นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

อสุจิปริมาณเท่าไหร่ถึงท้องได้ น้ำอสุจิเยอะ-น้อยเพราะอะไร

Enfa สรุปให้

  • ปริมาณอสุจิที่ท้องได้ ควรอยู่ในช่วง 1.5 ถึง 6 มิลลิลิตรต่อการหลั่ง 1 ครั้ง และควรจะมีสเปิร์ม (Sperm) หรือเซลล์อสุจิอย่างน้อย 15 ล้านตัวไปจนถึงมากกว่า 200 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรในการหลั่งน้ำอสุจิ (Semen) 1 ครั้ง
  • น้ำอสุจิเยอะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การดื่มน้ำมาก ไม่ได้ช่วยตัวเองหรือมีเพศสัมพันธ์หลายวัน อายุน้อย รับประทานอาหารเหมาะสม เป็นต้น
  • น้ำอสุจิน้อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การหลั่งบ่อยครั้ง การขาดน้ำ อายุมากขึ้น ฮอร์โมนไม่สมดุล มีการอุดตันในทางเดินสืบพันธุ์ เป็นต้น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

พวกเราต่างก็รู้ขั้นตอนการปฏิสนธิของไข่และสเปิร์มอย่างคร่าวๆ จากวิชาสุขศึกษาและเพศศึกษาสมัยชั้นมัธยมฯ แต่เคยสงสัยกันไหมคะว่า อสุจิปริมาณเท่าไหร่ถึงท้องได้? ในเมื่อสุดท้ายแล้วจะมีสเปิร์มผู้ชนะเพียงตัวเดียวที่ได้วิ่งเข้าสู่เส้นชัย แล้วทำไมธรรมชาติต้องสร้างให้ผู้ชายหลั่งอสุจิออกมาทีละร้อยล้านตัวด้วยล่ะ? ผู้ชายมีน้ำอสุจิเยอะๆ ไปเพื่ออะไร? แล้วเกิดอะไรขึ้นกับอสุจิที่ไม่ได้เข้ารอบ?

อสุจิปริมาณเท่าไหร่ถึงท้องได้

ในการหลั่งน้ำอสุจิ (Semen) 1 ครั้ง ผู้ชายจะปล่อยสเปิร์ม (Sperm) หรือเซลล์อสุจิออกมาประมาณ 100 ล้านตัวโดยเฉลี่ย เพื่อให้มีสเปิร์ม 1 ตัวไปผสมกับไข่ได้สำเร็จ ปริมาณเฉลี่ยของน้ำอสุจิที่ปล่อยออกมาในแต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 1.5 - 6 มิลลิลิตร หรือประมาณ ½ - 1 ช้อนชา และผู้ชายแต่ละคนก็จะมีความเข้มข้นของสเปิร์มในน้ำอสุจิแตกต่างกันไป โดยผู้ชายในวัยเจริญพันธุ์และมีสุขภาพดี ควรจะมีสเปิร์มอย่างน้อย 15 ล้านตัวไปจนถึงมากกว่า 200 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรของน้ำอสุจิที่หลั่งออกมา 1 ครั้ง 

หากผู้ชายมีสเปิร์มต่ำกว่า 15 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร หรือมีสเปิร์มทั้งหมดน้อยกว่า 39 ล้านตัวในการหลั่งอสุจิหนึ่งครั้ง จะถือว่าเป็นภาวะจำนวนอสุจิน้อย (Low Sperm Count) นอกจากนี้ยังมีบางคนที่ไม่มีสเปิร์มในน้ำอสุจิเลย ภาวะนี้เรียกว่า Azoospermia หรือภาวะน้ำอสุจิบกพร่อง

กว่าจะได้ปฏิสนธิ

เหตุผลที่ต้องมีสเปิร์มหลายล้านตัวในการหลั่งอสุจิแต่ละครั้ง ทั้งๆ ที่ผู้ชนะมีได้เพียงหนึ่งเดียว นั่นก็เพราะว่า หนทางการไปพบกับไข่นั้นเป็นเส้นทางที่ยากลำบากมากสำหรับสเปิร์ม และสเปิร์มส่วนใหญ่จะตายในระหว่างการเดินทาง ความยากลำบากของสเปิร์มต้องเจอกว่าจะได้ปฏิสนธิมีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

  • สเปิร์มต้องเอาชนะสภาพแวดล้อมในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง

ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นกรดของช่องคลอด มูกที่ปากมดลูก รวมถึงภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้หญิงที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม ต่างก็ไม่เป็นมิตรต่อสเปิร์มทั้งสิ้น สเปิร์มส่วนใหญ่จึงพ่ายแพ้ที่ด่านนี้ มีเพียงส่วนน้อยที่ได้ไปต่อ

  • สเปิร์มต้องเดินทางอย่างยาวไกล

สเปิร์มต้องเดินทางไกลจากปากมดลูกไปจนถึงท่อนำไข่ซึ่งเป็นจุดหมายของการปฏิสนธิ ในระหว่างการเดินทางนี้ สเปิร์มจำนวนมากจะหลงทางหรือเสียชีวิต จากจำนวนสเปิร์มกว่าร้อยล้านตัว มีเพียงไม่กี่ร้อยตัวเท่านั้นที่สามารถเข้าไปใกล้ๆ บริเวณท่อนำไข่ที่มีไข่รออยู่ได้ (ปกติแล้วจะมีไข่รออยู่ในช่วงวันไข่ตกเท่านั้น)

  • สเปิร์มต้องแข่งขันกันเองตามกระบวนการคัดเลือกของธรรมชาติ

การมีสเปิร์มจำนวนมากจะช่วยเพิ่มโอกาสให้สเปิร์มที่แข็งแรงและเคลื่อนไหวได้ดีที่สุดไปถึงไข่ และได้ผสมกับไข่ ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีลูกที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี

  • สเปิร์มต้องร่วมมือกันเจาะชั้นป้องกันของไข่

เมื่อไปถึงท่อนำไข่แล้วก็ใช่ว่าสเปิร์มจะสามารถผสมกับไข่ได้ง่ายๆ เพราะไข่มีชั้นป้องกันที่เรียกว่า Zona Pellucida ซึ่งสเปิร์มจะต้องปล่อยเอนไซม์เพื่อทำลายชั้นนี้เพื่อผสมกับไข่ และมักต้องใช้สเปิร์มหลายตัวช่วยกันปล่อยเอนไซม์เพื่อให้ชั้นป้องกันของไข่อ่อนตัวลง ก่อนที่จะมีสเปิร์มหนึ่งตัวสามารถเจาะเข้าไปและผสมกับไข่ได้สำเร็จ

หลังจากขั้นตอนทั้งหมดนี้ ไข่ที่ถูกสเปิร์มผสมก็จะแบ่งตัวและเคลื่อนไปยังมดลูกเพื่อฝังตัว รอที่จะเติบโตเป็นทารกน้อยต่อไป ส่วนสเปิร์มที่ดั้นด้นมาจนถึงท่อนำไข่แต่ไม่ได้ปฏิสนธิ บางส่วนก็จะถูกร่างกายของผู้หญิงดูดซึมโปรตีนและสารอื่นๆ ไปใช้ และส่วนใหญ่ก็จะตายตามธรรมชาติภายใน 1-2 วัน แล้วถูกขับออกจากระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงผ่านตกขาวและประจำเดือน

นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามอสุจิปริมาณเท่าไหร่ถึงท้องได้ เพราะแม้จะมีเพียงสเปิร์มตัวเดียวไปผสมกับไข่ได้สำเร็จ แต่การมีสเปิร์มอย่างน้อย 15 ล้านตัวต่อการหลั่งน้ำอสุจิ 1 ครั้งนั้นสำคัญมาก เพราะเมื่อมีสเปิร์มในน้ำอสุจิน้อยลงก็จะลดโอกาสในการตั้งครรภ์ลง เนื่องจากมีสเปิร์มจำนวนน้อยยิ่งกว่าเดิมที่จะสามารถไปถึงท่อนำไข่และผสมกับไข่ได้

น้ำอสุจิเยอะเพราะอะไร

น้ำอสุจิเยอะ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

  • ระดับการดื่มน้ำ (Hydration Level): การดื่มน้ำอย่างเพียงพอช่วยทำให้ปริมาณน้ำอสุจิเพิ่มขึ้น และยังทำให้ระบบผลิตอสุจิทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ความถี่ในการหลั่งอสุจิ (Frequency of Ejaculation): หากคุณผู้ชายไม่ได้ช่วยตัวเองหรือมีเพศสัมพันธ์หลายวัน ร่างกายก็จะมีเวลามากขึ้นในการสะสมน้ำอสุจิ ทำให้ปริมาณอสุจิที่หลั่งในครั้งถัดไปมีปริมาณมากขึ้น
  • อาหารและโภชนาการ (Diet and Nutrition): การรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมและอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น จะส่งผลดีต่อการผลิตน้ำอสุจิด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสารอาหารจำพวกสังกะสี (Zinc) ซีลีเนียม (Selenium) และวิตามินซี (Vitamin C) ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพการเจริญพันธุ์และส่งผลให้ปริมาณน้ำอสุจิเยอะได้
  • อายุ (Age): ผู้ชายที่อายุน้อยมักผลิตน้ำอสุจิและสเปิร์มมากกว่าผู้ชายที่มีอายุมากขึ้น
  • ระดับฮอร์โมน (Hormonal Levels): ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) มีบทบาทสำคัญในการผลิตน้ำอสุจิ ผู้ชายที่มีระดับเทสโทสเตอโรนสูงจึงอาจมีน้ำอสุจิมากกว่า
  • พันธุกรรม (Genetics): ปัจจัยทางพันธุกรรมมีผลต่อการทำงานของถุงน้ำเชื้อ (Seminal Vesicles) และต่อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำอสุจิ ทำให้ผู้ชายแต่ละคนผลิตน้ำอสุจิเยอะ-น้อยต่างกัน
  • สุขภาพและไลฟ์สไตล์ (Health and Lifestyle): เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการใช้ยาเสพติด ผู้ชายที่มีสุขภาพดี ลดพฤติกรรมเสี่ยง และออกกำลังกายเป็นประจำอาจผลิตน้ำอสุจิในปริมาณมากขึ้น
  • ยาและอาหารเสริม (Medications and Supplements): เช่น ยาสำหรับสุขภาพต่อมลูกหมาก หรืออาหารเสริมที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสามารถในการเจริญพันธุ์ของผู้ชาย อาจช่วยเพิ่มการผลิตน้ำอสุจิได้เช่นกัน

น้ำอสุจิน้อยเพราะอะไร

น้ำอสุจิน้อย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

  • หลั่งบ่อยครั้ง (Frequent Ejaculation): หากผู้ชายช่วยตัวเองหรือมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ ร่างกายก็จะมีเวลาน้อยลงในการสร้างของเหลวและสารคัดหลั่งต่างๆ ที่จะกลายเป็นน้ำอสุจิ ทำให้ปริมาณน้ำอสุจิน้อยลงในการหลั่งแต่ละครั้ง อีกทั้งยังทำให้น้ำอสุจิใสและมีความหนืดน้อยลงชั่วคราวด้วย
  • ขาดน้ำ (Dehydration): การดื่มน้ำอย่างเพียงพอมีความสำคัญต่อการผลิตน้ำอสุจิ เมื่อร่างกายขาดน้ำ ปริมาณน้ำอสุจิจึงลดลงไปด้วย
  • อายุ (Age): เมื่ออายุมากขึ้น การผลิตน้ำอสุจิและสเปิร์มมักจะลดลง
  • ฮอร์โมนไม่สมดุล (Hormonal Imbalances): หากผู้ชายมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ หรือความไม่สมดุลของฮอร์โมนอื่น ๆ ก็อาจส่งผลให้การผลิตน้ำอสุจิน้อยลงได้
  • มีการอุดตันในทางเดินสืบพันธุ์ (Blockages in the Reproductive Tract): เช่น การอุดตันที่พบในถุงน้ำเชื้อ (Seminal Vesicles) ท่อน้ำอสุจิ (Vas Deferens) หรือ ต่อมลูกหมาก (Prostate) ทำให้ปริมาณน้ำอสุจิลดลง
  • ภาวะสุขภาพ (Health Conditions): เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง หรือการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำอสุจิลดลงได้
  • ยาบางชนิด (Medications) เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคซึมเศร้า อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำอสุจิลดลงได้
  • ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Factors) เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการใช้ยาเสพติด อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำอสุจิลดลงได้

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำอสุจิน้อยไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเป็นหมันหรือมีบุตรยาก แต่หากปริมาณน้ำอสุจิน้อยอย่างมีนัยสำคัญ อาจบ่งบอกถึงปัญหาทางสุขภาพที่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวิเคราะห์คุณภาพของสเปิร์มและรับการรักษาหากพบความผิดปกติ

น้ำอสุจิเยอะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์หรือเปล่า

น้ำอสุจิเยอะ เป็นสัญญาณว่าคุณผู้ชายดื่มน้ำอย่างเพียงพอและมีการทำงานของต่อมผลิตอสุจิที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากกว่าเสมอไป 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า น้ำอสุจิเยอะไม่ใช้ตัวชี้วัดความสามารถในการมีบุตรโดยตรง เพราะในการตรวจประเมินความสามารถในการมีบุตรของคุณผู้ชาย สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าปริมาณน้ำอสุจิคือคุณภาพของสเปิร์ม ซึ่งการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของสเปิร์ม (Sperm Analysis) จะต้องทำในห้องปฏิบัติการ โดยผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาจาก

  • จำนวนสเปิร์ม (Sperm Count): จำนวนสเปิร์มในน้ำอสุจิสำคัญมากต่อความสามารถในการมีบุตร ผู้ชายบางคนอาจผลิตน้ำอสุจิในปริมาณมาก แต่มีจำนวนสเปิร์มต่ำ ซึ่งทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง
  • การเคลื่อนที่ของสเปิร์ม (Sperm Motility): การเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพของสเปิร์มสำคัญอย่างมากต่อโอกาสในการปฏิสนธิ หากคุณผู้ชายมีน้ำอสุจิปริมาณมาก แต่การเคลื่อนไหวของสเปิร์มในน้ำอสุจิน้อย อาจไม่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
  • รูปร่างของสเปิร์ม (Sperm Morphology): รูปร่างและโครงสร้างของสเปิร์มก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน เพราะสเปิร์มที่มีรูปร่างผิดปกติอาจมีปัญหาในการผสมกับไข่ แม้จะมีปริมาณน้ำอสุจิมากก็ตาม

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า ปริมาณน้ำอสุจิที่อยู่ในช่วง 1.5 ถึง 6 มิลลิลิตรต่อการหลั่ง 1 ครั้งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ หากน้ำอสุจิน้อยเกินไป (Hypospermia) หรือมากเกินไป (Hyperspermia) อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างที่มีผลต่อความสามารถในการมีบุตรได้

ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าปริมาณน้ำอสุจิของคุณผู้ชายจะค่อนข้างน้อย แต่ตราบใดที่ยังอยู่ในค่าเฉลี่ยที่กำหนด อีกทั้งยังมีจำนวนสเปิร์ม การเคลื่อนไหว และรูปร่างของสเปิร์มอยู่ในเกณฑ์ปกติ โอกาสในการตั้งครรภ์ก็ยังคงดีอยู่ ไม่ได้บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่ต้องกังวลค่ะ

วิธีทำให้น้ำอสุจิเยอะ

วิธีทำให้น้ำอสุจิเยอะ เริ่มได้ง่ายๆ จากการดื่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ใส่ใจอาหารและโภชนาการมากขึ้น โดยเลือกรับประทานอาหารที่ดี โดยเฉพาะที่มีความสำคัญต่อสุขภาพการเจริญพันธุ์ รวมถึงลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อย การสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด

แม้การมีน้ำอสุจิเยอะอาจไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการมีบุตรโดยตรง แต่หากคุณผู้ชายใส่ใจรักษาสุขภาพโดยรวม และสุขภาพการเจริญพันธ์มากขึ้น ก็ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพของสเปิร์มในน้ำอสุจิไปด้วย ทำให้เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ค่ะ

อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่

คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่า สมองของลูกเริ่มพัฒนาตั้งแต่ในระหว่างตั้งครรภ์ โภชนาการที่คณแม่ได้รับจะถูกส่งต่อไปยังตัวเล็กที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งในระหว่างนี้ คุณแม่และทารกน้อยต้องการสารอาหารหลากหลายชนิดที่ช่วยให้สุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยสมบูรณ์ที่สุดตลอดการตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็น

  • ดีเอชเอ (DHA) คือกรดไขมันจำเป็นในตระกูลโอเมก้า 3 เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเซลล์สมอง และจอประสาทตา โดย WHO แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ และแม่ให้นมบุตรรับประทาน DHA ในปริมาณ 200 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของสมองลูก
  • โคลีน (Choline) ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทส่วนกลาง และ Cognitive Function ของทารก โดยปริมาณโคลีนที่แนะนำคือ 450 มิลลิกรัมต่อวัน
  • โฟเลต (Folate) หรือกรดโฟลิก (Folic Acid) ช่วยป้องกันการสร้างหลอดประสาทไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจทำให้ทารกพิการ และป้องกันภาวะซีดหรือโลหิตจางในคุณแม่ตั้งครรภ์ ปริมาณที่แนะนำคือ 0.6 มิลลิกรัมต่อวัน
  • แคลเซียม (Calcium) เพื่อการเจริญของระบบกระดูกของทารก โดยปริมาณแคลเซียมคนท้องที่เหมาะสมคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เหล็ก (Iron) เพื่อการพัฒนาของตัวอ่อนและรก รวมถึงการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงของคุณแม่ โดยคุณแม่ควรเสริมธาตุเหล็กในระหว่างการตั้งครรภ์ในปริมาณ 15-30 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง

และยังรวมถึงสารอาหารอื่นๆ อีกมากมายที่คุณแม่อาจจะไม่ได้รับประทานอย่างครบถ้วนจากมื้ออาหารปกติ การรับประทานนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จึงเป็นทางเลือกที่ดีอย่างยิ่งในการเสริมสารอาหารให้กับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และอย่าลืมเลือกนมที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยนะคะ

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama