Enfa สรุปให้
อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 15 นิ้ว หนักประมาณ 900 กรัม หรืออาจมีน้ำหนักถึง 1 กิโลกรัมในสัปดาห์นี้ และมีขนาดเท่ากับกะหล่ำดอก
อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ พัฒนาการของระบบต่าง ๆ ของทารกนั้นเกือบสมบูรณ์แล้ว ถ้าหากเหตุต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ทารกในครรภ์ก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ 85% ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ถึงแม้หูของทารกจะยังมีสารคล้ายกับขี้ผึ้งเคลือบเอาไว้อยู่ แต่ทารกสามารถที่จะได้ยินเสียงรวมไปถึงเริ่มจดจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้แล้วค่ะ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ท้อง 27 สัปดาห์นี้ คุณแม่ขยับใกล้เข้าสู่อายุครรภ์ 7 เดือนเข้ามาเรื่อย ๆ แล้วค่ะ ซึ่งนอกจากอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลงแล้ว พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ก็เริ่มพัฒนาจนเกือบจะครบสมบูรณ์ทุกระบบแล้วด้วย
ขณะที่แม่ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ ก็ยังคงมีอาการปวดหลัง ปวดขาต่อไปอย่างไม่ลดละ สอดคล้องกับขนาดครรภ์ที่ขยายใหญ่ขึ้นและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์
อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ระบบสำคัญ ๆ ของทารกอย่างปอด ตับ และระบบภูมิคุ้มกันมีการเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว ถึงแม้ว่าจะยังทำงานได้ไม่ 100% ก็ตาม
ขณะที่คุณแม่ยังคงง่วนอยู่กับอาการคนท้องไตรมาสสองที่มีแต่เพิ่มไม่มีลด ทั้งอาการบวม อาการปวดหน่วงท้องน้อย ปวดหลัง ปวดขา ท้องอืด ท้องผูก และอาการนอนไม่หลับ เป็นต้น
ทารกในครรภ์ 27 สัปดาห์ สามารถเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนตำแหน่งได้ทั้งวัน ตอนเช้าอาจเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายก็อาจกลับเอาหัวขึ้น เนื่องจากมดลูกยังมีรูปทรงกลมอยู่ ยังมีพื้นที่ภายในกว้างขวาง ทารกจึงสามารถดิ้นได้อย่างอิสระค่ะ
คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 6 เดือน 3 สัปดาห์ค่ะ
ทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์นี้ ถือว่ามีพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้เกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสมบูรณ์อยู่ในระดับที่ว่าถ้ามีเหตุต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ทารกก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ 85%
แต่...จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เนื่องจากปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ระบบต่าง ๆ และอวัยวะอีกหลายส่วนยังเริ่มทำงานได้ไม่เต็มที่
ทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 15 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับกะหล่ำดอกค่ะ
อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 900 กรัม หรืออาจมีน้ำหนักถึง 1 กิโลกรัมในสัปดาห์นี้ค่ะ
ทารกในครรภ์ 27 สัปดาห์จะดิ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น ตอบได้ยากค่ะ เพราะเด็กแต่ละคนดิ้นมากน้อยไม่เท่ากัน โดยอาจจะดิ้นได้มากกว่า 300-400 ครั้งต่อวัน และจะยังดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ
เนื่องจากระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นจนเกือบเต็มระบบ และหลาย ๆ ระบบก็จะทยอยเริ่มทำงาน ทำให้ทารกในครรภ์สามารถเคลื่อนไหวไปรอบๆ ท้องน้อยมากขึ้น และจะเริ่มดิ้นแรงจนคุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ทารกในไตรมาสนี้ยังดิ้นไม่ค่อยเป็นเวลา อาจจะดิ้นพักหนึ่งแล้วก็หายไป แล้วก็กลับมาดิ้นอีก ซึ่งเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน ทำให้การนับลูกดิ้นในระยะนี้เป็นไปได้ยากค่ะ ต้องรอจนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกจึงจะเริ่มดิ้นเป็นเวลา ถึงค่อยเริ่มนับลูกดิ้น
การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ มีดังนี้
• เนื้อเยื่อในสมองของทารกเริ่มพัฒนามากขึ้นและสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น
• ปอดของทารกแม้ยังยังทำงานได้ไม่เต็มระบบ แต่ก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการทำงานของปอดมากขึ้น เตรียมพร้อมที่จะหายใจหลังคลอดในไม่ช้า
• ทารกสามารถสะอึกจนคุณแม่รู้สึกได้ ซึ่งเป็นอาการปกติของทารกในครรภ์ค่ะ
• ช่วงนี้ทารกเริ่มตื่นและนอนตามเวลา และเริ่มลืมตาและหลับตาตอบสนองกับแสงสว่างจากภายนอกได้แล้วด้วย
• แม้ว่าหูของทารกในครรภ์จะยังมีสารคล้ายกับขี้ผึ้งเคลือบเอาไว้อยู่ แต่ทารกสามารถที่จะได้ยินเสียงรวมไปถึงเริ่มจดจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้แล้วค่ะ
แม่ท้อง 27 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ ดังนี้
• คุณแม่อาจปวดหลังมากขึ้น เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ขนาดท้องที่โตขึ้นจนเริ่มแอ่นไปข้างหน้า ทำให้เกิดการดึงรั้งมากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่ปวดหลังอยู่บ่อย ๆ
• นอกจากนี้ คุณแม่หลายคนยังอาจเป็นตะคริวที่ขาได้ง่ายกว่าปกติด้วย เพราะขาต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าเดิม ซึ่งวิธีแก้ง่าย ๆ เมื่อเป็นตะคริวก็คือให้เหยียดขาให้ตึงตั้งแต่ขาจนถึงปลายนิ้วเท้าให้มากที่สุดหลังจากนั้นก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นเดินให้เลือดหมุนเวียนขึ้น แล้วนวดเบาๆหรือประคบด้วยความร้อน จะช่วยคลายอาการตะคริวได้บ้าง
• ขนาดครรภ์ของคุณแม่ในช่วงนี้ยังคงขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และแอ่นออกมาข้างหน้ามากกว่าเดิม ซึ่งการที่หน้าท้องของคุณแม่ขยายมากเรื่อยๆ แบบนี้ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมานั่นเอง
• แม่ท้อง 27 สัปดาห์ มีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
• น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะะ
สำหรับแม่ท้อง 27 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่
• ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
• โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
• แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
• ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น
• โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น
• โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น
นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น
ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง
อาการคนท้อง 27 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้
• อาการท้องผูกของคุณแม่เริ่มถี่มากขึ้น เพราะขนาดของทารกและมดลูกยังขยายตัวไม่หยุด จนส่งผลต่ออวัยวะที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหารอย่างลำไส้
• ปัญหาเลือดไหลเวียนได้ไม่ค่อยดียังคงก่อให้เกิดอาการบวมน้ำอยู่ โดยคุณแม่อาจมีอาการบวมที่ข้อมือและข้อเท้าร่วมด้วย
• อาการท้องแข็งเนื่องจากมดลูกหดรัดตัวตามปกติยังคงพบเห็นได้เรื่อย ๆ ในสัปดาห์นี้ อาจทำให้คุณแม่ปวดท้องถี่ขึ้น แต่ก็จะหายได้เองโดยใช้เวลาไม่นานค่ะ
• อาการเหน็บชาที่ขา เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายส่งผลต่อการหย่อนตัวของข้อต่อที่กระดูก การนั่งหรือยืนในท่าเดิมนาน ๆ อาจทำให้เกิดเหน็บชาได้ง่ายขึ้น
• หากคุณแม่มีอาการปัสสาวะบ่อยในสัปดาห์ก่อนหน้า สัปดาห์นี้ก็ยังคงหนีไม่พ้นค่ะ เพราะขนาดของมดลูกยังคงกดดันที่ไตและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปวดฉี่บ่อยขึ้น
โดยมากแล้วในช่วงไตรมาสที่สองนี้แพทย์จะนัดพบแค่เพียงเดือนละครั้ง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 27 นี้ คุณแม่อาจจะไม่ได้มีนัดหมายต้องไปพบแพทย์ค่ะ
อย่างไรก็ตาม คุณแม่แต่ละคนมีกำหนดนัดตรวจอัลตราซาวนด์ที่แตกต่างกันค่ะ ตลอดจนพื้นฐานสุขภาพของแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แม่บางคนอาจมีความเสี่ยงหรือมีภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์อาจจะนัดหมายให้มาทำการตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ หรือไม่มีนัดก็ได้ค่ะ
แต่...หลังจากสัปดาห์นี้ไปจะเริ่มเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 แล้ว แพทย์อาจจำนัดตรวจครรภ์ถี่ขึ้น โดยจากที่นัดเดือนละครั้ง ก็จะเปลี่ยนมานัดหมายเดือนละ 2 ครั้ง หรือมีนัดพบกันทุก ๆ 2 สัปดาห์ค่ะ
อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่
และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ
โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนี้มักจะพบได้ในไตรมาสสามหรือช่วงก่อนใกล้คลอด แต่...ก็พบว่ามีคุณแม่หลายคนมีอาการท้องแข็งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสอง ซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุเหล่านี้
• ทารกดิ้นแรง
• คุณแม่ทำงานหนัก
หรือออกแรงมาก
• คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
• มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม หากอาการท้องแข็งในช่วงปลายไตรมาสสองนั้นมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้
แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
โดยมากแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
• ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก
• หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก
• หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ
ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ
ถ้าหากคุณแม่ท้อง 6 เดือนกว่าแล้ว แต่หน้าท้องยังเล็กอยู่ ยังไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ เพราะเรื่องขนาดหน้าท้องนั้นต้องบอกเลยว่าหน้าท้องแม่แต่ละคนไม่เท่ากันค่ะ บางคนท้องใหญ่ บางคนจวบจนจะไตรมาสสามแล้วก็ยังท้องเล็กอยู่ เรื่องพวกนี้ถือว่าปกติมาก
ซึ่งถ้าหากไปตรวจครรภ์และอัลตราซาวนด์ออกมาแล้วพบว่าทารกในครรภ์แข็งแรงดี ดิ้นดี หัวใจเต้นครบเกณฑ์ มีพัฒนาการสมวัย 27 สัปดาห์ ขนาดท้องเล็กใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลค่ะ
มากไปกว่านั้น คุณแม่ที่ท้องครั้งแรก ท้องตอนอายุน้อย ๆ เป็นคนมีผนังหน้าท้องหนา หรือเป็นคนตัวเล็ก ขนาดท้องก็จะค่อนข้างเล็ก ไม่ขยายใหญ่เท่าแม่ที่สรีระใหญ่ และไม่ใหญ่เท่ากับแม่ที่ตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้งค่ะ
คุณแม่อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด
รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้
ช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นต้นไป แพทย์อาจนัดให้คุณแม่ทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพราะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น
• เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
•
ทารกมีขนาดตัวใหญ่ หรือมีน้ำหนักแรกเกิดเกินมาตรฐาน
•
ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
•
ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
• เสี่ยงต่อการแท้ง
• เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
• ทารกคลอดออกมาพร้อมกับความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ทราบความเสี่ยงว่าในขณะนี้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่มีความสุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือไม่
ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แพทย์ก็จะมีการประเมินความเสี่ยงว่าเบาหวานที่เป็นอยู่จะทำให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และยังให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อตั้งครรภ์
ส่วนคุณแม่ที่ไม่มีประวัติการเป็นเบาหวานมาก่อน แพทย์จะมีการซักประวัติและเริ่มตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และจะมีการตรวจเลือดในทุก ๆ เดือน เพื่อดูว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติหรือไม่
โดยอาจจะใช้วิธีการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ หรือตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยวิธี OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) ก็ได้ และถ้าหากมีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเกิดขึ้น แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและการควบคุมอาหาร และจะทำการตรวจคัดกรองในครั้งต่อ ๆ ไปว่าความเสี่ยงลดลงไหม หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไหม
หากคุณแม่พบว่าตนเองติดโควิด ให้คุณแม่รีบติดต่อกับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่คุณแม่ทำการฝากครรภ์ทันทีค่ะ เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจวินิจฉัยดูว่าอาการโควิดของคุณแม่นั้นเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ หรือจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติหรือเปล่า
เพราะคุณแม่หลายคนก็มีโรคประจำตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นหากมีการติดโควิด อย่างไรก็ตาม การติดโควิดในช่วงไตรมาสแรก มักจะไม่ส่งผลให้เกิดการแท้ง แต่ถ้าหากมีการติดโควิดในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 พบว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงทีเดียวค่ะที่จะมีการแท้งเกิดขึ้น ส่วนการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ก็น้อยมากค่ะ
ระดับความดันโลหิตของคนทั่วไปนั้นจะอยู่ที่ 120/80 -139/89 มิลลิเมตรปรอท ถ้าหากมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท คุณแม่กำลังอยู่ในภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแมทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ ภาวะชัก เป็นต้น
แต่ถ้าระดับความดันโลหิตของคุณแม่ต่ำกว่า 100/60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งภาวะความดันโลหิตต่ำนี้ถือว่าอันตรายน้อยกว่าความดันโลหิตสูง และโดยมากมักส่งผลต่ออาการหน้ามืด เป็นลม วิงเวียนศีรษะ ส่วนในกรณีที่รุนแรงอาจก่อให้เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด หรือทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ค่ะ
ส่วนอัตราการเต้นหัวใจของคนท้องนั้น ไม่มีตายตัวว่าเท่าไหร่มากไปหรือน้อยไป อย่างไรก็ตาม อัตราการเต้นหัวใจโดยปกติของคนทั่วไปจะอยู่ที่ 60 – 100 ครั้ง / นาที ถ้าหากน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที ถือว่าหัวใจเต้นช้า แต่ถ้าเร็วกว่า 100 ครั้ง/นาที ถือว่าเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นเร็ว
ซึ่งอาการหัวใจเต้นเร็วนั้น หากเกิดจากการออกกำลังกาย หรือการทำงานต่าง ๆ ก็ไม่ถือว่าผิดปกติเสียทีเดียว แต่ถ้าคุณแม่อยู่เฉย ๆ แล้วมีอาการหัวใจเต้นเร็ว อาจจะต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นผลพวงมาจากโรคประจำตัวกำเริบ หรือมีความเครียดและความวิตกกังวลเกิดขึ้นค่ะ
การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ดังนี้
ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่
• ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
• ช่วงที่
2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
• ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)
ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร
เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย
การคลอดที่เกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดค่ะ ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดนั้น แม้จะสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะระบุวันที่คาดว่าจะคลอดก่อนกำหนดได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น สำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์มาแล้ว 27 สัปดาห์ หรือท้องได้ 6 เดือนกว่า ๆ แล้ว และมีภาวะความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ โดยอาจจะมาจากโรคประจำตัว การติดเชื้อ อุบัติเหตุ หรือมีความเครียดสูง การคลอดในระยะนี้ถือว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แม้จะไม่บ่อยนักก็ตาม
อาการปวดท้องน้อยในระยะนี้ มักมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และอาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเส้นเอ็นบริเวณท้อง ตลอดจนเริ่มมีการกดทับที่บริเวณอุ้งเชิงกราน จึงทำให้ปวดท้องน้อยได้บ่อย ๆ ค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเลือดออก คุณแม่อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
น้ำหนักปกติของทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ จะอยู่ที่ประมาณ 900 กรัม หรืออาจมีน้ำหนักถึง 1 กิโลกรัมในสัปดาห์นี้ค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ กับพัฒนาการลูกน้อย เพศของลูกจะถูกกำหนดโดยโครโมโซมเพศจากอสุจิ ปกติแล้วอส...
อ่านต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 39 • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม และตัวยาวประมาณ 21 นิ...
อ่านต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 4 ช่วงตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ยังถือเป็นช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ถุง...
อ่านต่อ