ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
อาหารเด็ก 6 เดือน

อาหารเด็ก 6 เดือน อะไรกินได้ อะไรต้องเลี่ยง

Enfa สรุปให้

  • ช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มแนะนำอาหารอื่น ๆ นอกจากนมแม่ให้กับลูก
  • เพราะเมื่อทารกเริ่มโตขึ้น ทารกก็ต้องการสารอาหารและพลังงานที่มากกว่าในนมแม่ เพื่อใช้สำหรับการเจริญเติบโต และเสริมสร้างพัฒนาการสำคัญ
  • หากคุณแม่ไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ หรือเริ่มช้ากว่านี้ อาจเสี่ยงที่จะทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและพัฒนาการที่ไม่สมวัย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • อาหารเด็ก 6 เดือน ควรเป็นอย่างไร
     • แนะนำเมนูอาหารเด็ก 6 เดือน
     • ตารางอาหารทารก 6 เดือน
     • เตรียมอาหารให้ลูก 6 เดือน ยังไงดี
     • ฝึกลูกกินข้าวตอน 6 เดือน ยังไงดี
     • ไขข้อข้องใจเรื่องอาหารทารก 6 เดือนกับ Enfa Smart Club

เมื่อลูกมีอายุได้ 6 เดือน ก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเริ่มเพิ่มเติมแหล่งอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ เพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้รับสารอาหารที่หลากหลาย และเพียงพอต่อการเจริญเติบโต เพราะหลังจากอายุ 6 เดือนขึ้นไป สารอาหารจากนมแม่เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตที่สมวัย 

เข้าใจโภชนาการเด็ก 6 เดือน และอาหารเด็ก 6 เดือน


อาหารทารก 6 เดือน หลัก ๆ แล้วยังจำเป็นจะต้องยืนพื้นที่นมแม่อยู่ค่ะ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อลูกอายุ 6 เดือนแล้วจะต้องลดหรือเลิกให้ลูกกินนมแม่ นมแม่ยังต้องกินอยู่ค่ะ เพียงแต่จะต้องเริ่มเพิ่มเติมแหล่งอาหารอื่น ๆ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารต่าง ๆ จากแหล่งอาหารที่หลากหลาย 

เมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นให้ลูกได้กินอาหารตามวัยทารก หรือ Solid Foods 

อาหารสำหรับเด็ก 6 เดือน สำคัญอย่างไร ทำไมคุณแม่จึงควรเริ่มให้อาหารเสริมเมื่อลูกอายุ 6 เดือน

การเริ่มแนะนำให้ลูกได้กินอาหารตามวัยทารก หรืออาหารมื้อแรกของลูก 6 เดือน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของพัฒนาการตามวัย ช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มแนะนำอาหารอื่น ๆ นอกจากนมแม่ให้กับลูก 

เพราะเมื่อทารกเริ่มโตขึ้น ทารกก็ต้องการสารอาหารและพลังงานที่มากกว่าในนมแม่ เพื่อใช้สำหรับการเจริญเติบโต และเสริมสร้างพัฒนาการสำคัญ 

หากคุณแม่ไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ หรือเริ่มช้ากว่านี้ อาจเสี่ยงที่จะทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและพัฒนาการที่ไม่สมวัย 

แนะนำเมนูอาหารเด็ก 6 เดือน


ตัวอย่าง เมนูอาหารทารก 6 เดือน ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้ลูกกินได้ง่าย ๆ 

เมนูเนื้อสัตว์ 

  • ตับบดละเอียด 
  • ไข่ต้มสุก อาจใช้เพียงไข่แดง หรือไข่ขาวก็ได้ 
  • ปลาบดละเอียด อย่าลืมเอาก้างออกให้หมด 
  • แซลมอนบดละเอียด 
  • ไก่บดละเอียด 
  • หมูบดละเอียด 

เมนูผัก 

  • ฟักทองบดละเอียด 
  • แครอทบดละเอียด 
  • ตำลึงบดละเอียด 
  • บร็อคโคลี่บดละเอียด 
  • ถั่วบดละเอียด 
  • อโวคาโดบดละเอียด 
  • บัตเตอร์นัท สควอชบดละเอียด 
  • มันเทศ หรือมันหวานบดละเอียด 
  • มันฝรั่งต้มสุก หรือบดละเอียด 

เมนูผลไม้  

  • มะม่วง หั่นชิ้นเล็ก ๆ หรือบดละเอียด 
  • กล้วย หั่นชิ้นเล็ก ๆ หรือบดละเอียด 
  • เบอร์รีต่าง ๆ หั่นชิ้นเล็ก ๆ หรือบดละเอียด 
  • กีวี หั่นชิ้นเล็ก ๆ หรือบดละเอียด 
  • แอปเปิ้ล หั่นชิ้นเล็ก ๆ หรือบดละเอียด 
  • ลูกพีช หั่นชิ้นเล็ก ๆ หรือบดละเอียด 
  • ลูกแพร์ หั่นชิ้นเล็ก ๆ หรือบดละเอียด 
  • ส้มหั่นชิ้นเล็ก ๆ 
  • มะละกอสุกบดละเอียด 
  • เมล่อนสุกบดละเอียด 

เมนูข้าว+แป้ง 

  • ข้าวสวยบดละเอียด 
  • ข้าวกล้องบดละเอียด 
  • ขนมปังขอบขาวบดละเอียด 
  • ข้าวโอ๊ตบดละเอียด 
  • ควินัวบดละเอียด 
  • พาสต้าต้มสุก หรือบดละเอียด 

ตารางอาหารทารก 6 เดือน


 

ตารางอาหารทารก 6 เดือน

เด็กอายุ 6 เดือน ยังจำเป็นที่จะต้องกินนมแม่อยู่ แต่คุณแม่สามารถเริ่มให้อาหารแบบผู้ใหญ่ควบคู่กันไปด้วยได้แล้ว โดยอาหารสำหรับเด็กวัย 6 เดือน ควรจะต้องประกอบไปด้วย 

  • ข้าวสวยบดละเอียด 
  • เนื้อสัตว์ ไข่ ตับ บดละเอียด 
  • ผักบดละเอียด 
  • ผลไม้เด็ก 6 เดือน ต้องนิ่ม หั่นเป็นชิ้น หรือบดละเอียด 
  • หากอาหารมื้อนั้นหนืดไปหน่อย อาจเพิ่มด้วยน้ำซุปด้วยก็ได้ แต่น้ำซุปนั้นจะต้องไม่ปรุงอะไรลงไปเลย 

ผัก เนื้อสัตว์ ผลไม้ต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ในแต่ละวัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสารอาหาร เสริมให้เด็กเติบโตอย่างสมวัย 

คุณพ่อคุณแม่อาจสามารถเริ่มแนะนำอาหารตามวัยให้กับลูกได้ตามตารางอาหารเสริมทารก 6 เดือนแบบง่าย ๆ ดังนี้  

ตัวอย่างที่ 1 

  • ข้าวสวยบดละเอียด 2 ช้อนกินข้าว
  • ไข่แดงสุก ครึ่งฟอง
  • ตำลึงบดครึ่งช้อนกินข้าว 
  • ผลไม้สุกชนิดต่าง ๆ 1-2 ชิ้น หรือจะนำมาบดสัก 1-2 ชิ้นก็ได้ 

ตัวอย่างที่ 2 

  • ข้าวสวยบดละเอียด 2 ช้อนกินข้าว 
  • ปลาสุกบดละเอียด  1 ช้อนกินข้าว 
  • ฟักทองบด ครึ่งช้อนกินข้าว 
  • กล้วยน้ำว้าสุก 1-2 ชิ้น หรือจะนำมาบดสัก 1-2 ชิ้นก็ได้ 

ตัวอย่างที่ 3 

  • ข้าวสวยบดละเอียด 2 ช้อนกินข้าว 
  • ตับบดสุก 1 ช้อนกินข้าว 
  • แครอทบด  ครึ่งช้อนกินข้าว 
  • มะม่วงสุก1-2 ชิ้น หรือจะนำมาบดสัก 1-2 ชิ้นก็ได้ 

เตรียมอาหารเด็ก 6 เดือน ยังไงดี


คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมอาหารตามวัยทารก หรือ Solid Foods สำหรับเด็ก 6 เดือนได้ดังนี้ 

  • อาหารที่จะให้ลูกกิน ไม่ว่าจะเป็นผัก เนื้อสัตว์ ผลไม้ จะต้องนำมาต้มสุกจนนิ่ม และสามารถบดได้ละเอียด เพื่อให้ทารกสามารถที่จะกลืนลงท้องได้โดยไม่ติดคอ ทั้งยังช่วยให้ทารกสามารถย่อยได้ง่ายขึ้นด้วย 
  • หากจะเสิร์ฟอาหารเป็นชิ้น ควรหั่นชิ้นพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป เพราะอาจติดคอทารกได้ 
  • เมนูเด็ก 6 เดือน ไม่ควรมีการปรุงรสใด ๆ เพราะเสี่ยงที่ทารกจะได้สารอาหารอื่น ๆ สูงเกินจำเป็น เช่น โซเดียมสูง หรือน้ำตาลสูงเกินไป 
  • อาหารทุกอย่างต้องสด สะอาด และผ่านการปรุงสุกแล้วเรียบร้อย ไม่ควรมีอาหารชนิดใดที่กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือไม่สะอาด
     

ปริมาณอาหารสำหรับทารก 6 เดือน 

แรกเริ่มการแนะนำให้ลูกได้กินอาหารตามวัยนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ต้องรีบให้ลูกกินเยอะ ๆ นะคะ ให้เริ่มจาก 2-3 ช้อนโต๊ะก่อน เช่น กล้วยบด ไก่บด แล้วดูว่าลูกยังอยากกินอีกไหม ถ้าลูกอิ่มแล้ว ก็ให้หยุดป้อน แต่ถ้าลูกยังไม่อิ่ม จึงค่อยป้อนต่อ  

เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยแล้ว จึงค่อยเพิ่มเป็น 3 ช้อนโต๊ะ 4 ช้อนโต๊ะ 5 ช้อนโต๊ะในวันถัดไป 

ลูก 6 เดือนกินข้าวกี่มื้อ 

แล้วแบบนี้เด็ก 6 เดือนกินข้าวกี่มื้อกันล่ะ? 

เด็ก 6 เดือน แม้ว่าจะเริ่มกินอาหารอื่น ๆ ได้ แต่นมแม่ก็ยังเป็นอาหารหลักอยู่ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทารกวัย 6 เดือนกินนมแม่เป็นอาหารหลัก และกินอาหารตามวัยวันละ 1 มื้อ 

เมื่อลูกเริ่มชินกับการกินอาหารแบบใหม่แล้ว จึงค่อยเพิ่มปริมาณเป็น 2 มื้อ 3 มื้อ ตามลำดับ 

ฝึกลูกกินข้าวตอน 6 เดือน ยังไงดี 

คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกให้ทารกกินอาหารตามวัยได้ ดังนี้ 

  • เริ่มจากมื้อเล็ก ๆ ก่อน โดยอาจเริ่มจากผักบด ผลไม้บด เนื้อสัตว์บด ในขนาดช้อนชาก่อน หากทารกตอบสนองต่อมื้ออาหารได้ดี จึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเป็นช้อนโต๊ะ และเป็นถ้วย 
  • ให้ลูกสัมผัส เด็กยังไม่รู้จักอาหารใหม่ ๆ ดังนั้น ให้เด็กได้ทำความคุ้นชิน ได้สัมผัส ได้ขยำอาหาร ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เด็กเข้ากับมื้ออาหารใหม่ ๆ ได้ง่าย 
  • ป้อนอาหารทีละอย่าง อย่าเพิ่งให้ลูกกินอาหารหลาย ๆ อย่างในแต่ละวัน วันนี้อาจจะเป็นกล้วยบดอย่างเดียว วันถัดมาเป็นเนื้อสัตว์บด วันถัดไปเป็นผักบด วิธีนี้นอกจากจะช่วยฝึกลูกกินอาหารตามวัยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถรู้ได้อีกว่าลูกแพ้อาหารชนิดไหนบ้าง เพราะถ้าหากให้อาหารหลายชนิดในมื้อเดียวกันหรือวันเดียวกัน อาจจะไม่ทราบว่าลูกกำลังแพ้อาหารชนิดไหน 
  • ทำเป็นตัวอย่าง คุณพ่อคุณแม่สามารถกินอาหารให้ทารกดูก่อน เพื่อแนะนำให้เด็กได้รู้ว่าแบบนี้คือกินข้าวนะ ทำบ่อย ๆ เด็กก็จะเริ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบ และกินอาหารได้ง่ายขึ้น 
  • รู้จังหวะ หากทารกไม่ยอมเริ่มกินอาหารสักที แม้ว่าจะลองทำหลายวิธีแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจหลอกล่อให้ทารกอ้าปาก ด้วยการร้องเพลง หรือทำท่าทางตลก ๆ หรือหลอกล่อว่าจรวดเข้าถ้ำ จังหวะที่ทารกเริ่มอ้าปาก ให้ป้อนอาหารทันที ระวังอย่าทำแรงเกินไป อาจเกิดอุบัติเหตุได้ และเมื่อทารกเบือนหน้าหนี ให้หยุดทันที เพราะลูกอาจอิ่มแล้ว 
  • อดทน ไม่ใช่เด็กทุกคนจะเริ่มกินอาหารตามวัยได้ตั้งแต่มื้อแรก ทารกอาจมีการปฏิเสธ หรืองอแง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลุ้มไปค่ะ ของแบบนี้เราค่อย ๆ ทำกันได้ วันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้ลองใหม่ 

ไขข้อข้องใจเรื่องอาหารเด็ก 6 เดือน กับ Enfa Smart Club


วิธีต้มข้าวให้ลูก 6 เดือน? 

คุณพ่อคุณแม่ควรต้มข้าวให้สุกและนิ่มกำลังดี สามารถบดละเอียดได้ และก่อนหุงข้าวควรระวังอย่าให้มีเศษใบไม้ กิ่งไม้ ก้อนหิน หรือวัสดุต่าง ๆ ปะปนไปกับข้าว 

ข้าวเด็ก 6 เดือน ห้ามกินอะไรบ้าง? 

เด็กวัย 6 เดือนควรจะกินอาหารที่นิ่มหรือบดละเอียดเท่านั้น ไม่ควรให้เด็กกินอาหารที่แข็ง เช่น แครอตที่ต้มไม่สุก หรือแอปเปิ้ลชิ้นใหญ่ 

อาหารต่าง ๆ ของเด็กไม่ควรมีการปรุงรสใด ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กได้รับโซเดียมสูง หรือน้ำตาลสูง 

นอกจากนี้อาหารทารก 6 เดือน ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ด้วย 

  • น้ำผึ้ง 
  • ชีสที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือพาสเจอไรซ์ 
  • นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือพาสเจอไรซ์ 
  • อาหารที่ไม่สุก ทั้งเนื้อสัตว์ และผัก ควรจะต้องต้มจนสุกและนิ่ม 
  • เยลลี่ต่าง ๆ 
  • ถั่วต่าง ๆ ที่ยังไม่บดละเอียด เพราะอาจติดคอทารกได้ 
  • น้ำอัดลมหรือโซดา 
  • ปลาทะเลที่มีความเสี่ยงของการปนเปื้อนสารปรอทสูง เช่น ฉลาม ปลากระโทงดาบ 
  • นมวัว หรือนมยูเอชทีสำหรับเด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไป 

ทารก 6 เดือนกินข้าวกี่ช้อน? 

แรกเริ่มคุณพ่อคุณแม่อาจจะให้ลูกได้กินอาหารตามวัยแค่ 1 ช้อนก่อน แล้วทยอยเพิ่มปริมาณทีละช้อนในวันต่อ ๆ ไป จนกว่าลูกจะเริ่มกินได้คล่องขึ้นก็อาจจะเพิ่มปริมาณมาเป็น 1 ถ้วย 

อาหารเสริมเด็ก 6 เดือน ต้องเริ่มให้ตอน 6 เดือนเท่านั้นหรือเปล่า ให้เร็วกว่านี้ได้ไหม? 

อาหารตามวัยทารก ควรเริ่มเมื่อทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปเท่านั้น ไม่ควรเร็วหรือช้าไปกว่านี้ กรณีที่ให้ทารกินอาหารอื่น ๆ ก่อนอายุ 6 เดือนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ท้องเสีย หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ  

ทั้งนี้ระบบการย่อยอาหารของทารกวัยก่อน 6 เดือนนั้นยังไม่แข็งแรงพอที่จะย่อยอาหารชนิดอื่น ๆ ได้ นมแม่เพียงอย่างเดียวถือว่าเพียงพอสำหรับเด็กอายุก่อน 6 เดือนแล้วค่ะ 

เมนูอาหารลูก 6 เดือน เตรียมยังไงไม่ให้น่าเบื่อ? 

คุณพ่อคุณแม่สามารถเปลี่ยนเมนูใหม่ ๆ ให้ลูกได้ทุกวันเลยค่ะ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ชนิดเดิมไปตลอด วันนี้เป็นกล้วย พรุ่งนี้อาจเป็นส้ม วันถัดไปอาจจะเป็นเบอร์รีก็ได้ ขอเพียงนำมาปรุงให้สุกจนนิ่ม และบดให้ละเอียดก็เป็นอันใช้ได้ 

ผลไม้สำหรับเด็ก 6 เดือน มีอะไรบ้าง? 

ผลไม้สําหรับทารก 6 เดือนนั้น ควรจะเป็นผลไม้ที่มีลักษณะนิ่ม หรือถ้าไม่นิ่ม ก็ควรจะนำมาบดให้ละเอียดเสียก่อน โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะเลือกเสิร์ฟผลไม้ต่าง ๆ เช่น  

  • กล้วย 
  • ส้ม 
  • มะละกอสุก 
  • เบอร์รีต่าง ๆ 
  • กีวี 
  • ลูกพีช 
  • ลูกแพร์ 
  • มะม่วงสุก 
  • เมล่อนสุก 

สูตรอาหารเด็ก 6 เดือน สำหรับเด็กแพ้ง่าย แม่ควรเลี่ยงอะไร? 

แรกเริ่มนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มให้อาหารลูกชนิดละวัน เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกแพ้อาหารชนิดไหน ครั้งต่อไปก็ไม่ควรนำอาหารชนิดนั้นมาปรุงให้ลูกกินอีก 

นอกจากนี้ หากคุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลเรื่องอาการแพ้ของลูก ควรพาลูกไปเข้ารับการทดสอบการแพ้กับแพทย์ เพื่อที่จะได้ทราบว่าอาหารชนิดใดที่ควรหลีกเลี่ยง 

เลือกข้าวโอ๊ตสําหรับทารก 6 เดือน ให้ลูก 6 เดือนกินได้ไหม? 

คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกกินข้าวโอ๊ตได้ค่ะ แต่ควรนำมาต้มให้สุกจนนิ่ม หรือบดละเอียดเสียก่อน  

เลือกอาหารเสริมทารก 6 เดือนสําเร็จรูป ให้ลูกกินได้ไหม? 

อาหารเสริมสำหรับทารกนั้น ลูกสามารถกินได้ค่ะ แต่ว่าจริง ๆ แล้วอาหารเสริมทารกนั้นไม่ได้มีความจำเป็นเลยค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่สามารถหาอาหารที่ดีและมีประโยชน์มาปรุงให้ลูกกินได้ 

เมนู BLW 6 เดือน เลือกยังไงดี?

เมนู BLW สำหรับเด็ก 6 เดือนนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้เลยค่ะ นำมาปรุงให้สุกจนนิ่ม และบดละเอียดก่อน แล้วจึงป้อนให้กับลูก แต่ถ้าจะให้ดีควรเลือกอาหารที่มีลักษณะนิ่มอยู่แล้วก็จะดีกว่า มากไปกว่านั้น ถ้าลูกมีอาการแพ้อาหารชนิดไหน ครั้งต่อไปก็ให้หลีกเลี่ยงและไม่นำมาปรุงให้กับลูกอีก



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

บทความที่แนะนำ

diarrhea-in-babies
สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน
noisy-breathing-in-infants
Enfa Smart Club

Leaving page banner