Enfa สรุปให้
การตั้งครรภ์จะมีระยะเวลาอยู่ทั้งหมด 9 เดือน หรือ 40 สัปดาห์ และในช่วง 9 เดือนนี้ ก็จะแบ่งออกเป็นไตรมาส ได้ 3 ไตรมาส
ไตรมาสแรก จะเริ่มนับตั้งแต่เดือนที่ 1 จนถึงเดือนที่ 3 หรืออยู่ระหว่างช่วงอายุครรภ์ 1-13 สัปดาห์
การท้องไตรมาสแรกนั้น คุณแม่จะเริ่มมีอาการคนท้องแสดงออกมา อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะพบกับอาการคนท้องตั้งแต่ไตรมาสแรก เนื่องจากอาการคนท้องในคุณแม่หลาย ๆ คนก็ไม่ได้แสดงออกมาในช่วงไตรมาสแรกเลย มาเริ่มรู้ตัวอีกทีก็เข้าไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว
เลือกอ่านตามหัวข้อ
การตั้งครรภ์จะแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ในแต่ละไตรมาส ทั้งแม่และทารกในครรภ์ก็จะมีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ก่อนที่เราจะไปพูดถึงไตรมาสต่าง ๆ นั้น Enfa จะพาคุณแม่มาเริ่มต้นกันที่การตั้งครรภ์ไตรมาสแรกก่อน มาดูกันว่าในไตรมาสแรกนี้ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง พัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นอย่างไร และคุณแม่มีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษหรือเปล่า
การตั้งครรภ์จะมีระยะเวลาอยู่ทั้งหมด 9 เดือน หรือ 40 สัปดาห์ และในช่วง 9 เดือนนี้ ก็จะแบ่งออกเป็นไตรมาส ได้ 3 ไตรมาส
โดยอายุครรภ์แต่ละไตรมาส จะแบ่งได้ ดังนี้
ไตรมาสแรก
ตั้งครรภ์เดือนที่ 1 อายุครรภ์ 1-4 สัปดาห์
ตั้งครรภ์เดือนที่ 2 อายุครรภ์ 5-8 สัปดาห์
ตั้งครรภ์เดือนที่ 3 อายุครรภ์ 9-13 สัปดาห์
ไตรมาสสอง
ตั้งครรภ์เดือนที่ 4 อายุครรภ์ 14-17 สัปดาห์
ตั้งครรภ์เดือนที่ 5 อายุครรภ์ 18-21 สัปดาห์
ตั้งครรภ์เดือนที่ 6 อายุครรภ์ 22-26 สัปดาห์
ไตรมาสสาม
ตั้งครรภ์เดือนที่ 7 อายุครรภ์ 27-30 สัปดาห์
ตั้งครรภ์เดือนที่ 8 อายุครรภ์ 31-35 สัปดาห์
ตั้งครรภ์เดือนที่ 9 อายุครรภ์ 36-40 สัปดาห์
การท้องไตรมาสแรกนั้น ก็คือระยะ 3 เดือนแรกที่คุณแม่ตรวจพบการตั้งครรภ์ หรือเริ่มมีอาการคนท้องแสดงออกมา
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะพบกับอาการคนท้องตั้งแต่ไตรมาสแรก เนื่องจากอาการคนท้องในคุณแม่หลาย ๆ คนก็ไม่ได้แสดงออกมาในช่วงไตรมาสแรกเลย มาเริ่มรู้ตัวอีกทีก็เข้าไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่จะผันผวนและพุ่งสูงขึ้น ตลอดจนการไหลเวียนโลหิตก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ส่งผลให้เกิด อาการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกต่าง ๆ ที่คุณแม่อาจพบได้ ดังนี้
อาการเจ็บหรือคัดตึงเต้านม
วิงเวียนศีรษะ
อาเจียน
อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
ปัสสาวะบ่อย
อ่อนเพลีย
ไวต่อรสชาติของอาหาร หรือรสสัมผัสอาหารเปลี่ยนไป
แน่นหน้าอกบ่อย
ท้องผูกบ่อย
มีเลือดออกจาง ๆ ซึ่งอาจเป็นเลือดล้างหน้าเด็ก หรือเป็นเลือดที่เกิดจากการแท้ง
คุณแม่มือใหม่อาจจะสงสัยกันว่าการเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 1 นั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าหากพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปร่างล่ะก็ ต้องบอกว่าในช่วง 1-2 เดือนแรกนั้น แทบไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิมเลยค่ะ หน้าท้องก็ไม่ได้นูนใหญ่ ขนาดตัวก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น น้ำหนักก็ยังเท่าเดิม อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงเล็กน้อยตามปกติ
แต่พอเข้าเดือนที่ 3 คุณแม่บางคนอาจจะพบว่าหน้าท้องมีขนาดนูนขึ้นมาเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับนูนมากจนมองเห็นได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม มีคุณแม่หลาย ๆ คนที่ตลอดไตรมาสแรก ไม่พบอาการหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย ไม่แพ้ท้อง ไม่อ่อนเพลีย รูปร่างเท่าเดิม หน้าท้องไม่ขยายใหญ่ ไม่นูนขึ้น หรือคุณแม่บางคนยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์อยู่
ในช่วงไตรมาสแรกนั้น จะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์เปลี่ยนรูปร่างจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว ไปเป็นทารกในครรภ์ที่มีรูปร่างสมบูรณ์ และค่อย ๆ เริ่มสร้างอวัยวะและระบบที่สำคัญทั้งหมดของร่างกาย
โดยพัฒนาการที่สำคัญของทารกในครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 1 มีดังนี้
ไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว จะแปรสภาพกลายเป็นกลุ่มเซลล์และฝังตัวในมดลูก พร้อมกับเริ่มกระบวนการสร้างอวัยวะ และระบบต่าง ๆ รวมถึงเริ่มมีการสร้างรก สายสะดือ และถุงน้ำคร่ำ
ระบบสมองจะพัฒนาจากหลอดประสาท ไปเป็นสมองและไขสันหลัง การทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อเริ่มเชื่อมต่อถึงกัน
เริ่มมีการสร้างหัวใจ และหัวใจเริ่มเต้น โดยสามารถได้ยินเสียงเต้นของหัวใจทารกผ่านการอัลตราซาวนด์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ขึ้นไป
เริ่มสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง
ทารกเริ่มพัฒนาระบบย่อยอาหาร มีการสร้างลำไส้และไตขึ้น
เริ่มพัฒนาระบบหายใจ โดยเริ่มสร้างปอดและเซลล์สำคัญต่อระบบหายใจขึ้น
เริ่มสร้างกระดูก แต่กระดูกในไตรมาสแรกนี้จะเป็นกระดูกอ่อน ๆ
รูปร่างและอวัยวะต่าง ๆ เริ่มชัดเจนขึ้น มีแขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า หู ตา จมูก ปาก
เริ่มสร้างลิ้นและหน่อฟัน
เริ่มสร้างอวัยวะเพศชายหรืออวัยวะเพศหญิง แต่จะยังไม่เห็นชัดเจนนัก
ช่วงใกล้จะสิ้นสุดไตรมาสแรก ทารกจะเริ่มมีเล็บเป็นของตัวเอง
เมื่อจบไตรมาสแรก ทารกจะมีขนาดราว ๆ 2 นิ้วครึ่ง หรือ 3 นิ้ว
โดยระยะไตรมาสแรกนี้ถือเป็นระยะที่คุณแม่ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะการกระทบกระเทือน หรืออาการบาดเจ็บต่าง ๆ อาจเสี่ยงต่อการแท้งได้ค่ะ
ในไตรมาสแรก คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเสริมพัฒนาการของทารกได้ง่าย ๆ เพียงใส่ใจกับการดูแลสุขภาพของคุณแม่ให้ดี ดังนี้
ไปฝากครรภ์ เพื่อทำการตรวจครรภ์โดยละเอียด หาความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ และรับคำแนะนำในการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ และควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
เลิกสูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย รวมถึงเริ่มกินวิตามินบำรุงครรภ์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารสำคัญที่ดีต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ได้แก่ กรดโฟลิก แคลเซียม ไอโอดีน และธาตุเหล็ก
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงต่อแม่และทารกในครรภ์ แต่ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนว่าสามารถออกกำลังกายแบบใดได้บ้างที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคุณแม่ และไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์
พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย เพราะความเครียดอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การแท้ง หรืออันตรายอื่น ๆ
ในระยะไตรมาสแรก คุณแม่จำเป็นจะต้องใส่ใจกับสารอาหารสำคัญ เพราะถ้าหากขาดไปอาจมีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ โดยกลุ่มสาอาหารสำคัญสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่
1. อาหารที่มี DHA สูง
ดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid) คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อีกด้วย อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น คุณแม่ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง หรือดื่มนมสูตรเสริมดีเอชเอก็ดีเช่นกันค่ะ
2. อาหารที่มีโปรตีนสูง
โปรตีน เป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่ ตัวอย่างอาหารที่มีโปรตีนสูง เหมาะสำหรับคนท้อง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วต่าง ๆ ประมาณ 75 – 110 กรัมต่อวัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของคุณแม่ และไตรมาสของการตั้งครรภ์ โดยคำนวณง่าย ๆ คือในหนึ่งมื้ออาหาร ควรมีโปรตีนประมาณ 30 - 40% ของอาหารที่กินนั่นเอง
3. อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
อาหารที่มีธาตุเหล็ก ถือเป็น อาหารคนท้องที่สำคัญอีกหนึ่งชนิด เพราะสามารถช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ดังนั้น คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กไม่ต่ำกว่า 27 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสามารถหาได้จากการกินอาหารประเภท เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
4. อาหารที่มีโฟเลตสูง
กรดโฟลิก หรือโฟเลต ก็เป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรมองข้าม เพราะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรได้รับโฟเลตอย่างน้อย 600-800 มิลลิกรัมต่อวัน จากการกินอาหารประเภท ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
5. อาหารที่มีแคลเซียมสูง
อย่างที่รู้กันว่า แคลเซียมนั้นมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง โดยเฉพาะในช่วงเวลาการเจริญเติบโตของลูกน้อย ยิ่งทำให้คุณแม่ต้องบำรุงร่างกายเพิ่มเติมพร้อมเสริมแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดยปกติ ผู้หญิงตั้งครรภ์มักจะต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งหาได้จากการกินอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
6. อาหารที่มีไอโอดีนสูง
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรควรได้รับไอโอดีนจำนวน 250 ไมโครกรัมต่อวัน ไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา
7. อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต
การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ย่อยง่าย และให้พลังงานสูง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนระหว่างตั้งครรภ์ได้
8. อาหารที่มีโคลีนอย่างเพียงพอ
โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับจากการกินอาหารในแต่ละวัน เพราะโคลีนมีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ การกินอาหารที่ให้สารโคลีนอย่างเพียงพอ หรือประมาณ 450 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ได้
9. อาหารที่มีไฟเบอร์สูง
ไฟเบอร์ เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแม่ก่อนคลอด แม่อุ้มท้อง แม่หลังคลอด หรือแม่ให้นมลูกก็ควรได้รับอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ ควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพราะไฟเบอร์จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ไฟเบอร์ยังช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและอาจช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไฟเบอร์ประมาณ 25-35 กรัมในแต่ละวัน โดยสามารถได้ไฟเบอร์จากอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ
10. อาหารที่มีโอเมก้า 3
โอเมก้า 3 เป็นสารอาหารสำคัญที่ควรได้รับอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 200-300 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เพราะโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่สมองของทารกมีการพัฒนาและเจริญเติบโตสูงสุด มากไปกว่านั้น การได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอขณะตั้งครรภ์ ยังอาจช่วยต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ควบคุมอารมณ์แปรปรวนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บางครั้งคุณแม่อาจมีอาการแพ้อาหารบางอย่าง ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่ไม่สามารถรับสารอาหารที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่มีอาการแพ้นมวัว แพ้นมถั่วเหลือง หรือแพ้ทั้งนมวัวและนมถั่วเหลือง การเลือกดื่มนมที่เหมาะสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ง่าย และช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ
ที่สำคัญคือ ควรเลือกนมที่ให้สารอาหารสำคัญอย่าง DHA, โฟเลต, แคลเซียม, โคลีน, ไอโอดีน, ธาตุเหล็ก ในปริมาณที่เพียงต่อต่อความร่างกายของแม่ตั้งครรภ์
ในไตรมาสแรกนั้นคุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้องอ่อน ๆ หรือแพ้ท้องหนักมาก อาหารจึงควรเป็นอาหารอ่อน ๆ ไม่มีรสจัดหรือกลิ่นฉุน เพื่อให้สามารถกินได้ง่าย เช่น
โจ๊ก
ซุปต่าง ๆ
ไก่ผัดขิง
ผัดผัก เช่น บร็อคโคลีผัดกุ้ง ผัดผักรวม
เมนูปลา เช่น ปลากะพงนึ่งมะนาว ปลาช่อนทะเลผัดขิง
สลัดผัก หรือยำผลไม้รวม
ซึ่งคุณแม่สามารถคิดไอเดียเมนูคนท้องได้ตามความเหมาะสม ขอเพียงเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ หลากหลาย และมีคุณค่าทางสารอาหารสูง ก็ถือว่าเป็นเมนูคนท้องที่ดีทั้งนั้นค่ะ
วิตามินก่อนคลอด หรือ วิตามินบำรุงครรภ์ (Prenatal Vitamin) เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คุณแม่ในไตรมาสแรกไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าหากได้รับวิตามินเหล่านี้ในปริมาณที่น้อยจนเกินไป จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
โดยวิตามินบำรุงครรภ์ที่สำคัญในไตรมาสแรก ได้แก่
กรดโฟลิก คุณแแม่ควรได้รับกรดโฟลิกอย่างน้อย 400 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งกรดโฟลิกนี้จะช่วยให้ระบบประสาท สมอง และไขสันหลังของทารกพัฒนาอย่างปกติ
แคลเซียม คุณแม่ควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งแคลเซียมจะช่วยพัฒนากระดูกและฟันของทารกให้แข็งแรง
ไอโอดีน คุณแม่ควรได้รับไอโอดีนจำนวน 250 ไมโครกรัมต่อวัน การขาดไอโอดีน หรือได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ จะเสี่ยงต่อโรคไทรอยด์ การแท้ง การตายคลอด พัฒนาการช้า ความบกพร่องทางสติปัญญา หรือทารกอาจคลอดมาพร้อมกับภาวะหูหนวก
ธาตุเหล็ก คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กไม่ต่ำกว่า 27 มิลลิกรัมต่อวัน ธาตุเหล็กจะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้น โดยเซลล์เม็ดเลือดแดงนี้จะทำหน้าที่สำคัญในการลำเลียงออกซิเจนไปยังทารก ช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และเป็นปกติ การขาดออกซิเจน หรือทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อพัฒนาการ หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
คนท้องทุกไตรมาสสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ การมีเซ็กซ์ขณะตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องอันตรายแต่อย่างใดค่ะ
อายุครรภ์ของไตรมาสแรกนั้น สามารถแบ่งได้ ดังนี้
ไตรมาสแรก
เดือนที่ 1 อายุครรภ์ 1-4 สัปดาห์
เดือนที่ 2 อายุครรภ์ 5-8 สัปดาห์
เดือนที่ 3 อายุครรภ์ 9-13 สัปดาห์
โดยมากแล้วในไตรมาสแรกนั้น คุณแม่อาจจะมีอาการปวดท้องน้อยได้ค่ะ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของมดลูกเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก
อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องน้อยบางครั้งก็อาจผิดปกติได้ หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
มีลือดออกทางช่องคลอดอย่างหนัก
ปวดท้องรุนแรง
มีอาการกระหายน้ำอย่างกะทันหัน
มีอาการปวดเวลาปัสสาวะ
มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
มีอาการหนาวสั่น หรือปวดหลัง
มือและใบหน้ามีอาการบวมอย่างรุนแรง
สายตาพร่ามัว
หากมีอาการดังที่กล่าวไปพร้อมกับอาการปวดท้องน้อย ควรไปพบแพทย์ทันที
จริง ๆ คนท้องไตรมาสแรกสามารถกินอะไรก็ได้ค่ะ จะเป็นผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ก็ได้ทั้งนั้น ขอเพียงเป็นอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายก็เป็นอันใช้ได้
คนท้องควรเลิกดื่มแอลกอฮอล์ และลดคาเฟอีนลงค่ะ เพราะอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้ในระยะยาว
โดยการดื่มแอลกอฮอล์อาจเสี่ยงต่อแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด ขณะที่คาเฟอีนอาจส่งผลให้ทารกเกิดมามีน้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์
สำหรับคุณแม่ที่ติดโควิด และกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์นั้น จริง ๆ แล้วแนวโน้มความเสี่ยงตามผลการศึกษาและผลการวิจัยได้แดสงให้เห็นว่า:
โควิด -19 ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาพิการแต่อย่างใด
แม่ตั้งครรภ์ที่ติดโควิด ก็ไม่พบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาจะส่งผลต่อการแท้งเพิ่มขึ้น
มีคุณแม่ที่ติดโควิด มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ทารกที่คลอดมานั้นส่วนมากแล้วมีร่างกายแข็งแรงตามปกติ
สำหรับคุณแม่ที่อายุครรภ์ยังน้อย และติดโควิด ทารกมีโอกาสน้อยที่จะได้รับเชื้อไวรัส แต่ถ้าอายุครรภ์มาก หรือใกล้คลอด แล้วติดโควิด ทารกมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อด้วย
ดังนั้น หากคุณแม่ติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและรับการรักษาตัวต่อไป
คนท้องไตรมาสแรกสามารถเดิน วิ่ง และออกกำลังกายได้ตามปกติค่ะ เว้นเสียแต่ว่าคุณแม่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างมาแต่เดิมแล้ว แพทย์ก็อาจจะแนะนำให้ลดกิจกรรมหนัก ๆ ลงบ้างค่ะ
อาการท้องเสียเป็นเรื่องปกติค่ะ ไม่ใช่อาการที่อันตรายรุนแรงแต่อย่างใด สามารถพบได้ทั้งในคนท้องและคนที่ไม่ท้อง
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการท้องเสียติดต่อกันเกิน 1 วัน อาจจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจววินิจฉัยและรับการรักษาค่ะ หากปล่อยไว้นานเข้าและอาการไม่ดีขึ้นเลย อาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้
Enfa สรุปให้ การตรวจเลือดตั้งครรภ์ เป็นวิธีการตรวจการตั้งครรภ์ที่ได้รับความนิยมและมีความแม่นยำสู...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ควรเริ่มฝากครรภ์ภายในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12 สัปดาห์แรก แ...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ฝากครรภ์ไม่จำเป็นต้องให้สามีไปด้วยเสมอไป แต่หากคุณหมอได้ตรวจเลือดของคุณพ่อด้วย ก็จะ...
อ่านต่อ