นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ทำไมกินยาคุมแล้วท้อง พร้อมวิธีสังเกตอาการคนท้องขณะกินยาคุม

Enfa สรุปให้

  • กินยาคุมแล้วท้อง เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ อันที่จริงแล้ว ยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดราว 93% เมื่อรับประทานเป็นประจำทุกวัน แต่ถ้าหากลืมรับประทานยาประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะลดลง
  • อาการคนท้องขณะกินยาคุม จะมีประสบการณ์ที่หลากหลาย บางคนอาจพบว่าประจำเดือนขาดแล้วถึงรู้ตัวว่าท้อง หรือบางคนยังสับสนกับอาการปวดท้องน้อย คิดว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาคุม สุดท้ายตรวจพบว่าตั้งครรภ์เรียบร้อยแล้ว
  • กินยาคุมแต่ท้อง แม้จะเป็นการตั้งครรภ์ไม่คาดคิด แต่คุณแม่ก็ควรปรับโภชนาการ เช่น เพิ่มโฟลิก ธาตุเหล็ก แคลเซียม ตามคำแนะนำ งดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินยากลุ่มเสี่ยง

เลือกอ่านตามหัวข้อ

กินยาคุมแล้วท้อง เป็นเหตุการณ์ที่อาจสร้างความตกใจให้สาวๆ หลายคน เพราะเรามักเข้าใจกันว่าการคุมกำเนิดด้วยการกินยาคุมเป็นวิธีหนึ่งที่ให้ประสิทธิภาพสูง แต่ในความเป็นจริง ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ค่ะ อาจเพราะใช้ยาไม่ถูกต้อง ลืมกินยาคุมตามเวลา หรือมีการอาเจียนที่ทำให้ร่างกายดูดซึมยาไม่ทัน และอีกหลายเหตุผลที่นำไปสู่การตั้งครรภ์แบบไม่คาดฝัน 

วันนี้จึงอยากชวนมาไขข้อสงสัยถึงสาเหตุการเกิดเหตุการณ์ “กินยาคุมแล้วท้อง” รวมถึง “กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง” และ “กินยาคุมมีโอกาสท้องกี่เปอร์เซ็นต์” นอกจากนี้ ยังรวมถึงวิธีดูแลตัวเองและลูกในกรณีที่พบว่าท้องขณะกินยาคุม และยังไขข้อข้องใจว่าหาก “กินยาคุมแล้วปวดท้อง” เป็นอาการปกติหรืออาจสัญญาณของปัญหาอื่นในร่างกายหรือเปล่า 


กินยาคุมแล้วท้อง เพราะอะไร

หลายคนสงสัยว่ากินยาคุมแต่ท้อง เป็นไปได้จริงหรือ เพราะในความเข้าใจทั่วไป ต่างมั่นใจว่าการกินยาคุมกำเนิดเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลสูงระดับหนึ่ง ทว่าความเป็นจริงยังมีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมลดลง จนนำไปสู่การตั้งครรภ์ได้ ดังนี้ 

  1. ลืมกินยาต่อเนื่องหรือกินไม่ตรงเวลา
    ในยาคุมมีฮอร์โมนที่ช่วยยับยั้งการตกไข่ ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ได้ดีก็ต่อเมื่อฮอร์โมนดังกล่าวในร่างกายสาว ๆ มีความสม่ำเสมอ ฉะนั้น ยาคุมกำเนิดชนิดรายเดือน (21 หรือ 28 เม็ด) ต้องการความสม่ำเสมออย่างมากในการกินเวลาเดียวกันทุกวัน

    หากลืมกินหรือกินไม่ตรงเวลา เช่น กินเช้าสลับเย็น หรือขาดไป 1-2 เม็ด ก็ส่งผลให้ฮอร์โมนตัวนี้ขาดความสมดุลได้ ทำให้เพิ่มโอกาสตกไข่ และเสี่ยงกินยาคุมแล้วท้อง ยิ่งลืมกินยาคุมหลายเม็ดติดกัน โอกาสตั้งครรภ์ก็ยิ่งสูงขึ้น

    2. อาเจียนหรือท้องเสียหลังกินยา
    การกินยาคุมแล้วอาเจียนออก เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย แต่ถ้าหากเกิดอาเจียน หรือท้องเสียรุนแรง หลังจากกินยาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ยาอาจไม่ทันดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ยาคุมไม่สามารถยับยั้งการตกไข่ได้เต็มประสิทธิภาพ

    3. ประสิทภาพยาลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่น
    ยาบางชนิด เช่น ยาฆ่าเชื้อกลุ่มไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาปฏิชีวนะที่ทางการแพทย์ใช้ป้องกันหรือรักษาวัณโรค รักษาการติดเชื้อในจมูกและลำคอจากแบคทีเรียบางชนิด ยากันชัก หรือยาสมุนไพรบางชนิด อาจลดประสิทธิภาพยาคุม เนื่องจากกระตุ้นเอนไซม์ตับให้ขับฮอร์โมนออกจากร่างกายเร็วขึ้น จึงควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ หากกำลังใช้ยาคุมและมียาอื่นร่วมด้วย

    4. ซื้อยาคุมผิดชนิดหรือยาปลอม
    แม้จะมีโอกาสพบได้น้อย แต่ก็มีกรณีซื้อยาคุมที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือหมดอายุ ทำให้ฮอร์โมนไม่มีคุณภาพเพียงพอในการป้องกันการตกไข่ ดังนั้น ควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และตรวจวันหมดอายุทุกครั้ง

    5. ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการคุมกำเนิด
    บางคนเข้าใจว่าการกินยาคุมแค่วันเว้นวัน หรือกินเม็ดสีขาวในแผง (เม็ดหลอก) แล้วปลอดภัย 100% ก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะยาคุมต้องการการกินอย่างเคร่งครัด การกินยาคุมกำเนิดจะต้องกินเวลาเดิมทุกวัน หากลืมกินยาจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง และหากลืมกินยาคุมกำเนิดมากกว่า 3 ชั่วโมง ให้กินทันทีที่นึกขึ้นได้ และกินเม็ดต่อไปในเวลาเดิม


กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง เพราะอะไร 

อีกประเด็นสำคัญ คือ การคุมกำเนิดฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า “ยาคุมฉุกเฉิน” ประกอบไปด้วยยาที่เป็นฮอร์โมนขนาดสูง ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ 75-85% เมื่อรับประทานภายใน 3-5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งออกแบบมาใช้ในสถานการณ์เร่งด่วน เช่น ถุงยางแตก หรือลืมกินยาคุมปกติ แต่ก็ยังเกิดเหตุกินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้องได้เหมือนกัน ซึ่งอาจเกิดจากกินยาช้าเกินไป ยาคุมฉุกเฉินมีปฏิกิริยากับยารักษาโรคอื่น ๆ หรือมีการตกไข่เกิดขึ้นก่อนกินยา เป็นต้น

ความเข้าใจผิดเรื่องยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง แต่เป็นการให้ฮอร์โมนขนาดสูงเพื่อยับยั้งหรือชะลอการตกไข่ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน หากตัวอ่อนฝังตัวแล้ว หรือผ่านช่วงเวลาที่ไข่ตกไปแล้ว ยาคุมฉุกเฉินจะไม่ได้ผล ถึงตรงนี้ อาจแบ่งสาเหตุของการกินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง นั่นเป็นเพราะ

  • กินไม่ทันเวลา: ยาคุมฉุกเฉินต้องกินภายใน 72 -150 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งช้าโอกาสยิ่งลด
  • อาเจียนภายใน 2 ชม. หลังกินยา: ทำให้ร่างกายไม่ได้รับฮอร์โมนเพียงพอ
    กินไม่ครบขนาด: บางสูตรมี 2 เม็ดต้องกินเม็ดที่สองห่างจากเม็ดแรก 12 ชม. ถ้าผิดเวลาก็ลดประสิทธิภาพ
  • กินหลังตัวอ่อนไปฝังตัวแล้ว: หากปฏิสนธิและฝังตัวก่อนกินยา ยาคุมฉุกเฉินก็ไม่สามารถป้องกันได้

อีกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉินก็คือ ภาวะเลือดออกหลังกินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง ซึ่งโดยปกติเมื่อกินยาคุมฉุกเฉิน อาจมีเลือดออกกระปริดกระปรอยภายใน 5-10 วัน เป็นผลจากฮอร์โมน ซึ่งไม่ใช่ประจำเดือนจริง บางคนเข้าใจว่าเลือดออกคือ “มั่นใจไม่ท้อง” แต่กลับพบว่าตั้งครรภ์ได้ เพราะเลือดออกนี้ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ 100%

 

คำแนะนำในการใช้ยาคุมฉุกเฉิน

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำบนผลิตภัณฑ์หรือตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ควรรีบกินยาคุมฉุกเฉินให้เร็วที่สุดภายใน 3-5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์ หากรับประทานล่าช้าเกิน 96 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้ยาไม่ได้ผล
  • ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันหลังกินยาคุมฉุกเฉิน และคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น สวมถุงยางอนามัย เพราะยาคุมจะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อกินยาหลังการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น
  • ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคหูดหงอนไก่ โรคเริม
  • หากอาเจียนออกมาภายใน 2 ชั่วโมงหลังกินยาคุมฉุกเฉิน อาจทำให้ร่างกายดูดซึมตัวยาได้ไม่เต็มที่ และลดประสิทธิภาพของยาได้ ควรกินยาคุมฉุกเฉินซ้ำอีกครั้งพร้อมยาแก้อาเจียน 


กินยาคุมมีโอกาสท้องกี่เปอร์เซ็นต์

หลายคนอาจเคยได้ยินว่าการกินยาคุมกำเนิดประเภทเม็ดมีประสิทธิภาพกว่า 99% หากใช้อย่างถูกต้อง แต่ในชีวิตจริงมีปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง ทำให้เกิดอาการกินยาคุมแต่ท้องได้ อันที่จริงแล้ว ยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดราว 93% เมื่อรับประทานเป็นประจำทุกวัน แต่ถ้าหากลืมรับประทานยา ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะลดลง สำหรับยาคุมฉุกเฉิน ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดเพียง 60-80% ไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำหรือใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดหลัก
อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิดไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้ง

ยาคุมกำเนิดนั้นแบ่งออกได้เป็นฮอร์โมน 2 ประเภท

  1. ยาฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรน) 
    เป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป ประสิทธิภาพตามทฤษฎี (Perfect use) อยู่ที่ประมาณ 99% หมายถึงในผู้หญิง 100 คนที่กินยาอย่างถูกต้องเป๊ะ ๆ ตลอด 1 ปี มีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 1 ราย แต่ใน “การใช้งานจริง” (Typical use) อัตรามักลดลงอยู่ที่ประมาณ 91% (9% อาจตั้งครรภ์) เพราะมีความผิดพลาด เช่น ลืมกินยา, อาเจียน, กินช้า ฯลฯ
  2. ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเดี่ยว 
    ยาคุมฉุกเฉินเป็นโปรเจสเตอโรนเดี่ยว แนะนำกรณีฉุกเฉินเท่านั้น แต่ต้องกินในเวลาเดียวกันอย่างเคร่งครัด (ภายใน 3 ชม. ของเวลาเดิม) ไม่เช่นนั้นประสิทธิภาพลดลงมาก อัตราการตั้งครรภ์ในการใช้จริงจึงสูงกว่าชนิดฮอร์โมนรวม ไม่เหมาะสำหรับหญิงที่กำลังให้นมบุตร หรือมีประวัติโรคเลือดสมองหรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

กินยาคุมแล้วท้อง มีผลกระทบต่อลูกไหม

การที่สาวๆ กินยาคุมแล้วท้องโดยไม่รู้ตัวนั้น การตั้งครรภ์ยังคงดำเนินต่อไปได้ตามปกติค่ะ ไม่มีผลทำให้เกิดการแท้งขึ้น และไม่ได้ส่งผลทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติหรือพิการแต่อย่างใด  

แต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้วควรหยุดทานยาคุมกำเนิดค่ะ เพราะการกินยาคุมกำเนิดในขณะที่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่อาจทำให้น้ำหนักทารกน้อย หรืออาจคลอดก่อนกำหนดได้ ส่วนความเข้าใจที่ว่า กินยาคุมฉุกเฉินตอนท้อง จะทำให้ทารกในครรภ์พิการหรือไม่  ยังไม่พบรายงานทางการแพทย์ว่ามีข้อมูลที่สนับสนุนในเรื่องดังกล่าว 

ส่วนในกรณีที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจเป็นอันตราย เพราะทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกถึง 2% การใช้ยาคุมฉุกเฉินจึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่แนะนำให้รับประทานเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่องต่อเดือน

ดังนั้น เมื่อตรวจพบการตั้งครรภ์ ในขณะที่กินยาคุมกำเนิดไม่ว่าจะเป็นชนิดแบบธรรมดาหรือแบบฉุกเฉิน ควรรีบหยุดการกินยาคุมกำเนิดทันที และรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพครรภ์


กินยาคุมแล้วปวดท้อง เพราะอะไร แก้ยังไงดี

บางครั้งการใช้ยาคุมอาจมาพร้อมผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้หรือปวดท้องได้บ้าง คุณแม่บางคนอาจเข้าใจผิดว่า เป็นอาการตั้งครรภ์ หรืออาการคนท้องขณะกินยาคุม การกินยาคุมแล้วปวดท้องปวดหลัง อาจเกิดขึ้นได้ โดยปกติอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อทานต่อเนื่องไปซักระยะ 

ดังนั้น หากอาการปวดเป็นไม่มาก ก็ให้สังเกตอาการและทานยาคุมต่อไปก่อน แต่หากอาการปวดเป็นมาก ก็อาจพิจารณาหยุดทานยาคุม และสังเกตว่าอาการปวดท้องหายไปหรือไม่ หากไม่หาย อาการปวดท้องน้อย ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ

ผลข้างเคียงของฮอร์โมนในยาคุม
ยาคุมกำเนิดบางชนิดโดยเฉพาะชนิดฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน) อาจทำให้ปวดท้องน้อยหรือปวดหลังเล็กน้อย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน อาจมีอาการคลื่นไส้ เต้านมคัดตึง รู้สึกเหมือนตอนใกล้มีประจำเดือน

ไม่ใช่ทุกคนที่ปวด
บางคนใช้ยาคุมหลายปีไม่เคยปวดท้องเลย ก็เป็นไปได้ เพราะร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนต่างกัน หากปวดท้องรุนแรงผิดปกติหรือปวดหลังมาก ควรตรวจหาสาเหตุอื่น เช่น ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, มดลูกอักเสบ, กล้ามเนื้อหน้าท้องอักเสบ, ไส้ติ่งอักเสบ

หากอาการปวดท้องน้อยเป็นมาก ควรหยุดทานยาคุมไปก่อน และสังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ หากดีขึ้น อาจเปลี่ยนยี่ห้อยาคุมให้เป็นชนิดที่มีฮอร์โมนต่ำลง เพื่อลดผลข้างเคียง แต่ถ้าอาการปวดไม่หายไป ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

วิธีบรรเทาอาการปวดท้องจากยาคุม

  • กินยาพร้อมอาหาร: เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะ เช่น กินหลังอาหารทันที
  • ดื่มน้ำเพียงพอ: การขาดน้ำอาจกระตุ้นอาการปวดท้องได้มากขึ้น
  • ปรึกษาแพทย์: หากปวดจนรบกวนชีวิตประจำวัน อาจต้องเปลี่ยนชนิดหรือสูตรของยาคุม หากไม่ดีขึ้นควรหยุดยา และปรึกษาแพทย์

ระวังสับสนกับอาการตั้งครรภ์
อาการปวดท้องเล็กน้อยหรือปวดหลังสามารถเกิดได้ทั้งจากผลข้างเคียงของยาคุม และอาการคนท้องขณะกินยาคุม  หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์หรือปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการอื่นร่วม เช่น คลื่นไส้หนักมาก ประจำเดือนขาด หรือเต้านมคัดกว่าเดิม ก็ควรเช็กให้แน่ใจ

ประสบการณ์กินยาคุมแล้วท้อง ที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้

หลายคู่รักหรือคุณแม่ที่กินยาคุมแต่ท้อง จะมีสถานการณ์ที่หลากหลายแตกต่างกันไป บางคนอาจพบว่าประจำเดือนขาดแล้วถึงรู้ตัวว่าท้อง หรือบางคนยังสับสนกับอาการปวดท้องน้อย คิดว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาคุม สุดท้ายตรวจพบว่าตั้งครรภ์เรียบร้อยแล้ว คุณแม่ส่วนใหญ่จะตกใจหรือกังวล เพราะคิดว่ายาคุมป้องกันได้ ทำไมยังท้อง แต่ต้องไม่ลืมว่าการกินยาคุมไม่รับประกัน 100% บางคนอาจมีภาระหน้าที่หรือแผนชีวิต ทำให้ไม่พร้อมตั้งครรภ์ อาจเกิดความเครียด ควรปรึกษาคุณหมอและครอบครัว 

เมื่อรู้ว่าท้องควรจะหยุดยาคุมทันที แม้ตามข้อมูลทางการแพทย์ ระบุว่าไม่พบความเชื่อมโยงชัดเจนว่าก่อความพิการต่อทารกก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงต่อมาก็คือ สุขภาพของเด็กในครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ ทำอัลตราซาวด์ ตรวจเลือด และอื่นๆ เพื่อยืนยันว่าทารกสมบูรณ์ดี หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุเยอะ หรือมีโรคประจำตัว อาจต้องดูแลพิเศษในช่วงตั้งครรภ์ ที่สำคัญ แม้จะเป็นการตั้งครรภ์ไม่คาดคิด แต่คุณแม่ก็ควรปรับโภชนาการ เช่น เพิ่มโฟลิก ธาตุเหล็ก แคลเซียม ตามคำแนะนำ งดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินยากลุ่มเสี่ยง

การตั้งครรภ์โดยไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ สิ่งสำคัญเมื่อรู้ตัวว่าตั้งท้องก็คือ สติ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมเพื่อหาวิธีจัดการที่เหมาะสมต่อไป หรือการเตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่หลังจากนี้ 


อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่

การได้รับโภชนาการที่ดี มีคุณภาพ ซึ่งไม่เพียงสำคัญกับพัฒนาการลูกในครรภ์ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพ และช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้คุณแม่เองด้วย 

โภชนาการที่ดีหมายถึง การที่คุณแม่ได้รับสารอาหารอย่างสมดุล คือได้รับทั้งสารอาหารหลัก (โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน) และสารอาหารรอง (เกลือแร่ และวิตามิน) ซึ่งช่วยส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ของคุณแม่ 

นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเสริมสารอาหารอย่างกรดโฟลิก และวิตามินบี 12 ที่มีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพใจให้ดี เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ และเจ้าตัวน้อย


  • รพ.เปาโล. 10 เรื่องที่สาวๆ ควรรู้ ก่อนใช้ยาคุมกำเนิด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.paolohospital.com/th-th/center/Article/Details/Article/10-เรื่องที่สาวๆ-ควรรู้-ก่อนใช้ยาคุมกำเนิด. [25 มกราคม 2568]
  • รพ.พญาไท. เข้าใจก่อนใช้ ยาคุมฉุกเฉิน. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/th/article/emergency-contraceptive-pills-ptp. [25 มกราคม 2568]
  • kapook.com. กินยาคุมทุกวันแต่ท้อง นี่เราป่องเพราะพลาดตรงไหน ?!. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://health.kapook.com/view171425.html. [25 มกราคม 2568]
  • medparkhospital. ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth Control Pills). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.medparkhospital.com/lifestyles/birth-control-pills. [25 มกราคม 2568]
  • ratchasima-hospital. วิธีคุมกำเนิดที่คุณใช้ มีโอกาสพลาด "ตั้งครรภ์" กี่เปอร์เซ็นต์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.ratchasima-hospital.com/th/knowledges/what-birth-control-method-do-you-use-what-is-the-percentage-chance-of-you-getting. [25 มกราคม 2568]
  • รพ.รามาธิบดี. การคุมกำเนิด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/fammed/sites/default/files/public/img/km/คุมกำเนิด.pdf. [25 มกราคม 2568]
  • รพ.รามาธิบดี. การใช้และปัญหาจากยาใกล้ตัว : ทำความรู้จักกับยาเม็ดคุมกำเนิด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttps://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/knowledge_general_population/29jun2016-1021-th. [25 มกราคม 2568]

 

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama