ตามหลักแล้ว การฝึกลูกกินผักผลไม้นั้น คุณแม่ส่วนใหญ่ควรทำตั้งแต่ลูกอายุครบ 6 เดือน ซึ่งลูกกินอาหารเสริมได้แล้ว ซึ่งตอนนั้นคุณแม่จะป้อนอะไรลูกก็กินได้ง่าย ไม่ปฏิเสธ แต่เมื่อเข้าสู่วัยเตาะแตะในช่วงอายุ 1-3 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ลูกเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูง จึงอาจปฏิเสธการกินผักผลไม้ คุณแม่ควรต้องจริงจังกับการฝึกให้ลูกกินผักผลไม้อีกครั้ง
ให้ลูกกินผักทุกมื้อ
คุณแม่ควรจัดสิ่งแวดล้อมระหว่างการกินอาหารให้เอื้อต่อการกินผักของลูก โดยบนโต๊ะอาหารต้องมีผักอยู่เสมอทุกมื้อ และแต่ละมื้อควรมีผักหลายๆ อย่างให้ลูกเลือกกิน ชักชวนกันกินผักทั้งครอบครัว โดยคุณพ่อคุณแม่กินแล้วบอกลูกพร้อมแสดงท่าทางให้ลูกเห็นว่าผักนั้นอร่อยมาก สดกรอบดีอย่างไร อีกทั้งชมเชยลูกเมื่อกินผักได้
หั่นผักเป็นชิ้นเล็กๆ
การหั่นผักต้มเป็นชิ้นเล็กๆ เช่น บร็อกโคลี ถั่วฝักยาว แคร์รอต ฯลฯ แล้วผสมลงไปในเมนูที่ลูกชอบ จะช่วยให้ลูกกินผักได้ พอลูกเริ่มกินได้ ไม่ปฏิเสธก็ค่อยเปลี่ยนเป็นชักชวนให้ลูกกินผักสดเป็นลำดับต่อไป และไม่เลือกผักที่มีกลิ่นฉุน เพราะลูกอาจมีประสบการณ์ไม่ดีในการกินผักนั้นแล้วไม่ยอมกินผักทุกชนิดไปเลย
ทำซุปผักให้ลูกได้กิน
ซุปผักเป็นเมนูที่ขอแนะนำให้คุณแม่ทำให้ลูกกิน เพราะหากจะให้ลูกกินผักสดๆ หรือผักเป็นชิ้นเล็กๆ ในอาหารแต่ละมื้อ ลูกอาจจะปฏิเสธด้วยรสชาติที่ไม่อร่อยในความคิดของลูก แต่หากคุณแม่ทำซุปผักให้ลูกได้กิน เช่น ซุปฟักทอง ตำลึง ข้าวโพดอ่อน ผักกาดขาว ฯลฯ ลูกจะกินผักได้ง่าย เพราะเขารู้สึกว่าผักนั้นอร่อยขึ้น แถมน้ำซุปก็ซดได้คล่องคอด้วย
ต้มผักให้ลูกหยิบกินทุกวัน
คุณแม่ควรต้มบร็อกโคลี่ แคร์รอต ถั่วฝักยาว กล้วยดิบ ข้าวโพดอ่อน ฯลฯ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ให้ลูกหยิบกินเล่นแทนขนมหวานๆ จะช่วยให้เขากินผักได้อีกทางหนึ่ง
ดัดแปลงหน้าตาผัก
คุณแม่สามารถดัดแปลงหน้าตาผักเพื่อให้มีรสชาติ สีสัน หน้าตาน่ากินมากขึ้น เช่น นำแคร์รอต ถั่วฝักยาวมาพันด้วยกะหล่ำปลี หั่นเป็นท่อนแล้วนำไปนึ่ง หรือนำมาตกแต่งเป็นหน้าตาสัตว์หรือตัวการ์ตูนที่ลูกชอบ เช่น ใส่แคร์รอตท่อนเล็ก ๆ เป็นปากของตัวการ์ตูนที่ยิ้ม ใส่ถั่วฝักยาวหรือแตงกวาไปเป็นคิ้ว เป็นต้น ถ้าลูกปฏิเสธการกินผักในมื้อนี้ ก็ให้ลองใหม่ในมื้อถัดไปคู่กับอาหารที่เขาชอบ
ไม่บังคับแต่ชวนกิน
การใช้วิธีบังคับให้ลูกกินผัก เป็นการทำให้ลูกต่อต้านการยอมกินผักทางอ้อม ขอแนะนำให้คุณแม่เปลี่ยนจากวิธีบังคับมาเป็นการชวนด้วยการกินให้ดูแทน เพราะการชวนพร้อมมีตัวอย่างทำให้ลูกคล้อยตามได้ง่ายกว่า แม้ว่าลูกจะยังไม่ชอบกินผัก แต่หากเห็นคุณแม่กินและชวนบ่อยๆ เขาจะยอมกินได้สักวันค่ะ
ให้ลูกมีส่วนร่วม
ลูกอาจยังเล็กช่วยอะไรในครัวคุณแม่มากไม่ได้ แต่การชวนลูกคุยเรื่องผัก เช่น ผักนี้เรียกว่ามะเขือเทศ แตงกวา ตำลึง ผักโขม ฯลฯ ให้ลูกได้ลองจับ ได้เข้ามาดูคุณแม่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ให้เขาช่วยหยิบจับผักวางในจาน จะเป็นวิธีหนึ่งที่ลูกอยากจะลองกินผักที่เขาได้รู้จักได้จับได้สัมผัสตั้งแต่ต้น เพราะเขารู้สึกมีส่วนร่วม ไม่ได้มารู้จักผักเมื่อกลายเป็นอาหารที่เขาต้องกินแล้ว
เริ่มจากให้ทีละชนิด เพื่อลูกจะได้เรียนรู้รสชาติของผลไม้แต่ละชนิดที่แตกต่างกัน และพ่อแม่ต้องกินไปพร้อมกับลูก และให้ครั้งละน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น
เริ่มจากผลไม้ชนิดที่มีเนื้อนิ่ม ยุ่ย เคี้ยวง่าย เช่น มะละกอสุก กล้วยสุก มะม่วงสุก แตงโม เป็นต้น
ให้ผลไม้เป็นชิ้น เพราะการกินเป็นชิ้นนั้นลูกจะได้เส้นใยจากผลไม้มากกว่าปั่นเป็นน้ำ แต่ในช่วงเริ่มต้นหากลูกไม่ยอมกินเป็นชิ้น อาจให้กินแบบปั่นไปก่อนได้
สลับชนิดผลไม้และหน้าตาให้หลากหลาย เช่น ตักเป็นลูกกลมๆ แบบไอศกรีม หั่นเป็นชิ้นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เป็นต้น
เป็นอาหารว่าง คุณแม่ควรจัดผลไม้เป็นอาหารว่างประจำวันของลูกตั้งแต่เล็กๆ อย่างน้อยมื้อละ 1 ชนิด
ควรกินผลไม้สด เพื่อให้ร่างกายลูกได้ประโยชน์แบบเต็มๆ เพราะผลไม้ที่ผ่านการถนอมอาหารหรือกรรมวิธีการปรุง คุณค่าสารอาหารจะลดลง
เลือกผลไม้ให้เป็น ผลไม้ที่สุกจนงอมปริมาณวิตามินและแร่ธาตุจะลดลง เช่นเดียวกับผลไม้ที่ปอกทิ้งไว้นานๆ คุณแม่จึงควรปอกเมื่อจะกินดีกว่า
การให้ลูกวัยเตาะแตะกินผักผลไม้ นอกจากได้ประโยชน์จากแร่ธาตุ วิตามินในผักผลไม้แต่ละชนิดแล้ว ยังได้กากใยช่วยในการขับถ่ายด้วย คุณแม่จึงไม่ควรมองข้ามการฝึกลูกกินผักผลไม้กันนะคะ
Enfa สรุปให้ ทารก 1 สัปดาห์กินนมประมาณ 1.5-3 ออนซ์ โดยควรแบ่งมื้อนมออกเป็น 6-8 มื้อต่อวัน ...
อ่านต่อลูกกินยากหรือกลัวการกิน ผักไม่แตะ ผลไม้ไม่เอา ไปโรงเรียนก็ไม่ยอมกินข้าว ปัญหาเหล่านี้ อาจเป็นเรื่...
อ่านต่อสติปัญญามักจะมาคู่กับความฉลาด พ่อแม่ทุกคนต่างต้องการให้ลูกเป็นเด็กฉลาด และความฉลาดกับพั...
อ่านต่อ