Enfa สรุปให้

  • คำว่าคนดีนั้น เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้างมากถึงมากที่สุด เพราะการเป็นคนดีไม่มีหน่วยวัดในเชิงปริมาณหรือตัวเลข และการแสดงออกถึงการเป็นคนดีในอุดมคติของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันไป

  • เมื่อความหมายของการเป็นคนดีนั้นแตกต่างกันไป วิธีสอนให้เด็กเติบโตมาเป็นคนดีก็แตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของพ่อแม่และคนในครอบครัวที่พบเจอมา แต่ละครอบครัวก็จะมีวิธีสอนลูกที่ต่างกันไป

  • เด็กไม่ได้เกิดมาเพื่อจะเป็นคนดีหรือคนเลวโดยกำเนิด ดังนั้น การอบรมสั่งสอน การชี้แนะ การปลูกฝัง การเป็นแบบอย่างที่ดี จึงมีส่วนช่วยปูทางให้เด็กเติบโตมาเป็นคนที่ดีได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • สอนลูกให้เป็นคนดี สอนได้จริงหรือ?
     • เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้อย่างไร

หนึ่งในหมุดหมายของการเป็นคุณพ่อคุณแม่ก็คืออยากให้ลูกเติบโตมาอย่างแข็งแรง มีสุขภาพกาย และใจที่ดี เป็นเด็กที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ และเป็นคนดี

ซึ่งการเป็นคนดีนี่ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะปัจเจก ต่างคน ต่างคิดมาก ๆ ค่ะ เนื่องจากมาตรฐานของการเป็นคนดีนั้นไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลข หรือมีเกณฑ์กลางของการเป็นคนดี รวมถึงไม่มีหลักสูตรเฉพาะที่การันตีว่าเข้าร่วมแล้วลูกจะกลายเป็นคนดีได้

อย่างไรก็ตาม เด็กไม่ได้คลอดออกจากท้องแม่มาเพื่อจะเป็นคนดี หรือเป็นคนเลวโดยกำเนิด เด็กจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน ปลูกฝัง ตลอดจนการชี้แนะให้เห็นถึงความจริงที่เป็นไปของโลก

บทความนี้จาก Enfa จะชวนคุณแม่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปลูกฝังให้ลูกเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นมลพิษต่อสังคมและคนรอบข้าง และเป็นเด็กดีที่มีความสุขโดยไม่เดือดร้อนผู้อื่น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเป็นเด็กดีเท่าที่จะเป็นได้

สอนลูกให้เป็นคนดี สอนได้จริงหรือ?


ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของโลกเราเหมือนกันนะคะ ในการที่เราจะปั้นใครสักคนให้ออกมาเป็นคนดีในแบบฉบับที่สังคมต้องการ มากไปกว่านั้น มาตรฐานของการเป็นคนดีในสังคมก็ค่อนข้างที่จะแตกต่างกัน เพราะพ่อแม่แต่ละคนก็จะมีความคิด ความเชื่อ และการมองโลกที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ระดับของการเป็นคนดีของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน และก็ไม่สามารถวัดได้ด้วยว่าใครเป็นคนดีกว่าใคร

แต่ถ้าหากจะพูดถึงพื้นฐานของการเป็นคนดี หรือการเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์ รู้จักเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจ การไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้สามารถที่จะสอนกันได้ตั้งแต่ยังเล็กค่ะ เพราะเด็กคือภาพสะท้อนการเลี้ยงดูของพ่อแม่

หากคุณพ่อคุณแม่เล็งเห็นว่าการสอนให้ลูกอยู่ร่วมกับสังคมโลกที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องเหล่านี้ก็สามารถอบรม ปลูกฝัง และสั่งสอนกันได้ตั้งแต่เด็กจนโต เพราะสิ่งเหล่านี้จะปล่อยให้เด็กเรียนรู้ได้เองแต่เล็ก ก็เกินกำลังค่ะ ในโลกความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เด็กทุกคนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่อบอุ่น หรือมีความรุนแรง แล้วจะกลายเป็นเด็กดีของสังคมแบบเดียวกันกับวันเฉลิม

ดังนั้น หากเด็กได้รับการชี้แนะ ได้รับการปลูกฝังในแนวทางที่เป็นกลาง สะท้อนโลกตามความเป็นจริง เด็กก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตมาเป็นคนที่เข้าใจในความแตกต่างของมนุษย์ และเรียนรู้ที่จะเป็นคนดีเพียงพอที่จะให้เกียรติตนเอง ให้เกียรติคนอื่น ไม่ทำให้ตนเองหรือคนอื่นเดือดร้อน

แล้วจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้อย่างไร มีวิธีสอนลูกให้เป็นคนดีหรือเปล่า?


ถ้ามีใครสักคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า เป็นคนดี ต้องเป็นแบบไหน? คำตอบที่ได้ก็คงจะมีมากมายสาธยายกันไม่หวาดไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็น ต้องเป็นคนมีน้ำใจ ต้องกตัญญู ต้องเห็นใจผู้อื่น ต้องช่วยเหลือผู้อื่น ต้องมีความนอบน้อม เป็นต้น

คราวนี้พอคำตอบมีหลากหลาย วิธีการสอนและวิธีการเลี้ยงลูกก็ย่อมต้องหลากหลายและแตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของคุณพ่อคุณแม่ที่ได้เรียนรู้มา ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนย่อมต้องเจอทั้งประสบการณ์ชีวิตที่เหมือน คล้าย หรือแตกต่างกันอยู่แล้ว

ดังนั้น รูปแบบการสอนแนวทางการเป็นเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมเชิงบวกจึงสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น

สอนให้ลูกหัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา

สำคัญอย่างไร: การเอาใจใส่ในที่นี้หมายรวมทั้งความรู้สึกของลูกเราเอง และความรู้สึกของผู้อื่นด้วย เพื่อให้เด็กรับรู้ได้ว่าขณะนั้นตนเองรู้สึกอย่างไร และถ้ามองในมุมกลับกันคนอื่นจะรู้สึกเช่นไร

การสอนความเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้เด็กพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ รู้จักมีความเมตตา และเรียนรู้ที่จะสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น ตลอดจนรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีด้วย

หรือกล่าวคือมีประโยชน์ในแง่ที่ว่าสอนให้ลูกรู้จักเข้าสังคมไปในตัว เรียนรู้ว่าถ้าเราอยากให้คนอื่นมาปฏิบัติตนกับเราอย่างไร เราก็ควรปฏิบัติตนเช่นนั้นกับคนอื่นด้วย

สอนอย่างไร: ความรู้สึกของคนอื่นสำคัญ ขณะเดียวกันความรู้สึกของลูกเองก็สำคัญด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกฝนให้ลูกได้พูดในสิ่งที่คิด สิ่งที่รู้สึก และแสดงอารมณ์ของตนเองออกมาอย่างเสรี

ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพูดคุยและตั้งคำถามกลับเพื่อช่วยให้ลูกได้มองเห็นถึงความรู้สึกของผู้อื่นด้วย โดยอาจจะเป็นการตั้งคำถาม พูดคุย แลกเปลี่ยน เช่น มีการพูดถึงสถานการณ์ใกล้ตัวที่เกิดขึ้น และถามลูกว่า  "ลูกคิดว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร" และ "แล้วถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับลูกบ้าง ลูกจะรู้สึกอย่างไร"

ซึ่งช่วยให้เด็กมีการคิดตาม ได้แสดงความคิดเห็นทั้งในแง่มุมของตนเอง และแง่มุมของคนอื่นด้วย โดยที่คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะแชร์ทัศนคติของตนเองด้วย เพื่อให้ลูกได้รับมุมมองที่หลากหลาย

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

แบบอย่างที่ดี มีค่ามากว่าคำสอน

สำคัญอย่างไร: เด็กไม่ได้จดจำแค่คำสอนจากพ่อแม่เท่านั้น แต่เด็กยังเรียนรู้จากการสังเกตพ่อแม่และคนใกล้ชิดด้วยว่า ในเรื่องที่บอกและสอนมานั้น ถึงเวลาที่มีสถานการณ์คล้าย ๆ กันเกิดขึ้น พ่อแม่แสดงออกอย่างไร ปฏิบัติตามที่เคยสอนเอาไว้ไหม

ดังนั้น พฤติกรรมของพ่อแม่นี่แหละค่ะที่สำคัญมาก ๆ ไม่ใช่ว่าสักแต่จะพูดสอนไปเรื่อย แต่ตัวเองยังทำไม่ได้ แล้วคิดว่าลูกจะสับสนกับสิ่งที่พบเจอไหมคะ? พ่อแม่เคยบอกไว้อย่างหนึ่ง แต่แสดงออกจริงตรงกันข้าม

สอนอย่างไร: วิธีที่ง่ายที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่สอนอะไรไป แนะนำอะไรไป ต้องมั่นใจด้วยว่าตนเองก็ทำได้ แสดงออกให้เป็นปกติในทุก ๆ วัน เพื่อให้ลูกได้ซึมซับจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคุณพ่อคุณแม่

เพราะการสอนให้เด็กเป็นคนดีด้วยการพูดหรือการเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องที่ไม่ยากค่ะ ใคร ๆ ก็พูดได้ว่าฉันบอกลูกทุกวัน ฉันสอนลูกทุกวัน แต่ในขณะเดียวกันเวลาลงมือปฏิบัติจริงนั้น ก็ต้องทำให้ได้ด้วย

สอนให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจ

สำคัญอย่างไร: การหยิบยื่นน้ำใจนั้น เป็นสิ่งที่บังคับกันไม่ได้ค่ะ และการไม่แสดงออกถึงความมีน้ำใจ ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายด้วย แต่เพื่อให้ลูกสามารถอยู่ในสังคมโดยไม่มีคนมาตัดสินว่าเป็นคนแล้งน้ำใจ และเพื่อให้ลูกอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ การสอนให้รู้จักการเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และหยิบยื่นไมตรีต่อผู้อื่น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิชาที่น่าสนใจไม่แพ้กันค่ะ

สอนอย่างไร: พยายามแนะนำหรือส่งเสริมให้ลูกแสดงน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ จนเคยชิน เช่น แบ่งปันของเล่น แบ่งปันขนม ช่วยเหลือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พยายามพาลูกไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ลูกจะได้มีปฏิสัมพันธ์ มีเพื่อนใหม่ ๆ และเรียนรู้ที่จะแบ่งปันน้ำใจไมตรีให้กับเพื่อนตนเองและคนรอบตัว

สอนให้ลูกเห็นคุณค่าของน้ำใจผู้อื่น

สำคัญอย่างไร: เมื่อสอนให้ลูกมีน้ำใจต่อผู้อื่น ก็ต้องไม่ลืมว่าเวลาที่ผู้อื่นหยิบยื่นน้ำใจให้กับลูก ลูกก็ควรที่จะต้องรู้จักที่จะเห็นคุณค่าในความมีน้ำใจและความพยายามของผู้อื่นด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่แค่เราที่เป็นผู้ให้อยู่คนเดียว บางครั้งคนอื่นก็เป็นผู้ให้กับเราด้วย

สอนอย่างไร: การสอนให้ลูกรู้จักเคารพและเห็นคุณค่าของน้ำใจผู้อื่น เริ่มง่าย ๆ ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักพูดขอบคุณเวลาได้รับความช่วยเหลือ หรือได้รับการชื่นชม ขณะเดียวกันเมื่อผู้อื่นได้รับการชื่นชม ก็ควรสอนให้ลูกรู้จักยินดีกับความสำเร็จและความตั้งใจของผู้อื่นด้วย

เป็นคนดี ไม่ง่ายเสมอไป 

สำคัญอย่างไร: การสอนให้ลูกเป็นคนดีนั้นถูกต้องค่ะ แต่ต้องไม่ลืมว่าระดับความดีในความเข้าใจของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน หากคุณพ่อคุณแม่สอนการเป็นคนดีในแบบนามธรรมและไม่อ้างอิงกับโลกในความเป็นจริง

บางครั้งอาจทำให้ลูกสับสันและกลับมาถามตัวเองว่าสิ่งที่ตนทำนั้นขัดแย้งกันกับความรู้สึกของตนเองหรือไม่ เช่น ถ้าลูกถูกรังแก ทำร้ายร่างกาย แต่พ่อแม่สอนไม่ให้ทำร้ายผู้อื่น ลูกอาจถูกกลั่นแกล้งและทำร้ายร่างกายไปเรื่อย ๆ เพราะไม่ต้องการที่จะทำให้คนอื่นบาดเจ็บแบบเดียวกับตน กรณีแบบนี้จะเห็นได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนการเป็นคนดีกับการใช้ชีวิตในโลกของความจริงคู่กันไปด้วย

สอนอย่างไร: คุณพ่อคุณแม่ต้องมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกับลูกบ่อย ๆ สำหรับการเลี้ยงลูก การสื่อสารถือว่าเป็นเรื่องสำคัญนะคะ ไม่ใช่จะนั่งสอน นั่งพูดเพื่อให้ลูกรับฟังอย่างเดียว ต้องถามความเห็นและมุมมองของลูกด้วย

ขณะเดียวกันก็ต้องสอนให้ลูกรู้ด้วยว่าโลกของเรานั้นการถูกเอาเปรียบจากผู้อื่น และการเอาเปรียบผู้อื่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และลูกสามารถรับมือได้อย่างไรในแบบที่ลูกเองก็ไม่รู้สึกมีปม ขณะเดียวกันก็ไม่ทำร้ายคนอื่น ควรสอนให้ลูกเป็นคนดีคู่ไปกับการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและไม่ถูกเอาเปรียบ

แนวทางการปูพื้นฐานให้ลูกเติบโตมาเป็นเด็กเชิงบวก หรือเด็กดี รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และอีกมากมายหลายแขนงของการเป็นคนดี เรื่องแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องจำเอาไว้เลยค่ะว่า จงอดทน

เพราะของแบบนี้ไม่ได้สอนกันวันเดียวแล้วเห็นผลลัพธ์เลย ต้องอาศัยระยะเวลา อาศัยแบบอย่างที่ดี อาศัยความสม่ำเสมอ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่ส่งเสริมให้ลูกได้โตมาเป็นคนที่มีความสุขต่อตนเอง ขณะเดียวกันก็มีความสุขร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย 



บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย