAQs. [Online] Accessed https://amshq.org/Families/Why-Choose-Montessori/Montessori-FAQs#ages. [12 May 2023]
- Simply Psychology. Montessori Method Of Education Explained. [Online] Accessed https://www.simplypsychology.org/montessori-method-of-education.html. [12 May 2023]
- Rasmussen University. Exploring the Pros and Cons of Montessori
Education. [Online] Accessed https://www.rasmussen.edu/degrees/education/blog
/pros_cons_montessori_education/. [12 May 2023] - The Kingsley Montessori school. Montessori Learning Materials. [Online] Accessed https://www.kingsley.org/news/2022-07-09/montessori-learning-materials. [12 May 2023]
- Whitby School. 12 Montessori Toys to Help Your Child Learn Through Play. [Online] Accessed https://www.whitbyschool.org/passionforlearning/12-montessori-toys-to-help-your-child-learn-through-play. [12 May 2023]
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- Lactoferrin สารภูมิคุ้มกันสำคัญจากน้ำนมเหลือง
- MFGM ในนมแม่เพื่อ IQ/EQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ปีแรก
- พ่อแม่สงสัย? จะค้นหาและส่งเสริมศักยภาพลูกน้อยยังไงดีนะ
- Resilience Skill สอนลูกให้รู้จักยืดหยุ่น ล้มเป็น ลุกไว
- ทักษะ EF ทักษะสมองที่ต้องฝึกฝน
- เด็กดื้อ เอาแต่ใจ ไม่เชื่อฟัง พ่อแม่ควรรับมืออย่างไรดี
- แม่ญี่ปุ่นมีวิธีพูดกับลูกยังไงนะ ลูกเขาถึงว่าง่ายจัง?
- เพียเจต์คือใคร ทฤษฎีเพียเจต์นำมาใช้เลี้ยงลูกดีหรือไม่?