ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วิธีแก้กรดไหลย้อนในคนท้อง

วิธีแก้กรดไหลย้อนในคนท้อง คุณแม่ท้องรับมืออย่างไรดี?

Enfa สรุปให้

  • วิธีแก้กรดไหลย้อนในคนท้องนั้น สามารถแก้ได้ด้วยการเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อใหญ่ออกเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เคี้ยวอาหารให้ละเอียดระหว่างการกินอาหาร ก็สามารถช่วยลดอาการกรดไหลย้อนได้
  • กรดไหลย้อนคนท้อง สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลัก ๆ จากการการเปลี่ยนแปลงขอระดับฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์ และส่งผลต่ออวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในกระบวนการย่อยอาหาร โดยส่วนใหญ่แล้วอาการกรดไหลย้อนมักจะหายเองได้ หรือดีขึ้นเมื่อกินยา แต่วิธีที่ดีที่สุดที่จะลดความเสี่ยงกรดไหลย้อนคนท้อง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินและการใช้ชีวิต
  • คนท้องเป็นกรดไหลย้อน หากเป็นบ่อย ๆ อาจเสี่ยงที่จะทำให้หลอดอาหารถูกทำลายเนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารกัดเซาะเนื้อเยื่อที่หลอดอาหาร ซึ่งหากลองใช้วิธีต่าง ๆ แล้วไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาต่อไป

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • รู้จักกับกรดไหลย้อนในคนท้อง
     • สาเหตุของกรดไหลย้อนในคนท้อง
     • อาการกรดไหลย้อนเป็นแบบไหน
     • คนท้องแสบร้อนกลางอก เป็นกรดไหลย้อนหรือไม่? 
     • วิธีแก้กรดไหลย้อนในคนท้อง
     • อาการกรดไหลย้อนแบบไหนควรไปพบแพทย์
     • คนท้องเป็นกรดไหลย้อนกินยาอะไรได้บ้าง
     • ทำยังไง เมื่อคนท้องกรดไหลย้อนนอนไม่หลับ
     • ไขข้อข้องใจเรื่องกรดไหลย้อนในคนท้องกับ Enfa Smart Club

หนึ่งในปัญหาปวดจิต คิดแล้วปวดใจสำหรับคนท้องที่มักเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ นั่นก็คืออาการกรดไหลย้อนในคนท้องค่ะ ซึ่งคุณแม่บางคนเป็นบ่อยมากจนรู้สึกรำคาญ รู้สึกไม่สบายตัว จะลุก จะนั่ง จะทำอะไรก็พาลแต่จะพะอืดพะอมอยู่ตลอดเวลา

วันนี้ Enfa จะชวนคุณแม่มารู้จักกับกรดไหลย้อนในคนท้องให้มากขึ้นกันค่ะ มาดูกันว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้คนท้องเป็นกรดไหลย้อน เป็นกรดไหลย้อนตอนท้องต้องทำยังไง และคนท้องเป็นกรดไหลย้อนกินยาอะไรได้บ้างนะ

คนท้องเป็นกรดไหลย้อน อาการนี้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร


กรดไหลย้อนคนท้องนั้น ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพคุณแม่ที่พบได้บ่อยค่ะ คุณแม่บางคนอาจมีอาการกรดไหลย้อนตลอดการตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งคลอดเลยก็มี

ซึ่งกรดไหลย้อนก็คือภาวะที่น้ำกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูรูดที่บริเวณหลอดอาหารหรือความดันของหูรูดต่ำ จึงทำให้ไม่สามารถป้องกันการไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารได้

มากไปกว่านั้น ยังอาจเกิดจากการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารที่ผิดปกติ ทำให้ย่อยอาหารได้ช้า และอาหารเกิดการคั่งค้างจนไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหาร

แต่สำหรับคนท้องนั้นจะมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในร่างกายเข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายของคนท้องจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายก็จะส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้กล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ไม่สามารถป้องกันการไหลย้อนกลับของอาหารและกรดในกระเพาะอาหารได้ จึงทำให้คนท้องมีโอกาสเป็นกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้นค่ะ

กรดไหลย้อนในคนท้อง มีสาเหตุเกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นกรดไหลย้อนตอนท้อง


กรดไหลย้อนในคนท้องนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมาก และโดยทั่วไปแล้วก็ไม่ได้มีเหตุปัจจัยที่แตกต่างไปจากอาการกรดไหลย้อนที่พบได้ในคนทั่วไปเลยค่ะ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้คนท้องกรดไหลย้อนบ่อย มักเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

     • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงที่ตั้งครรภ์ส่งผลต่อกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้กล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารมีการคลายตัว ส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารทำได้ไม่ค่อยดี จนทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร

     • หากคุณแม่มีอาการกรดไหลย้อนเกิดขึ้นบ่อยในช่วงไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม นั่นอาจเป็นผลมาจากการที่มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น และทารกก็มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย การขยายตัวของทารกและมดลูกก็จะไปเบียดหรือกดทับอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร และดันให้อาหารหรือกรดในระบบทางเดินอาหารไหลย้อนหลับไปยังหลอดอาหารด้วย

     • ฮอร์โมนตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างมีการคลายตัว ทำให้อาหารและกรดในกระเพาะอาหารสามารถที่จะไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น

อาการกรดไหลย้อนคนท้องเป็นแบบไหน


กรดไหลย้อนคนท้อง กับกรดไหลย้อนในคนทั่วไป ก็จะมีอาการที่ไม่แตกต่างกันมากนักค่ะ อาจจะแตกต่างกันในเรื่องของระดับความรุนแรงว่าเป็นมาก หรือน้อย หรือเป็นบ่อยแค่ไหน แต่โดยทั่วไปแล้วก็จะมีอาการที่คล้าย ๆ กัน ดังนี้

     • รู้สึกแสบร้อนที่บริเวณกลางอก

     • จุกเสียดหรือเจ็บที่หน้าอกหลังรับประทานอาหาร

     • รู้สึกอึดอัด หนัก และแน่นท้อง 

     • ท้องอืด ท้องเฟ้อ

     • มีอาการเรอ หรือเรอเหม็นเปรี้ยว

     • มีรสเปรี้ยวหรือขมในปาก

     • ไอหรือเจ็บคอ

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าอาการที่เป็นอยู่คือกรดไหลย้อนหรือเปล่า ลองทำแบบทดสอบได้ที่นี่ คลิก

คนท้องแสบร้อนกลางอก หมายความว่าเป็นกรดไหลย้อนอย่างเดียวหรือไม่


คนท้องหลาย ๆ คนมักจะมีอาการแสบท้องขณะตั้งครรภ์ ซึ่งก็อาจจะอนุมานได้ว่านี่คงเป็นอาการของกรดไหลย้อนตามปกติ

อย่างไรก็ตาม อาการแสบท้อง หรืออาการแสบร้อนกลางอกคนท้อง บางครั้งอาจจะไม่ได้หมายถึงกรดไหลย้อนแค่เพียงอย่างเดียวค่ะ เพราะอาการดังกล่าวยังอาจจะเป็นสัญญาณของอาการทางสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น

     • โรคกระเพาะอาหาร หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งหนึ่งในอาการสำคัญก็คือมีอาการแสบร้อนที่ท้องส่วนบนหรือช่วงกลางอกหลังจากมื้ออาหาร

     • โรคแผลในกระเพาะอาหาร แน่นอนว่าอาการที่ชัดเจนมากสำหรับโรคนี้ก็คือ มีอาการแสบร้อนกลางอก ปวดท้อง หรือแสบที่กระเพาะอาหาร หรือมีอาการแสบที่บริเวณลิ้นปี่

ดังนั้น หากมีอาการแสบท้องบ่อย ๆ เป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นแล้วไม่หายสักที คุณแม่ควรหาเวลาไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่กระเพาะอาหารหรือไม่ เพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไปค่ะ

วิธีแก้กรดไหลย้อนในคนท้อง


วิธีแก้กรดไหลย้อนในคนท้องทำยังไง หากคุณแม่ที่มีอาการกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ อย่าเพิ่งกังวลใจว่าจะรักษาไม่หาย และจะต้องทรมานไปตลอด อย่าเพิ่งคิดมากไปถึงขนาดนั้นค่ะ เพราะอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดไป

อาการกรดไหลย้อนคนท้องรักษาให้ดีขึ้นได้ เพียงแค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยวิธีแก้กรดไหลย้อนในคนท้องที่คุณแม่สามารถทำได้ง่าย ๆ มีดังนี้

     • พยายามกินอาหารหลาย ๆ มื้อ แบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แทนที่จะกินอาหารแค่เพียง 3 มื้อใหญ่ การแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ ก็จะช่วยให้สามารถย่อยอาหารได้ดีกว่าการกินอาหารมื้อใหญ่ทีเดียว

     • กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด เพราะถ้าคุณแม่เคี้ยวไม่ละเอียด และอาหารที่กินเข้าไปยังมีชิ้นใหญ่อยู่ ก็จะทำให้ใช้เวลาในการย่อยนานขึ้น และทำให้รู้สึกอึดอัดท้อง

     • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดองทั้งหลาย ของทอดทั้งหลายทั้งปวง และแอลกอฮอล์ อาหารเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย ทั้งยังส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารคลายตัว ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของอาการเสียดท้องได้ง่าย

     • ไม่กินข้าวคำ น้ำคำ เพราะถ้าดื่มน้ำในระหว่างกินอาหารไปด้วย จะยิ่งทำให้มีของเหลวในกระเพาะอาหารมากขึ้น เสี่ยงที่กรดในกระเพาะอาหารและอาหารจะไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารง่ายขึ้น

     • ไม่นอนทันทีหลังจากที่กินอาหารเสร็จ เพราะเสี่ยงจะทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารยังทำหน้าที่ในการย่อยอาหารอยู่ ถ้ากินปุ๊บนอนปั๊บ อาจทำให้น้ำกรดที่กำลังย่อยอาหารอยู่ไหลย้อนกลับมากัดเซาะเนื้อเยื่อที่หลอดอาหาร และก่อให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกได้ง่ายขึ้น

     • เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลหลังอาหาร เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำลายให้มากขึ้นใสนขณะที่เคี้ยวหมากฝรั่ง ปริมาณน้ำลายที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยเพิ่มความเป็นกลางของกรดที่ไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร

     • หากจะเอนหลัง หลังจากที่กินอาหาร ควรจัดหมอนให้สูงขึ้นกว่าปลายเท้า หรือจะวางหมอนเสริมที่ใต้บ่าด้วยก็ได้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์


โดยทั่วไปแล้วอาการกรดไหลย้อนมักไม่ได้รุนแรงจนถึงกับต้องไปพบแพทย์ เพราะส่วนมากมักจะดีขึ้นได้หากปรับพฤติกรรมการกิน และกินยาบรรเทาอาการกรดไหลย้อน อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่คุณแม่อาจจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ ได้แก่

     • อาการกรดไหลย้อนไม่ดีขึ้นเลย แม้ว่าจะกินยาก็แล้ว ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็แล้ว

     • อาการกรดไหลย้อนรุนแรงจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อการนอน ทำให้นอนไม่หลับ นอนไม่พอ

     • มีอาการกรดไหลย้อนบ่อยจนไม่สามารถกลืนอาหารได้ หรือมีน้ำหนักลดลงเพราะกินอาหารได้น้อย

     • อาการกรดไหลย้อนมีแนวโน้มว่าจะแย่ลงเรื่อย ๆ และเริ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายรุนแรง เช่น หลอดอาหารถูกทำลาย

คนท้องเป็นกรดไหลย้อนกินยาอะไรได้บ้าง


แม้อาการกรดไหลย้อนจะเป็นอาการโดยทั่วไป ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ แต่ความรุนแรงของอาการในคุณแม่แต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน คุณแม่บางคนอาจมีอาการรุนแรง จนต้องกินยา

แต่เนื่องจากคนท้องไม่ควรกินยาเองสุ่มสี่สุ่มห้า ก็อาจจะข้องใจว่าแล้วแบบนี้คนท้องกินยากรดไหลย้อนได้ไหม? กรดไหลย้อนคนท้องกินยาอะไรถึงจะหาย? แล้วยากรดไหลย้อนคนท้องแบบไหนที่คนท้องสามารถกินได้?

ซึ่งจริง ๆ แล้วยาลดกรดโดยทั่วไปก็ถือว่าปลอดภัยสำหรับแม่ตั้งครรภ์นะคะ แต่ก็ไม่ใช่ทุกยี่ห้อจะปลอดภัยเสมอไป เพราะยังมีข้อควรระวังอยู่หลายอย่าง ดังนี้ 

     • หากมีอาการกรดไหลย้อนในช่วงไตรมาสสุดท้าย ควรหลีกเลี่ยงยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียม เพราะแมกนีเซียมอาจจะไปขัดขวางการหดตัวของมดลูกในระหว่างคลอดได้

     • หลีกเลี่ยงยาลดกรดที่มีส่วนผสมของโซเดียมสูง เพราะปริมาณโซเดียมที่สูงจะยิ่งทำให้เกิดการสะสมของเหลวมากขึ้น

     • หลีกเลี่ยงยาลดกรดที่มีรายชื่ออะลูมิเนียมเป็นส่วนผสมบนฉลาก เช่น “อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์” หรือ “อะลูมิเนียมคาร์บอเนต” เนื่องจากยาลดกรดที่มีสารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ อาจทำให้คุณแม่มีอาการท้องผูกได้

     • หลีกเลี่ยงยาลดกรดที่มีสารแอสไพรินที่มีปริมาณเกิน 100 มิลลิกรัม เพราะถ้าแม่ท้องสะสมแอสไพรินในปริมาณที่สูง อาจเสี่ยงต่อการแท้ง และเสี่ยงต่อความผิดปกติของการตั้งครรภ์ได้

     • ระมัดระวังการใช้ยาลดกรดที่มีตัวยารานิทิดีน (Ranitidine) เพราะถึงแม้จะมีสรรพคุณช่วยลดกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างดี แต่ยาลดกรดบางตำรับยาที่มีรานิทีดีน อาจมีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งด้วย

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการใช้ยาลดกรดไหลย้อนคนท้องก็คือ คุณแม่ควรขอแนะนำให้คุณแม่ปรึกษากับแพทย์โดยตรงค่ะ หากแพทย์วินิจฉัยว่าสามารถกินได้ จึงค่อยหาซื้อมาไว้ใช้ แต่เพื่อความปลอดภัยของการตั้งครรภ์ไม่ควรซื้อยามากินเองนะคะ

ทำยังไงดีนะ เมื่อคนท้องกรดไหลย้อนนอนไม่หลับ


หากคุณแม่มีอาการกรดไหลย้อนรบกวนจนนอนหลับไม่สนิท หรือหมดฤทธิ์ยาเมื่อไหร่ก็มีอันจะต้องผลุดลุก ผลุดนั่ง เพราะอาการกรดไหลย้อนกวนใจไม่หยุด ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์นะคะ เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาสำหรับรักษาอาการกรดไหลย้อน

เนื่องจากอาการลักษณะเช่นนี้ หากเป็นบ่อย ๆ จนนอนไม่หลับ อาจเสี่ยงที่จะทำให้หลอดอาหารถูกทำลายเนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารกัดเซาะเนื้อเยื่อที่หลอดอาหาร ทั้งยังเสี่ยงที่จะพักผ่อนไม่เพียงพอด้วย

ไขข้อข้องใจเรื่องอาการกรดไหลย้อนในคุณแม่ตั้งครรภ์กับ Enfa Smart Club


คนท้องแสบร้อนกลางอก แก้ยังไงดี? 

หากมีอาการแสบร้อนกลางอก การกินยาลดกรดตามที่แพทย์สั่ง น่าจะเป็นวิธีการรักษาที่ทันท่วงทีที่สุด แต่เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแสบร้อนกลางอกกลับมาเป็นแล้วเป็นอีก คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต ดังนี้ 

  • พยายามกินอาหารหลาย ๆ มื้อ แบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แทนที่จะกินอาหารแค่เพียง 3 มื้อใหญ่ การแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ ก็จะช่วยให้สามารถย่อยอาหารได้ดีกว่าการกินอาหารมื้อใหญ่ทีเดียว 
  • กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด เพราะถ้าคุณแม่เคี้ยวไม่ละเอียด และอาหารที่กินเข้าไปยังมีชิ้นใหญ่อยู่ ก็จะทำให้ใช้เวลาในการย่อยนานขึ้น และทำให้รู้สึกอึดอัดท้อง 
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดองทั้งหลาย ของทอดทั้งหลายทั้งปวง แอลกอฮอล์ อาหารเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย ทั้งยังส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารคลายตัว ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของอาการเสียดท้องได้ง่าย 
  • ไม่กินข้าวคำ น้ำคำ เพราะถ้าดื่มน้ำในระหว่างกินอาหารไปด้วย จะยิ่งทำให้มีของเหลวในกระเพาะอาหารมากขึ้น เสี่ยงที่กรดในกระเพาะอาหารและอาหารจะไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารง่ายขึ้น 
  • ไม่นอนทันทีหลังจากที่กินอาหารเสร็จ เพราะเสี่ยงจะทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารยังทำหน้าที่ในการย่อยอาหารอยู่ ถ้ากินปุ๊บนอนปั๊บ อาจทำให้น้ำกรดที่กำลังย่อยอาหารอยู่ไหลย้อนกลับมากัดเซาะเนื้อเยื่อที่หลอดอาหาร และก่อให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกได้ง่ายขึ้น 
  • เคี้ยวหมากฝรั่งไร้น้ำตาลหลังอาหาร เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำลายให้มากขึ้นใสนขณะที่เคี้ยวหมากฝรั่ง ปริมาณน้ำลายที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยเพิ่มความเป็นกลางของกรดที่ไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร 
  • หากจะเอนหลัง หลังจากที่กินอาหาร ควรจัดหมอนให้สูงขึ้นกว่าปลายเท้า หรือจะวางหมอนเสริมที่ใต้บ่าด้วยก็ได้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น

อาการแสบท้อง ร้อนท้อง ของคนท้อง จะเริ่มเกิดเมื่อไหร่? 

อาการแสบร้อน หรือร้อนท้องในคนท้อง สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ อาจพูดได้ว่าสามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณแม่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหาร ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะมีอาการเหล่านี้กลับไปกลับมา ไม่หายขาด 

ท้องไตรมาสสุดท้าย กรดไหลย้อนมารัว ๆ ผิดปกติหรือไม่? 

ช่วงไตรมาสสาม ถ้ามีอาการกรดไหลย้อนเกิดขึ้นบ่อย แม้ว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหารแล้วก็ตาม ลักษณะเช่นนี้ไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ เพราะอาจเป็นผลมาจากการที่มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น และทารกก็มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย การขยายตัวของทารกและมดลูกก็จะไปเบียดหรือกดทับอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร และดันให้อาหารหรือกรดในระบบทางเดินอาหารไหลย้อนหลับไปยังหลอดอาหารด้วย  

อาการแสบท้องขณะตั้งครรภ์ คืออาการกรดไหลย้อนใช่ไหม? 

ส่วนมากแล้วอาการกรดไหลย้อนมักจะเป็นอาการแสบร้อนกลางอกมากกว่าจะเป็นอาการแสบท้องขณะตั้งครรภ์ค่ะ  

อาการแสบท้องอาจเป็นผลมาจากการกินอาหารรสจัด หรือปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร หากมีอาการแสบท้องบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาค่ะ 

คนท้องกินยาลดกรดได้ไหม? 

คนท้องสามารถกินยาลดกรดได้ค่ะ แต่...ควรเป็นยาลดกรดที่แพทย์วินิจฉัยว่าสามารถกินได้ และปลอดภัยสำหรับคนท้องเท่านั้นนะคะ 

คนท้องมีอาการแสบท้อง ร้อนท้อง วิธีแก้ ต้องทำยังไง? 

หากมีอาการแสบท้อง ร้อนท้อง คุณแม่อาจจะต้องพิจารณาลดการกินอาหารรสจัดลงค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองที่กระเพาะอาหาร หรือกินยาที่มีส่วนช่วยลดอาการแสบร้อนในช่องท้องตามที่แพทย์แนะนำ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาค่ะ 

คนท้องเป็นกรดไหลย้อนอันตรายไหม?

กรดไหลย้อนในคนท้อง ถือเป็นอาการทางสุขภาพโดยทั่วไปที่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงใด ๆ ต่อการตั้งครรภ์ และไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและพัฒนาการของทารกในครรภ์ค่ะ โดยผลกระทบหลัก ๆ คืออาการไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัว และรู้สึกรำคาญเวลาเป็นกรดไหลย้อนมากกว่าค่ะ

ทำอย่างไรเมื่อแพ้ท้อง เป็นกรดไหลย้อน?

อาการแพ้ท้องและอาการกรดไหลย้อนในคนท้องนั้น มีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ดังนั้น ถ้าหากบรรเทาอาการใดอาการหนึ่งลงได้ ก็มีแนวโน้มที่อีกอาการหนึ่งจะดีขึ้นตามไปด้วย

โดยอาจรับมือกับอาการแพ้ท้องและอาการกรดไหลย้อนคนท้องไปพร้อม ๆ กันได้ ดังนี้

     • แบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่หลายมื้อ เพื่อให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้เต็มที่ ไม่มีอาหารคั่งค้าง วิธีนี้ยังดีต่อคนแพ้ท้องด้วย เพราะ

     • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มอัดลม และอาหารรสเผ็ด เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร อาจทำให้อาการกรดไหลย้อนแย่ลง และเสี่ยงต่อการอาเจียนมากขึ้นได้

     • พยายามเดินให้บ่อยขึ้น การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้อาการแพ้ท้องทุเลาลงได้ และยังช่วยลดอาการจุกเสียดต่าง ๆ เนื่องจากอาการกรดไหลย้อนได้ดี

     • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และถ้าคุณแม่ที่แพท้องมีอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วย ให้ลองจัดหมอนให้สูงขึ้นกว่าปลายเท้า หรือจะวางหมอนเสริมที่ใต้บ่าด้วยก็ได้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น

แต่ถ้าอาการแพ้ท้องและอาการกรดไหลย้อนไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย อาจจะต้องลองไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

Triferdine คืออะไร? มารู้จักกับยาเม็ดเสริมไอโอดีนกัน!
definition-of-term-pregnancy
can-pregnant-woman-eat-watermelon
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner