ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
มีลูกยาก พยายามแค่ไหนก็ไม่ท้อง เป็นเพราะอะไรกันแน่

มีลูกยาก พยายามแค่ไหนก็ไม่ท้อง เป็นเพราะอะไรกันแน่

 

Enfa สรุปให้:

  • ภาวะมีบุตรยาก คือ ภาวะที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะเจริญพันธุ์ เช่น ฝ่ายชายอาจมีปัญหาน้ำอสุจิน้อย อสุจิไม่หลั่ง หรืออสุจิไม่มีคุณภาพ หรือฝ่ายหญิงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับท่อนำไข่ ไข่ตกน้อย ไม่มีไข่ตก หรือไข่ไม่ได้คุณภาพ
  • การตรวจภาวะมีบุตรยากจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแพทย์แนะนำให้คู่รักที่ตัดสินใจแต่งงานและวางแผนจะมีลูกหลังแต่งงานควรมาเข้ารับการตรวจตั้งแต่ก่อนจะตัดสินใจแต่งงาน
  • การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน มีประโยชน์เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้รับทราบปัญหาสุขภาพของกันและกัน เพราะหลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าตนเองมีความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยาก หรือเป็นพาหะที่จะส่งต่อโรคทางพันธุกรรมไปยังลูกได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • มีลูกยากคืออะไร
     • สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
     • เมื่อไหร่ที่ต้องไปปรึกษามีบุตรยาก
     • ความเชื่อโบราณอยากมีลูก
     • แก้ไขภาวะมีบุตรยากอย่างไร
     • แนะนำคลีนิกมีบุตรยาก
     • ไขข้อข้องใจเรื่องมีบุตรยากกับ Enfa Smart Club

การมีลูก อาจไม่ใช่ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของคู่สมรส ทว่าก็มีคู่รักอีกหลายคู่ที่ต้องการจะมีลูกแต่กลับต้องประสบกับภาวะมีลูกยาก พยายามแล้ว พยามอีกก็ยังไม่เห็นผล ซึ่งภาวะมีบุตรยากนี้ เมื่อเป็นแล้วโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ จึงส่งผลให้คู่รักหลายคู่ที่อยากมีลูกแต่มีลูกไม่ได้ต้องมีอันผิดหวังกันไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้การมีลูกสำหรับคู่รักที่มีบุตรยาก สามารถที่จะประสบความสำเร็จกับการตั้งครรภ์ได้จริง

มีลูกยาก คืออะไร


ภาวะมีบุตรยาก คือ ภาวะที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะเจริญพันธุ์ เช่น ฝ่ายชายอาจมีปัญหาน้ำอสุจิน้อย อสุจิไม่หลั่ง หรืออสุจิไม่มีคุณภาพ หรือฝ่ายหญิงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับท่อนำไข่ นับวันไข่ตก ไข่ตกน้อย ไม่มีไข่ตก หรือไข่ไม่ได้คุณภาพ

เมื่อสารตั้งต้นของการปฏิสนธิอย่างอสุจิและไข่ไม่สมบูรณ์ แม้ว่าจะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1-3 ปีขึ้นไปก็ยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า เป็นภาวะมีบุตรยาก หรือมีลูกยาก

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก


แล้วทำไมถึงมีลูกยาก? อาการมีลูกยาก มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่? ซึ่งสาเหตุของภาวะมีลูกยากนั้นอาจเรียกได้ว่ามีตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบค่ะ เพราะคู่รักทั้งชายหญิงที่มีปัญหามีบุตรยากนั้น แต่ละฝ่ายก็อาจมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ ดังนี้

สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีลูกยาก:

  • ท่อนำไข่ไม่สมบูรณ์ ท่อนำไข่อุดตัน หรือท่อนำไข่ถูกทำลายจากการผ่าตัด ทำให้ไม่สามารถตกไข่ได้
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ทำให้รบกวนการตกไข่ ส่งผลให้ตกไข่น้อย หรือไม่ตกไข่เลย หรือตกไข่ที่ไม่มีคุณภาพ
  • ความผิดปกของมดลูกหรือปากมดลูก เช่น มีเนื้องอกในมดลูก มีติ่งเนื้อในมดลูก ซึ่งจะไปขัดขวางบริเวณท่อนำไข่ ทำให้การตกไข่เกิดขึ้นได้ยาก หรือไม่สามารถตกไข่ได้
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จากที่ต้องอยู่ในมดลูก แต่กลับไปเจริญนอกมดลูก ลักษณะเช่นนี้อาจส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ มดลูก และท่อนำไข่ ส่งผลให้มีลูกยาก
  • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร ทำให้การตกไข่หยุดลงก่อนถึงเวลาที่สมควร ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ และส่งผลต่อภาวะมีบุตรยาก
  • เป็นมะเร็งและรับการรักษามะเร็ง ซึ่งกระบวนการรักษามะเร็งโดยการฉายรังสี อาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ลดลง การตกไข่มีปัญหา ทำให้มีบุตรยาก
  • ยารักษาโรคบางชนิด อาจส่งผลต่อการผลิตอสุจิ ซึ่งหากใช้ไปนาน ๆ อาจมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในระยะยาว และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยาก
     

สาเหตุที่ทำให้ผู้ชายมีลูกยาก:

  • อสุจิไม่ได้คุณภาพ ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือโรคต่าง ๆ เช่น หนองใน เบาหวาน เอชไอวี ซึ่งปัญหาสุขภาพเหล่านี้ จะส่งผลให้คุณภาพของอสุจิลดลง ไม่แข็งแรงพอที่จะปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนได้
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ เช่น หลั่งเร็ว หลั่งน้อย หรือไม่หลั่งเลย ซึ่งอาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับอัณฑะ หรือการบาดเจ็บรุนแรงที่อัณฑะ จนส่งผลกระทบต่อท่อนำอสุจิ ทำให้มีปัญหาการหลั่งอสุจิตามมา
  • การรับสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีจากการทำงาน การสูบบุหรี่ การรักษาโรค ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลง เพิ่มความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยาก
  • เป็นมะเร็งและรับการรักษามะเร็ง ซึ่งกระบวนการรักษามะเร็งโดยการฉายรังสี อาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ลดลง อสุจิน้อย อสุจิไม่มีคุณภาพ ทำให้มีบุตรยาก
  • ยารักษาโรคบางชนิด อาจส่งผลต่อการผลิตอสุจิ ซึ่งหากใช้ไปนาน ๆ อาจมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในระยะยาว และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยาก
     

เมื่อไหร่ที่ต้องไปปรึกษามีบุตรยาก


การตรวจภาวะมีบุตรยาก เป็นหนึ่งในการตรวจสุขภาพที่สำคัญ ซึ่งแพทย์แนะนำให้คู่รักที่ตัดสินใจแต่งงานและวางแผนจะมีลูกหลังแต่งงานควรมาเข้ารับการตรวจตั้งแต่ก่อนจะตัดสินใจแต่งงาน เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้รับทราบปัญหาสุขภาพของกันและกัน เพราะหลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าตนเองมีความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยาก หรือเป็นพาหะที่จะส่งต่อโรคทางพันธุกรรมไปยังลูกได้

ดังนั้น ก่อนที่จะแต่งงานหรือก่อนที่จะตัดสินใจมีลูก ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายกันเสียก่อน เพื่อที่จะได้รับทราบความเสี่ยงและโอกาสเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นร่วมกันในอนาคต ในฐานะที่จะเป็นคู่ชีวิตกันต่อไปอีกยาวนาน

ความเชื่อโบราณอยากมีลูก


สำหรับความเชื่อโบราณที่มักจะส่งต่อให้กับคู่รักที่พยายามมีลูกแต่ยังไม่มีสักที อาจจะได้คำแนะนำแปลก ๆ มากจากผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น

  • ให้ลองเลี้ยงลูกคนอื่น หรือรับลูกคนอื่นมาเลี้ยง หรือให้อยู่ใกล้กับคนที่ท้องหรือมีลูก จะเป็นการหนุนนำให้ลูกอิจฉารีบมาเกิดเพราะกลัวพ่อแม่รักลูกคนอื่นมากกว่า
  • การปรับฮวงจุ้ยบ้าน พยายามอย่าให้มีอะไรมาขวางประตู ซึ่งเป็นการขัดขวางพลังชี่ ทำให้มีลูกยาก
  • วางช้างคู่ไว้ข้างเตียง เชื่อว่าช้างเป็นสัตว์มงคล เป็นสัญลักษณ์ของการนำโชคมาให้ แบบที่ตามตำนานหรือการทำนายฝันมักจะปรากฎว่ามีช้างนำดอกไม้หรือของมงคลต่าง ๆ มามอบให้ ต่อมาไม่นานก็พบว่าตั้งครรภ์
     

จริง ๆ แล้ว ต่างความเชื่อ ต่างศาสนาก็ยังมีความเชื่อในการเรียกลูกที่แตกต่างกันออกไปอีกมากมาย เช่น การวางปลาคู่ไว้ข้างเตียง การเปลี่ยนทิศหัวนอน หรือแม้แต่การกินกล้วยเพื่อให้มีลูกง่าย ก็มีให้เห็นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อที่ส่งต่อกันมาเท่านั้น ไม่มีผลการศึกษาและงานวิจัยที่สามาถรองรับได้ว่าจะเห็นผลจริง แต่ถ้าหากทำแล้วสบายใจ จะลองดูก็ไม่เสียหายค่ะ

ภาวะการมีบุตรยาก วิธีแก้ไข


มีลูกยาก อยากมีลูก หากนั่นคือความต้องการของคู่รัก ขอให้แบ่งเวลาจากการตระเวนบนบานศาลกล่าวไปพบแพทย์ค่ะ เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจร่างกาย และประเมินโอกาสที่จะตั้งครรภ์ โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปตามแต่ละกรณี โดยอาจจะรักษาด้วยการให้ยา การฉีดฮอร์โมน ไปจนถึงการผสมเทียม และการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้เป็นจริงได้ และมีผลการรับรองทางการแพทย์ด้วย

แนะนำคลินิกมีบุตรยาก


สำหรับคู่รักที่มีบุตรยาก และต้องการที่จะเข้ารับการปรึกษาและรับการรักษากับคลินิกผู้มีบุตรยาก อาจจะสงสัยว่ากรณีแบบนี้ควรปรึกษามีบุตรยากที่ไหนดี

ซึ่งคำตอบนั้นกว้างมากว่าควรจะปรึกษาที่ไหนดี เพราะคลินิกรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากนั้นกระจายอยู่ทั่วทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน มีทั้งใกล้บ้าน และไกลบ้าน ไม่ว่าจะเป็น

  • โรงพยาบาลศิริราช
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11
  • โรงพยาบาลพญาไท 2
  • โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  • โรงพยาบาลศิครินทร์
     

หรือคลินิกผู้มีบุตรยาก เช่น

  • ศูนย์การแพทย์นวบุตร
  • คลินิกเอไอวีเอฟ (Advanced IVF)
  • ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเจตนิน
  • ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก คลินิกมีบุตรยาก BeyondIVF
  • Genesis Fertility Center (GFC)
     

นอกจากนี้แล้วยังมีสถานพยาบาลเพื่อผู้มีภาวะมีบุตรยากอีกมากมายหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศไทยเลยค่ะ หรือถ้าหากสนใจโรงพยาบาลใดเป็นพิเศษ และไม่แน่ใจว่ามีศูนย์ปรึกษาภาวะมีบุตรยากหรือไม่ สามารถโทรสอบถามรายละเอียดกับทางโรงพยาบาลได้โดยตรงเลยค่ะ

ไขข้อข้องใจเรื่องมีบุตรยากกับ Enfa Smart Club


ตรวจมีบุตรยากราคาเท่าไหร่?

ค่าใช้จ่ายในการตรวจมีบุตรยากนั้นอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของสถานพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงรายการที่ตรวจด้วยนะคะ โดยอาจมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 500 บาท ไปจนถึง 100,000 บาทค่ะ

ปรึกษามีบุตรยากฟรีได้ที่ไหน?

การปรึกษาภาวะมีบุตรยากฟรีนั้น อาจขึ้นอยู่กับช่วงโปรโมชันหรือโอกาสพิเศษตามแต่สถานพยาบาลนั้น ๆ ค่ะ แนะนำว่าหากสนใจที่ไหน ควรติดต่อสอบถามโดยตรงกับสถานพยาบาลที่สนใจ เพื่อข้อมูลและรายละเอียดในเชิงลึกมากขึ้นนะคะ

จริงหรือที่มดลูกสูงมีลูกยาก?

การที่ตำแหน่งมดลูกอยู่สูง ไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์แต่อย่างใดค่ะ อสุจิยังสามารถที่จะเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ได้ตามปกติ แต่ผลกระทบที่จะได้จากมดลูกสูงคืออาจทำให้การตรวจภายในทำได้ยากขึ้นค่ะ

คำแนะนำภาวะมีบุตรยาก?

สำหรับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ขอแนะนำให้ไปปรึกษากับแพทย์เพื่อหาทางรับมือและแนวทางในการรักษาเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์จะดีที่สุดค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมาก ช่วยให้โอกาสในการมีลูกของผู้มีภาวะการมีบุตรยากเป็นจริงได้ค่ะ

ยามีลูกยาก ใช้ได้ไหม?

ยามีลูกยาก ขอให้โควตคำนี้ไว้หนา ๆ เลยนะคะว่า ยาใดก็ตามที่อวดอ้างสรรพคุณว่าช่วยในการตั้งครรภ์ ช่วยให้คนมีลูกยาก มีลูกง่าย ขอให้ปักธงแดงเตือนตัวเองเอาไว้ก่อนว่าโฆษณาเกินจริง

การกินยาสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากแพทย์หรือเภสัชกร อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดีค่ะ นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้มีลูกได้ง่ายแล้ว ยังอาจทำให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะยาจำพวกสมุนไพรต่าง ๆ ที่ไม่มีการรับรองความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ

หากต้องการรักษาภาวะมีบุตรยาก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งในกรณีที่ต้องกินยาเพื่อปรับสมดุลร่างกาย หรือเพื่อรักษาภาวะต่าง ๆ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมและปลอดภัยให้ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่เตรียมตัวตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

อาการคนท้อง
how-to-get-pregnant
มูกไข่ตก
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner