Enfa สรุปให้
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 8 นิ้ว หนักประมาณ 700 กรัม มีขนาดเท่ากับผักกาดหอมหรือแคนตาลูป
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ กระดูกสันหลังของทารกจะมีการสะสมแคลเซียมจนกระดูกแข็งขึ้นกว่าเดิมมาก มีข้อต่อต่างๆ ทำให้สามารถงอตัว บิดตัว เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มมีการสร้างถุงลมและเพิ่มจำนวนถุงลมมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ คุณแม่จะตั้งครรภ์ครบ 6 เดือนในสัปดาห์นี้ และจะเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ถัดไป
แล้วอายุครรภ์ 6 เดือน หรือท้อง 24 สัปดาห์นี้ ทารกจะมีพัฒนาการอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์จะมีออาการอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันกับ Enfa เลยค่ะ
ในสัปดาห์นี้คุณแม่หลายคนมีอาการท้องผูกมากขึ้นเพราะทารกและมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการกดทับอวัยวะในระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย ขณะที่ทารกในสัปดาห์นี้สามารถเคลื่อนไหวได้อิสระมากขึ้น และยังมีการเปลี่ยนท่าทางอยู่ตลอดทั้งวันด้วย
ทารกในครรภ์ 24 สัปดาห์นั้นมีการเจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูก มีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างอิสระ ซึ่งแม้ว่าปกติทารกจะอยู่ในท่าก้น คือเอาก้นหันไปทางช่องคลอด
แต่ในระยะนี้ทารกสามารถเปลี่ยนท่า เปลี่ยนตำแหน่งได้ทั้งวัน ตอนเช้าอาจเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายก็อาจกลับเอาหัวขึ้น เนื่องจากมดลูกยังมีรูปทรงกลมอยู่ ยังมีพื้นที่ภายในกว้างขวาง ทารกจึงสามารถดิ้นได้อย่างอิสระค่ะ
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือนกันนะ? สำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 6 เดือน ในวันสุดท้ายของสัปดาห์นี้ค่ะ
ในระยะนี้จะดูดซึมแคลเซียมจากคุณแม่มากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการสร้างกระดูกสันหลัง และเพื่อพัฒนากระดูกให้แข็งแรง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณแม่ถึงต้องเริ่มสะสมแคลเซียมมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการตั้งครรภ์
เพราะถ้าหากทารกดึงเอาแคลเซียมไปใช้สร้างกระดูกจนหมด และคุณแม่เหลือแคลเซียมในร่างกายน้อย ก็จะทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน กระดูกเปราะได้ง่าย
ทารกอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 8 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับผักกาดหอมหรือแคนตาลูปค่ะ
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 700 กรัมค่ะ
เนื่องจากระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกอายุครรภ์ 24 สัปดาห์นั้นพัฒนาการเกือบจะเต็มระบบ และเริ่มทำงานได้ทุกระบบแล้ว คุณแม่จึงรู้สึกได้ว่าทารกดิ้นบ่อยมากขึ้น แต่จะดิ้นมากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละวันนั้นตอบได้ยากค่ะ
เพราะทารกจะไม่ดิ้นเท่ากันทุกวัน และดิ้นมากดิ้นน้อยแตกต่างกันไป แต่ในระยะนี้ทารกอาจจะดิ้นได้ประมาณ 200-300 ครั้งต่อวัน หรือดิ้นได้มากกว่านั้นค่ะ
ซึ่งการดิ้นของทารกในช่วงนี้ แม้จะดิ้นบ่อยมากก็จริง แต่จับทิศทางได้ยากค่ะ เพราะดิ้นไม่ค่อยเป็นเวลา บางวันดิ้นถี่มาก บางวันดิ้นถี่น้อย อยากดิ้นตอนไหนก็ดิ้น จึงทำให้คุณแม่นับลูกดิ้นยังไม่ได้แน่นอน ต้องรอจนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์จึงจะนับลูกดิ้นได้ง่ายขึ้นค่ะ
การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ มีดังนี้
• ทารกในครรภ์ 24 สัปดาห์ สามารถรับรู้ได้ว่าตำแหน่งของตัวเองกำลังกลับหัวลงหรือตั้งหัวขึ้น เนื่องจากหูชั้นในซึ่งควบคุมสมดุลหรือการทรงตัวได้รับการพัฒนาและสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์
• กระดูกสันหลังจะมีการสะสมแคลเซียมจนกระดูกแข็งขึ้นกว่าเดิมมาก มีข้อต่อต่างๆ ทำให้สามารถงอตัว บิดตัว เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
• ริมฝีปากของทารกจะเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในสัปดาห์นี้
• ปุ่มฟันของทารกเริ่มโผล่ดุนเหงือกขึ้นมาเรียงเป็นแถว
• ผิวหนังของทารกยังคงบางและดูโปร่งแสง
• เริ่มมีการสร้างถุงลมและเพิ่มจำนวนถุงลมมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์
• ระบบกล้ามเนื้อของทารกสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ในระยะนี้ทารกเริ่มที่จะเลิกคิ้วได้แล้ว
แม่ท้อง 24 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่
• มดลูกที่โตมากขึ้นบวกกับฮอร์โมนของการตั้งครรภ์จะทำให้ลำไส้ทำงานช้าลงกว่าเดิมมาก จึงทำให้มีโอกาสท้องผูกได้ง่ายถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ง่ายควรป้องกันโดยกินอาหารที่มีกากหรือเส้นใยสูง เช่น ผักทุกชนิดร่วมกับการดื่มน้ำให้มาก และการเดินออกกำลังกายหลังอาหาร
• นอกจากนี้คุณแม่อาจมีตกขาวมากขึ้นกว่าปกติซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มสูงขึ้น ตกขาวก็ต้องมีสีขาวใส หากมีสีเหลือง เขียว คัน หรือมีกลิ่นผิดปกติ ก็ควรให้คุณหมอช่วยตรวจดูเพราะอาจเกิดจากการติดเชื้ออักเสบของช่องคลอด ซึ่งถ้าปล่อยไว้จนอักเสบมาก อาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งคุณแม่ที่ท้องได้ 24 สัปดาห์ต้องระวังเป็นพิเศษ
• มากไปกว่านั้น ระหว่างอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 24-28 แพทย์จะเริ่มทดสอบระดับกลูโคสในร่างกาย หรือที่เรียกว่า GCT (Glucose Challenge Test) การทดสอบนี้จะทำให้รู้ว่าเรามีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ถ้าระดับกลูโคสในร่างกายสูงขึ้นก็แปลว่าลูกน้อยอาจเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของร่างกายได้
• ขนาดครรภ์ของคุณแม่ในช่วงนี้ยังคงขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และแอ่นออกมาข้างหน้ามากกว่าเดิม ซึ่งการที่หน้าท้องของคุณแม่ขยายมากเรื่อยๆ แบบนี้ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมานั่นเอง
• แม่ท้อง 24 สัปดาห์ มีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
• น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะ
สำหรับแม่ท้อง 24 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ดังนี้
• ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
• โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
• แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
• ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น
• โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น
• โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น
นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น
ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง
อาการคนท้อง 24 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้
• มีอาการท้องผูกบ่อยขึ้น เพราะขนาดของมดลูกที่ขยายขึ้นทุกวัน ๆ เริ่มมีการกดทับและรบกวนการทำงานของลำไส้ ทำให้ย่อยอาหารยาก และขับถ่ายได้ไม่ดี
• น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และระบบการไหลเวียนโลหิตที่เปลี่ยนแปลง ทำให้คุณแม่เริ่มมีอาการเหน็บชา หรือเป็นตะคริวบ่อย ๆ
• การไหลเวียนเลือดที่ไม่ปกติ และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้คุณแม่มีอาการบวมน้ำ และมีอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ รวมถึงบริเวณเท้าและข้อเท้าด้วย
• มีอาการปวดท้องน้อย ที่เกิดจากการขยายตัวของมดลูกและเส้นเอ็นบริเวณหน้าท้อง จึงทำให้มีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อยเกิดขึ้น
• อาการปวดหลังยังคงทรมานคุณแม่อยู่ เพราะน้ำหนักตัวเริ่มมากขึ้น ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่บริเวณช่วงหลัง
• มีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอาการบวมน้ำ ที่ทำให้มีอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ รวมถึงบริเวณเท้าและข้อเท้าด้วย ส่วนมากมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนเลือดที่ไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการบวมตามมา
แม่ท้อง 24 สัปดาห์ แพทย์อาจจะนัดให้เข้ามาทำการตรวจครรภ์เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ว่าปกติหรือไม่ พร้อมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยจะเป็นการตรวจเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงเกินไปจนเสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่
ซึ่งถ้าหากพบว่ามีค่าน้ำตาลสูงผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้มีการควบคุมอาหารเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดลง เพราะถ้าหากปล่อยเอาไว้ คุณแม่จะเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ การแท้งบุตร เป็นต้น
สำหรับการตรวจอัลตราซาวนด์ 4 มิตินั้น คือ การอัลตราซาวนด์ด้วยคลื่นเสียงที่มีประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงทำให้ได้ภาพทารกในครรภ์เสมือนจริงแบบเรียลไทม์ สามารถเห็นอริยาบถของทารกในการหาว การยิ้ม การเลิกคิ้วได้อย่างชัดเจน
การอัลตราซาวน์ในลักษณะนี้สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ แต่เมื่ออายุครรภ์มาก ๆ เช่น อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น อวัยวะอาจจะบดบังใบหน้าทำให้มองเห็นใบหน้าได้ไม่ชัดเจน แต่ถ้าโชคดีอวัยวะหรือรกไม่บดบังก็สามารถมองเห็นใบหน้าลูกน้อยได้ชัดเจนเช่นกันค่ะ
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่
และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ
โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนี้มักจะพบได้ในไตรมาสสามหรือช่วงก่อนใกล้คลอด แต่...ก็พบว่ามีคุณแม่หลายคนมีอาการท้องแข็งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสอง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก
• ทารกดิ้นแรง
• คุณแม่ทำงานหนัก
หรือออกแรงมาก
• คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
• มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม หากอาการท้องแข็งในช่วงปลายไตรมาสสองนั้นมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้
แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
โดยมากแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
• ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก
• หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก
• หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ
คุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด
รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้
ช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นต้นไป แพทย์อาจนัดให้คุณแม่ทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพราะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น
• เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
•
ทารกมีขนาดตัวใหญ่ หรือมีน้ำหนักแรกเกิดเกินมาตรฐาน
•
ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
•
ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
• เสี่ยงต่อการแท้ง
• เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
•
ทารกคลอดออกมาพร้อมกับความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ทราบความเสี่ยงว่าในขณะนี้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่มีความสุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือไม่
ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แพทย์ก็จะมีการประเมินความเสี่ยงว่าเบาหวานที่เป็นอยู่จะทำให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และยังให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อตั้งครรภ์
ส่วนคุณแม่ที่ไม่มีประวัติการเป็นเบาหวานมาก่อน แพทย์จะมีการซักประวัติและเริ่มตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และจะมีการตรวจเลือดในทุก ๆ เดือน เพื่อดูว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติหรือไม่
โดยอาจจะใช้วิธีการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ หรือตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยวิธี OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) ก็ได้ และถ้าหากมีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเกิดขึ้น แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและการควบคุมอาหาร และจะทำการตรวจคัดกรองในครั้งต่อ ๆ ไปว่าความเสี่ยงลดลงไหม หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไหม
ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ถือเป็นความผิดปกติที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการตั้งครรภ์ค่ะ และส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ก็มักจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป
โดยภาวะครรภ์เป็นพิษ จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไตเสียหาย โปรตีนในปัสสาวะสูง และอาจมีความเสียหายต่ออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย
ภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
• ตั้งครรภ์ครั้งแรก
•
ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนมากกว่า 35 ปี
•
คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น
• คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด
หรือตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 2 คน
•
คุณแม่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
•
สมาชิกในครอบครัวมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
•
ตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
•
คุณแม่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายอยู่แล้ว
• คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น
ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์
โดยสัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ
• ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
• มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต
หรือตรวจพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ
• ระดับเกล็ดเลือดลดลง
• ค่าเอนไซม์ในตับสูง
• มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
• มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
• มีอาการบวมน้ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ
• หายใจถี่ ๆ
• ปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา
•
คลื่นไส้หรืออาเจียน
• น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ หรือในกรณีที่ฉุกเฉินมากจริง ๆ อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์
หลายคนอาจจะพูดว่าช่วงเวลาแห่งการตั้งครรภ์ ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาแห่งความสุข แต่ใครเลยจะรู้ดีไปกว่าคนที่อุ้มท้องเอง เพราะการตั้งท้องไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและความสมหวังเพียงอย่างเดียว แต่ยังพ่วงมาด้วยความกังวล ความเหนื่อยล้า และความเครียดต่าง ๆ นานาอีกด้วย
เพราะตลอดระยะเวลา 9 เดือนนั้น คุณแม่ต้องพบกับอาการแพ้ท้องและอาการคนท้องอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่เพิ่งท้องครั้งแรกย่อมต้องมีความกังวลเป็นที่ตั้ง หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์พร้อมกับความเสี่ยง คุณคิดว่าคุณแม่เหล่านี้จะตั้งครรภ์ได้อย่างสบายใจทุกวันหรือคะ?
ไม่อย่างแน่นอนค่ะ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะก่อให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า และวิตกกังวลให้กับคุณแม่หลายคนอยู่ไม่น้อย ซึ่งถ้าหากคุณแม่ไม่สามารถสร้างสมดุลทางจิตใจได้ อาจก่อให้เกิดความเครียดสูงในขณะตั้งครรภ์ และความเครียดนั้นอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ จนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้
แล้วแม่ท้องควรดูแลสุขภาพจิตอย่างไรดีล่ะ? สำหรับวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับสุขภาพจิตอันแปรปรวนของคุณแม่ ก็คือการไปพบแพทย์เพื่อทำการพูดคุยและขอคำปรึกษาโดยตรงจากแพทย์ค่ะ และแพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ได้ดีที่สุด
มากไปกว่านั้น คุณแม่ยังสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองในขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนี้
• หากมีเรื่องทุกข์ใจ ไม่สบายใจ ให้พูดคุยความรู้สึกนั้นออกมา โดยอาจจะเป็นสามี เพื่อน คนในครอบครัว หรือปรึกษากับแพทย์ที่ฝากครรภ์ก็ได้
• หากรู้สึกว่าอารมณ์แปรปรวน หรือไม่สบายใจ ให้ลองฝึกหายใจเพื่อสงบสติอารมณ์
• หากสามารถออกกำลังกายได้ คุณแม่ควรหาเวลาไปออกกำลังกายดูบ้าง การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยควบคุมฮอร์โมนความเครียดและช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ดีขึ้นด้วย
• นอกจากแพทย์ไปที่ไปฝากครรภ์ด้วยแล้ว คนที่น่าจะเข้าใจหัวอกคนท้องด้วยกันได้ดีที่สุดก็คือคนท้องด้วยกัน คุณแม่สามารถไปเข้าร่วมเวิร์กช็อปคนท้องเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตั้งครรภ์กับคนอื่น ๆ
• คุณแม่ต้องเข้าใจว่าร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ในการตั้งครรภ์ก็แตกต่างกัน การที่แม่คนอื่น ๆ เป็นแบบนั้นแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าเรามีความผิดปกติ
• หากคุณแม่เครียด กังวล ซึมเศร้า อย่าใช้แอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาเสพติดเพื่อพยายามทำให้รู้สึกดีขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำให้คุณแม่รู้สึกแย่ลง และส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
• อย่าอายที่จะบอกว่าตัวเองมีปัญหา แต่จงพูดออกมาว่าตนเองมีความกังวลใด ๆ หรือถ้าหากไม่ไว้ใจคนรอบตัว อย่างน้อยควรไว้ใจแพทย์ เพราะนอกจากจะช่วยรับฟังคุณแม่แล้ว แพทย์ยังสามารถแบ่งปันคำแนะนำที่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ได้ดีที่สุด
การออกกำลังกายสำหรับคนท้องโดยมากแล้วถือว่ามีความปลอดภัย และไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงที่รุนแรงต่อการตั้งครรภ์ แต่...ไม่ใช่สำหรับแม่ทุกคนค่ะ!
เพราะแม่แต่ละคนมีพื้นฐานสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การออกกำลังกายตอนตั้งครรภ์จึงมีปัจจัยที่แตกต่างกัน แนะนำให้คุณแม่ปรึกษากับแพทย์เพื่อดูว่าสามารถออกกำลังกายได้ไหม และควรออกกำลังกายแบบไหนถึงจะเหมาะสมและไม่มีอันตราย
โดยการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์นั้นมีประโยชน์ต่อคุณแม่และทารกในครรภ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น
• ทำให้หัวใจ ปอด และหลอดเลือดแข็งแรง
• ช่วยให้คุณแม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้อย่างเหมาะสม
• บรรเทาอาการทั่วไปในการตั้งครรภ์ เช่น ท้องผูก ปวดหลัง และอาการบวมที่ขา ข้อเท้า และเท้า
• ช่วยจัดการกับความเครียดได้ดี และช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ดีขึ้นด้วย
• เป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอด และยังมีส่วนช่วยให้คุณแม่คลอดง่าย และฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็วขึ้นด้วย
ซึ่งกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เช่น
• การเดิน โดยอาจจะเป็นการเดินช้า หรือเดินเร็วก็ได้
• การว่ายน้ำ
• การปั่นจักรยานกับที่
• โยคะคนท้อง
• พิลาทิสสำหรับคนท้อง
• การเต้นแอโรบิกแบบเบา ๆ
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ดูก่อนนะคะว่าพื้นฐานสุขภาพของคุณแม่เนี่ย สามารถออกกำลังกายได้ไหม ถ้าหากได้ ควรออกกำลังกายแบบไหน และถ้าหากไม่ได้ แต่คุณแม่อยากจะยืดเส้นยืดสายบ้าง ควรทำกิจกรรมใด แพทย์จะช่วยประเมินความเสี่ยงและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับสุขภาพของคุณแม่ได้ดีที่สุดค่ะ
การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ดังนี้
ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่
• ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
• ช่วงที่
2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
• ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)
ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร
เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย
พัฒนาการที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ มีดังนี้
• ทารกสามารถรับรู้ได้ว่าตำแหน่งของตัวเองกำลังกลับหัวลงหรือตั้งหัวขึ้น เนื่องจากหูชั้นในซึ่งควบคุมสมดุลหรือการทรงตัวได้รับการพัฒนาและสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์
• กระดูกสันหลังของทารกจะมีการสะสมแคลเซียมจนกระดูกแข็งขึ้นกว่าเดิมมาก มีข้อต่อต่างๆ ทำให้สามารถงอตัว บิดตัว เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
• ริมฝีปากของทารกจะเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในสัปดาห์นี้
• ปุ่มฟันของทารกเริ่มโผล่ดุนเหงือกขึ้นมาเรียงเป็นแถว
• ผิวหนังของทารกยังคงบางและดูโปร่งแสง
• เริ่มมีการสร้างถุงลมและเพิ่มจำนวนถุงลมมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์
• ระบบกล้ามเนื้อของทารกสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ในระยะนี้ทารกเริ่มที่จะเลิกคิ้วได้แล้ว
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ จะอยู่ในช่วงไตรมาสที่สอง ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ที่มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ปกติ ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กิโลกรัมค่ะ
อาการท้องแข็งแม้จะพบได้เป็นปกติในไตรมาสสาม แต่ก็พบได้บ้างในไตรมาสสองเช่นกัน ซึ่งอาการท้องแข็งในไตรมาสสองอาจจะมีอาการปวดเป็นพัก ๆ ปวดแล้วหายเองได้เพียงแค่กินยาหรือปรับอริยาบถ แบบนี้ถือว่าไม่อันตรายค่ะ
แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องถี่ ๆ มีอาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยการกินยาหรือการปรับอริยาบถไม่ช่วยให้อาการปวดทุเลาลง ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ เพราะอาจเสี่ยงต่อการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะแทรกซ้อนชนิดอื่น ๆ ได้
อาการนอนไม่หลับในคนท้องนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่พบได้เป็นปกติในคนท้องเลยค่ะ ทั้งในเรื่องของความวิตกกังวล ความอึดอัดของขนาดท้อง การปวดเมื่อย ปวดหลัง ทำให้คุณแม่นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับไม่ค่อยสนิท สำหรับคุณแม่ที่มีอาการนอนไม่หลับ สามารถรับมือได้หลายวิธี ดังนี้
• หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก หรือการออกกำลังกายหนักก่อนนอน
• แช่น้ำอุ่นก่อนเข้านอน เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
• คุณแม่ที่มีอาการปวดหลังจนนอนไม่หลับ ให้ลองใช้หมอนมาพิงเวลานั่งหรือใช้หมอนรองเวลานอน
• หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนก่อนเข้านอน งดเล่นโซเชียล งดทีวี ก่อนเข้านอนสัก 1 ชั่วโมง
• ปรับสภาพแวดล้อมให้น่านอน มีอุณหภูมิที่เหมาะสม แสงสว่างน้อยลงหน่อย ไม่มีเสียงรบกวน ก็อาจจะช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ดีขึ้น
• พยายามเข้านอนให้เป็นเวลา หรือเข้านอนในเวลาเดิมทุก ๆ วัน เพื่อสร้างวินัยในการนอนที่ดี เมื่อร่างกายเริ่มชิน คุณแม่ก็จะเข้านอนได้เป็นปกติ
• หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก หรืออาหารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เพราะจะรบกวนการนอนหลับของคุณแม่
แต่ถ้าหากลองปรับเปลี่ยนแล้วอาการนอนหลับไม่ดีขึ้นเลย คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำหรือรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ กับพัฒนาการลูกน้อย เพศของลูกจะถูกกำหนดโดยโครโมโซมเพศจากอสุจิ ปกติแล้วอส...
อ่านต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 39 • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม และตัวยาวประมาณ 21 นิ...
อ่านต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 4 ช่วงตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ยังถือเป็นช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ถุง...
อ่านต่อ