นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ควรรู้! รกเกาะต่ำห้ามกินอะไร วิธีปฏิบัติตัวเมื่อรกเกาะต่ำ

Enfa สรุปให้

  • รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่เกิดระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งการเกาะของรกด้วย
  • ภาวะรกเกาะต่ำในคุณแม่บางคนสามารถหายเองได้เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ทั้งนี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์เมื่อตรวจพบภาวะนี้
  • รกเกาะต่ำอาจต้องผ่าคลอดประมาณช่วงอายุครรภ์ 36-38 สัปดาห์ คือเมื่อปอดทารกเริ่มสมบูรณ์ดีแล้ว

เลือกอ่านตามหัวข้อ

รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์เมื่อรกฝังตัวผิดปกติในส่วนล่างของมดลูก คลุมปากมดลูกส่วนในบางส่วนหรือทั้งหมด ทำให้คุณแม่และทารกมีความเสี่ยง ดังนั้นการฝากครรภ์และตรวจประเมินความเสี่ยงเป็นประจำ รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจึงสำคัญมาก วันนี้ Enfa จะพาคุณแม่ไปรู้จักกันว่า ภาวะรกเกาะต่ำคืออะไร รกเกาะต่ำห้ามกินอะไร ตลอดจนวิธีปฏิบัติตนตัวเมื่อรกเกาะต่ำกันค่ะ

รกเกาะต่ำห้ามกินอะไร

แม้ว่าอาหารไม่ใช่สาเหตุของรกเกาะต่ำและไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลโดยตรง แต่คุณแม่ที่มีภาวกรกเกาะต่ำรวมถึงคุณแม่ทุกคนควรรู้ไว้ว่าอาหารบางชนิดไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำห้ามกินอะไร เนื่องจากคุณแม่ที่มีภาวะนี้ควรเลี่ยงอาหารที่มีส่วนกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว ได้แก่

  • อาหารรสจัด รสเผ็ดร้อน รวมถึงสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ขิงแก่
  • อาหารที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ส่วนอาหารที่คุณแม่ทุกคนควรรับประทาน คือ อาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน อาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ช่วยบำรุงร่างกายและป้องกันภาวะเลือดจาง

รกเกาะต่ำอันตรายไหม

รกเกาะต่ำแบ่งเป็น 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีความอันตรายและมีวิธีดูแลต่างกัน คือ  

  • Low-Lying รกจะอยู่บริเวณด้านล่างใกล้กับขอบของปากมดลูก จะเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นถึงช่วงกลางของการตั้งครรภ์ แต่ยังคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ
  • Marginal รกจะอยู่ที่บริเวณส่วนล่างของมดลูก และจะดันถูกปากมดลูก อาจทำให้เสียเลือดมากขณะคลอด มีโอกาสคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ หรืออาจต้องผ่าคลอด
  • Partial รกจะปิดขวางหรือคลุมที่บริเวณปากมดลูกบางส่วน มักจะต้องผ่าคลอด
  • Complete รกจะปิดหรือคลุมที่บริเวณปากมดลูกทั้งหมด ทำให้คลอดทางช่องคลอดตามปกติไม่ได้ จึงต้องผ่าคลอด แต่อาจทำให้เสียเลือดมาก รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด

ความอันตรายของภาวะรกเกาะต่ำจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะ หากรกปิดกั้นปากมดลูกทั้งหมดหรือบางส่วน คุณแม่อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการตกเลือดระหว่างการตั้งครรภ์หรือขณะคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดและจำเป็นต้องทำการผ่าคลอด อย่างไรก็ตาม หากได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ และได้รับคำแนะนำเรื่องวิธีปฏิบัติตัวเมื่อรกเกาะต่ำอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ได้

