นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ฝากครรภ์ช้าสุดกี่เดือน ควรฝากครรภ์ตอนไหน ฝากครรภ์ช้าเป็นไรไหม

Enfa สรุปให้

  • ควรเริ่มฝากครรภ์ภายในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12 สัปดาห์แรก และสามารถเริ่มฝากครรภ์ได้ทันทีที่คุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์
  • ฝากครรภ์ช้า ทำให้ความเสี่ยงของสุขภาพแม่และทารกสูงขึ้น เช่น ทำให้พลาดการตรวจพบสัญญาณเตือนของโรคที่ควรตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และคุณแม่ไม่ได้รับคำแนะนำในการดูแลครรภ์ และโภชนาการที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ในระยะแรก เป็นต้น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

การฝากครรภ์เป็นสิ่งแรกๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำหลังจากมีการตรวจครรภ์แล้วพบการตั้งครรภ์ เพราะในการนัดหมายแพทย์แต่ละครั้งตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น คุณแม่จะได้รับการตรวจสุขภาพ ติดตามพัฒนาการทารก รวมถึงประเมินความเสี่ยงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะช่วยให้การตั้งครรภ์และคลอดลูกน้อยผ่านไปอย่างราบรื่น คุณแม่มือใหม่บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่าควรไปฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่อไหร่ ช่วงเวลาไหนเหมาะสมที่สุดสำหรับการฝากครรภ์ Enfa หาข้อมูลมาให้แล้วค่ะ

ฝากครรภ์ช้าสุดกี่เดือน

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเริ่มฝากครรภ์ภายในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12 สัปดาห์แรก การฝากครรภ์และเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจครรภ์ในระยะแรกมีความสำคัญอย่างมากในการติดตามสุขภาพของทั้งแม่และทารก เพื่อให้คุณหมอได้ประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และวางแผนการดูแลคุณแม่และทารกในช่วงเวลาที่เหลือของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่ยังไม่ได้เริ่มฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์  ควรรีบเลือกสถานพยาบาลที่สะดวก ไปพบแพทย์ และเริ่มการดูแลทันที และจากนั้น คุณแม่ก็ควรไปตรวจครรภ์ตามนัดเป็นประจำตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ 

คุณแม่บางคนอาจไม่มีอาการคนท้องที่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ตัวว่าท้องภายใน 12 สัปดาห์แรก แต่การไปฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถึงแม้คุณแม่จะเริ่มฝากครรภ์หลังไตรมาสแรกก็ยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อย ซึ่งหลังจากตรวจคัดกรองต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติแล้ว คุณหมอก็จะนัดตรวจครรภ์เป็นประจำไปจนถึงวันคลอด สรุปคือ ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มฝากครรภ์ และการเริ่มฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อย

ควรฝากครรภ์ตอนไหน

คุณแม่มือใหม่อาจไม่แน่ใจว่าควรไปฝากครรภ์ตอนไหน ฝากเร็วไปจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า จริงๆ แล้วการเริ่มฝากครรภ์สามารถทำได้ทันทีที่คุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่มักจะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์เร็วที่สุดประมาณ 4 สัปดาห์ - 6 สัปดาห์แรก เพราะสังเกตได้จากอาการประจำเดือนขาด 1 เดือน และที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด ซึ่งหลังจากที่ตรวจพบการตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่สามารถเริ่มฝากครรภ์ได้ทันทีค่ะ

ฝากครรภ์ครั้งแรกกี่สัปดาห์

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มฝากครรภ์คือประมาณ 8 สัปดาห์ - 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ถือว่าเร็วหรือช้าเกินไป ในช่วงนี้ คุณหมอจะทำการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น ตรวจเลือด ตรวจร่างกาย และมักจะทำอัลตราซาวด์ครั้งแรกเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ ตรวจการเต้นของหัวใจทารก ตรวจการตั้งครรภ์แฝด และยืนยันวันกำหนดคลอด การเริ่มฝากครรภ์ในช่วงนี้ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการ รวมถึงวางแผนการดูแลครรภ์ในช่วงที่เหลือ

แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จำเป็นต้องรอจนถึง 8 สัปดาห์เสมอไป เพราะการฝากครรภ์สามารถทำได้ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีความกังวลเรื่องสุขภาพหรือประวัติการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง ซึ่งในกรณีนี้ยิ่งไปตรวจเร็วขึ้นยิ่งดีต่อคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์ค่ะ

ฝากครรภ์ช้าเป็นไรไหม

หากคุณแม่ฝากครรภ์ช้า ความเสี่ยงของครรภ์ก็จะสูงขึ้นค่ะ 

  • การฝากครรภ์ช้า อาจทำให้พลาดการตรวจพบปัญหาหรือสัญญาณเตือนของโรคที่ควรตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น ปัญหาการเจริญเติบโตของทารก เป็นต้น 
  • คุณแม่อาจไม่ได้คำแนะนำทั่วไปในการดูแลครรภ์ และโภชนาการที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ในระยะแรก เช่น กรดโฟลิก ซึ่งเป็นสารอาหารเสริมที่คุณหมอสั่งจ่ายให้หลังมีการฝากครรภ์ 
  • คุณแม่อาจพลาดการตรวจบางอย่างที่ทำได้เฉพาะในช่วงไตรมาสแรกเท่านั้น เช่น การตรวจคัดกรอง Down syndrome บางรูปแบบอาจไม่สามารถทำได้หลัง 13 สัปดาห์ เป็นต้น 

ซึ่งเมื่อพลาดสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว คุณหมอก็จะเป็นผู้ให้คำแนะนำว่าควรชดเชยการตรวจที่ผ่านมาอย่างไร และเริ่มวางแผนจัดการกับปัญหาสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์หลังมีการตรวจพบปัญหาค่ะ 

หากคุณแม่เริ่มฝากครรภ์ล่าช้า เช่น เริ่มฝากครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 (13-26 สัปดาห์) คุณหมอจะเริ่มจากการให้คุณแม่เริ่มตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทันที รวมถึงการตรวจเลือดพ่อและแม่ ตรวจปัสสาวะ และอาจจะทำอัลตราซาวด์ตรวจสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารก เพื่อระบุปัญหาที่อาจไม่ได้ตรวจพบในช่วงแรก 

นอกจากนี้ การอัลตราซาวด์อย่างละเอียดมักจะทำในช่วง 18-22 สัปดาห์ เพื่อตรวจพัฒนาการของทารกและดูว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ หากคุณแม่ฝากครรภ์ล่าช้ากว่า 22 สัปดาห์ แพทย์อาจให้ทำอัลตราซาวด์ก่อนเพื่อให้ทันกับการติดตามพัฒนาการทารกที่คุณแม่พลาดไป

แม้จะเริ่มฝากครรภ์ช้า แต่การฝากครรภ์ก็ยังคงมีประโยชน์และมีความสำคัญในการติดตามพัฒนาการของทารกและสุขภาพของคุณแม่ การเริ่มฝากครรภ์ในช่วงไตรมาส 2 ยังดีกว่าการไม่ได้ฝากครรภ์เลย

ฝากครรภ์ได้ถึงกี่โมง

หากคุณแม่ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐ ควรไปตามวันเวลาราชการ ไปช่วงเช้าจะดีที่สุด หากคุณแม่ฝากครรภ์ที่คลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชน ควรโทรไปตรวจสอบเวลาของสถานพยาบาลนั้นๆ และนัดหมายแพทย์ล่วงหน้าค่ะ 

ฝากครรภ์ตอน 3 เดือน

คุณแม่สามารถไปฝากครรภ์ครั้งแรกตอนท้อง 3 เดือน (ประมาณ 9-13 สัปดาห์) ได้เลยค่ะ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่แนะนำสำหรับการเริ่มฝากครรภ์ เพราะยังอยู่ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ การเริ่มฝากครรภ์ตอน 3 เดือนไม่ถือว่าช้า ยังถือว่าเร็วพอที่จะช่วยให้การติดตามสุขภาพของคุณแม่และทารกเป็นไปอย่างเหมาะสม การตรวจและคัดกรองที่สำคัญในช่วงต้นยังสามารถทำได้ และคุณหมอจะสามารถให้การดูแลที่จำเป็นทั้งหมดได้ค่ะ

ฝากครรภ์ตอน 4 เดือน

คุณแม่สามารถไปฝากครรภ์ครั้งแรกตอนท้อง 4 เดือน (ประมาณ 14-17 สัปดาห์) ได้ค่ะ แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ช้ากว่าช่วงเวลาที่แนะนำไว้คือภายในไตรมาสแรก แต่การเริ่มฝากครรภ์ก็ยังจำเป็นอยู่ คุณหมอจะประเมินสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อย และให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป 

การเริ่มฝากครรภ์ตอนท้อง 4 เดือนอาจทำให้คุณแม่พลาดการตรวจคัดกรองทางพันธุกรรมในช่วงไตรมาสแรกไป เช่น ตรวจความหนาของผิวหนังหลังคอของทารกในครรภ์ (Nuchal Translucency, NT) ซึ่งใช้ในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ซึ่งคุณหมออาจแนะนำการตรวจทางเลือก เช่น การตรวจแบบ Quadruple  Test หรือการตรวจ NIPT ซึ่งทั้ง 2 แบบเป็นการตรวจจากเลือดของคุณแม่และมีความแม่นยำสูงมาก และไม่มีความเสี่ยงต่อทารก ซึ่งปลอดภัยกว่าการเจาะน้ำคร่ำ หรือการตรวจชิ้นเนื้อรก (CVS)

ฝากท้องตอน 5 เดือน

คุณแม่ยังสามารถไปฝากครรภ์ครั้งแรกได้ตอนท้อง 5 เดือน (ประมาณ 18-22 สัปดาห์) แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ช้ากว่าช่วงที่แนะนำคือภายในไตรมาสแรก แต่ก็ยังควรเริ่มฝากครรภ์ทันที โดยคุณแม่อาจพลาดการตรวจคัดกรองบางอย่างในช่วงต้น แต่ก็ยังสามารถทำการตรวจและเริ่มต้นการดูแลที่สำคัญหลายอย่างได้ รวมถึงยังสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปลอดภัย

คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจสุขภาพของทารกและคุณแม่อย่างเต็มรูปแบบเพื่อชดเชยการตรวจที่คุณแม่พลาดไป ซึ่งรวมถึงการตรวจทางพันธุกรรมด้วย และในช่วง 20 สัปดาห์ มักมีการอัลตราซาวด์อย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบการเจริญเติบโตของทารก การพัฒนาของอวัยวะต่างๆ และตำแหน่งของรก ซึ่งช่วยตรวจหาความผิดปกติของทารกได้

ฝากครรภ์ตอน 6 เดือน

คุณแม่ยังสามารถไปฝากครรภ์ครั้งแรกตอนท้อง 6 เดือน (ประมาณ 23-27 สัปดาห์) ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มฝากครรภ์ แต่ฝากครรภ์ตอน 6 เดือนยังไม่สายเกินไป แม้ว่าคุณแม่จะพลาดการตรวจบางอย่างไป เช่น การตรวจคัดกรองโครโมโซม และการตรวจคัดกรองในไตรมาสแรก แต่ยังมีการตรวจสำคัญหลายอย่างที่สามารถทำได้ในช่วงนี้ 

คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจสุขภาพของทารกและคุณแม่อย่างเต็มรูปแบบ ตรวจอัลตราซาวด์อย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบพัฒนาการของทารก ประเมินความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ รวมถึงตรวจความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด หารือเกี่ยวกับแผนการคลอด และวิธีการคลอดที่เป็นไปได้

ฝากครรภ์ตอน 8 เดือน

คุณแม่ยังสามารถไปฝากครรภ์ครั้งแรกได้ตอนท้อง 8 เดือน (ประมาณ 32-35 สัปดาห์) แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ล่าช้าอย่างมากในการเริ่มฝากครรภ์ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีการฝากครรภ์เลย

เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ตอน 8 เดือน คุณหมอจะให้ตรวจร่างกายอย่างละเอียด เช่น ตรวจความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะและเลือดเพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจาง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ และการติดเชื้อ ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อตรวจสอบการเจริญเติบโตของทารก ตำแหน่งของทารก (เช่น ศีรษะลงหรือนั่งท่าก้น) และตำแหน่งของรก เพื่อประเมินความพร้อมของทารกสำหรับการคลอดและดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ คุณหมออาจแนะนำวัคซีนที่จำเป็นที่คุณแม่ไม่ได้รับมาก่อนหน้า รวมถึงหารือเกี่ยวกับวิธีการคลอด และเนื่องจากการตั้งครรภ์อยู่ในช่วงสุดท้าย คุณหมออาจนัดตรวจครรภ์ทุกสัปดาห์หรือทุก 2 สัปดาห์ เพื่อติดตามสุขภาพของทารกและเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด

อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่

นอกจากจะฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้ครรภ์ของคุณแม่อยู่ในการดูแลของแพทย์โดยเร็วที่สุดแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญต่ออนาคตของลูกอย่างมากก็คือ โภชนาการ ที่คุณแม่มอบให้ลูกน้อยตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าตั้งครรภ์ไปจนถึง 1,000 วันแรกของชีวิตลูก ควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของเค้า ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่และลุกน้อยต้องการสารอาหารหลายชนิดเพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์รอบด้าน เช่น DHA, โคลีน, โฟเลต, แคลเซียม, เหล็ก และสารอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหากคุณแม่ไม่มั่นใจว่าจะได้รับสารอาหารครบถ้วนจากการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน ก็สามารถพิจารณานมบำรุงครรภ์เป็นหนึ่งในทางเลือกโภชนาการในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตรได้ค่ะ

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama