นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ฝากครรภ์ต้องให้สามีไปด้วยไหม ฝากครรภ์ต้องตรวจเลือดพ่อไหมนะ

Enfa สรุปให้

  • ฝากครรภ์ไม่จำเป็นต้องให้สามีไปด้วยเสมอไป แต่หากคุณหมอได้ตรวจเลือดของคุณพ่อด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงทางพันธุกรรมหรือการติดเชื้อที่อาจส่งผลต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
  • ฝากครรภ์ตรวจเลือดสามี มักมีการตรวจหมู่เลือด ABO และ Rh ของพ่อและแม่ ตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม ตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อ รวมถึงดัชนีสุขภาพอื่นๆ ทั่วไป
  • ฝากครรภ์ตรวจเลือดสามี ราคาแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาลที่คุณแม่เลือกฝากครรภ์ คุณแม่สามารถโทรติดต่อสอบถามราคากับโรงพยาบาลหรือคลีนิคนั้นๆ ก่อนเข้าไปฝากครรภ์ได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

หากคุณแม่พบว่าประจำเดือนขาด 1 เดือน เริ่มมีอาการคนท้อง พอใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจหาค่า hCG ก็พบว่าที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด ดีใจด้วยนะคะ! คุณพ่อคุณแม่กำลังจะมีสมาชิกตัวน้อยๆ เพิ่มเข้ามาในครอบครัวแล้ว หลังจากประกาศข่าวดีให้คนใกล้ชิดรู้ ก็ได้เวลาไปฝากครรภ์กันแล้วค่ะ 

ก่อนจะไปฝากครรภ์ แม่ๆ มือใหม่หลายคนคงจะสงสัยว่า ฝากครรภ์ต้องให้สามีไปด้วยไหม ถ้าสามีไม่สะดวก คุณแม่ขอฉายเดี่ยว ไปฝากครรภ์คนเดียวเลยได้หรือเปล่า วันนี้ Enfa หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ

ฝากครรภ์ต้องให้สามีไปด้วยไหม

หนึ่งในคำถามที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักถามกันบ่อยคือ ฝากครรภ์ต้องให้สามีไปด้วยไหม แน่นอนว่าการมีคนรักอยู่เคียงข้างกันในทุกช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องดี เพราะคุณแม่และคุณพ่อสามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำในการตั้งครรภ์ครั้งนี้ร่วมกันได้ นอกจากนี้ หากคุณหมอได้ผลตรวจสุขภาพของคุณพ่อด้วย ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการประเมินความเสี่ยงทางพันธุกรรมหรือการติดเชื้อที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยให้ครรภ์ของคุณแม่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่วางแผนที่จะเลี้ยงดูลูกด้วยกันและสามารถไปฝากครรภ์ด้วยกันได้ ขอแนะนำว่าควรพาสามีไปอย่างน้อยที่สุด 2 ครั้งแรก เพราะหลังจากฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมออาจมีการให้ตรวจเลือดคุณพ่อและคุณแม่เลย หรืออาจนัดตรวจสุขภาพทั้งพ่อและแม่ในครั้งถัดไปก็ได้

อย่างไรก็ตาม การฝากครรภ์ไม่จำเป็นต้องให้สามีไปด้วยเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีที่คุณแม่เป็นซิงเกิ้ลมัมที่ต้องดูแลครรภ์ด้วยตนเองเพียงคนเดียว หรือคุณพ่ออยู่ห่างไกล เช่น อยู่ต่างประเทศ คุณแม่สามารถฝากครรภ์ได้โดยไม่มีพ่อได้ค่ะ อีกทั้งการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทย สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพ่อของเด็กอยู่ด้วยเสมอไป

ฝากครรภ์ต้องตรวจเลือดพ่อไหม

เมื่อไปฝากครรภ์ ควรตรวจเลือดคุณพ่อด้วยหากทำได้ค่ะ ขอแนะนำให้คุณแม่พาสามีหรือคุณพ่อของลูกน้อยในครรภ์ไปฝากครรภ์ครั้งแรกด้วยกัน และทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต้องรับการตรวจเลือดทั้งคู่ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อและโรคทางพันธุกรรมที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้ 

กรณีที่คุณพ่ออยู่ต่างประเทศ หรืออยู่ต่างจังหวัดที่ห่างไกล คุณแม่อาจจะขอรายการตรวจจากคุณหมอ และให้คุณพ่อส่งผลการตรวจกลับมาให้แทนค่ะ เพราะการทราบผลตรวจเลือดของคุณพ่อจะช่วยให้คุณหมอประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ตรวจเลือดพ่อในการฝากครรภ์จำเป็นไหม

การตรวจเลือดคู่ทั้งพ่อและแม่เป็นสิ่งที่จำเป็นในการฝากครรภ์ค่ะ เพราะการตรวจเลือดสามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับภาวะผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อ หรือปัญหาความเข้ากันได้ของเลือดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อยได้ หากคุณพ่อเพิ่งมีการตรวจเลือดหรือตรวจสุขภาพไปไม่นานก่อนการฝากครรภ์ และการตรวจดังกล่าวครอบคลุมมากพอ คุณหมออาจจะให้งดการตรวจเลือดคุณพ่อได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอด้วย 

ฝากครรภ์ ตรวจเลือดสามี ตรวจอะไรบ้าง

เมื่อคุณพ่อมีส่วนร่วมในการฝากครรภ์ และได้รับการตรวจเลือด จะช่วยให้แพทย์ได้รับข้อมูลดังต่อไปนี้เพิ่มเติมค่ะ

  • หมู่เลือด ABO และหมู่เลือด Rh: การตรวจเลือดพ่อแม่ในการฝากครรภ์ ช่วยให้คุณหมอทราบหมู่เลือด ABO และหมู่เลือด Rh เพื่อตรวจสอบความเข้ากันได้ของกรุ๊ปเลือดพ่อแม่ลูก และความเสี่ยงกรณีที่กรุ๊ปเลือดของลูกไม่ตรงกับแม่ เช่น คุณพ่อมีหมู่เลือด Rh+ แต่คุณแม่มีหมู่เลือด Rh- หากลูกน้อยในครรภ์มีกรุ๊ปเลือด Rh+ เหมือนคุณพ่อ ร่างกายของคุณแม่จะสร้างแอนติบอดี้ไปทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก ซึ่งทำให้ทารกแรกเกิดมีภาวะซีดเหลืองได้ 
  • การตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม: การตรวจเลือดพ่อในการฝากครรภ์ ช่วยให้สามารถระบุความเสี่ยงของโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ทารกอาจได้รับมาจากคุณพ่อคุณแม่ได้ เช่น ความเสี่ยงโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) หรือโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease: SCD) เป็นต้น
  • การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อ: ผลการตรวจเลือดของคุณพ่อในระหว่างการฝากครรภ์จะช่วยระบุโรคติดเชื้อที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ เช่น โรคติดเชื้อ HIV, โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus), โรคซิฟิลิส (Syphilis) และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ (STIs) หากคุณพ่อมีโรคเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ได้ จึงควรมีการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ ร่วมกับมาตรการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง 

    เช่น กรณีที่พบว่าสามีมีเชื้อ HIV แพทย์จะมีการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อในภรรยาซ้ำ ให้ภรรยารับยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังทารก แนะนำวิธีการผ่าคลอดซึ่งลดโอกาสการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้มากกว่า รวมถึงตรวจเชื้อในทารกหลังคลอดเพื่อประเมินความเสี่ยง นอกจากนี้ คู่สามีภรรยาจะต้องงดพฤติกรรมเสี่ยงทุกอย่าง เช่น ต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดโดยไม่ป้องกัน งดการใช้ของส่วนตัวร่วมกันโดยเฉพาะของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรือเลือด เป็นต้น
  • ตรวจน้ำตาลในเลือด: หากคุณพ่อเป็นเบาหวาน หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ก็มีความเป็นไปได้ที่ภาวะผิดปกตินี้อาจส่งต่อไปที่ลูกน้อยเช่นกัน
  • ดัชนีสุขภาพทั่วไป: การตรวจเลือดสามีในการฝากครรภ์ ยังช่วยให้ทราบดัชนีสุขภาพอื่นๆ เช่น ระดับไขมันในเลือด การทำงานของตับและไต การทำงานของต่อมไทรอยด์ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เป็นต้น นอกจากการตรวจเลือดสามีแล้ว การตรวจมักครอบคลุมไปถึงดัชนีสุขภาพทั่วไป เช่น ดัชนีมวลกาย (BMI) ความดันโลหิต เป็นต้น 

ฝากครรภ์ตรวจเลือดสามี ราคา

ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์แตกต่างกันออกไปตามสถานพยาบาลที่คุณแม่เลือกค่ะ คุณแม่บางคนอาจฝากครรภ์ที่คลีนิคใกล้บ้าน บางคนฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชน หรือฝากครรภ์โรงพยาบาลรัฐที่สะดวกไปใช้สิทธิ์มากที่สุด ปกติแล้วค่าตรวจเลือดสามีก็จะแตกต่างกันออกไปตามสถานพยาบาลที่คุณแม่เลือกฝากครรภ์ ค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือดสามีระหว่างฝากครรภ์เริ่มต้นที่หลักร้อยไปจนถึง 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่คุณแม่เลือก โดยคุณแม่สามารถโทรติดต่อสอบถามราคากับโรงพยาบาลหรือคลีนิคนั้นๆ ก่อนเข้าไปฝากครรภ์ได้ค่ะ

อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่

นอกจากจะรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด และตรวจเลือดคู่ทั้งคุณพ่อคุณแม่เพื่อป้องกันทารกน้อยจากความเสี่ยงที่เกิดจากโรคติดเชื้อและโรคทางพันธุกรรมแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญต่ออนาคตของลูกอย่างมากก็คือ โภชนาการที่คุณแม่มอบให้ลูกน้อยตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าตั้งครรภ์ไปจนถึง 1,000 วันแรกของชีวิตลูก ควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของเค้า ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่และลุกน้อยต้องการสารอาหารหลายชนิดเพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์รอบด้าน เช่น DHA, โคลีน, โฟเลต, แคลเซียม, เหล็ก และสารอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหากคุณแม่ไม่มั่นใจว่าจะได้รับสารอาหารครบถ้วนจากการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน ก็สามารถพิจารณานมบำรุงครรภ์เป็นหนึ่งในทางเลือกโภชนาการในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตรได้ค่ะ

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama