Enfa สรุปให้:
- คุณพ่อคุณแม่สามารถยื่นคำร้องในการขอเปลี่ยนนามสกุลให้ลูกได้ทุกเมื่อ หากลูกยังมีอายุไม่ถึง 20 ปี แต่ถ้าหากลูกของคุณพ่อคุณแม่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์เมื่อไหร่ คุณพ่อคุณแม่จะไม่สามารถดำเนินการแทนได้อีกแล้ว
- การเปลี่ยนนามสกุลลูก ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ทำการจดทะเบียนสมรสกัน แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี กรณีที่ 1 คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และคุณพ่อไม่ได้ทำการจดทะเบียนรับรองบุตร และกรณีที่ 2 คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่คุณพ่อได้ทำการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้วเรียบร้อยแล้ว
- คุณแม่สามารถเปลี่ยนนามสกุลลูกตามสามีใหม่ได้ โดยให้สามีใหม่ทำการจดทะเบียนรับลูกเป็นบุตรบุญธรรม หรือใช้วิธีการขอร่วมใช้นามสกุลกับเจ้าของนามสกุล
ความต้องการในการเปลี่ยนนามสกุลลูก อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความเชื่อต่าง ๆ ว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะส่งผลให้ชีวิตของลูกน้อยดีขึ้น หรือคุณแม่บางคนอาจจะต้องการที่จะเปลี่ยนให้ลูกมาใช้นามสกุลของตนเอง เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ได้ทำการหย่าร้างหรือแยกทางกันนั่นเอง
ซึ่งแน่นอนว่าพอเป็นเรื่องที่ต้องจัดการกับเอกสารแล้ว ก็อาจจะเพิ่มความกังวลให้กับคุณพ่อหรือคุณแม่ที่เป็นผู้ดำเนินการแทนผู้เยาว์ เนื่องจากการจัดการกับเอกสารต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายได้ในบางครั้ง แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลนะคะ เพราะเอนฟาจะมาแนะนำและบอกรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนนามสกุลของลูกน้อย มาดูสิว่าคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมเอกสารอะไรบ้าง และขั้นตอนจะยุ่งยากหรือไม่ มาติดตามกันค่ะ
เปลี่ยนนามสกุลลูก ใช้เอกสารอะไรบ้าง
การเปลี่ยนนามสกุลลูก จำเป็นต้องใช้เอกสารในการยื่น ดังนี้
1. สูติบัตรบุตร หรือ ใบเกิด
2. สำเนาทะเบียนบ้านที่บุตรมีชื่ออยู่
3. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดำเนินการแทนผู้เยาว์
4. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ดำเนินการแทนผู้เยาว์
5. หลักฐานการจดทะเบียนหย่า (หากมีการหย่าร้าง)
6. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุล
การเปลี่ยนนามสกุลลูก ลูกควรมีอายุเท่าไหร่
การเปลี่ยนนามสกุลลูก ไม่ได้มีอายุขั้นต่ำในการกำหนดว่าลูกน้อยต้องอายุเท่าไหร่ ถึงจะทำการเปลี่ยนนามสกุลให้ลูกได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถยื่นคำร้องในการขอเปลี่ยนนามสกุลให้ลูกได้ทุกเมื่อ หากลูกยังมีอายุไม่ถึง 20 ปี
แต่ถ้าหากลูกของคุณพ่อคุณแม่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์เมื่อไหร่ คุณพ่อคุณแม่จะไม่สามารถดำเนินการแทนได้อีกแล้ว ลูกจะมีสิทธิในการตัดสินใจว่าจะใช้นามสกุลของใคร และสามารถยื่นคำร้องเพื่อเปลี่ยนนามสกุลได้ด้วยตนเอง
เปลี่ยนนามสกุลลูก ให้กลับมาใช้นามสกุลของแม่ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทำการหย่าร้างกันแล้ว และอำนาจการปกครองบุตรอยู่ที่คุณพ่อ คุณแม่จะไม่สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอเปลี่ยนนามสกุลลูกได้ นอกจากว่า จะได้รับความยินยอมจากผู้เป็นพ่อ แต่ถ้าหากอำนาจการปกครองบุตรอยู่ที่คุณแม่ คุณแม่สามรถดำเนินการยื่นคำร้องด้วยตนเองได้เลย
โดยขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก มีดังนี้
- ผู้ดำเนินการแทนผู้เยาว์ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ลูกมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
- นายทะเบียนท้องที่ตรวจสอบคำขอและชื่อสกุลที่ขอเปลี่ยนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
- หากได้รับการอนุมัติ นายทะเบียนท้องที่จะออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล (แบบ ช.2) ให้เป็นหลักฐานและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 100 บาท
- เมื่อได้รับหนังสือสำคัญแล้ว ให้ดำเนินการเปลี่ยนนามสกุลลูกบนเอกสารสำคัญต่าง ๆ
ในทางตรงกันข้าม หากต้องการเปลี่ยนนามสกุลลูกให้มาใช้นามสกุลของพ่อ ขั้นตอนต่างกันหรือไม่
ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทำการหย่าร้างกันแล้ว และอำนาจการปกครองบุตรอยู่ที่คุณแม่ คุณพ่อจะไม่สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอเปลี่ยนนามสกุลลูกได้ นอกจากว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้เป็นแม่ แต่ถ้าหากอำนาจการปกครองบุตรอยู่ที่คุณพ่อ คุณพ่อก็สามารถที่จะดำเนินการยื่นคำร้องด้วยตนเองได้เลย
โดยขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก มีดังนี้
- ผู้ดำเนินการแทนผู้เยาว์ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ลูกมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
- นายทะเบียนท้องที่ตรวจสอบคำขอและชื่อสกุลที่ขอเปลี่ยนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
- หากได้รับการอนุมัติ นายทะเบียนท้องที่จะออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล (แบบ ช.2) ให้เป็นหลักฐานและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 100 บาท
- เมื่อได้รับหนังสือสำคัญแล้ว ให้ดำเนินการเปลี่ยนนามสกุลลูกบนเอกสารสำคัญต่าง ๆ
เปลี่ยนนามสกุลลูก กรณีไม่ได้จดทะเบียน มีขั้นตอนอย่างไร
การเปลี่ยนนามสกุลลูก ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ทำการจดทะเบียนสมรสกัน แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1 คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และคุณพ่อไม่ได้ทำการจดทะเบียนรับรองบุตร
ในกรณีนี้จะถือว่าคุณแม่เป็นผู้มีอำนาจในการปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น หากคุณแม่ต้องการที่จะเปลี่ยนนามสกุลลูก ก็สามารถที่จะทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นพ่อ
กรณีที่ 2 คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่คุณพ่อได้ทำการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้วเรียบร้อยแล้ว
ในกรณีนี้จะถือว่าคุณพ่อและคุณแม่มีอำนาจร่วมกันในการปกครองบุตร ดังนั้น หากคุณพ่อหรือคุณแม่ต้องการที่จะเปลี่ยนนามสกุลลูก ก็ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายเสียก่อน
โดยขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก มีดังนี้
- ผู้ดำเนินการแทนผู้เยาว์ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ลูกมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
- นายทะเบียนท้องที่ตรวจสอบคำขอและชื่อสกุลที่ขอเปลี่ยนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
- หากได้รับการอนุมัติ นายทะเบียนท้องที่จะออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล (แบบ ช.2) ให้เป็นหลักฐานและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 100 บาท
- เมื่อได้รับหนังสือสำคัญแล้ว ให้ดำเนินการเปลี่ยนนามสกุลลูกบนเอกสารสำคัญต่าง ๆ
คุณแม่สามารถเปลี่ยนนามสกุลลูกตามสามีใหม่ได้ไหม
ในกรณีที่คุณแม่ต้องการที่จะเปลี่ยนนามสกุลของลูกที่เกิดมาจากสามีเก่า ให้มาใช้นามสกุลของสามีใหม่ตามคุณแม่ คุณแม่สามารถทำได้ค่ะ โดยจะมี 2 วิธีดังนี้
วิธีแรกคือ ให้สามีใหม่ของคุณแม่รับลูกที่เกิดจากสามีเก่ามาเป็นบุตรบุญธรรม โดยทำการจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
วิธีที่สองคือ การขอร่วมใช้นามสกุลกับเจ้าของนามสุกล ซึ่งวิธีนี้คุณแม่สามารถยื่นคำร้องให้ลูกที่เกิดจากสามีเก่าเปลี่ยนมาใช้ชื่อสกุลร่วมกับสามีใหม่ได้ ถ้าหากสามีใหม่เป็นเจ้าของนามสกุลและมีหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล หรือ ช.2 มาแสดงต่อหน้านายทะเบียน แต่ในกรณีที่นามสกุลของสามีใหม่ยังไม่ได้ทำการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ลูกของคุณแม่ก็จะไม่สามารถที่จะขอร่วมใช้นามสกุลของสามีใหม่ของคุณแม่ได้ จนกว่าจะมีการจดทะเบียนชื่อสกุลอย่างถูกต้องและต้องไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้ทำการจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่