ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
diarrhea-in-babies

ทารกท้องเสียบ่อย เพราะนมแม่จริงไหม ป้องกันได้ยังไงบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อาการท้องเสียของทารกนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การแพ้สารอาหารจากนมแม่ การแพ้โปรตีนในนมผง การแพ้นมผงบางสูตร การปนเปื้อนในนมผง หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ
  • อาการท้องเสียในเด็กทารกนั้นค่อนข้างที่จะดูได้ยาก เพราะปกติแล้วอุจจาระของทารกก็จะมีลักษณะอ่อนและเหลวอยู่แล้ว แต่ในส่วนของอาการท้องเสีย จะเห็นได้ว่ามีของเหลวออกมาพร้อมกับอุจจาระมากผิดปกติ โดยอาจจะมากจนกระทั่งล้นออกจากผ้าอ้อม หากเกิดลักษณะเช่นนี้บ่อย ๆ ก็แปลว่าลูกกำลังมีอาการท้องเสีย
  • ทารกที่มีอาการท้องเสียรุนแรง อาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ โดยมีสัญญาณคือ ปากแห้ง ผิวแห้ง ร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา หงุดหงิดบ่อย กินนมน้อยลง กระหม่อมบุ๋ม เปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยลงกว่าปกติ จากปกติต้องเปลี่ยนหลายครั้งต่อวัน

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ลูกท้องเสีย VS ลูกถ่ายเหลว เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง?
     • สัญญาณของอาการท้องเสียในทารก
     • สาเหตุที่เด็กท้องเสีย
     • อุจจาระทารกท้องเสียเป็นอย่างไร?
     • ดูแลลูกน้อยที่มีอาการท้องเสียได้อย่างไรบ้าง?
     • ทารกถ่ายเหลว เกิดจากอะไรได้บ้าง?
     • ไขข้อข้องใจเรื่องทารกท้องเสีย ถ่ายบ่อย กับ Enfa Smart Club

ปัญหาลูกท้องเสีย เป็นหนึ่งในอาการไม่สบายท้องที่มักทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลบ่อย ๆ แต่...ทำไมลูกถึงท้องเสีย? เด็กท้องเสียบ่อย ผิดปกติหรือเปล่า? บทความนี้จาก Enfa จะพามาหาคำตอบกันว่าทำไมลูกถึงท้องเสีย และเมื่อลูกท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีรับมือได้อย่างไรบ้าง 

ลูกท้องเสีย VS ลูกถ่ายเหลว เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง?




จริง ๆ แล้วอาการท้องเสียในทารกนั้นค่อนข้างที่จะดูได้ยาก เพราะปกติแล้วอุจจาระของทารกก็จะมีลักษณะอ่อนและเหลว ลูกถ่ายเหลวสีเหลืองถือว่าเป็นสิ่งปกติ

แต่ในส่วนของอาการท้องเสีย จะเห็นได้ว่ามีของเหลวออกมาพร้อมกับอุจาระมากผิดปกติ โดยอาจจะมากจนกระทั่งล้นออกจากผ้าอ้อม หากเกิดลักษณะเช่นนี้บ่อย ๆ ก็แปลว่าลูกกำลังมีอาการท้องเสีย หรือลักษณะอุจจาระเป็นมูกหรือเลือด ร่วมกับทารกมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ อาเจียน ซึม เป็นต้น

เด็กท้องเสียหรือไม่ คุณแม่ควรพิจารณาจากอะไร?

เมื่อเด็กทารกท้องเสีย ร่างกายของทารกจะสูญเสียน้ำและแร่ธาตุอย่างรวดเร็ว และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำภายในเวลา 1-2 วัน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ อยู่เสมอ 

หากทารกท้องเสีย อาการโดยทั่วไปที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตลักษณะอุจจาระได้ มีดังนี้ 

  • อุจจาระเหลวผิดปกติ 
  • อุจจาระมีน้ำมากผิดปกติ 
  • อุจจาระมีกลิ่นเหม็น 
  • อุจจาระมีเลือดหรือมูกเลือดปน 
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย หรือถ่ายอุจจาระทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อม 
  • เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยกว่าปกติ 

ลักษณะอุจจาระทารกท้องเสียเป็นอย่างไร?

อุจจาระทารกท้องเสียนั้น แม้จะสังเกตดี ๆ ก็ยังถือว่ายากที่จะแยกความแตกต่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทารกแรกเกิดที่อายุน้อยกว่า 2 เดือนมีอาการท้องเสีย ยิ่งแยกความแตกต่างได้ยาก เพราะเด็กแรกเกิดมักจะมีการขับถ่ายบ่อยอยู่แล้ว อาจขับถ่ายมากถึง 6 ครั้งต่อวันเป็นปกติ 

แต่หากลักษณะอุจจาระเป็นมูก หรือเลือดร่วมกับทารกมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ อาเจียน ซึม เป็นต้น ถือว่าเป็นลักษณะอุจจาระทารกท้องเสียค่ะ

ถ้าทารกมีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป และยังมีอาการถ่ายมากอยู่เหมือนเดิม ก็เป็นไปได้ว่าทารกกำลังมีอาการท้องเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขับถ่ายตั้งแต่ 3 ครั้งต่อวันขึ้นไป 

นอกจากจำนวนในการขับถ่ายแล้ว คุณแม่ก็อาจจะสังเกตจากปริมาณน้ำหรือของเหลวที่ไหลปนออกมากับอุจจาระ ถ้ามีน้ำหรือของเหลวออกมามากกว่าปกติ และเด็กขับถ่ายมากกว่าปกติ ก็แสดงว่าเด็กมีอาการท้องเสีย 

อาการท้องเสียในทารกลักษณะแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์

หากทารกมีอาการท้องเสียดังต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์ทันที 

  • ทารกแรกเกิดที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน และมีอาการท้องเสีย 
  • ทารกมีอาการท้องเสียและมีไข้ร่วมด้วย 
  • ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด มีเลือดปนออกมากับอุจจาระของทารก 
  • ทารกมีอาการคล้ายเจ็บปวด ไม่สบายตัว ร้องไห้งอแงผิดปกติ 
  • ไม่ค่อยกินนม หรือกินนมน้อยลง 
  • ทารกมีอาการอ่อนเพลีย 
  • มีอาการท้องเสียตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป 
  • ทารกมีภาวะขาดน้ำ โดยมีสัญญาณคือ ปากแห้ง ผิวแห้ง ร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา หงุดหงิดบ่อย กินนมน้อยลง กระหม่อมบุ๋ม เปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยลงกว่าปกติ จากปกติต้องเปลี่ยนหลายครั้งต่อวัน หรือภายใน 4-6 ชม. ไม่มีปัสสาวะเลย

เด็กท้องเสียมักเกิดจากสาเหตุใด?

เด็กท้องเสียสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้ 

เด็กทารกที่กินนมแม่

อุจจาระทารกที่กินนมแม่จะมีลักษณะ เละ เหลวนิ่ม สีเหลืองทอง ทารกในวัยเดือนแรกจะถ่ายเกือบทุกครั้งที่กินนมแม่ ลักษณะดังกล่าวไม่เรียกว่าท้องเสีย เป็นภาวะปกติในทารกวัยเดือนแรก นอกจากนี้ ยังมีบางภาวะที่อาจทำให้ทารกกินนมแม่ถ่ายได้บ่อยกว่าปกติ ได้แก่

  • อาหารที่แม่ให้นมลูกกินเข้าไปและมีผลทำให้ทารกท้องเสียได้ เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีแก๊สมาก คาเฟอีน 
  • ยาระบายที่แม่กินเข้าไปปริมาณมากเพื่อรักษาอาการท้องผูกสามารถส่งต่อไปยังทารกได้ผ่านทางน้ำนมแม่ เสี่ยงที่จะทำให้ทารกท้องเสียได้ 

เด็กทารกที่กินนมผง

  • นมผงบางสูตรมีโปรตีนทำมาจากนมวัว หากเด็กมีอาการแพ้โปรตีนนมวัวก็เสี่ยงที่จะมีอาการแพ้ และส่งผลให้ท้องเสีย 
  • น้ำที่นำมาใช้ชงนมผงอาจมีการปนเปื้อน หรือภาชนะบรรจุนมที่ชงแล้วไม่สะอาด แบคทีเรียและเชื้อโรต่าง ๆ อาจทำให้ทารกท้องเสียได้ 

เด็กโตที่เริ่มกินอาหารอื่น ๆ ควบคู่ไปกับนมแม่และนมผง

  • การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อราต่าง ๆ ซึ่งอาจมาจากอาหารการกิน จากสถานเลี้ยงเด็ก หรือจากการสัมผัสของญาติพี่น้องและผู้ใหญ่ในบ้าน 
  • อาหารตามวัย (Complementary Food บางอย่างอาจทำให้เด็กท้องเสียได้ เนื่องจากระบบทางเดินอาหารของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงยังอาจย่อยได้ไม่ดี หรืออ่อนไหวต่ออาหารบางชนิดเป็นพิเศษจนทำให้ท้องเสีย หรืออาหารอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย 
  • ยารักษาโรค เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิดที่ใช้สำหรับรักษาอาการทางสุขภาพของเด็ก อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เด็กท้องเสียได้ 
  • เด็กมีอาการแพ้อาหาร หรือแพ้สารอาหารบางอย่าง เช่น แพ้โปรตีนในนมวัว แพ้ถั่วเหลือง ก็สามารถทำให้เด็กท้องเสียได้เช่นกัน 
  • อาหารเป็นพิษ อาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ อาจปนเปื้อนเชื้อโรคและสิ่งสกปรก เสี่ยงที่จะทำให้เด็กท้องเสีย 

คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยที่มีอาการท้องเสียอย่างไร?

หลังจากสังเกตลักษณะอุจจาระทารกท้องเสีย และแน่ชัดแล้วว่าทารกมีอาการท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกในเบื้องต้นได้ ดังนี้ 

  • อย่าให้ลูกขาดน้ำ พยายามให้ลูกดื่มนม ไม่ว่าจะเป็นนมแม่หรือนมชง ก็ควรให้ตามปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีภาวะขาดน้ำ 
  • เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ผ้าอ้อมหมักหมมจนเกิดการสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรีย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อผื่นผ้าอ้อมได้ นอกจากนี้ อุจจาระทารกมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน จึงทำให้บริเวณก้นทารกสัมผัสกับอุจจาระแดงได้
  • หากทารกมีอาการขาดน้ำ ควรพาทารกไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษา 
  • หากทารกที่กินนมแม่แล้วท้องเสีย ให้คุณแม่ปรับเปลี่ยนอาหารการกิน งดอาหารที่มีแก๊สสูง หรืออาหารรสจัด ที่ผ่านส่งผ่านไปถึงทารกและทำให้ทารกท้องเสีย 
  • หากทารกที่กินนมผงแล้วท้องเสีย ให้ตรวจสอบดูว่านมผงมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อทารกหรือไม่ หรือภาชนะที่ใช้ในการชงนมสะอาดเพียงพอหรือไม่ ทำการปรับเปลี่ยนสูตรนมผง และทำความสะอาดภาชนะในการชงนมให้ดี ป้องกันไม่ให้ทารกท้องเสีย 
  • หากทารกที่กินอาหารตามวัยแล้วท้องเสีย ให้เปลี่ยนเป็นอาหารที่อ่อนลง เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย เช่น ข้าวต้ม

ยาแก้ท้องเสียเด็กมีอะไรบ้าง? คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้อย่างไร?

ปกติแล้วแพทย์มักจะไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ยาแก้ท้องเสียสำหรับเด็กเอง ซึ่งยาที่แพทย์จะสั่งจ่ายนั้น ส่วนมากแล้วจะสั่งจ่ายในกรณีที่มีอาการท้องเสียที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย

โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือสั่งจ่ายยารักษาเชื้อราในกรณีที่มีอาการท้องเสียเพราะติดเชื้อรา

และในกรณีที่ทารกมีอาการข้างเคียงจากการท้องเสียรุนแรงจนมีภาวะขาดน้ำ คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาทารกไปพบแพทย์โดยทันที แพทย์อาจให้ใช้เกลือแร่ เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาอาการสูญเสียน้ำ 

ทารกถ่ายเหลว บ่อยอันตรายไหม? เกิดจากอะไรได้บ้าง?

กรณีลูกกินนมแม่ และถ่ายเหลวบ่อย

สำหรับลูกน้อยที่กินนมแม่ ในช่วงเดือนแรก ๆ คุณแม่จะสังเกตได้ว่า ลูกน้อยถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายทันทีหลังกินนม ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่เข้าใจว่าลูกมีอาการท้องเสีย ซึ่งที่จริงแล้ว อาการแบบนี้เป็นอาการปกติของเด็กที่กินนมแม่ เนื่องจากนมแม่มีคุณสมบัติที่ย่อยง่าย และสามารถดูดซึมสารอาหารได้เกือบหมด ทำให้อุจจาระของลูกน้อยเวลาถ่าย มีกากน้อย และมีน้ำมาก 

ส่วนอีกสาเหตุ อาจจะเกิดจากคุณแม่ให้ลูกกินนมไม่เกลี้ยงเต้า คือ ดูดเต้าแรกไม่นานก็สลับเปลี่ยนให้ลูกไปกินนมอีกเต้า ทำให้ลูกได้กินน้ำนมเฉพาะแค่ส่วนหน้าของทั้งสองเต้าเท่านั้น หรือคุณแม่บางคนมีน้ำนมมาก ลูกน้อยกินนมเฉพาะส่วนหน้าก็อิ่มแล้ว ซึ่งในน้ำนมส่วนหน้าจะมีน้ำ และน้ำตาลแลคโตส เป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก จึงสามารถผ่านลงลำไส้ได้รวดเร็ว ทำให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมไม่ทัน ลูกจึงถ่ายออกมาเลยหลังกินนมมื้อนั้น ๆ 

กรณีลูกกินนมผง และถ่ายเหลวบ่อย

สำหรับเด็กบางคนที่แพ้อาหารผ่านนมแม่ หรือคุณแม่มีน้ำนมไม่พอ และมีความจำเป็นต้องให้ลูกกินนมผง อาจเป็นไปได้ว่าลูกมีปัญหาในการย่อยสารอาหารในนมผง เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของลูกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเอนไซม์ในลำไส้ที่ใช้ย่อยโปรตีน และน้ำตาลแลคโตสยังทำงานไม่เต็มที่ 

เมื่อลูกกินนมสูตรปกติที่มีโปรตีนเป็นโมเลกุลใหญ่และมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนผสม ลำไส้จะย่อยได้ไม่หมด สารอาหารบางส่วนจึงตกค้างในลำไส้จนเกิดเป็นแก๊ส ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กปวดท้อง แน่นท้องท้องอืดร้องกวน รวมทั้งอาการถ่ายทันทีหลังกินนม 

รับมือกับอาการลูกถ่ายเหลวบ่อยอย่างไรดี?

  • กรณีลูกกินนมแม่ และถ่ายเหลวบ่อย

แนะนำให้ลูกดูดนมแม่ให้เกลี้ยงเต้า เพราะน้ำนมส่วนหลังมีไขมันสูง ลูกจะใช้เวลาย่อย และดูดซึมนานขึ้น ทำให้การขับถ่ายทิ้งช่วงห่างออกไปได้ 

แต่หากยังไม่ดีขึ้น หรือในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมมาก จนลูกอิ่มก่อนที่จะดูดนมจนเกลี้ยงเต้า คุณแม่อาจใช้วิธีบีบน้ำนมแม่ส่วนหน้าที่มีลักษณะใสทิ้งไปประมาณ 20 – 30 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10 – 15 นาที ก่อนให้ลูกดูด เพื่อให้ลูกได้น้ำนมส่วนหลังที่ข้นและมีไขมันมากขึ้น ก็ช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน 

  • กรณีลูกกินนมผง และถ่ายเหลวบ่อย

อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการปกติ การถ่ายเหลวจะทำให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมไม่เต็มที่ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และพัฒนาการของลูก คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อเลือกนมสูตรย่อยง่าย ที่มีโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และมีสัดส่วนของน้ำตาลแลคโตสต่ำกว่าปกติ ซึ่งสอดคล้องกับระบบการย่อยของลูกที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ 

การเปลี่ยนสูตรนมผงนั้นสามารถทำได้ในกรณีที่เด็กมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง ร้องกวนแหวะนมได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีนมผงสูตรผสมใยอาหารสุขภาพที่ช่วยในการขับถ่าย อย่างเช่น พีดีเอ็กซ์ (PDX) และ กอส (GOS) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (Prebiotics) เป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้ จะช่วยปรับการทำงานของลำไส้ให้สมดุลได้ 

ลูกถ่ายเหลวบ่อยมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

การที่ลูกถ่ายบ่อยไป อาจทำให้ลูกก้นแดง เป็นแผล เกิดผื่นคล้าย ๆ ผื่นผ้าอ้อม รอบ ๆ ก้นและบริเวณขาหนีบ ซึ่งจะทำให้ลูกหงุดหงิด งอแง ร้องกวน ส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ และการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวก็ทำได้น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น 

หากเกิดอาการดังกล่าวขึ้น แนะนำให้หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อม ทำความสะอาดหลังการขับถ่ายทุกครั้ง และเช็ดก้นของลูกให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อลดความอับชื้นของผิวหนังบริเวณผ้าอ้อม รวมถึงทาครีมหรือ ออยเมนท์เพื่อช่วยเคลือบและปกป้องผิวของลูกจากการขับถ่าย 

คุณแม่ที่กำลังเผชิญกับปัญหาลูกถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายทันทีหลังกินนม ลองใช้วิธีสังเกตุลักษณะ และอาการของลูกน้อย รวมทั้งทำตามคำแนะนำ ก็จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขับถ่ายของลูกน้อยได้บ้าง ไม่มากก็น้อยค่ะ 

คุณแม่มือใหม่ยังสามารถหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการดูแลลูกน้อย ได้ที่ Enfa Smart Club พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ได้ที่ คลิก

ดูแลลูกที่มีอาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อยยังไงดี?

หากลูกมีอาการถ่ายเหลวบ่อย ถ่ายหลายครั้งต่อวัน ควรดูแลลูกดังนี้ 

  • เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เพราะเวลาที่ทารกท้องเสีย ก็จะมีอุจจาระออกมามาก ทำให้เกิดการหมักหมมได้ หากไม่เปลี่ยนบ่อย ๆ นอกจากจะเสี่ยงต่อเชื้อโรคแล้ว ผ้าอ้อมที่สกปรก ยังเสี่ยงที่จะทำให้ทารกเป็นผื่นผ้าอ้อมด้วย 
  • สังเกตอาการขาดน้ำ ทารกที่ท้องเสียบ่อย หรือถ่ายบ่อย อาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตดูด้วยว่าทารกมีอาการปากแห้ง ผิวแห้ง ร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา หงุดหงิดบ่อย กินนมน้อยลง กระหม่อมบุ๋ม เปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยลงกว่าปกติ จากปกติต้องเปลี่ยนหลายครั้งต่อวัน หากมีอาการดังที่กล่าวไป ควรพาไปพบแพทย์ทันที  
  • รักษาความสะอาด ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม ควรล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อและสิ่งสกปรกไปยังผู้อื่น  

ไขข้อข้องใจเรื่องทารกท้องเสีย ถ่ายบ่อย กับ Enfa Smart Club

1. ลูกท้องเสีย ถ่ายมีมูกเลือด อันตรายไหม?

หากลูกท้องเสียและมีมูกเลือดปนออกมาด้วย ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะมีความผิดปกติภายในระบบขับถ่ายของทารกได้ 

2. ลูกถ่ายบ่อยสีเหลือง แบบนี้ปกติหรือต้องระวัง?

สีของอุจจาระทารกนั้นจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งอุจจาระสีเหลืองทองมักเป็นอุจจาระของทารกที่กินนมแม่ จึงอาจไม่ใช่เรื่องผิดปกติ 

แต่ถ้าทารกมีอาการถ่ายบ่อยกว่าปกติ ถ่ายแล้วมีของเหลวออกมามากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าทารกกำลังท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด หรือพาไปพบแพทย์ 

3. ลูกน้อยท้องเสีย และมีอาการซึม อันตรายหรือไม่?

หากลูกน้อยมีอาการท้องเสียและมีอาการซึม หรืออ่อนเพลีย ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะทารกอาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำหรือติดเชื้อได้ 

4. ทารกท้องเสีย กินยาอะไร?

โดยมากแล้วแพทย์จะไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อยาสำหรับรักษาอาการท้องเสียมาใช้กับเด็ก ยาแก้ท้องเสียเด็กจำเป็นจะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งแพทย์อาจให้ใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่อาการท้องเสียมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

5. ลูก 9 เดือนท้องเสีย ไม่มีไข้ อันตรายหรือไม่?

โดยมากแล้วอาการลูกท้องเสียไม่มีไข้ร่วมด้วยมักไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจับตาดูแลอย่างใกล้ชิด หากลูกท้องเสียตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จะมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย ก็ควรพาไปพบแพทย์ 

6. ทารกท้องเสีย อุจจาระมีมูก บ่งบอกอะไร?

ทารกท้องเสีย และมีมูกปนมากับอุจจาระ อาจเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อหรือแพ้โปรตีนนมวัว หากทารกถ่ายแล้วมีมูกปน ควรพาไปพบแพทย์ทันที 

7. ท้องเสียในเด็ก ใช้ยาแก้ท้องเสียแบบเดียวกับผู้ใหญ่ไหม?

อาการท้องเสียในเด็กไม่ควรใช้ยาแก้ท้องเสียโดยที่ไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางชนิดอาจรุนแรงไปสำหรับเด็ก และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้

ก่อนใช้ยาใด ๆ ในการรักษาอาการท้องเสียของเด็ก ควรปรึกษาหรือได้รับความเห็นชอบจากแพทย์เสียก่อน ไม่ควรซื้อยามาใช้กับเด็กเอง 

8. ลูกมีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร? อันตรายไหม?

อาการท้องเสียที่มีไข้ร่วมด้วย อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา 

9. เด็กแรกเกิดท้องเสีย ทั้งๆ ที่กินแต่นมแม่ เป็นเพราะอะไร?

เด็กที่กินนมแม่แล้วท้องเสีย โดยมากแล้วไม่ผิดปกติ เนื่องจากนมแม่มีคุณสมบัติที่ย่อยง่าย และสามารถดูดซึมสารอาหารได้เกือบหมด ทำให้อุจจาระของลูกน้อยเวลาถ่าย มีกากน้อย และมีน้ำมาก 

หรืออาจเกิดจากคุณแม่ให้ลูกกินนมไม่เกลี้ยงเต้า คือ ดูดเต้าแรกไม่นานก็สลับเปลี่ยนให้ลูกไปกินนมอีกเต้า ทำให้ลูกได้กินน้ำนมเฉพาะแค่ส่วนหน้าของทั้งสองเต้าเท่านั้น หรือคุณแม่บางคนมีน้ำนมมาก ลูกน้อยกินนมเฉพาะส่วนหน้าก็อิ่มแล้ว ซึ่งในน้ำนมส่วนหน้าจะมีน้ำ และน้ำตาลแลคโตส เป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก จึงสามารถผ่านลงลำไส้ได้รวดเร็ว ทำให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมไม่ทัน ลูกจึงถ่ายออกมาเลยหลังกินนมมื้อนั้น ๆ 

หรืออาจเป็นเพราะอาหารการกินของคุณแม่ ที่มีแก๊สมากเกิน หรือเป็นอาหารรสจัด หรือคุณแม่กำลังกินยาระบายในช่วงที่ให้นมลูก ปัจจัยเรื่องอาหารการกินเหล่านี้ สามารถส่งต่อไปยังทารกผ่านทางน้ำนม และทำให้ทารกท้องเสียได้แม้ว่าจะกินแค่นมแม่เพียงอย่างเดียวก็ตาม


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

บทความที่แนะนำ

ลูกถ่ายไม่ออก ร้องไห้
gassy-baby
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner