ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
“เข้าเต้า” เข้าใจการให้นม ควรเข้าเต้าทุกกี่ชั่วโมงดีนะ

ให้ลูกเข้าเต้าทุกกี่ชั่วโมงดีนะ? เข้าใจการให้ลูกดูดเต้า

 

Enfa สรุปให้

  • ระยะเวลาที่ให้ลูกเข้าเต้าจะแตกต่างกันไปตามช่วงวัย สำหรับเด็กแรกเกิดจะต้องการเข้าเต้าทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง ก่อนที่จะปรับไปเป็นทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง และจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่ออายุ 6 เดือน เป็นทุก ๆ 4 – 5 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนอีกด้วย
  • การปั๊มนมควบคู่ไปกับการเข้าเต้า จะช่วยกระตุ้นเต้านมให้ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น และยังช่วยลดอาการคัดเต้านม รวมทั้งยังสามารถตุนสต็อกน้ำนมล่วงหน้าได้อีกด้วย
  • ลักษณะที่แสดงว่าเด็กทารกอิ่มในระหว่างเข้าเต้า เช่น มีการดูดที่ช้าลง หรือหยุดดูด เด็กทารกมีท่าทางที่ผ่อนคลาย ปิดปาก หันหน้าออกจากเต้า ทรงแก้มกลมไม่ได้อยู่ในลักษณะเป็นหลุมเหมือนดูดนม
  • คุณแม่ไม่ควรพลาดการให้นมลูกในช่วงที่น้ำนมระยะแรกไหล หรือ น้ำนมเหลือง เพราะมีสารอาหารสำคัญอย่างแลคโตเฟอร์ริน ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันลูกน้อย

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ให้ลูกเข้าเต้าทุกกี่ชั่วโมง
     • แต่ละมื้อ ทารกต้องดื่มนมปริมาณเท่าไหร่
     • ลูกเข้าเต้าแล้ว ควรปั๊มไหม
     • ลูกหลับคาเต้า อุ้มเรอยังไงดี
     • ลูกดูดเต้า จะรู้ได้ยังไงว่าลูกอิ่ม
     • อาการลูกกินไม่อิ่ม คุณแม่จะสังเกตได้อย่างไร
     • นมแม่ดีที่สุดเพราะมีแลคโตเฟอร์ริน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องความถี่ในการให้นมแม่กับ Enfa Smart Club

เด็กแต่ละคนมีความต้องการกินนมในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป เมื่อคุณแม่ต้องให้นมลูก เราจะรู้และสังเกตได้อย่างไรว่าต้องให้ลูกเข้าเต้าบ่อยขนาดไหน หรือเมื่อไหร่ที่ลูกน้อยอิ่มแล้ว จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการวัดสิ่งเหล่านี้ วันนี้เอนฟามีคำตอบมาไขข้อสงสัยคุณแม่กันค่ะ

ให้ลูกเข้าเต้าทุกกี่ชั่วโมง


เด็กทารกในแต่ละช่วงอายุมีความต้องการในการกินนมที่แตกต่างกันออกไป ความถี่ในการให้ลูกเข้าเต้าจึงยังขึ้นอยู่กับความหิว หรือความต้องการกินนมของลูกน้อยอีกด้วย ถึงแม้ว่าความต้องการกินนมของเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่สามารถประมาณความถี่ให้ลูกเข้าเต้าได้ดังนี้

         • เด็กแรกเกิด: คุณแม่อาจสงสัยว่า ทารก 1 สัปดาห์ กินกี่ออนซ์ สำหรับเด็กแรกเกิดส่วนใหญ่ จะต้องการเข้าเต้าทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง หรือ 8 – 12 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง ซึ่งการให้ลูกน้อยเข้าเต้าในวันแรกหลังคลอด ยังสามารถช่วยกระตุ้นเต้าให้ผลิตน้ำนมได้อีกด้วย

         • สัปดาห์แรก – 5 เดือน: ในช่วงเวลานี้ กระเพาะของลูกน้อยจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณน้ำนมที่ลูกน้อยต้องการก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยลูกน้อยจะต้องการเข้าเต้าทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง ในบางรายอาจจะต้องการเข้าเต้าทุก ๆ ชั่วโมง ซึ่งความถี่ของการเข้าเต้า ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันตามความต้องการของลูกน้อย เช่น บางวันอาจจะเข้าเต้าบ่อย แต่ปริมาณที่กินในแต่ละครั้งอาจจะน้อย หรือเข้าเต้าไม่บ่อย แต่ปริมาณที่กินในแต่ละครั้งมาก เป็นต้น

