Enfa สรุปให้
อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 9 นิ้ว หนักประมาณ 680 – 900 กรัม มีขนาดเท่ากับกะหล่ำดอก หรืออาจยาวพอ ๆ กับฝักข้าวโพด
อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ มือของทารกจะเริ่มพัฒนาโครงสร้างอย่างเต็มที่ การเชื่อมต่อของเส้นประสาทในมือมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทารกในช่วงนี้สามารถกำมือ แบมือ และเคลื่อนไหวมือไปมาได้แล้ว
อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ ผิวของทารกเริ่มเรียบเนียนขึ้น และเริ่มมีเส้นขนปกคลุมทั่วผิวหนังมากขึ้นด้วย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
แม่ท้อง 25 สัปดาห์ เริ่มคุ้นชินกับการดิ้นของทารกในครรภ์มากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถนับการดิ้นได้อย่างแม่นยำในช่วงนี้ก็ตาม แต่นอกจากการดิ้นของทารกที่ชัดเจนในระยะนี้แล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ ยังพบกับความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ และพัฒนาการที่สำคัญของทารกอายุครรภ์ 25 สัปดาห์อีกมากมายค่ะ
สัปดาห์นี้ขนาดครรภ์ของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก จนคุณแม่หลายคนเริ่มที่จะเปลี่ยนมาสวมชุดคลุมท้อง หรือเดรสที่หลวมขึ้น เพราะช่วยให้รู้สึกสบายตัว ไม่อึดอัด ขณะเดียวกันขนาดครรภ์ที่เริ่มนูนและแอ่นไปข้างหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้คุณแม่เริ่มมีปัญหาในการนอนหลับ หรือนอนไม่สบายตัวด้วย
อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหนกันนะ? สำหรับทารกในช่วงนี้สามารถเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนตำแหน่งได้ทั้งวัน ตอนเช้าอาจเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายก็อาจกลับเอาหัวขึ้น เนื่องจากมดลูกยังมีรูปทรงกลมอยู่ ยังมีพื้นที่ภายในกว้างขวาง ทารกจึงสามารถดิ้นได้อย่างอิสระค่ะ
คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 25 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 6 เดือน 1 สัปดาห์ค่ะ
ทารกในระยะนี้เริ่มคุ้นเคยกับการปรับเปลี่ยนทิศทาง หัวและหาง เพราะมีการเปลี่ยนท่าและตำแหน่งของตัวเองบ่อย ๆ ในมดลูก ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการสร้างไขมันและเส้นผมเพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์นี้ค่ะ
ทารกอายุครรภ์ 25 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 9 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับกะหล่ำดอก หรืออาจยาวพอ ๆ กับฝักข้าวโพดค่ะ
อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 680–900 กรัมค่ะ
เนื่องจากระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกอายุครรภ์ 25 สัปดาห์นั้นพัฒนาการเกือบจะเต็มระบบ และเริ่มทำงานได้ทุกระบบแล้ว คุณแม่จึงรู้สึกได้ว่าทารกดิ้นบ่อยมากขึ้น แต่จะดิ้นมากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละวันนั้นตอบได้ยากค่ะ
เพราะทารกจะไม่ดิ้นเท่ากันทุกวัน และดิ้นมากดิ้นน้อยแตกต่างกันไป แต่ในระยะนี้ทารกอาจจะดิ้นได้ประมาณ 200-300 ครั้งต่อวัน หรือดิ้นได้มากกว่านั้นค่ะ
อย่างไรก็ตาม ทารกในไตรมาสนี้ยังดิ้นไม่ค่อยเป็นเวลา อาจจะดิ้นพักหนึ่งแล้วก็หายไป แล้วก็กลับมาดิ้นอีก ซึ่งเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน ทำให้การนับลูกดิ้นในระยะนี้เป็นไปได้ยากค่ะ ต้องรอจนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกจึงจะเริ่มดิ้นเป็นเวลา ถึงค่อยเริ่มนับลูกดิ้น
การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 25 สัปดาห์ มีดังนี้
• ปอดของทารกยังคงสร้างสารที่ช่วยให้ถุงลมในปอดขยายและหดตัวได้ รวมถึงเส้นเลือดในปอดของทารกก็อยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหายใจด้วยตัวเอง แต่ตอนนี้ทารกยังอาศัยออกซิเจนจากคุณแม่อยู่จนกว่าจะคลอดออกมาจึงจะเริ่มหายใจด้วยตนเอง
• อาหารเสริมของทารกในช่วงนี้ คือ ของเหลวในน้ำคร่ำ ทารกชอบที่จะกลืนและขับถ่ายน้ำคร่ำในรกและอาจจะมีอาการสะอึกบ้างในบางครั้ง
• ผิวหนังที่เคยเหี่ยวย่นค่อย ๆ เรียบตึงขึ้น
• รูปร่างหน้าตาของทารกเริ่มใกล้เคียงกับทารกแรกเกิดมากขึ้น
• มือของทารกจะเริ่มพัฒนาโครงสร้างอย่างเต็มที่ การเชื่อมต่อของเส้นประสาทในมือมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทารกในช่วงนี้สามารถกำมือ แบมือ และเคลื่อนไหวมือไปมาได้แล้ว
• เส้นขนของทารกมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งขนศีรษะและขนตามลำตัว
แม่ท้อง 25 สัปดาห์ หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่
• คุณแม่เริ่มรู้สึกคุ้นชินกับอาการที่เป็นอยู่ เพราะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างดี รับรู้ถึงการดิ้นของลูกในท้องได้
• ขณะที่มดลูกยังคงขยายใหญ่มากขึ้นจนทำให้ผิวหนังแตกและมีอาการคันตามมา และมีปัญหาหน้าท้องแตกลายชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
• ขนาดของมดลูกที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นจนไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะคุณแม่จะปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งไม่ควรอั้นปัสสาวะนะคะ เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ค่ะ
• ขนาดครรภ์ของคุณแม่ในช่วงนี้ยังคงขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และแอ่นออกมาข้างหน้ามากกว่าเดิม ซึ่งการที่หน้าท้องของคุณแม่ขยายมากเรื่อยๆ แบบนี้ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมานั่นเอง
• แม่ท้อง 25 สัปดาห์ มีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
• น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 25 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะ
สำหรับแม่ท้อง 25 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ดังนี้
• ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
• โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
• แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
• ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น
• โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น
• โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น
นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น
ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง
อาการคนท้อง 25 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้
• ขนาดของมดลูกที่ขยายขึ้นทุกวัน ๆ เริ่มมีการกดทับและรบกวนการทำงานของลำไส้ ทำให้ย่อยอาหารยาก และขับถ่ายได้ไม่ดี ทำให้คุณแม่ท้องผูกบ่อย หรือบางคนเริ่มมีความเสี่ยงของริดสีดวงทวาร
• ในระยะนี้คุณแม่ยังคงมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากมดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติ ทำให้มีอาการปวดท้องเป็นพัก ๆ แต่ปวดไม่นานก็ดีขึ้น
• ช่วงนี้คุณแม่หลายคนอาจมีผมดกและหนาขึ้น แต่โปรดทำใจล่วงหน้าด้วยนะคะว่าหลังคลอดคุณแม่จะเริ่มมีอาการผมร่วงตามมาค่ะ
• มีอาการปวดอุ้งเชิงกราน หรือปวดบริเวณหัวหน่าว มีสาเหตุมาจากการแข็งตัวของข้อต่อบริเวณหัวหน่าว
• นอนไม่ค่อยหลับ เพราะรู้สึกไม่สบายตัว เนื่องจากคุณแม่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อึดอัด
• มีอาการท้องอืด กรดไหลย้อน เนื่องจากขนาดมดลูกใหญ่ขึ้นจนกดดันกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ
• มีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอาการบวมน้ำ ที่ทำให้มีอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ รวมถึงบริเวณเท้าและข้อเท้าด้วย ส่วนมากมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนเลือดที่ไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการบวมตามมา
โดยมากแล้วในช่วงไตรมาสที่สองนี้แพทย์จะนัดพบแค่เพียงเดือนละครั้ง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 25 นี้ คุณแม่อาจจะไม่ได้มีนัดหมายต้องไปพบแพทย์ค่ะ
อย่างไรก็ตาม คุณแม่แต่ละคนมีกำหนดนัดตรวจอัลตราซาวนด์ที่แตกต่างกันค่ะ ตลอดจนพื้นฐานสุขภาพของแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แม่บางคนอาจมีความเสี่ยงหรือมีภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์อาจจะนัดหมายให้มาทำการตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ หรือไม่มีนัดก็ได้ค่ะ
อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่
และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ
โดยมากแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
• ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก
• หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก
• หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ
โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนี้มักจะพบได้ในไตรมาสสามหรือช่วงก่อนใกล้คลอด แต่...ก็พบว่ามีคุณแม่หลายคนมีอาการท้องแข็งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสอง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก
• ทารกดิ้นแรง
• คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
• คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
• มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม หากอาการท้องแข็งในช่วงปลายไตรมาสสองนั้นมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้
แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
คุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด
รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้
ช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นต้นไป แพทย์อาจนัดให้คุณแม่ทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพราะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น
• เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
• ทารกมีขนาดตัวใหญ่ หรือมีน้ำหนักแรกเกิดเกินมาตรฐาน
• ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
• ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
• เสี่ยงต่อการแท้ง
• เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
• ทารกคลอดออกมาพร้อมกับความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ทราบความเสี่ยงว่าในขณะนี้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่มีความสุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือไม่
ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แพทย์ก็จะมีการประเมินความเสี่ยงว่าเบาหวานที่เป็นอยู่จะทำให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และยังให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อตั้งครรภ์
ส่วนคุณแม่ที่ไม่มีประวัติการเป็นเบาหวานมาก่อน แพทย์จะมีการซักประวัติและเริ่มตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และจะมีการตรวจเลือดในทุก ๆ เดือน เพื่อดูว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติหรือไม่
โดยอาจจะใช้วิธีการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ หรือตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยวิธี OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) ก็ได้ และถ้าหากมีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเกิดขึ้น แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและการควบคุมอาหาร และจะทำการตรวจคัดกรองในครั้งต่อ ๆ ไปว่าความเสี่ยงลดลงไหม หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไหม
สัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ
• ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
• มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต หรือตรวจพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ
• ระดับเกล็ดเลือดลดลง
• ค่าเอนไซม์ในตับสูง
• มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
• มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
• มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ
• หายใจถี่ ๆ
• ปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา
• คลื่นไส้หรืออาเจียน
• น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ หรือในกรณีที่ฉุกเฉินมากจริง ๆ อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์
คุณแม่ที่มีอาการปวดหลัง การออกกำลังกายสามารถช่วยยืดหยุ่นร่างกายและบรรเทาอาการปวดหลังได้ค่ะ โดยกิจกรรมที่เหมาะสำหรับแม่ท้องที่ปวดหลัง ได้แก่ การว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ โยคะ พิลาทิส เป็นต้น
ซึ่งกิจกรรมจำพวกโยคะ หรือพิลาทิส ที่มีท่าในการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อและข้อต่อนี่ถือว่าเหมาะเลยค่ะ เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ กระดูกสันหลังของคุณแม่ได้ยืนหยุ่นและแข็งแรงมากขึ้น ช่วยรับมือกับอาการปวดหลังได้ดีค่ะ แต่ถ้าคุณแม่ออกกำลังกายบ่อย ๆ ไม่ไหว การเปลี่ยนอริยาบถมาลุกขึ้นเดินไปมาบ้างก็ช่วยได้ค่ะ
เมื่อมดลูกเริ่มขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เส้นเอ็น และผิวหนังที่หน้าท้องก็จะขยายตัวด้วยเช่นกัน การขยายตัวของผิวหนังหน้าท้องจึงนำมาซึ่งรอยแตกลาย และเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกับคุณแม่อยู่ไม่น้อยทีเดียว
โดยคุณแม่ที่กังวลเรื่องรอยแตกลายที่หน้าท้อง สามารถดูแลและบำรุงผิวหนังบริเวณหน้าท้องได้ ดังนี้
• การรักษาความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังด้วยมอยส์เจอไรเซอร์หรือครีมบำรุงผิว
• สามารถใช้ครีมป้องกันหรือรักษารอยแตกลายได้ เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษากับแพทย์ก่อนว่าครีมป้องกันรอยแตกลายแบบไหนที่ใช้ได้ หรือไม่ควรใช้
• หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ผิวแห้ง ลอก แตกได้ง่าย อาจทำให้รอยแตกลายแย่ลงกว่าเดิม
• ควบคุมน้ำหนักตามที่แพทย์แนะนำ เพราะถ้าหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรีวดเร็วโดยที่คุณแม่ไม่ได้เตรียมพร้อมมาก่อน อาจทำให้เกิดรอยแตกลายได้ง่ายและรุนแรงกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม รอยแตกลายนี้อาจจะน้อยลงหลังคลอดได้เร็วหากคุณแม่บำรุงผิวตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากคุณแม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ การเลเซอร์หลัวคลอดก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดเลือนรอยแตกลายได้ค่ะ
การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ดังนี้
ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่
• ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
• ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
• ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)
ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร
เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย
ขณะนี้ทารกเติบโตอยู่ในมดลูก ซึ่งอยู่บริเวณกึ่งกลางของท้อง โดยทารกในระยะนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงท่าทางอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ เนื่องจากมดลูกมีพื้นที่เพียงพอที่ทารกจะเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างเสรี
อาการท้องแข็งในไตรมาสสองนั้น ส่วนมากมักไม่อันตราย อาจจะมีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราว แต่ก็จะหายไปเองได้ และอาการปวดท้องก็จะไม่ปวดนานนัก การเปลี่ยนอริยาบถ หรือกินยาแก้ปวดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ กรณีเช่นนี้ถือว่าไม่อันตราย
แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
ในสัปดาห์นี้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะปอดที่มีการสร้างถุงลอมเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหายใจด้วยตนเองหลังคลอด ผิวหนังของทารกก็เริ่มเรียบเนียน และเริ่มมีเส้นขนปกคลุมร่างกายมากขึ้น ขณะที่รูปร่างหน้าตาของทารกก็เริ่มมีเค้าโครงที่ใกล้เคียงกับทารกแรกเกิด
มากไปกว่านั้น ถ้าหากมาอัลตราซาวนด์ 4 มิติในช่วงนี้ ก็จะพบว่าทารกสามารถกำมือ แบมือ และเคลื่อนไหวมือไปมาได้แล้ว เพราะการเชื่อมต่อของเส้นประสาทในมือมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นพูดคุย อ่านหนังสือนิทาน หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง เพราะทารกอายุครรภ์ 25 สัปดาห์ สามารถได้ยินเสียงรอบตัวได้มากขึ้นแล้ว ทั้งยังสามารถตอบรับกับสิ่งเร้ารอบตัวได้มากขึ้นด้วย
การพูดคุยกับลูก เป็นกิจกรรมที่มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาเซลล์สมองของลูกทั้งสิ้น แรงสั่นสะเทือนของเส้นเสียงจะค่อย ๆ ซึมผ่านผนังหน้าท้อง น้ำคร่ำ มายังทารก เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อยในครรภ์ ทำให้ทารกคุ้นเคยกับคำต่าง ๆ และมีพัฒนาการทางภาษา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารต่อไป
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ กับพัฒนาการลูกน้อย เพศของลูกจะถูกกำหนดโดยโครโมโซมเพศจากอสุจิ ปกติแล้วอส...
อ่านต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 39 • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม และตัวยาวประมาณ 21 นิ...
อ่านต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 4 ช่วงตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ยังถือเป็นช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ถุง...
อ่านต่อ