Enfa สรุปให้
- เมื่อเด็กทารกมีอายุ 6 เดือน จะเป็นช่วงอายุที่เหมาะสำหรับการฝึกให้กินอาหารตามวัยเด็กทารก (Solids Foods) เพื่อให้เด็กทารกได้รับสารอาหารที่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต อีกทั้งยังเป็นการปรับให้เด็กทารกได้ฝึกกินอาหารที่คล้ายคลึงกับอาหารแบบผู้ใหญ่
- อาหารเด็ก 6 เดือน ที่ควรแนะนำให้กับลูกน้อยได้ลองกิน ควรเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารหลากหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม เป็นต้น เน้นเลือกวัตถุดิบสดใหม่ สะอาด ปลอดภัย มีตามฤดูกาลและในท้องถิ่นนั้น ๆ
- ในช่วงอายุ 6 เดือน จะยังไม่สามารถเคี้ยว หรือกลืนอาหารได้ดีเหมือนกับผู้ใหญ่ ดังนั้น อาหารเด็ก 6 เดือน ควรมีเนื้อสัมผัสที่ค่อนข้างละเอียด ใช้การบดอาหารแทนการปั่น เนื่องจากการปั่นอาจจะทำให้อาหารมีลักษณะที่เหลวเกินไป ทำให้ลูกน้อยไม่ได้ฝึกการเคี้ยว
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• อาหารทารก 6 เดือนควรเป็นแบบไหน
• ลูก 6 เดือน กินข้าวกี่มื้อ
• ป้อนข้าวลูก 6 เดือน เวลาไหนบ้าง
• ปริมาณอาหารทารก 6 เดือน
• ตารางอาหารทารก 6 เดือน
• เมนูอาหารเด็ก 6 เดือน
• ไขข้อข้องใจเรื่องการเตรียมอาหารมื้อแรกของลูก 6 เดือน
หนูอายุ 6 เดือนแล้ว ถึงเวลาเริ่มกินอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่แล้วจ้า! เมื่อเจ้าตัวเล็กอายุ 6 เดือน ก็จะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่สามารถเริ่มฝึกให้ลูกน้อยได้รับประทานอาหารตามวัยเด็กทารก (Solid Foods) หรือที่เราอาจจะได้ยินคำถามบ่อย ๆ ว่า เมื่อไหร่ลูกจะกินกล้วยบดได้ กินน้ำได้ กินข้าวได้ นี่แหละค่ะ คืออาหารตามวัยเด็กทารกที่ว่ากัน
แต่ไหน ๆ คุณแม่จะต้องเริ่มให้อาหารตามวัยเด็กทารกกันแล้ว วันนี้เอนฟาเลยมีเคล็ดลับดี ๆ มาฝาก เมื่อคุณแม่จะต้องเริ่มฝึกให้ลูกน้อยกินอาหารเด็ก 6 เดือน มีอะไรบ้างที่ต้องรู้ และอะไรบ้างที่ต้องควรระวัง ตามมาดูกันเลยค่ะ!
ทำความเข้าใจลักษณะอาหารทารก 6 เดือน ควรเป็นแบบไหน
เมื่อลูกน้อยเข้าสู่อายุ 6 เดือน ก็เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่สามารถเริ่มแนะนำอาหารชนิดใหม่ให้กับลูกน้อยได้ ซึ่งอาหารเด็ก 6 เดือน หลัก ๆ ยังคงเป็นนมแม่อยู่ แต่จะเริ่มให้อาหารชนิดอื่น ๆ เพื่อเป็นการแนะนำอาหารชนิดใหม่ ฝึกให้ลูกน้อยได้คุ้นชินกับการกินอาหารแข็ง และเพื่อเพิ่มสารอาหารและพลังงานที่ร่างกายลูกน้อยต้องการ
อาหารทารก 6 เดือน ควรมีลักษณะเนื้อสัมผัสอาหารที่ค่อนข้างเหลว เน้นการบดมากกว่าการปั่น เนื่องจากการปั่นอาหารจะทำให้ลูกน้อยไม่ได้ทดลองฝึกการเคี้ยวและกลืน สามารถเริ่มให้ลูกน้อยได้ลองกินอาหารง่าย ๆ
เช่น อาหารจำพวกผัก หรือผลไม้ นำมาต้มให้สุก ก่อนนำมาบด เช่น มันฝรั่ง มันหวาน แครอท ผักโขม รวมทั้งสามารถกินอาหารจำพวกผลไม้ที่สุกแล้วได้ เช่น กล้วยน้ำว้า แอปเปิ้ล สาลี่ ซึ่งอาจจะบด ปั่น หรือคั้นน้ำ เพื่อให้ลูกน้อยได้ลองกินได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรเฝ้าระวังอาหารบางชนิดที่อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้อาหาร เนื่องจากเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าลูกน้อยมีอาการแพ้อาหารอะไรหรือไม่ ดังนั้นคุณแม่ควรสังเกตอาการแพ้หลังจากที่ให้กินอาหารชนิดอื่น ๆ ไป ประเภทอาหารที่พบอาการแพ้ได้บ่อย เช่น
• นมวัว
• ไข่
• อาหารที่มีโปรตีนกลูเตน เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรซ์ เป็นต้น
• ถั่วและธัญพืช
• อาหารทะเล
หากพบว่าลูกน้อยกินอาหารที่มีส่วนประกอบเหล่านี้เข้าไป ต่อมามีอาการแพ้ เช่น เป็นผื่น ร้องไห้งอแง ถ่ายเหลว อาเจียน คัดจมูก น้ำมูกไหล ตาแดง เป็นต้น ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่ามีลูกน้อยมีอาการแพ้อาหารหรือไม่และทำการรักษาต่อไป
ลูก 6 เดือนกินข้าวกี่มื้อ
ในเด็กเล็กวัย 6 เดือนนั้น ยังคงเน้นการให้นมแม่ตามปกติเหมือนช่วงเวลาก่อนหน้า โดยจะเฉลี่ยการให้นมประมาณ 5 – 8 ครั้ง/วัน หรือตามความต้องการของลูกน้อย และจะเพิ่มอาหารตามวัยเด็กทารกเข้าไปในแต่ละวัน เนื่องจากกระเพาะของเด็กทารกมีขนาดเล็ก ในช่วงแรกที่เริ่มให้กินอาหาร ควรเริ่มให้กินอาหารในปริมาณที่ไม่มาก
จำนวนมื้อาหารตามวัยเด็กทารก 6 เดือน จะกินอาหารประมาณ 1 – 2 มื้อ/วัน หรือคุณแม่สามารถแบ่งปริมาณอาหารใน 1 มื้อ ออกเป็นหลายครั้งได้ แต่หากพบว่าลูกน้อยแสดงอาการอิ่ม ไม่ต้องการกินอาหารแล้ว ควรหยุดป้อน ไม่ควรฝืน หรือบังคับให้กินต่อ
ป้อนข้าวลูก 6 เดือน เวลาไหนดี?
คุณแม่หลายคนอาจจะสงสัยว่า ควรป้อนข้าวลูก 6 เดือน ตอนช่วงเวลาไหนของวันดี จำเป็นต้องป้อนอาหารตามมื้ออาหารเหมือนกับมื้ออาหารของผู้ใหญ่หรือไม่นะ
อันที่จริงแล้ว ไม่มีเวลากำหนดตายตัวสำหรับการเริ่มป้อนอาหารตามวัยเด็กทารก คุณแม่สามารถป้อนอาหารในช่วงเวลาใดของวันก็ได้ จะเป็นตอนเช้า สาย เที่ยง บ่าย หรือเย็น ก็ได้หมดค่ะ อาจจะเลือกช่วงเวลาที่ลูกน้อยกินนมไม่มาก เป็นช่วงบ่าย ๆ หรือช่วงเย็น เพื่อไม่ให้ลูกอิ่มเกินไป หรือจะเลือกป้อนอาหารในมื้อเช้าเลยก็ได้เช่นกัน
ในช่วงแรกที่เริ่มป้อนอาหารตามวัยเด็กทารก อาจจะต้องใช้เวลาในการกินอาหารนานกว่าปกติ คุณแม่ควรเผื่อเวลาในมื้ออาหารนั้น ๆ ไว้ รวมทั้งเน้นป้อนอาหารตามจังหวะการกินของลูกน้อย รอให้ลูกอ้าปากก่อนจะป้อนอาหาร และหยุดเมื่อลูกไม่ต้องการกิน หรือแสดงอาการอิ่ม
หากพบว่าในช่วงแรก ลูกน้อยไม่ยอมกิน กินน้อย หรือบางครั้งคายออกมา ให้รอป้อนใหม่ในมื้อต่อไป ไม่ควรฝืน หรือบังคับลูกน้อยให้กินอาหาร นอกจากนี้ยังควรปรับเปลี่ยนชนิดอาหารให้มีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกน้อยได้ลองลิ้มรส และสัมผัสความหยาบของอาหารชนิดใหม่ ๆ
ปริมาณอาหารที่ควรได้รับในทารก 6 เดือน
ปริมาณอาหารเด็ก 6 เดือน ใน 1 วัน จะเฉลี่ยปริมาณการกินนมแม่อยู่ที่ 24 – 26 ออนซ์/วัน หรือประมาณ 5 – 8 ครั้ง/วัน ทั้งนี้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนกันไปตามความต้องการของเด็กทารกแต่ละคน ในส่วนของปริมาณอาหารเสริมตามวัย คุณแม่สามารถใช้หลักการปรุงอาหารให้กับลูกน้อยได้ ดังนี้
• ทารก 6 เดือนกินข้าวกี่ช้อน? หากเป็นข้าวสวยแล้วสามารถใช้ได้ 4 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 2 ช้อนพูน ต้มกับน้ำแกงจืด หรือน้ำซุปประมาณครึ่งถ้วยตวง ในกรณีใช้ข้าวตุ๋นข้นปานกลางให้ใช้ปริมาณ 4 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำแกงจืด หรือน้ำซุปประมาณ 8 ช้อนโต๊ะ หรือใช้ปลายข้าว 1 ช้อนโต๊ะ ต้มกับน้ำแกงจืด หรือน้ำซุป 10 เท่า
• ใส่ผักใบเขียว หรือเหลืองส้มที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม กลิ่นไม่แรง 1 – 2 ช้อนโต๊ะ
• อาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง ตับไก่ เต้าหู้อ่อน ปลา เป็นต้น
• เหยาะน้ำมันพืชประมาณครึ่งช้อนชา เมื่อปรุงอาหารเสร็จ
อาหารที่ปรุงให้ลูกน้อยกิน ควรปรุงให้สุก ไม่ควรปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ รวมทั้ง ปรุงอาหารให้มีลักษณะที่อ่อนนุ่ม บดได้ง่าย หากเป็นผลไม้ ควรเลือกผลไม้ที่มีลักษณะที่นิ่ม เคี้ยวได้ง่าย รวมทั้งเลือกผลไม้ที่สดใหม่ ล้างให้สะอาดก่อนให้ลูกน้อยกิน
ตารางอาหารทารก 6 เดือน
หากคุณแม่ยังไม่แน่ใจว่าควรให้อาหารลูกน้อยในช่วงเวลาไหนบ้างดี มาลองดูตารางอาหารทารก 6 เดือน ข้างล่างนี้กันค่ะ เนื่องจากเด็กทารกมีความต้องการในการกินนม อาหาร และใช้เวลาในการนอนแตกต่างกันออกไป ตารางข้างล่างนี้ อาจจะไม่ตรงตามกิจวัตรของเด็กทุกคน คุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับกิจวัตรของลูกน้อยได้
ช่วงเวลา |
กิจวัตร/ประเภทอาหาร |
07:00 น. |
- ตื่นนอน - ให้นมแม่ |
07.45 น. |
- ให้อาหารตามวัยเด็กทารก 6 เดือน |
08.45 – 10.45 น. |
- นอน |
10.45 น. |
- ตื่นนอน - ให้นมแม่ |
12.00 น. |
- ให้นมแม่ |
12.30 – 14.30 น. |
- นอน |
14.30 น. |
- ตื่นนอน - ให้นมแม่ |
16.30 – 17.00 น. |
- นอน |
17.00 น. |
- ตื่นนอน - ให้นมแม่ |
17.45 น. |
- ให้อาหารตามวัยเด็กทารก |
18.45 น. |
- ให้นมแม่ |
19.00 น. |
- เข้านอน |
เมนูอาหารเด็ก 6 เดือน
อาหารมื้อแรกของลูก 6 เดือน ควรเป็นอาหารที่ได้จากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่นอย่างพืชผักตามฤดูกาล เลือกวัตถุดิบที่สดใหม่มาประกอบอาหาร เน้นการกินอาหารรสธรรมชาติ ไม่เสริม หรือปรุงแต่งรสอาหารเพิ่มเติม
ข้าวเด็ก 6 เดือนที่ใช้ สามารถเลือกใช้ข้าวสวยหุงสุกได้ทุกชนิด หากคุณแม่ยังไม่รู้จะทำเมนูอาหารเด็ก 6 เดือน เมนูไหนดีให้ลูกน้อยกิน เอนฟามีเมนูแนะนำมาฝากกันค่ะ
เมนูเพิ่มน้ำหนักลูก 6 เดือน
ข้าวบดไข่แดงและตำลึง
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- ไข่แดง ½ ฟอง
- ตำลึง 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยมาบดให้ละเอียด ระหว่างบดทยอยใส่น้ำแกงจืดไปเรื่อย ๆ บดและคนให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำไข่แดงสุกลงไปบดต่อ ตามด้วยตำลึงต้มสุก บดให้เข้ากัน ก่อนจะเหยาะน้ำมันพืชปิดท้าย
ข้าวบดปลาทูและฟักทอง
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- เนื้อปลาทูนึ่งทอด 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- ฟักทอง 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยหุงสุกมาบดให้ละเอียด ระหว่างบดทยอยใส่น้ำแกงจืดผสมลงไปเรื่อย ๆ คนให้เข้ากัน จากนั้นใส่เนื้อปลาทูนึ่งทอดที่แกะก้างออกแล้ว บดผสมกับข้าว เมื่อเข้ากันแล้วใส่ฟักทองลงไปบด ผสมให้เข้ากัน ปิดท้ายด้วยการเหยาะน้ำมันพืช
แอปเปื้ลเพียวเร่
ส่วนประกอบ:
- แอปเปิ้ล 6 ลูก
- ผงชินนามอน หรืออบเชยป่น
วิธีทำ: นำแอปเปิ้ลมาล้างให้สะอาด ปลอกเปลือก และหั่นออกเป็นชิ้นเล็ก ใส่ลงหม้อต้มพร้อมกับน้ำสะอาดลงไปประมาณครึ่งแก้ว โรยผงอบเชยป่นเล็กน้อย คนให้เข้ากัน ก่อนจะตุ๋นด้วยไฟกลาง ใช้เวลาประมาณ 12 – 15 นาที นำมาปั่นให้เนื้อละเอียด ตักป้อนให้ลูกกินประมาณ 1 – 4 ช้อนโต๊ะ/มื้อ ส่วนที่เหลือสามารถใส่บล็อกพิมพ์ หรือบล็อกน้ำแข็งเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง เพื่อสามารถใช้ได้ในมื้อถัด ๆ ไป
ผักโขมและแอปเปิ้ลเพียวเร่
ส่วนประกอบ:
- ผักโขม 1 ถ้วย
- แอปเปิ้ล 1 – 2 ลูก
- ผงอบเชยป่น
- ผงกานพลูป่น
- กระเทียมผง
วิธีทำ: นำผักโขมและแอปเปิ้ลไปล้างให้สะอาด ปลอกเปลือกแอปเปิ้ล นำเม็ดออก และหั่นเป็นชิ้นเล็ก นำแอปเปิ้ลใส่ลงไปในหม้อ ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย โรยด้วยผงอบเชยป่น กานพลูป่น และกระเทียมผงเล็กน้อย คนให้เข้ากัน ตุ๋นแอปเปิ้ลประมาณ 12 – 15 นาที ให้แอปเปิ้ลนิ่ม ยกออกจากเตา จากนั้นใส่ผักโขมลงไปในหม้อ รอให้เซ็ตตัวสักครู่ ก่อนจะนำไปบด หรือปั่น อาจจะเหยาะน้ำมันพืชประมานครึ่งช้อนชาก่อนเสิร์ฟเพิ่มก็ได้ ส่วนที่เหลือสามารถเก็บเข้าช่องแช่แข็งเพื่อใช้ในมื้อถัดไป
ข้าวบดไก่และกะหล่ำดอก
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- เนื้อไก่ต้มสุก 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- กะหล่ำดอก 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยหุงสุกมาบด ระหว่างบดให้ทยอยใส่น้ำแกงจืดลงไปเรื่อย ๆ จากนั้นนำเนื้อไก่ต้มสุกมายีบดลงไปกับข้าวบด ตามด้วยกะหล่ำดอกบดให้เข้ากัน ปิดท้ายด้วยการเหยาะน้ำมันพืช
เมนูตับไก่ลูกน้อย 6 เดือน
มันม่วงบดตับไก่และเต้าหู้
ส่วนประกอบ:
- มันม่วงต้มสุก 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- ตับไก่ต้มสุก 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- เต้าหู้ 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมัน ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำมันม่วงต้มสุกแล้ว มาบดผสมกับน้ำแกงจืด จากนั้นใส่ตับไก่ต้มสุกบดผสมลงไป ตามด้วยเต้าหู้สุก บดให้เข้ากัน ปิดท้ายด้วยการเหยาะน้ำมันพืช
ข้าวบดตับไก่ เต้าหู้ และผักหวาน
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- ตับไก่ ¼ ช้อนโต๊ะ
- เต้าหู้หลอดไข่ไก่ 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- ผักหวาน 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยหุงสุกมาบด ผสมกับน้ำแกงจืดให้เข้ากัน จากนั้นนำตับไก่ที่ลวกสุกแล้วมาบดผสม ตามด้วยเต้าหู้หลอดไข่ไก่ต้มสุก และผักหวานลวกสุกบดให้เข้ากัน จากนั้นเหยาะน้ำมันพืชก่อนเสิร์ฟ
ข้าวบดฟักทองและตับไก่
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- ตับไก่ 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- ฟักทอง 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยหุงสุกมาบดผสมกับน้ำแกงจืด จากนั้นนำฟักทองนึ่ง หรือต้มสุกลงไปบดให้เข้ากัน ตามด้วยตับได่ต้มสุก บดผสมให้เข้าก่อน เหยาะน้ำมันพืชก่อนเสิร์ฟ
ข้าวบดตับไก่ แครอท และเต้าหู้ไข่
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- ตับไก่ ¼ ช้อนโต๊ะ
- เต้าหู้หลอดไข่ไก่ 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- แครอท 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยหุงสุกมาบดผสมกับน้ำแกงจืด จากนั้นบดตับไก่ต้มสุกลงไป ตามด้วยเต้าหู้หลอดไข่ไก่ที่ลวกสุกแล้ว และแครอทต้มสุก บดให้เข้ากับส่วนผสมที่เหลือ จากนั้นเหยาะน้ำมันพืชก่อนเสิร์ฟ
ข้าวบดบรอกโคลี ตับไก่ และเต้าหู้
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- ตับไก่ ¼ ช้อนโต๊ะ
- เต้าหู้ 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- บรอกโคลี 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยมาบดกับน้ำแกงจืดให้เข้ากัน จากนั้นใส่บรอกโคลีลวกสุกแล้วลงไปบด ตามด้วยตับไก่สุก และเต้าหู้สุก บดผสมให้เข้ากัน เหยาะน้ำมันพืชปิดท้าย
เมนูปลาสําหรับทารก 6 เดือน
ข้าวบดปลากระพงและถั่วลันเตา
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- ปลากระพง ¼ ช้อนโต๊ะ
- ถั่วลันเตา 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยมาบดกับน้ำแกงจืดให้เข้ากัน จากนั้นนำถั่วลันเตาต้มสุกมาบดกับข้าว ตามด้วยปลากระพงลวกสุกที่เอาก้างออกแล้วมายีและบดผสมให้เข้ากัน ก่อนเหยาะน้ำมันพืชปิดท้าย
ปลาบดแครอทและต้นหอมญี่ปุ่น
ส่วนประกอบ:
- ปลาเนื้อขาว 12 ช้อนโต๊ะ
- แครอท 3 หัว
- ต้นหอมญี่ปุ่น 1 ต้น
- น้ำเปล่า หรือน้ำนมแม่ ½ ถ้วย
วิธีทำ: นำปลา แครอท และต้นหอมญี่ปุ่นไปนึ่งให้สุกประมาณ 15 นาที จากนั้นนำมาพักไว้ให้เย็น เลาะก้างปลาออกให้เรียบร้อย เมื่อส่วนผสมเย็นแล้ว นำทุกอย่างลงเครื่องผสมอาหาร ปั่นให้เข้าเนื้อกัน ระหว่างนั้นทยอยใส่น้ำต้มสุกลงไปผสม หรือจะใช้น้ำนมแม่ ปั่นให้ทุกอย่างเข้าที่ อาจจะเหยาะน้ำมันพืชเพิ่มเติมเวลาเสิร์ฟ ส่วนที่เหลือสามารถเก็บเข้าช่องแช่แข็งไว้ใช้ในมื้อถัดไปได้
ปลา บรอกโคลี และมันหวานบด
ส่วนประกอบ:
- มันหวาน 300 กรัม
- บรอกโคลี 120 กรัม
- พาร์สลีย์ 3 ยอด
- ปลาเนื้อขาว 200 กรัม
- เนยจืด 30 กรัม
- น้ำเปล่า หรือน้ำนมแม่
วิธีทำ: นำมันหวาน บรอกโคลี ล้างน้ำให้สะอาด หั่นออกเป็นชิ้นเล็กขนาดประมาณ 2 – 3 เซ็นติเมตร นำไปนึ่งพร้อมกับปลาเนื้อขาว ปลาควรเลาะก้างออกให้เรียบร้อย เมื่อนิ่งเสร็จแล้ว พักไว้ให้เย็น จากนั้นนำมันหวาน บรอกโคลี และปลาไปผสมในเครื่องผสมอาหาร ใส่เนยจืด ปั่น หรือบดให้เข้ากัน ตามด้วยพาร์สลีย์สับหยาบ ระหว่างที่ผสมทยอยใส่น้ำต้มสุก หรือน้ำนมแม่ผสมเรื่อย ๆ เพื่อให้เนื้อไม่แห้งไป
ข้าวบดปลาช่อนและกะหล่ำดอก
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- ปลาช่อน ¼ ช้อนโต๊ะ
- กะหล่ำดอก 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยมาบดกับน้ำแกงจืดให้เข้ากัน ตามด้วยกะหล่ำดอกสุก และปลาช่อนนึ่ง เอาแต่เนื้อ แกะก้างออกให้เรียบร้อย บดให้เข้ากัน เหยาะน้ำมันพืชก่อนเสิร์ฟ
ข้าวโอ๊ตตุ๋นบดปลาแซลมอนและแครอท
ส่วนประกอบ:
- ข้าวโอ๊ตตุ๋น 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 8 ช้อนกินข้าว
- ปลาแซลมอน ¼ ช้อนโต๊ะ
- แครอท 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวโอ๊ตตุ๋นมาบดกับน้ำแกงจืดให้เข้ากัน ใส่แครอทต้มสุกแล้วบดกับข้าวโอ๊ต และปลาแซลมอนนึ่งสุก บดและผสมให้เข้ากัน เหยาะน้ำมันพืชก่อนเสิร์ฟ
เมนูไข่ลูก 6 เดือน
อโวคาโดบดไข่แดง
ส่วนประกอบ:
- อโวคาโดสุก 1 ช้อนโต๊ะ
- ไข่แดง ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำนมแม่
วิธีทำ: บดอโวคาโดสุกให้เป็นเนื้อเดียวกัน ตามด้วยไข่แดงต้มสุกแล้ว ไม่ควรใช้ไข่แดงกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือเป็นยางมะตูม บดให้เข้ากัน อาจจะใส่น้ำนมแม่ผสมลงไปเล็กน้อยเพื่อให้เนื้ออาหารไม่ข้นจนเกินไป
คัสตาร์ดกล้วย
ส่วนประกอบ:
- กล้วยสุก 1 ลูก
- ไข่แดง 2 ลูก
- น้ำนมแม่ ½ ถ้วย
- เมล็ดแฟลกซ์บด 1 ช้อนโต๊ะ
- อบเชยป่น ¼ ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ: อุ่นเตาอบรอที่อุณหภูมิ 177 องศาเซลเซียส ผสมส่วนผสมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน กล้วยสุก ไข่แดง น้ำนมแม่ เมล็ดแฟลกซ์บด และอบเชยป่น เมื่อผสมเข้ากันแล้ว พักไว้ประมาณ 5 นาที คนให้เข้ากันอีกครั้ง จากนั้นเทใส่ถ้วย นำถ้วยพิมพ์ใส่ถาด ใส่น้ำในถาดพิมพ์ให้สูงประมาณครึ่งถ้วย นำเข้าเตาอบประมาณ 25 – 35 นาที จนสุก สามารถเสิร์ฟตอนที่ยังอุ่น หรือเสิร์ฟแบบเย็นก็ได้
ฟักทองบดไข่แดง
ส่วนประกอบ:
- ฟักทองสุก 1 ช้อนโต๊ะ
- ไข่แดง ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำนมแม่
วิธีทำ: บดฟักทองที่นึ่งสุกให้เป็นเนื้อเดียวกัน ตามด้วยไข่แดงต้มสุกแล้ว ไม่ควรใช้ไข่แดงกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือเป็นยางมะตูม บดให้เข้ากัน อาจจะใส่น้ำนมแม่ผสมลงไปเล็กน้อยเพื่อให้เนื้ออาหารไม่ข้นจนเกินไป สามารถเพิ่มประมาณส่วนผสมได้ หากต้องการปริมาณที่มากขึ้น
มันหวานบดไข่แดง
ส่วนประกอบ:
- มันหวาน 2 ลูก
- ไข่แดง 2 ลูก
- น้ำนมแม่ ¼ - 1 ถ้วย
วิธีทำ: นำมันหวานไปนึ่งจนสุก เมื่อสุกแล้วปลอกเปลือกออกให้หมด พักให้หายร้อน บดให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นใส่ไข่แดงลงไปบดให้เข้าตอน ระหว่างนั้น ทยอยใส่นมแม่ลงไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เนื้ออาหารไม่ข้นจนเกินไป อาจจะเหยาะน้ำมันพืชเล็กน้อยก่อนเสิร์ฟ
ข้าวบดไข่แดงและข้าวโพด
ส่วนประกอบ:
- ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ
- ไข่แดง ¼ ช้อนโต๊ะ
- ข้าวโพด 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ: นำข้าวสวยหุงสุกบดกับน้ำแกงจืดให้เข้ากัน ตามด้วยข้าวโพดสุก เลือกข้าวโพดที่อ่อนเพื่อง่ายแก่การบด บดให้เข้ากับข้าว ตามด้วยไข่แดงสุดบดผสมให้เข้ากันทั้งหมด เหยาะน้ำมันพืชปิดท้าย
เมนูอาหาร BLW 6 เดือน
มันหวานึ่ง
ส่วนประกอบ: มันหวาน
วิธีทำ: นำมันหวานมาล้างให้สะอาด เอาไปนึ่งทั้งลูกให้สุก เมื่อสุกแล้วพักให้เย็น เอาเปลือกออกให้หมด และหั่นเป็นแท่ง หรือลูกเต๋าขนาดเล็ก และเสิร์ฟ
อโวคาโดสไลด์
ส่วนประกอบ: อโวคาโดสุก
วิธีทำ: ล้างอโวคาโดให้สะอาด จากนั้นหั่นเป็นสไลด์ ขนาดพอเหมาะให้มือลูกน้อยหยิบได้ง่าย และเสิร์ฟ
กล้วยหั่น
ส่วนประกอบ: กล้วยสุก
วิธีทำ: เลือกกล้วยสุก ปลอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นหนาเล็กน้อยเพื่อให้ลูกหยิบจับได้ และเสิร์ฟ
ขนมปังปิ้ง
ส่วนประกอบ: ขนมปัง
วิธีทำ: นำขนมปังไปอบให้พอกรอบ หรือจะใช้การจี่บนกระทะ เมื่อขนมปังได้ที่นำมาหั่นเป็นแท่งยาว อาจจะปาดอโวคาโดบดเล็กน้อยตอนเสิร์ฟก็ได้
เต้าหู้นึ่ง
ส่วนประกอบ: เต้าหู้ขาว
วิธีทำ: ล้างเต้าหู้ให้สะอาด นำลงนึ่งให้สุก เมื่อสุกแล้ว เสิร์ฟด้วยการหั่นเป็นแท่ง หรือลูกเต๋า ขนาดพอดีกับมือลูกน้อย
ไขข้อข้องใจเรื่องการเตรียมอาหารมื้อแรกของลูก 6 เดือน
วิธีต้มข้าวให้ลูก 6 เดือน
เนื่องจากการปรุงอาหารสำหรับเด็ก 6 เดือน จะมีเนื้อสัมผัส หรือความหยาบของอาหารที่ค่อนข้างละเอียด ซึ่งต้องอาศัยวิธีการบดเข้ามาช่วยเพื่อให้ได้ความหยาบของอาหารในลักษณะนี้ ดังนั้นคุณแม่สามารถใช้ข้าวหุงสุกธรรมดาได้ หรือต้มข้าวต้มในแบบที่ต้มกินปกติได้ ก่อนจะนำมาบดเพื่อป้อนลูกน้อย
ผักสําหรับทารก 6 เดือน ควรให้ลูกกินอะไรดี
คุณแม่สามารถลองให้ลูกน้อยกินผักได้หลากหลายชนิด โดยผักเด็ก 6 เดือน ควรเน้นไปที่ผักตามฤดูกาลที่มีในท้องถิ่น เพื่อความสดใหม่ของวัตถุดิบ โดยเฉพาะผักใบเขียวและผักสีส้ม เช่น ตำลึง ผักกาดขาว ฟักทอง ผักบุ้ง แครอท กะหล่ำดอก ผักหวาน บรอกโคลี ถั่วลันเตา เป็นต้น
ผลไม้สำหรับเด็ก 6 เดือน ควรให้ลูกกินอะไรดี
สำหรับผลไม้แล้ว สามารถให้ลูกน้อยได้ทดลองกินผลไม้ได้หลากหลายชนิด ผลไม้เด็ก 6 เดือน อาจจะเน้นไปที่ผลไม้ที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด มีเนื้อที่นิ่มและเคี้ยวได้ง่าย มีรสชาติไม่หวานจัด เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ส้ม สับปะรด แอปเปิ้ล มะม่วงสุก สาลี่ เป็นต้น
ข้าวโอ๊ตสําหรับทารก 6 เดือน เตรียมยังไงดี
ในปัจจุบัน เราจะพบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทข้าวโอ๊ตมีวางจำหน่ายด้วยกันหลายแบบ ที่พบบ่อย เช่น ข้าวโอ๊ตอบ ข้าวโอ๊ตอบชนิดละเอียด แผ่นข้าวโอ๊ตอบ จนไปถึงผงข้าวโอ๊ต เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนืดก็จะใช้เวลาในการปรุงแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนประกอบสำคัญในการทำข้าวโอ๊ตสำหรับเด็กทารกนั้น คือตัวข้าวโอ๊ต และน้ำ
โดยควรเลือกซื้อข้าวโอ๊ตที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เรียบร้อย มีเลขทะเบียนอย. เลือกชนิดที่ไม่มีการใส่สารปรุงแต่งสี กลิ่น และไม่ใส่สารกันบูด อาจจะเลือกข้าวโอ๊ตที่ผ่านการอบมาเรียบร้อย เนื่องจากจะใช้เวลาในการปรุงไม่นานและสุกเร็ว
ตัวอย่างการปรุงข้าวโอ๊ต: ใช้ข้าวโอ๊ตชนิดอบ 3 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำต้มสุก 2 เท่า ต้มให้เข้ากัน หากระหว่างต้มข้าวโอ๊ตมีลักษณะข้นเกินไป สามารถเติมน้ำเพิ่มได้ เมื่อต้มสุกแล้ว ใส่ผักและเนื้อสัตว์ตามความต้องการ รวมทั้งเหยาะน้ำมันพืชเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร สามารถใช้ได้ทั้งน้ำมันถั่วเหลือและน้ำมันรำข้าว
- NHS. What to feed your baby. [Online] Accessed https://www.nhs.uk/start4life/weaning/what-to-feed-your-baby/around-6-months/. [09 November 2022]
- Unicef. Feeding your baby: 6–12 months. [Online] Accessed https://www.unicef.org/parenting/food-nutrition/feeding-your-baby-6-12-months. [09 November 2022]
- What to Expect. Baby Feeding Schedule and Food Chart for the First Year. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/first-year/feeding-baby/how-to-get-baby-on-feeding-schedule/. [09 November 2022]
- Medical News Today. 6-month-old feeding schedule: Timings and food source. [Online] Accessed https://www.medicalnewstoday.com/articles/6-month-old-feeding-schedule. [09 November 2022]
- Happy Healthy Eaters. Baby Banana Custard. [Online] Accessed https://happyhealthyeaters.com/baby-banana-custard/. [10 November 2022]
- Healthy Little Foodies. Eggs for Babies. [Online] Accessed https://www.healthylittlefoodies.com/eggs-for-babies/. [10 November 2022]
- Baby Foodie. WHITE FISH + CARROT + LEEK BABY FOOD PUREE. [Online] Accessed https://babyfoode.com/blog/white-fish-carrot-leek-puree/. [10 November 2022]
- Baby Foodie. APPLE BABY PUREE. [Online] Accessed https://babyfoode.com/blog/apples-cinnamon/. [10 November 2022]
- Baby Foodie. SPINACH APPLE BABY PUREE. [Online] Accessed https://babyfoode.com/blog/spinach-apple-baby-food-puree/. [10 November 2022]
- Baby Foodie. THE BEST SWEET POTATO BABY FOOD PUREE. [Online] Accessed https://babyfoode.com/blog/sweet-potato-curry/. [10 November 2022]
- What to Expect. Baby-Led Weaning. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/first-year/feeding-baby/baby-led-weaning/. [10 November 2022]
- โครงการ “การจัดทำข้อปฏิบัติการให้อาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กทารกและเด็กวัยก่อนเรียน”. คู่มืออาหารตามวัยสำรับเด็กทารกและเด็กเล็ก. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.tmwa.or.th/new/lib/file/
20170121162528.pdf. [10 พฤศจิกายน 2565] - พบแพทย์. Gluten Free คือ อะไร ดีต่อสุขภาพจริงหรือ?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com/gluten-free-คือ-อะไร-ดีต่อสุขภาพจร. [10 พฤศจิกายน 2565]
บทความแนะนำสำหรับการกินอาหารเสริมตามวัยทารก (Solid Foods)
- อาหารเด็ก 7 เดือน กินอะไรได้บ้าง มาทำอาหารให้ลูกกัน!
- อาหารเด็ก 8 เดือน ต้องกินมากแค่ไหนและกินอะไรได้บ้าง
- อาหารเด็ก 9 เดือน ต้องกินอะไรบ้างนะ และเมนูแนะนำ
- คุณแม่ควรเริ่มให้อาหารชนิดอื่นนอกเหนือจากนมแม่เมื่อไหร่ และอย่างไร?
- Solid Food อาหารมื้อแรกของลูก เริ่มเมื่อไหร่ เริ่มยังไง
- เด็กทารกดื่มน้ำเปล่าได้หรือไม่ อายุเท่าไหร่ถึงจะดื่มได้
- ตอบคำถามคุณแม่ อายุเท่าไหร่ถึงป้อนกล้วยบดให้เด็กทารกได้
- ลูกไม่กินข้าว เบื่ออาหาร ปัญหาชวนปวดจิต ที่รับมือได้