รกเกาะต่ำคลอดประมาณกี่สัปดาห์

คุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำมักมีความจำเป็นต้องผ่าคลอดก่อนกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงในการตกเลือด โดยหากคุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำที่ไม่รุนแรงมากหรือพบในช่วงอายุครรภ์น้อย แพทย์จะตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 32-34 สัปดาห์ เพื่อยืนยันตำแหน่งรกว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งรก ทำให้ยังมีความเสี่ยงเลือดออกหรือคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะให้คุณแม่พักนอนนิ่งๆ งดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังเกตอาการว่ามีเลือดออกหรือไม่

หากพบว่ามีอาการเลือดออกในช่วงอายุครรภ์ดังกล่าว แพทย์อาจต้องมีการฉีดยากระตุ้นความพร้อมของปอดให้ทารก พร้อมทั้งแนะนำให้คุณแม่นอนพักมากๆ เคลื่อนไหวให้น้อยลง รับประทานอาหารมีกากใยเพื่อให้ถ่ายง่าย และกินอาหารที่ช่วยบำรุงเลือด เช่น ไข่แดง ตับ เพราะยังไม่ถึงกำหนดคลอด จึงจำเป็นต้องยืดระยะเวลาตั้งครรภ์ให้มากที่สุดและเพื่อให้ปอดทารกสมบูรณ์มากขึ้น

แต่หากคุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำในช่วงอายุครรภ์มากแล้วหรือใกล้ครบกำหนดคลอด คือ ประมาณ 37-38 สัปดาห์ แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดทำคลอด เพราะระยะนี้ปอดทารกเริ่มสมบูรณ์ดีแล้ว และเพื่อป้องกันการเสียเลือดโดยไม่จำเป็น โดยยังถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด หากปล่อยให้กระบวนการคลอดดำเนินต่อไปจะทำให้คุณแม่ตกเลือดจนเสียชีวิตได้

โดยมีหมายเหตุว่า แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดทำคลอดเมื่อคุณแม่มีเลือดออกมากจนต้องให้เลือดทดแทน, อายุครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว (ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป), ทารกอยู่ในภาวะอันตราย เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ หรือทารกเสียชีวิตแล้วในครรภ์ (แม้ทารกจะเสียชีวิตแล้วก็ต้องผ่าท้องคลอดอยู่ดี เพื่อไม่ให้คุณแม่เกิดอันตราย เช่น เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติมาก


วิธีปฏิบัติตัวเมื่อรกเกาะต่ำ

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อรกเกาะต่ำ หลังจากได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีรกเกาะต่ำ มีดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ งดการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
  • หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก ยกของหนัก
  • หลีกเลี่ยงการเดินหรือยืนนาน ๆ
  • งดการมีเพศสัมพันธ์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยช่วยในการขับถ่าย อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงช่วยบำรุงโลหิต เช่น ไข่แดง ตับ ยาบำรุงเลือดตามแพทย์สั่ง
  • งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สังเกตอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเข้ารับการตรวจติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ

ท่านอนคนท้องรกต่ำ

นอกจากอาหารและการดูแลตนเองระหว่างวันแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือท่านอนคนท้องรกเกาะต่ำ โดยคนท้องรกเกาะต่ำควรใช้ท่านอนตะแคงซ้าย ใช้หมอนรองใต้ท้องและระหว่างขาเพื่อลดแรงกดทับ ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น และลดอาการปวดหลัง และควรหลีกเลี่ยงการนอนหงายเป็นเวลานาน
รกเกาะต่ำเดินทางได้ไหม

หากคุณแม่ท้องที่มีรกเกาะต่ำจำเป็นต้องเดินทาง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางทุกครั้ง เพราะโดยปกติแล้วควรเลี่ยงการเดินทางไกลหรือเดินทางเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 เพราะการเดินทางอาจกระตุ้นให้เกิดอาการเลือดออกได้ หากแพทย์อนุญาตให้เดินทางได้ คุณแม่ควรพักเป็นระยะระหว่างเดินทาง นั่งในท่าสบาย ไม่กดทับท้อง

ประสบการณ์รกเกาะต่ำที่คุณแม่ควรรู้

คุณแม่ทุกคนควรรู้ไว้ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นคุณแม่แต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกัน สำหรับคุณแม่ที่มีรกเกาะต่ำนั้น ในบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย และรกอาจเคลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งปกติได้เองเมื่อครรภ์แก่ขึ้น  บางคนอาจมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แต่เมื่อทำตามวิธีปฏิบัติตัวเมื่อรกเกาะต่ำก็สามารถรักษาได้ สิ่งสำคัญคือควรผ่อนคลายความกังวลใจและความเครียด ดูแลตัวเองตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ก็จะสามารถคลอดลูกได้อย่างปลอดภัยทั้งแม่และลูก

อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่

โภชนาการที่ดีสำหรับคุณแม่และลูกน้อยเริ่มได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ นอกจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน รับประทานอาหารหลากหลาย งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์แล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ยังสามารถเสริมสร้างโภชนาการเพิ่มเติมจากการดื่มนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรเพื่อให้ได้รับโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์ที่ครบถ้วน   

ไขข้อข้องใจเรื่องรกเกาะต่ำห้ามกินอะไรกับ Enfa Smart Club

  รกเกาะต่ำ อายุครรภ์น้อย อันตรายไหม

หากตรวจพบภาวะรกเกาะต่ำตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ยังถือว่าไม่มีความอันตรายมากนัก ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่รกเกาะด้วยเช่นกัน โดยบางคนแม้ตรวจพบรกเกาะต่ำแต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น รกอาจเคลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ควรได้รับการตรวจติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ

  รกเกาะต่ำ แต่ไม่มีเลือดออก อันตรายไหม

ภาวะรกเกาะต่ำในบางคนอาจไม่พบความผิดปกติใด ๆ เลย และไม่มีอาการเลือดออก แต่หากเคยตรวจพบรกเกาะต่ำ ควรติดตามอาการใกล้ชิดจนกว่าแพทย์จะวินิจฉัยว่าไม่มีอันตราย

  รกเกาะต่ำกินน้ำมะพร้าวได้ไหม

คนท้องแม้ว่าจะไม่มีรกเกาะต่ำก็สามารถกินน้ำมะพร้าวได้ แต่ไม่ควรกินแทนน้ำ และไม่ควรกินมากเกินไป เพราะอาจเกิดภาวะเบาหวานได้

  สัญญาณรกเกาะต่ำ 20 สัปดาห์

มีเลือดไหลออกมาจากทางช่องคลอดเล็กน้อยหรือปริมาณมาก โดยเลือดอาจหยุดไหลช่วงหนึ่ง แล้วกลับมาไหลอีกในช่วง 2-3 วันต่อมา หรือในช่วงสัปดาห์ต่อมา ส่วนมากมักไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ แต่บางรายอาจมีอาการปวดเล็กน้อย รู้สึกเจ็บแปลบ หรือมีการบีบตัวของมดลูกร่วมด้วย

 

  • ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ความผิดปกติของรก (Placental Abnormalities). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/19385/. [14 ตุลาคม 2567].
  • ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ภาวะตกเลือดก่อนคลอด Antepartum Hemorrhage. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/antepartum-hemorrhage/. [14 ตุลาคม 2567].
  • วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. วิจัยเรื่องการพยาบาลสตรีตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกก่อนคลอดจากภาวะรกเกาะต่ำ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://ojs.lib.buu.ac.th/index.php/nursing/article/view/4681. [14 ตุลาคม 2567].
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. การพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ 2  (เล่ม 1). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.nur.psu.ac.th/nur/file_web/ตำราการพยาบาลมารดา%20ทารก%20และก…. [14 ตุลาคม 2567].
  • Medthai. รกเกาะต่ำ สาเหตุ อันตราย และวิธีการดูแลภาวะรกเกาะต่ำ ฯลฯ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/รกเกาะต่ำ/. [14 ตุลาคม 2567].
  • American Pregnancy Association. Placenta Previa. [Online] Accessed https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications…. [14 October 2024].
     

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama