Enfa สรุปให้
อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ ทารกในครรภ์มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4.5 นิ้ว หนักประมาณ 80 กรัม มีขนาดประมาณผลแอปเปิ้ล ผลลูกแพร์ หรือผลส้ม
อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ โครงกระดูกของทารกพัฒนาเร็วขึ้นมาก แต่ยังคงเป็นกระดูกอ่อนอยู่ และจะค่อย ๆ พัฒนาเป็นกระดูกแข็งต่อไป
อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ ทารกเริ่มมีขนคิ้วและเส้นผม และมีขนตาแล้ว รากผมเริ่มสร้างเม็ดสีให้กับเส้นผม
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ท้อง 15 สัปดาห์ คุณแม่ใกล้จะตั้งครรภ์ครบ 4 เดือนแล้วค่ะ โดยอายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี้ คุณแม่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแพ้ท้องกันแล้ว แต่จะพบกับความเปลี่ยนด้านอื่น ๆ แทน
มาดูกันดีกว่าว่าตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ คุณแม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แล้วทารกน้อยในครรภ์เติบโตไปมากแค่ไหนกันนะ
ช่วงอายุครรภ์ 15 สัปดาห์นี้ คุณแม่หลายคนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักควบคู่ไปกับหน้าท้องที่เริ่มนูนออกมามากขึ้น มากไปกว่านั้น คุณแม่หลายคนยังมีความต้องการทางเพศเพิ่มมากขึ้นในระยะนี้ด้วย ถือว่าเป็นช่วงหนึ่งของการตั้งครรภ์ที่คุณแม่รู้สึกมีชีวิตชีวาและมีพลังงานมากขึ้นกว่าปกติค่ะ
อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือนกันนะ? สำหรับแม่ท้อง 15 สัปดาห์ จะมีอายุครรภ์เท่ากับ 3 เดือน 3 สัปดาห์ค่ะ อายุครรภ์ของคุณแม่ใกล้จะครบรอบ 4 เดือนอีกไม่นานนี้แล้วค่ะ
แล้วท้อง 15 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหนกันนะ? ทารกอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ในมดลูก และมีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยคุณแม่สามารถอัลตราซาวนด์และเห็นทารกในครรภ์ที่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้นได้อย่างชัดเจน
ทารกอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ มีขนาดตัวใหญ่มากขึ้น และมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นด้วย แม้ว่าน้ำหนักอาจจะยังไม่ถึง 100 กรัม แต่ก็ถือว่ามีพัฒนาการด้านร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียวค่ะ
ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ ลูกดิ้นไปดิ้นมา พลิกตัว กลับตัวได้แล้วค่ะ แต่ในช่วงอายุครรภ์ 15 สัปดาห์นี้ คุณแม่จะยังไม่สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวนี้ เนื่องจากการดิ้นอาจจะยังไม่กระทบผนังมดลูก หรือหากกระทบผนังมดลูกก็อาจจะยังไม่แรงพอที่จะทำให้คุณแม่สามารถจับความรู้สึกได้
ลูก 15 สัปดาห์ รู้เพศได้ไหม? คุณพ่อคุณแม่เริ่มใจร้อนจะทนไม่ไหว อยากรู้เพศลูกใจจะขาดแล้ว การอัลตราซาวนด์อายุครรภ์ 15 สัปดาห์
อาจสามารถตรวจพบเพศลูกได้บ้างแล้ว แต่ก็ไม่เสมอไปค่ะ เพราะอวัยวะเพศของลูกยังมีรูปร่างที่ยากเกินกว่าจะชี้ชัดว่าเป็นหญิงหรือชาย
มากไปกว่านั้น ท้อง 15 สัปดาห์ก็ยังเร็วไปที่จะตรวจพบเพศลูก โดยมากมักจะรอจนกระทั่งอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะมีพบเพศของลูกอย่างชัดเจน
หากไปอัลตราซาวนด์ในช่วงนี้จะเห็นภาพทารกในครรภ์ 15 สัปดาห์ได้ชัดเจนมาก โดยทารกในครรภ์มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4.5 นิ้ว หนักประมาณ 80 กรัม มีขนาดประมาณผลแอปเปิ้ล ผลลูกแพร์ หรือผลส้ม
การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ มีดังนี้
• โครงกระดูกพัฒนาเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงเป็นกระดูกอ่อนอยู่ และจะค่อย ๆ พัฒนาเป็นกระดูกแข็งต่อไป
• ส่วนขาของทารกยาวกว่าส่วนแขน และเริ่มมีการขยับข้อต่อ ของแขนขาได้ด้วย
• ทารกเริ่มมีขนคิ้วและเส้นผม และมีขนตาแล้ว รากผมเริ่มสร้างเม็ดสีให้กับเส้นผม
• เส้นเลือดของทารกเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น
ท้อง 15 สัปดาห์ ขนาดท้องของคุณแม่จะนูนออกมามากขึ้นจนสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ค่ะ
มากไปกว่านั้น คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกจมูกตัน หายใจไม่ค่อยออกในช่วงที่ท้อง 15 สัปดาห์นี้ นั่นเพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและปริมาณการไหลเวียนของเลือดในร่างกายที่เพิ่มขึ้น
จนทำให้จมูกมีเมือกมากขึ้น หรือเกิดอาการที่เรียกว่า “ริดสีดวงจมูก” ได้ง่าย บางคนอาจเกิดการเพิ่มขึ้นของปริมาณเลือด และการขยายตัวของเส้นเลือดในจมูกจนทำให้หายใจไม่สะดวกควรไปพบคุณหมอ
คุณแม่บางคนจะมีอาการเลือดออกหลังแปรงฟัน เนื่องจากเหงือกบวมขึ้นมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น ถ้าไม่ได้ตรวจฟันมานาน ควรให้ทันตแพทย์ตรวจเหงือก ขูดหินปูนและรักษาฟันที่เริ่มผุโดยก่อนเข้ารับบริการทันตกรรมคุณแม่จะต้องแจ้งว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่
แม่ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ ควรกินอะไรถึงจะมีสุขภาพดีกันนะ? สำหรับแม่ท้อง 15 สัปดาห์ จำให้ขึ้นใจเลยว่าควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่
ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ดังนี้
• ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
• โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
• แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
• ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น
• โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น
• โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ
โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น
ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง
เมื่อตั้งครรภ์ถึงไตรมาสสอง คุณแม่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการแพ้ท้องกันแล้วค่ะ แต่จะยังคงมีอาการคนท้องอื่น ๆ ได้แก่
• มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
• เริ่มมีเส้นเลือดขอดอาจปรากฏบริเวณขา
• คุณแม่เริ่มมีอาการหายใจไม่สะดวก เพราะมดลูกขยายตัวมากขึ้นจนอาจไปกดทับปอด ทำให้หายใจลำบาก
• การไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้นทั่วทั้งร่างกาย อาจทำให้เลือดกำเดาไหลและเหงือกบวมได้
• คุณแม่หลายคนเริ่มรู้สึกปวดบริเวณขาหนีบและท้องส่วนล่าง เพราะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมีการขยายยืดออกเพื่อรองรับมดลูกที่กำลังขยายตัว
• มีอารมณ์ทางเพศสูงขึ้นกว่าไตรมาสแรก
ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ท้องยังถือว่าจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแพทย์นัดให้เข้ามาทำการตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ คุณแม่ไม่ควรพลาดนัด เพื่อที่แพทย์จะได้สามารถติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ ตลอดจนประเมินความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์ด้วย
โดยในระยะนี้การอัลตราซาวนด์จะเผยให้เห็นพัฒนาการที่สำคัญของทารก ดังนี้
• การเคลื่อนไหวของทารก: อัลตราซาวนด์อาจจับการเคลื่อนไหวของทารก อาจมองเห็นทารกกำลังกระดิกนิ้วมือและนิ้วเท้า
• ลักษณะใบหน้าของทารก: คุณพ่อคุณแม่อาจเห็นว่าลักษณะใบหน้าของทารกมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเริ่มเห็นเค้าโครงของตา จมูก และปากได้
• ตรวจดูน้ำคร่ำ: การอัลตราซาวนด์ในระยะนี้ จะช่วยให้แพทย์ตรวจดูปริมาณน้ำคร่ำว่าปกติหรือไม่ ทั้งยังอาจมองเห็นทารกเคลื่อนไหวภายในน้ำคร่ำด้วยค่ะ
อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่
และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ
อาการปวดท้องน้อยในอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ อาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเพื่อรองรับมดลูกที่กำลังขยายตัว
แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือปวดมากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้ง หรือภาวะความเสี่ยงอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้
โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนั้นจะพบในช่วงไตรมาสที่สาม หรือช่วงใกล้คลอด มักไม่พบในช่วงไตรมาสสองของการตั้งครรภ์ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสอง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ค่ะ
หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไหร่ก็ตาม ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยว่าอาการเลือดออกนั้นเกิดจากสาเหตุใด เพราะอาจจะเป็นเลือดที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ หรือเกิดจากภาวะความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การแท้ง ภาวะแท้งคุกคาม
ดังนั้น อย่ารอรีหรือมัวแต่ชะล่าใจนะคะ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอาการเลือดออกตอนท้องนี้มีสาเหตุมาจากอะไรจนกว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ค่ะ
คุณแม่อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด
คุณแม่หลายคนอาจมีปัญหาสุขภาพช่องปากในช่วงอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ค่ะ โดยเฉพาะอาการเลือดออกหลังแปรงฟัน เนื่องจากเหงือกบวม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนเลือดที่มากขึ้น และมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น
ซึ่งนอกจากคุณแม่จะต้องคอยดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากทุกวันหลังอาหาร ใช้ไหมขัดฟัน ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์แล้ว ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพเหงือก ขูดหินปูน และรักษาฟันผุ แต่อย่าลืมแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบด้วยนะคะว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่
ขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสองนี้แพทย์จะทำการอัลตราซาวนด์ท้องเพื่อตรวจหาความเสี่ยงของภาวะบกพร่องทางโครโมโซมและพันธุกรรม เพื่อหาความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรม และภาวะอื่น ๆ
คุณแม่จึงอาจจะได้รับการตรวจวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก (NT::Nuchal Translucency) เพื่อดูว่าทารกมีความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรมหรือไม่ รวมถึงการตรวจเลือด และตรวจวัดระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วย
ซึ่งการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะต้องยอมรับกันในความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีความพร้อมในการเลี้ยงดูและดูแลเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม ซึ่งในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อภาวะดาวน์ซินโดรมสูง แพทย์อาจแนะนำหรือปรึกษาให้ยุติการตั้งครรภ์
ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) คือ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ที่สามารถพบได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคามจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด
ซึ่งเลือดที่ไหลออกมานั้นอาจเป็นเลือดสีสด มูกเลือด หรือเลือดสีน้ำตาลก็ได้ ภาวะแท้งคุกคาม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
• โครโมโซมผิดปกติ
• ทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์
• มดลูกและโพรงมดลูกผิดปกติ
• การได้รับยาหรือสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
• มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
• ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
• แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
ภาวะแท้งคุกคาม จำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะถือว่าเป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้
ดังนั้น หากมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุว่าอาการเลือดออกนั้นมีที่มาจากอะไรกันแน่ ในกรณีที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ แพทย์จะได้ทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
ช่วงเวลา 1,000 วันแรก คือช่วงเวลาที่นับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก
หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน
โดยช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่
• ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
• ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
• ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)
สารอาหารทั้ง 3 อย่างนี้ ถือว่ามีความสำคัญต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์เป็นอย่างมากค่ะ
• ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์
• โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์
• ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์
แม่ท้อง 15 สัปดาห์ ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และต้องกินอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่มากับอาหาร มากไปกว่านั้น ยังควรเน้นสารอาหารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ ได้แก่
• ดีเอชเอ พบได้มากในอาหารจำพวก ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก พบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
• โฟเลต พบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
• แคลเซียม พบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
• ไอโอดีน พบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น
• โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น
• โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น
น้ำหนักตัวของแม่ตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสจะต้องสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกาย จะมากไปหรือน้อยไปไม่ได้ โดยคุณแม่ที่มีค่า BMI ปกติ น้ำหนักช่วงตั้งครรภ์ควรจะเป็นดังนี้
• ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสแรกนี้ทารกยังตัวเล็กอยู่ คุณแม่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากเกินกว่า 1-2 กิโลกรัม
• ไตรมาสที่ 2 ระยะนี้ทารกมีขนาดตัวที่โตขึ้น ทำให้คุณแม่อาจจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-6 กิโลกรัม
• ไตรมาสที่ 3 ไตรมาสสุดท้ายทารกมีขนาดตัวที่พร้อมสำหรับการคลอดที่เริ่มใกล้มาถึง คุณแม่ควรจะดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นระหว่าง 3.5-4.5 กิโลกรัม แม้ว่าจะมีขนาดท้องที่ใหญ่และทำให้กินอาหารได้น้อยลงก็ตาม
คุณแม่ที่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้
• ทาครีมยาที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย
• เปลี่ยนอริยาบถบ่อย ๆ ไม่นั่งหรือนอนในท่าเดิมนาน ๆ
• เวลานั่งหรือนอน ควรมีเบาะรองเพื่อรองรับน้ำหนัก
• หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือควรขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว
• พยายามคุมน้ำหนักให้ได้ตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อลดแรงกดดันที่กระดูกช่วงหลัง
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหลังไม่ดีขึ้นเลยจนคุณแม่รู้สึกทรมาน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
Enfa สรุปให้ อายุครรภ์ 42 สัปดาห์ เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือคุ...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการคลอดเกินกำหนด จากปกติกำหนดคลอดจะอยู่ระหว่างอายุค...
อ่านต่อตะคริวขณะตั้งครรภ์ การเกิดตะคริวขณะตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากร่างกายมีก...
อ่านต่อ