Enfa สรุปให้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
การตั้งครรภ์ครั้งแรกเป็นประสบการณ์แสนท้าทายสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ นอกจากจะต้องรับมือกับอาการคนท้องที่มักมาพร้อมความไม่สบายตัวสารพัดแบบ และอาการแพ้ท้องที่เล่นงานคุณแม่หลายๆ คนอย่างหนักหน่วงในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกแล้ว อีกหนึ่งประสบการณ์ที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนมีร่วมกันคืออาการคนท้องนอนไม่หลับ ซึ่งอาจเริ่มตั้งแต่ช่วงท้องอ่อนๆ ไปจนถึงท้องแก่เลยทีเดียว แล้วคนท้องนอนไม่หลับจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการลูกในท้องไหมนะ? มีวิธีไหนที่ช่วยให้แม่ท้องนอนหลับง่ายขึ้นไหม Enfa หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ
อาการนอนไม่หลับของคนท้อง เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
การนอนไม่หลับของคนท้อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งแม่และลูกในท้องได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว หากคุณแม่สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม เช่น หาวิธีการผ่อนคลาย ปรับสภาพแวดล้อมในการนอนใ้ห้น่านอน มีแสงน้อยที่สุด และเย็นสบาย รวมถึงรับคำแนะนำจากคุณหมอ อาการนอนไม่หลับก็มักจะไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงค่ะ แต่หากคนท้องนอนหลับไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าและการคลอดก่อนกำหนดได้
สาเหตุที่คนท้องอ่อนๆ นอนไม่หลับกลางคืน มักจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก มักเป็นตัวการหลักที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์อ่อนรู้สึกอ่อนเพลีย แต่กลับนอนไม่หลับ หรืออาจมีอาการง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวันบ่อยๆ แต่กลับนอนไม่หลับตอนกลางคืน นอกจากนี้ความวิตกกังวลที่มีต่อการตั้งครรภ์ อาการปวดท้องน้อยตอนท้องอ่อนๆ ความไม่สบายตัว และอาการเวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอมจากการแพ้ท้องก็อาจทำให้คนท้องนอนหลับไม่สนิทเช่นกัน แต่อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไปนะคะ การนอนไม่หลับในช่วงนี้มักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อลูกในท้อง และการหาวิธีผ่อนคลาย เช่น ทำสมาธิ หรือฝึกการหายใจ สามารถช่วยลดอาการนี้ได้ค่ะ
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อาการนอนไม่หลับของคนท้องมักเกิดจากการขยายตัวของมดลูกที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว คนท้องปวดหลัง คนท้องเป็นตะคริว กลายเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ซึ่งรบกวนการนอน นอกจากนี้ มดลูกที่ขยายตัวมากขึ้นในไตรมาสนี้จะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ คนท้องจึงปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ทำให้ต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ในตอนกลางคืน อีกทั้งทารกน้อยในครรภ์ก็จะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นในไตรมาสที่สอง และการดิ้นของทารกอาจรู้สึกได้ชัดเจนขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่งรบกวนการนอนหลับได้เช่นกัน และยิ่งทารกเติบโตขึ้น ร่างกายของคุณแม่ก็จะมีการเผาผลาญเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมการเติบโตของทารก แต่อาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ไม่สามารถนอนหลับสนิทได้
แม้อาการนอนไม่หลับในช่วงไตรมาสที่ 2 จะสร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจให้กับคุณแม่ แต่ก็เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ไม่ได้ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพคุณแม่และลูก ถ้าดูแลรักษาได้ดีและมีการปรึกษาคุณหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอค่ะ
ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 คนท้องมักนอนไม่หลับเนื่องจากขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น และลูกในท้องที่มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ตัวโตขึ้น ดิ้นแรงกว่าในไตรมาส 2 คุณแม่จึงรู้สึกถึงการดิ้นได้มากกว่าเดิม อาการปวดหลัง ปวดสะโพก และอาการคนท้องปวดปัสสาวะบ่อย ก็ทำให้การนอนหลับยากขึ้น เนื่องจากเป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ความกังวลที่คุณแม่มีต่อการคลอดและการเลี้ยงดูลูกอาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความเครียดทางอารมณ์นี้อาจทำให้นอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท และยิ่งใกล้วันคลอด คนท้องท้องแข็งบ่อยขึ้น มีอาการเจ็บท้องหลอกเป็นระยะๆ ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนอน
การนอนให้หลับในไตรมาส 3 เป็นเรื่องยากกว่าใน 2 ไตรมาสแรก เพราะคุณแม่มักจะรู้สึกไม่สบายตัวอย่างมาก เนื่องจากมดลูกที่ขยายตัวเพื่อรองรับทารกอาจกดทับกะบังลม ทำให้แม่ท้องหายใจลำบาก รู้สึกไม่สบายตัวเวลานอนลง นอกจากนี้ อาการกรดไหลย้อนมักจะแย่ลง เนื่องจากมดลูกกดทับกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดกรดไหลย้อนเมื่อเอนตัวลงนอน ทำให้นอนได้ยากกว่าเดิม แต่อาการนี้ไม่เป็นอันตราย คุณแม่อาจต้องเปลี่ยนท่านอนคนท้องใหม่ให้เหมาะสม เช่น นอนตะแคงซ้าย จะช่วยให้หลับได้สบายขึ้น
ลูกในท้องของคุณแม่จะมีวงจรการนอนหลับของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับการนอนหลับของแม่ ดังนั้น แม้แม่จะนอนไม่หลับ ลูกในท้องยังสามารถนอนหลับได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่นอนไม่พออย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้คุณแม่เองเกิดความเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของลูกในท้องได้ค่ะ
การนอนไม่หลับของแม่ท้องอาจส่งผลต่อสุขภาพของลูกในท้องได้ในกรณีที่แม่มีภาวะเครียดสูง หรือพักผ่อนไม่เพียงพอต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ความเครียดจากการนอนไม่หลับอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด หรือทำให้น้ำหนักทารกแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพ ลดความเครียด และหาวิธีการนอนหลับที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม คุณแม่อย่ากังวลกับการนอนไม่หลับจนเกินไปนะคะ การนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทชั่วครั้งชั่วคราวในระหว่างตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยค่ะ คุณแม่อาจจะงีบตอนกลางวันเพิ่มเติมได้หากรู้สึกว่าหลับไม่สนิทในตอนกลางคืน หากรู้สึกเหนื่อยล้าหรือเกิดความเครียดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ คุณแม่ควรปรึกษาสูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ด้วย เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ
วิธีแก้อาการนอนไม่หลับของคนท้อง สามารถทำได้โดยการสร้างสภาพแวดล้อมในการนอนที่เหมาะสม เช่น ทำให้ห้องนอนเย็นสบาย ไม่มีแสงจ้า หลีกเลี่ยงการใช้สมาร์ทโฟนก่อนนอน และคุณแม่อาจลองฝึกการหายใจ ทำสมาธิ และปรับท่านอนให้เหมาะสมเพื่อให้นอนหลับสบายเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน หรือโยคะสำหรับคนท้อง ก็สามารถช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากการนอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญต่ออนาคตของลูกอย่างมากก็คือ โภชนาการ ที่คุณแม่มอบให้ลูกน้อยตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าตั้งครรภ์ไปจนถึง 1,000 วันแรกของชีวิตลูก ควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของเค้า ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่และลุกน้อยต้องการสารอาหารหลายชนิดเพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์รอบด้าน เช่น DHA, โคลีน, โฟเลต, แคลเซียม, เหล็ก และสารอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหากคุณแม่ไม่มั่นใจว่าจะได้รับสารอาหารครบถ้วนจากการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน ก็สามารถพิจารณานมบำรุงครรภ์เป็นหนึ่งในทางเลือกโภชนาการในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตรได้ค่ะ
ท้อง 8 เดือน นอนไม่หลับ อาจเกิดจากขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นและการขยับตัวของลูกในท้อง คุณแม่ลองนอนตะแคงซ้าย พร้อมกับใช้หมอนหนุนที่เหมาะสม เช่น หมอนรองท้องและหมอนระหว่างขา อาจช่วยให้รู้สึกสบายตัวและนอนหลับได้ง่ายขึ้น
กรดไหลย้อนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนท้องและอาจทำให้คุณแม่นอนไม่หลับได้ วิธีแก้ไขคือ คุณแม่ควรนอนในท่าที่ศีรษะสูงขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและเผ็ดจัดก่อนนอน รวมถึงแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ เพื่อลดความเสี่ยงของอาการกรดไหลย้อน คุณแม่อาจรับประทานยาร่วมด้วย โดยควรปรึกษาคุณหมอก่อนว่าคนท้องกินยาแก้กรดไหลย้อนตัวไหนได้บ้าง
ก่อนอื่นควรทราบว่า คนท้องควรเลี่ยงการใช้ยานอนหลับทุกชนิด เพราะเป็นยากลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของทารกในท้อง ในกรณีที่คนท้องนอนไม่หลับต่อเนื่องและต้องการยา ควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง แพทย์อาจแนะนำยาที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง หรือแนะนำวิธีการปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยให้การนอนหลับของคุณแม่ตั้งครรภ์ดีขึ้นแทน
Enfa สรุปให้ การตรวจเลือดตั้งครรภ์ เป็นวิธีการตรวจการตั้งครรภ์ที่ได้รับความนิยมและมีความแม่นยำสู...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ควรเริ่มฝากครรภ์ภายในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12 สัปดาห์แรก แ...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ฝากครรภ์ไม่จำเป็นต้องให้สามีไปด้วยเสมอไป แต่หากคุณหมอได้ตรวจเลือดของคุณพ่อด้วย ก็จะ...
อ่านต่อ