          • 6 – 12 เดือน: เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนที่ 6 ความต้องการและปริมาณในการกินนมของลูกน้อยก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมไม่มากนัก และเป็นช่วงวัยที่เริ่มกินอาหารเสริมตามวัย (Solid Foods) ควบคู่กับการให้นมแม่ ซึ่งความถี่ในการเข้าเต้าจะเปลี่ยนเป็นทุก ๆ 4 – 5 ชั่วโมง

          • 12 – 24 เดือน: เด็กในช่วงวัยนี้ จะเริ่มเข้าเต้าน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากสามารถรับประทานอาหารตามวัยได้แล้ว บางรายอาจจะต้องการเข้าเต้าในช่วงเช้าหรือก่อนเข้านอน และในบางรายอาจจะเปลี่ยนไปกินผลิตภัณฑ์นมอื่น ๆ เช่น นมวัว การให้นมแม่ หรือการเข้าเต้าจึงค่อย ๆ ลดลงไป

แต่ละมื้อ ทารกต้องดื่มนมปริมาณเท่าไหร่


ปริมาณนมที่เด็กต้องการในแต่ละมื้อ จะปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงอายุ ดังนี้

          • เด็กแรกเกิด: เด็กแรกเกิดจะดื่มนมประมาณ 1 – 2 ออนซ์ ต่อการเข้าเต้าแต่ละครั้ง และจะเพิ่มปริมาณการดื่มนมเป็นครั้งละ 2 – 3 ออนซ์ เมื่ออายุ 2 สัปดาห์

          • 2 เดือน: เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 เด็กทารกจะเพิ่มปริมาณการดื่มนมในแต่ละครั้งที่เข้าเต้าเป็น 4 – 5 ออนซ์

          • 4 เดือน: เด็กทารกวัย 4 เดือน จะเพิ่มปริมาณการดื่มนมในแต่ละครั้งที่เข้าเต้าเป็น 4 – 6 ออนซ์

          • 6 เดือน: ในวัยนี้จะต้องการดื่มนมในแต่ละครั้งที่เข้าเต้าเป็น 8 ออนซ์

สำหรับเด็กทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป ถึงแม้ว่าจะเริ่มการให้อาหารเสริมตามวัยเด็กทารก (Solid Foods) แล้ว ปริมาณการให้นมแม่ยังควรให้ปริมาณเดิม และตามความหิวของลูกน้อย

ลูกเข้าเต้าแล้ว ควรปั๊มไหม


ถึงแม้คุณแม่จะให้ลูกเข้าเต้าแล้ว การปั๊มนมก็เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรทำเช่นกัน เพราะการปั๊มนมควบคู่ไปกับการเข้าเต้า จะช่วยกระตุ้นเต้านมคุณแม่ให้ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น และยังช่วยลดอาการคัดเต้านม รวมทั้งยังดีกับการเก็บสต็อกนมเพื่อใช้แทนในช่วงที่น้ำนมไม่พอ

ลูกหลับคาเต้า อุ้มเรอยังไงดี


เป็นเรื่องปกติที่พบได้ เมื่อลูกน้อยหลับคาเต้าทั้งที่ยังไม่ได้จับเรอ เราสามารถจับเรอในขณะที่ลูกน้อยยังหลับได้โดยไม่ต้องปลุก ด้วยวิธีเหล่านี้

          • จับเรอระหว่างเปลี่ยนเต้า: หลายครั้งที่เด็กทารกมักจะเคลิ้มระหว่างการเข้าเต้า หากคุณแม่เห็นว่าลูกน้อยกำลังเคลิ้มแบบนี้ ระหว่างการให้นม ค่อย ๆ จับลูกน้อยในท่านั่ง ลูบหลังเพื่อไล่ลมออก ก่อนจะย้ายข้างไปให้นมอีกเต้า

          • อุ้มพาดบ่า: การอุ้มพาดบ่าเป็นอีกวิธีที่ช่วยลูกน้อยที่หลับคาเต้าได้เรอ โดยคุณแม่ค่อย ๆ เปลี่ยนท่า จับตัวลูกน้อยพาดบ่า ใช้เวลาสัก 1 – 2 นาที ให้ลูกน้อยได้เรอออกมา

          • อุ้มพาดอก: ท่านี้คล้ายกับท่าอุ้มพาดบ่า แต่เลื่อนระดับให้ศีรษะของลูกน้อยมาอยู่บริเวณอก ให้ร่างกายของลูกน้อยอยู่ในลักษณะตั้งตรง

          • วางพาดแขน: หลังจากที่ให้นมแล้ว ค่อยจับลูกน้อยวางแขนในลักษณะคว่ำลง ยกแขนส่วนศีรษะลูกให้สูงขึ้นประมาณ 45 องศา เพื่อไม่ให้อาหารในกระเพาะไหลย้อนขึ้นไป ลูบหลังเบา ๆ จนกระทั่งเรอ

          • วางพาดตัก: หากอยู่ในท่านั่ง ค่อย ๆ จับลูกคว่ำบนตัก ใช้มืออีกข้างยกส่วนอกให้สูงขึ้น มืออีกข้างลูบหลังเบา ๆ จนลูกเรอ

การจับลูกเรอเป็นสิ่งที่ควรทำ แม้ว่าลูกน้อยจะหลับคาเต้าก็ตาม เพื่อป้องการอาการไม่สบายท้อง รวมทั้งกรดไหลย้อน หากพบว่าลูกหลับคาเต้า ค่อย ๆ ลองทำตามวิธีข้างต้นประมาณ 1 – 2 นาที ก่อนจะพาเข้านอน

ลูกดูดเต้า จะรู้ได้ไงว่าลูกอิ่ม


คุณแม่สามารถทราบได้ว่าลูกอิ่มหรือไม่ ได้จากท่าทางเหล่านี้

          • จังหวะในการดูเต้าช้าลงจากปกติ ดูด หรือกลืนเป็นจังหวะยาว ๆ บางครั้งอาจจะหยุดดูด

          • แก้มของลูกมีลักษณะกลม ไม่ได้มีลักษณะเป็นหลุม ซึ่งเป็นลักษณะในการดูด

          • ปิดปาก และหันออกจากเต้า

          • ลูกน้อยมีท่าทางผ่อนคลาย

          • เต้านมคุณแม่มีลักษณะที่อ่อนยวบหลังจากให้นม

อาการลูกกินไม่อิ่ม คุณแม่จะสังเกตได้อย่างไร


เมื่อลูกน้อยกินไม่อิ่ม คุณแม่จะสังเกตอาการที่แสดงออกมาเหล่านี้ได้

          • หันศีรษะไปมา เหมือนกำลังมองหาเต้านม

          • ดูดนิ้วมือ

          • หันหน้าเข้าหาเต้า เมื่ออยู่ใกล้เต้าคุณแม่

          • ร้องไห้ งอแง

 

นมแม่ดีที่สุด โดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน


ระยะเวลาที่น้ำนมแม่มีสารอาหารครบถ้วน และสมบูรณ์ที่สุดคือ น้ำนมระยะแรก หรือ น้ำนมเหลือง ที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ในน้ำนมเหลืองจะมีโปรตีนตัวหนึ่งชื่อว่า แลคโตเฟอร์ริน ที่ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมาก ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยแข็งแรง

 

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

ไขข้อข้องใจเรื่องความถี่ในการให้นมแม่กับ Enfa Smart Club


ลูกไม่เข้าเต้า ปั้มอย่างเดียว มีผลเสียไหม

การที่ลูกไม่เข้าเต้า อาจจะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ เช่น

          • ไม่ชอบกลิ่น หรือรสชาติบริเวณหัวนม ซึ่งอาจเกิดจากการใช้สบู่ หรือการทาครีมต่าง ๆ

          • ปวดฟัน เนื่องจากฟันกำลังขึ้น

          • เป็นเชื้อราบริเวณมุมปาก หรือติดเชื้อในหู ส่งผลให้เด็กเจ็บปวดจากอาการเหล่านี้เมื่อเวลาเข้าเต้า รวมถึงอาการป่วยอื่น ๆ ก็สามารถทำให้ลูกไม่เข้าเต้าได้เช่นกัน

          • มีความเครียด หรือมีสิ่งเร้าให้ไขว้เขว

หากพบว่าลูกไม่เข้าเต้า คุณแม่ควรสังเกตสาเหตุข้างต้น เพื่อทำการแก้ไข หรือรักษาอาการที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับลูกน้อย อย่างไรก็ตาม การปั๊มนมทดแทนการไม่เข้าเต้าของลูกน้อย ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่อาจจะพบปัญหา เช่น นมที่ปั๊มออกมาอาจจะเน่าเสียได้ หากจัดเก็บไว้ไม่ดี หรืออาจจะต้องเสียค่าใช้ใจกับอุปกรณ์ดูแลและจัดเก็บน้ำนมที่ปั๊มมากกว่าการให้นมผ่านเต้า

ลูกดูดเต้าทุกชั่วโมง ถี่เกินไปไหม

ลูกดูดเต้าทุกชั่วโมง หรือที่รู้จักกันว่า “การติดเต้า” คือ รูปแบบการกินนมของเด็กทารก ที่จะกินนมหลายครั้งติดต่อกันในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น ทุก ๆ ชั่วโมง โดยการติดเต้าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กแรกเกิดในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด โดยเด็กทารกที่ติดเต้าจะมีลักษณะดังนี้

          • แสดงท่าทางหิว หรือร้องไห้ไม่หยุดจนกว่าจะได้กินนม

          • ต้องการกินนมบ่อยครั้ง โดยในแต่ละครั้งจะใช้เวลากินไม่นาน

          • ไม่อาการผิดปกติอื่น ๆ รวมทั้งสามารถขับได้ถ่ายได้ อุจจาระมีลักษณะปกติ

การติดเต้าของเด็กทารกแรกเกิด ยังช่วยป้องกันภาวะตัวเหลือง เพิ่มน้ำหนักตัวเด็ก รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นเต้านมคุณแม่ให้ผลิตน้ำนมได้เป็นอย่างดี

ลูกดูดเต้าเดียวอิ่มไหม

คุณแม่สามารถให้นมเต้าเดียวได้ หากลูกน้อยแสดงสัญญาณว่าได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ เช่น ขับถ่ายได้ปกติ ปัสสาวะอย่างน้อย 6 – 8 ครั้ง/วัน กินนมได้ดี ผายลมได้ ร่าเริง ก็แสดงว่าลูกอิ่ม ได้รับนมอย่างเพียงพอ

ลูกดูดเต้า แค่ 5 นาที จะได้รับนมเพียงพอไหม

เด็กทารกแต่ละคนจะใช้ระยะเวลาในการกินนม และปริมาณนมที่กินแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ระยะเวลาในการกิน รวมทั้งปริมาณยังขึ้นอยู่กับช่วงวัยของเด็กทารกอีกด้วย ในกรณีที่ลูกดูดเต้าแค่ 5 นาที สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กอายุ 3 – 4 เดือน ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ยนในการเข้าเต้าประมาณ 5 – 10 นาที

ระยะเวลาในการเข้าเต้าของลูกอาจจะบอกได้ไม่แน่ชัดว่า ลูกจะได้รับนมเพียงพอไหม ควรสังเกตสิ่งอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขับถ่ายได้ปกติ ปัสสาวะอย่างน้อย 6 ครั้ง/วัน กินนมได้ดี ผายลมได้ ร่าเริง ก็หมายความว่าลูกได้รับนมอย่างเพียงพอ

ให้ลูกเข้าเต้าเฉพาะกลางคืนได้ไหม

คุณแม่สามารถให้ลูกเข้าเต้าเฉพาะกลางคืนได้ หากกลางวันลูกน้อยได้รับนมแม่อย่างเพียงพอโดยการใช้ขวดนมแทนการเข้าเต้า



บทความแนะนำสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

บทความที่แนะนำ

พัฒนาการเด็ก/เตรียมตัวกลับไปทำงาน/วิธีนำนมที่แช่แข็งมาให้ลูกกิน
เรื่องน่ารู้/กินอาหารอย่างไรเพิ่มน้ำนมแม่
นมแม่
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner