Enfa สรุปให้
- การฝังยาคุมเป็นอีกหนึ่งวิธีในการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งใช้ระยะเวลาในการทำไม่นาน และสามารถคุมกำเนิดได้ในนาน 3-5 ปี
- การฝังยาคุมจะฝังลงในชั้นผิวหนังตรงบริเวณใต้ท้องแขนด้านในของแขนข้างที่ไม่ถนัด ซึ่งขนาดแท่งยาคุมที่ฝังลงไปนั้นมีขนาดเพียง 3 เซนติเมตร
- เมื่อฝังยาคุมแล้ว แท่งยาคุมนั้นจะปล่อยฮอร์โมนโปรเจสตินออกมาเพื่อยับยั้งการตกไข่ เมื่อไม่มีไข่ตก ก็จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• การฝังเข็มยาคุม คืออะไร
• ฝังเข็มยาคุม ท้องได้ไหม
• ข้อควรรู้เกี่ยวกับการฝังยาคุม
• ข้อดีและข้อเสียของการฝังยาคุม
• ฝังยาคุมฟรีได้ที่ไหน
การฝังยาคุม หรือที่หลาย ๆ คนเรียกติดปากว่าฝังเข็มยาคุม เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ และได้รับความนิยม แต่การฝังยาคุมเหมาะกับใคร มีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง Enfa มีคำตอบมาฝากค่ะ
ฝังเข็มยาคุมคืออะไร
ฝังยาคุม คือ การคุมกำเนิดโดยการฝังแท่งพลาสติกที่บรรจุฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) โดยจะฝังลงในชั้นผิวหนังตรงบริเวณใต้ท้องแขนด้านในของแขนข้างที่ไม่ถนัด โดยใช้เวลาในการฝังยาคุมแค่เพียง 3-10 นาทีเท่านั้นเอง
ซึ่งยาแท่งที่ฝังนั้นจะมีขนาดเล็กเพียง 3 เซนติเมตร หรือประมาณก้านไม้ขีดไฟ เมื่อฝังแล้วยานั้นจะปล่อยฮอร์โมนโปรเจสตินออกมาเพื่อยับยั้งการตกไข่ ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยการคุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุมนั้น ถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดในระยะยาว และยาจะออกฤทธิ์ได้นาน 3-5 ปี
ฝังเข็มยาคุมท้องได้ไหมนะ?
ฝังยาคุมกำเนิด ตั้งครรภ์ได้ไหม? เป็นอีกหนึ่งความกังวลที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่มั่นใจ กลัวว่าการฝังยาคุมอาจจะป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามหลักการแล้ว การคุมกำเนิดแม้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูง
อย่างไรก็ตาม การฝังยาคุมยังมีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์ได้อยู่บ้าง แต่โอกาสนั้นสำหรับการฝังยาคุมถือว่าเกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากไม่เกิดการผิดพลาดในขั้นตอนการฝังยาคุม หรือแท่งยาที่ฝังไม่ได้มาตรฐาน
โดยโอกาสที่จะพลาดเกิดการตั้งครรภ์หลังจากฝังยาคุมนั้นมีน้อยกว่า 1 ใน 100 คนด้วยซ้ำ หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แค่เพียง 0.05-0.1 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น โอกาสท้องหลังจากฝังยาคุมไปแล้ว จึงถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นยากพอ ๆ กับการเห็นยูนิคอร์นตัวเป็น ๆ เลยค่ะ
ฝังเข็มยาคุมแล้วท้อง เกิดขึ้นได้อย่างไร
โอกาสในการตั้งครรภ์หลังจากฝังยาคุมนั้นมีน้อยถึงน้อยมาก ๆ และแทบไม่เกิดขึ้นเลย อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสจะน้อย แต่ก็ยังถือว่ามีโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- เกิดการผิดพลาดในขั้นตอนการฝังยาคุม
- แท่งยาที่ฝังไม่ได้มาตรฐาน
- แท่งยาที่ฝังหมดอายุการใช้งาน และผู้ที่ได้รับการฝังยาคุมลืมกำหนดระยะเวลาการฝังยาคุมรอบใหม่
- มีการถอนแท่งยาคุมออกก่อนกำหนด เมื่อถอนยาคุมออกไปแล้ว การคุมกำเนิดก็จะจบลง มีโอกาสตั้งครรภ์ได้
มาทำเข้าใจเรื่องการฝังยาคุมกันเถอะ
การฝังยาคุมกำเนิด ยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกหลายเรื่องทั้งที่หลายคนอาจจะรู้แล้ว และหลายคนยังไม่เคยรู้ ดังนี้
กลไกการทำงานของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง
เมื่อฝังยาคุมแล้ว แท่งยาที่ฝังนั้นซึ่งภายในจะมีฮอร์โมนโปรเจสตินอยู่ แท่งยาจะปล่อยฮอร์โมนนั้นออกมาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่ และยับยั้งไม่ให้เกิดการตกไข่ เมื่อไม่มีการตกไข่ การตั้งครรภ์ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะทำให้ปากมดลูกเหนียวข้นขึ้น
ฝังยาคุมป้องกันอะไรบ้าง
ฝังยาคุมเป็นการคุมกำเนิด ดังนั้น จุดประสงค์หลักของการคุมกำเนิด ก็คือป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ แต่ไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงควรสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันด้วย
การฝังยาคุมกำเนิดเหมาะกับใคร
การฝังยาคุมกำเนิด ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการจะคุมกำเนิดในระยะยาวทุกคนค่ะ อย่างไรก็ตาม ยาที่ใช้ในการฝังยาคุมกำเนิดบางชนิด ก็มีข้อห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการบางอย่าง เช่น ในกรณีที่ฝังยาคุมโดยใช้ยาฝังคุมกำเนิด Implanon* มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่มีอาการเหล่านี้
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับลิ่มเลือด
- โรคตับ
- มีภาวะเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
- มีประวัติของโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง
(*ด้านบนเป็นข้อห้ามของยาคุมกำเนิด Implanon เท่านั้น)
นอกจากนี้ การอยู่ระหว่างการกินยาเพื่อรักษาอาการทางสุขภาพของตัวยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงต่อยาคุมกำเนิดที่ฝัง เช่น ยาสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ยาสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก หรือยาสำหรับผู้ป่วยวัณโรค
แพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาอาการทางสุขภาพที่เป็นอยู่ให้หายดีก่อนแล้วจึงค่อยทำการฝังยาคุมภายหลัง หรืออาจแนะนำให้ทำการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น
ฝังยาคุมได้กี่ครั้ง
ฝังยาคุม 1 ครั้ง สามารถอยู่ได้นาน 3-5 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วสามารถที่จะทำการฝังใหม่ได้ หรือหากพร้อมที่จะมีบุตรแล้ว ก็สามารถที่จะเลิกฝังยาคุมได้ หรือจะเปลี่ยนแท่งใหม่ทุก ๆ 3-5 ปีไปเรื่อย ๆ ก็ได้เช่นกัน หากว่าภาวะสุขภาพแข็งแรงและไม่มีกลุ่มอาการที่เสี่ยงจะมีผลข้างเคียงกับยาคุมที่ใช้ฝัง
ฝังยาคุมอยู่ได้กี่ปี
การฝังยาคุมสามารถอยู่ได้นาน 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณของยาคุมที่ฝัง ปริมาณยาต่างกัน ระยะเวลาในการคุมกำเนิดก็จะต่างกัน แต่โดยมากแล้วก็จะอยู่ระหว่าง 3-5 ปี
ฝังยาคุมต้องเตรียมอะไรบ้าง
ก่อนที่จะเข้ารับการฝังยาคุมได้ จะต้องไปพบแพทย์เพื่อแจ้งความประสงค์ก่อน จากนั้นแพทย์จึงจะทำการตรวจวินิจฉัยประวัติทางสุขภาพ เพื่อจะได้ทราบว่ามีความเสี่ยงของสุขภาพที่ไม่เป็นผลดีต่อการฝังยาคุมหรือไม่
ประวัติทางสุขภาพโดยพื้นฐานที่จำเป็นจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ไม่ว่าจะเป็น
- ประวัติการมาของรอบเดือนในแต่ละเดือน
- ประวัติการเข้ารับการคุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุมครั้งก่อนหน้า หรือประวัติการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ
- แพทย์อาจจำเป็นจะต้องขอให้มีการตรวจครรภ์เบื้องต้นดูก่อนว่ากำลังอยู่ระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่
- ประวัติอาการเจ็บป่วย ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ โรคประจำตัวต่าง ๆ
ฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
การฝังยาคุมแม้จะเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ยังมีข้อดีข้อเสียที่ควรจะต้องรู้ ดังนี้
ข้อดีของการฝังยาคุม
- เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โอกาสผิดพลาดจนเกิดการตั้งครรภ์มีน้อยมาก
- เป็นวิธีคุมกำเนิดในระยะยาว ไม่ต้องคอยพะวงกับการกินยาคุม
- ไม่ส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์
- สามารถทำหลังคลอดได้ และยาคุมที่ฝังไม่ส่งผลเสียใด ๆ ต่อการให้นมบุตร
- หลังจากถอนยาคุมออก การตกไข่ก็จะกลับมาเป็นปกติ ไม่เกิดความผิดปกติแต่อย่างใด
- มีส่วนช่วยลดอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน และลดอาการประจำเดือนมามาก
ข้อเสียของการฝังยาคุม
- ในผู้ที่เข้ารับการฝังยาคุมบางรายพบว่ามีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
- หลังจากเข้ารับการฝังยาคุม อาจมีอาการระคายเคือง มีอาการปวด บวม แดง มีอาการคันในบริเวณที่ฝังยาคุม แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับจนหายไปเอง
- ยาที่ฝังนั้นเป็นฮอร์โมน ในช่วงแรกหลังจากฝังยาคุมจึงอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เจ็บ คัดตึงเต้านม หรือมีอารมณ์แปรปรวนได้ แต่อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
- ผู้ที่เข้ารับการฝังยาคุมบางรายพบว่าเป็นสิว หรือมีปัญหาสิวรุนแรง หรือในบางรายก็พบว่าเป็นฝ้า
- เสี่ยงที่มีปัญหากับช่องคลอด เช่น ช่องคลอดแห้ง ช่องคลอดติดเชื้อ
- ผู้ที่เข้ารับการฝังยาคุมบางรายพบว่ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
ฝังเข็มยาคุมอ้วนไหม
การฝังยาคุม ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อ้วนค่ะ แม้ว่าผู้ที่เข้ารับการฝังยาคุมหลายคนจะพบว่า หลังจากฝังยาคุมไปแล้วตนเองมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจนอวบ อ้วน อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งลักษณะเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ แต่...ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหลังจากการฝังยาคุมนั้น ก็ไม่สามารถที่จะชี้ชัดได้ว่าเกิดจากตัวยาฮอร์โมนที่ฝังลงไปในผิวหนัง หรือเกิดจากพฤติกรรมในการกินอาหารที่เปลี่ยนไป
ดังนั้น หากพบว่ามีน้ำหนักตัวมากขึ้นจนผิดสังเกต ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนที่ฝังไปนั้นมีผลข้างเคียงต่อร่างกายและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
คุณแม่ที่กำลังให้นมลูก สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ไหม
แม่ให้นมลูกสามารถที่จะทำการฝังยาคุมเพื่อคุมกำเนิดได้ค่ะ และเมื่อฮอร์โมนถูกปล่อยเข้าสู่ร่างกาย ฮอร์โมนนั้นก็จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับการให้นมบุตร จึงปลอดภัยต่อทารกที่กินนมแม่ และไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนมด้วยค่ะ
ระหว่างที่มีการฝังยาคุม คุณแม่สามารถฉีดวัคซีนหรือรับประทานยาต่าง ๆ ได้ตามปกติไหม? ยาและวัคซีนบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อฮอร์โมนที่ฝังลงใต้ชั้นผิวหนังค่ะ
แนะนำว่าก่อนจะกินยาใด หรือฉีดวัคซีนใด ควรแจ้งต่อแพทย์ทุกครั้งเพื่อวินิจฉัยว่าสามารถกินยารักษาอาการทางสุขภาพ หรือสามารถเข้ารับวัคซีนรักษาโรคได้หรือไม่
สำหรับผู้หญิงที่กำลังวางแผนจะมีลูก แต่ยังฝังเข็มยาคุมอยู่ ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ขึ้นอยู่กับความพร้อมเป็นสำคัญค่ะ หากพร้อมที่จะมีลูกแล้ว สามารถไปถอนยาคุมออกได้เลย และหลังจากถอนแล้วควรเข้ารับการตรวจคัดกรองก่อนการมีบุตร เพื่อดูว่าร่างกายพร้อมต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ หรือมีภาวะความเสี่ยงใดที่อาจเกิดขึ้นต่อการตั้งครรภ์ หรือมีพาหะความเสี่ยงใดที่จะส่งต่อไปทารกในอนาคตหรือไม่ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีลูก เพื่อให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ ตลอดจนรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองก่อนที่จะมีลูก
ฝังยาคุมฟรีได้ที่ไหน สามารถใช้สิทธิ์อะไรได้บ้าง
ในปัจจุบันผู้หญิงชาวไทยสามารถเข้ารับการฝังยาคุมฟรี โดยใช้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ตามสถานพยาบาลที่เปิดรับบริการ โดยมีคุณสมบัติเพื่อเข้ารับบริการฝังยาคุมฟรี ดังนี้
• กรณีมีอายุต่ำกว่า 20 ปี: จะสามารถรับการฝังยาคุมฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่รับบริการ สามารถตรวจรายชื่อสถานพยาบาลที่บริการฝังยาคุมฟรีได้ที่ https://rsathai.org/healthservice/
• กรณีมีอายุเกิน 20 ปี ขึ้นไป: ให้ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพว่าได้รับสิทธิในการฝังยาคุมฟรีหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบสิทธิด้วยตัวเองผ่านช่องทางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนี้
- ตรวจสอบผ่านสายด่วน สปสช. โทร 1330 กด 2 และกดเลข 13 หลักของบัตรประจำตัวประชาชน (ระบบการตรวจสอบอัตโนมัติ)
- ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่าน App Store บนระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Play Store บนระบบปฏิบัติการ Android
- ตรวจสอบผ่านเว็ปไซต์ สปสช. ได้ที่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml
- ตรวจสอบผ่านเฟซบุ๊กเพจ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ ได้ที่ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- ตรวจสอบผ่าน LINE โดยค้นหา LINE ID: @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และเลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิ
นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบสิทธิฝังยาคุมฟรีผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง โดยลงทะเบียนเข้าระบบ แล้วเลือกเมนู กระเป๋าเป๋าสุขภาพ > สิทธิสุขภาพ ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป เมื่อเข้ารับบริการฝังยาคุมฟรี โดยใช้สิทธิสปสช. อาจจะมีการเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับการดำเนินการในสถานพยาบาลที่เลือกใช้สิทธิ
ทั้งนี้ สำหรับสิทธิผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 สำนักงานประกันสังคมไม่คุ้มครองกรณีการคุมกำเนิด หรือการฝังยาคุม แต่คุ้มครองในกรณีทำหมันถาวร
- NHS. Contraceptive implant. [Online] Accessed https://www.nhs.uk/conditions/contraception/contraceptive-implant/. [7 December 2022]
- WebMD. Birth Control Implants (Contraceptive Implants). [Online] Accessed https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-implants-types-sa…. [7 December 2022]
- Mayo Clinic. Contraceptive implant. [Online] Accessed https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/contraceptive-implant/about…. [7 December 2022]
- Healthline. Do Birth Control Implants Cause Weight Gain?. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/birth-control/birth-control-implant-w…. [7 December 2022]
- Kids Health. Implantable Contraception. [Online] Accessed https://kidshealth.org/en/teens/contraception-implantable.html. [7 December 2022]
- Planned Parenthood. Birth Control Implant. [Online] Accessed https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/birth-control-imp…. [7 December 2022]
- โรงพยาบาลศิครินทร์. “ยาฝังคุมกำเนิด” เรื่องควรรู้และผลข้างเคียงที่ต้องระวัง!. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.sikarin.com/female/ยาฝังคุมกำเนิด-เรื่อง. [7 ธันวาคม 2022]
- โรงพยาบาลนครธน. รู้จัก..ยาฝังคุมกำเนิด อีกหนึ่งวิธีคุมกำเนิดที่มีความปลอดภัย. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.nakornthon.com/article/detail/รู้จักยาฝังคุมกำเนิด-อีกหนึ่งวิธีคุมกำเนิดที่มีความปลอดภัย. [7 ธันวาคม 2022]
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info-old.php?id=547. [7 ธันวาคม 2022]
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ฝังยาคุมกำเนิดและห่วงอนามัยฟรี!. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/anamaidoh/posts
/506801044962396/. [19 มกราคม 2024] - สำนักงานประกันสังคม. ทำหมันแบบไหนที่ประกันสังคมคุ้มครอง?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/ssofanpage/posts. [19 มกราคม 2024]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สังเกต 20 อาการคนท้องระยะเริ่มต้น ในช่วง 1-4 สัปดาห์แรก
- แผลผ่าคลอด ดูแลอย่างไร ให้หายเร็ว และลดรอย
- อาการใกล้คลอด สังเกตทัน รับมือได้
- กรดไหลย้อนในคนท้อง อาการทั่วไปที่อาจไม่ทั่วไปแบบที่คิด
- ปากมดลูกเปิด สัญญาณใกล้คลอด ที่คุณแม่ต้องเตรียมพร้อม!
- เมนส์ไม่มากี่วันถึงท้อง ประจำเดือนไม่มาแปลว่าท้องใช่ไหม
- ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เช็กให้ชัวร์ว่าพร้อมมีลูกจริง
- ไม่สอดใส่ท้องไหม แค่จ่อปากถ้ำจะท้องหรือเปล่า
- ยาคุมให้นมบุตร ให้นมลูกกินยาคุมได้ไหม