Enfa สรุปให้
- อาการก่อนคลอด มักจะปรากฎขึ้นก่อนจะมีการคลอดจริงเกิดขึ้นราว ๆ สัปดาห์ หรือหลายสัปดาห์ แต่มักจะเกิดขึ้นในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
- อาการใกล้คลอด มักจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 37-42 เพราะทารกอาจจะคลอดเมื่อไหร่ก็ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว
- เมื่อใกล้ถึงเวลาคลอด มดลูกจะบีบตัวเล็กลงเพื่อให้ศีรษะของทารกเคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกรานได้ง่ายขึ้น ถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวทารกเมื่อถูกบีบเข้าก็จะค่อย ๆ แตกออกทำให้มีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอด ที่เรียกกันว่า น้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• อาการก่อนคลอดคืออะไร
• อาการใกล้คลอดคืออะไร
• เป็นไปได้ไหม ถ้าไม่มีอาการเจ็บคลอดเตือนเลย
• เมื่อไหร่ที่คุณแม่ควรไปโรงพยาบาล
• ไขข้อข้องใจเรื่องอาการใกล้คลอดกับ Enfa Smart Club
หลังจากอุ้มท้องผ่านมาจนเกือบจะครบ 9 เดือน คุณแม่ก็กำลังเข้าสู่ช่วงนับถอยหลังเพื่อรอการคลอดและต้อนรับสมาชิกใหม่ที่กำลังจะลืมตามาดูโลก
แต่...คุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าใกล้คลอดหรือถึงช่วงเวลาที่จะต้องไปรับการทำคลอดที่สถานพยาบาล วันนี้ Enfa มีสัญญาณและอาการใกล้คลอดที่ควรรู้มาฝาก เพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลาใกล้คลอดขึ้นมาจริง ๆ คุณแม่จะได้รู้ตัวและรับมืออย่างทันท่วงที
อาการก่อนคลอด: สัญญาณเตือนแบบนี้อีกไม่กี่วันจะได้เจอลูกน้อยแล้วนะ
อาการก่อนคลอดมักจะปรากฎขึ้นก่อนจะมีการคลอดจริงเกิดขึ้นราว ๆ สัปดาห์ หรือหลายสัปดาห์ แต่มักจะเกิดขึ้นในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยสามารถพบอาการคลอดได้ ดังนี้
- ท้องลด เพราะทารกจะเริ่มเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกรานพร้อมที่จะคลอด ทำให้ความสูงของยอดมดลูกลดลง
- ปวดหน่วงช่องคลอด เพราะศีรษะของลูกเคลื่อนต่ำลงสู่อุ้งเชิงกราน
- มูกที่อุดปากมดลูกหลุด เนื่องจากมดลูกใกล้เปิด มูกเหนียวข้นที่ปิดปากมดลูกไว้จึงไหลออกมา โดยมักจะไหลออกมาช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนจะคลอด
- เจ็บท้องเตือน หรือเรียกว่า เจ็บท้องหลอก มีอาการเจ็บท้องเนื่องจากมดลูกบีบตัว เพราะทารกเคลื่อนตัวเข้าใกล้ปากมดลูกมากขึ้น โดยอาการปวดท้องสามารถหายเองได้ แต่ปากมดลูกจะยังไม่เปิด และยังไม่มีน้ำคร่ำไหล
- มีสัญชาตญาณการทำรัง (Nesting Instinct) เริ่มมีสัญชาตญาณของการเป็นแม่ คือจะเริ่มรู้สึกอยากเก็บบ้าน จัดห้อง เพื่อเตรียมต้อนรับลูกน้อย
สัญญาณอาการใกล้คลอดที่บอกว่าลูกน้อยพร้อมจะออกมาเจอโลกกว้างแล้ว
หลังจากมีอาการก่อนคลอดปรากฎมาให้เห็นบ้างเป็นระยะ ๆ ก่อนหน้านั้น ตอนนี้ก็เริ่มเข้าใกล้กำหนดคลอดเข้าไปทุกที แต่อาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 37-42 เพราะทารกอาจจะคลอดเมื่อไหร่ก็ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยคุณแม่สามารถสังเกตอาการใกล้คลอดได้ ดังนี้
- มีมูกเลือดก่อนคลอด ก่อนจะคลอดปากมดลูกจะเริ่มขยายกว้างขึ้น หรือปากมดลูกเริ่มเปิด ทำให้เส้นเลือดบริเวณมดลูกแตกออก มูกเลือดที่คอยป้องกันสิ่งแปลกปลอมจึงไหลออกมา
- ท้องแข็ง บางกรณีคุณแม่อาจมีอาการท้องแข็งใกล้คลอด เนื่องจากมดลูกมีการบีบตัว
- ทารกดิ้นน้อยลง แม่บางคนอาจรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง เพราะทารกมีขนาดตัวมากขึ้น แต่มดลูกนั้นคับแคบเกินไปสำหรับทารก จึงอาจจะดิ้นไม่ถนัด แต่ก็ยังดิ้นอยู่แม้จะดิ้นน้อยลงไปบ้างก็ตาม
- รู้สึกปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ หรือมีอาการท้องเสียใกล้คลอด ช่วงใกล้คลอดฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการคลอด ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก และกล้ามเนื้อที่ลำไส้ตรงอ่อนตัวลง ทำให้รู้สึกปวดท้องหรืออยากขับถ่ายได้ง่าย ทั้งมีการขับถ่ายจริงหรือเป็นแค่เพียงอาการปวดให้สับสนเท่านั้น
- น้ำเดิน น้ำคร่ำเดิน เมื่อใกล้ถึงเวลาคลอด มดลูกจะบีบตัวเล็กลงเพื่อให้ศีรษะของทารกเคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกรานได้ง่ายขึ้น ถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวทารกเมื่อถูกบีบเข้าก็จะค่อย ๆ แตกออกทำให้มีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอด ที่เรียกกันว่า น้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก นั่นเอง
- ปวดท้องคลอด หรือ เจ็บท้องจริง มีอาการเจ็บท้องเนื่องจากมดลูกบีบตัว เพราะทารกเคลื่อนตัวเข้าใกล้ปากมดลูกมากขึ้น โดยอาการปวดท้องจะไม่หายไป ปากมดลูกเริ่มเปิด และมีน้ำคร่ำไหล
- ปวดหลัง ตั้งครรภ์ปวดหลังเนื่องจากข้อต่อและเส้นเอ็นเริ่มมีการคลายตัวตามธรรมชาติเพื่อเตรียมพร้อมต่อการคลอด หรือทารกเคลื่อนตัวไปชนกับกระดูกสันหลัง จึงทำให้รู้สึกปวดหรือเมื่อยหลังมากขึ้นในช่วงที่ใกล้จะคลอด
- ปากมดลูกเปิด เมื่อใกล้คลอด ปากมดลูกจะเริ่มขยายออกมากขึ้น เพื่อให้ทารกสามารถออกมาได้ โดยปากมดลูกจะเริ่มเปิดมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ใกล้กำหนดคลอด หนึ่งวันหรือไม่กี่วันก่อนจะคลอด
เป็นไปได้ไหมที่คุณแม่บางคนอาจจะแทบไม่มีอาการเตือนใกล้คลอดเลย
มีหลายกรณีที่คุณแม่ใกล้กำหนดคลอดแล้ว แต่แทบไม่มีอาการเตือนใกล้คลอดให้เห็นเลย อย่างไรก็ตาม อาการหลัก ๆ อย่าง ปากมดลูกเปิด กับน้ำคร่ำเดิน ยังคงเป็นอาการปกติก่อนคลอดที่พบเห็นได้แม้จะไม่มีอาการเตือนอื่น ๆ ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก หากเข้าใกล้กำหนดคลอดแล้วแต่ยังไม่มีอาการเตือนใด ๆ เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที
อาการใกล้คลอดแบบไหนที่คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาล
หากมีอาการเตือนใกล้คลอดเกิดขึ้น คุณแม่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะทารกอาจจะพร้อมคลอดออกมาได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นร่วมด้วยในช่วงใกล้คลอด ควรไปพบแพทย์ทันที
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด
- ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ รู้สึกว่าลูกหยุดดิ้น หรือลูกดิ้นน้อยลงจนแทบไม่รู้สึกเกิน 1 ชั่วโมง
- น้ำคร่ำมีสีต่างไปจากเดิม เช่น มีสีน้ำตาล สีเขียว หรือสีแดง
- อาเจียนไม่หยุด
- หมดสติ
- มีไข้สูงและหนาวสั่น
ไขข้อข้องใจเรื่องอาการใกล้คลอดกับ Enfa Smart Club
ท้อง 37 สัปดาห์ เริ่มมีอาการใกล้คลอด ถือว่าปกติไหม
ท้อง 37 สัปดาห์ อาการใกล้คลอดนั้น แม่ท้องจะเริ่มมีอาการใกล้คลอดระหว่าง 37-42 สัปดาห์ ซึ่งทารกอาจจะคลอดออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ในช่วงเวลานี้ หากมีอาการใกล้คลอดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 37 จึงถือว่าปกติ
ใกล้คลอดแล้ว มีอาการท้องแข็งบ่อยแต่ไม่ปวด แบบนี้ปกติไหม
ปกติแล้วอาการท้องแข็งจะไม่มีอาการปวดร่วมด้วย แต่จะให้ความรู้สึกอึดอัดและไม่สบายท้องเสียมากกว่า ส่วนอาการท้องแข็งที่มีอาการเจ็บท้องหรือปวดท้องร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์
มีมูกใสช่วงใกล้คลอด ปกติไหม
มูกกับน้ำคร่ำ มักจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือมีความใส ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นมูกใส แต่จริง ๆ อาจจะเป็นน้ำเดิน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าทารกใกล้ที่จะคลอดออกมาแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่น้ำเดิน ก็อาจจะเป็นตกขาวคนท้อง ซึ่งสามารถพบได้เป็นปกติระหว่างตั้งครรภ์
มีมูกสีขาวขุ่นช่วงใกล้คลอด ปกติไหม
เมื่อใกล้คลอดมดลูกก็จะเริ่มเปิด มูกเหนียวข้นที่ปิดปากมดลูกไว้จึงไหลออกมา โดยมักจะไหลออกมาช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนจะคลอด
มีมูกเลือดสีน้ำตาลช่วงใกล้คลอด ปกติไหม
ช่วงใกล้คลอดมักจะมีมูกเลือด่ไหลออกมา เพราะปากมดลูกจะเริ่มขยายกว้างขึ้น ทำให้เส้นเลือดบริเวณมดลูกแตกออก มูกเลือดที่คอยป้องกันสิ่งแปลกปลอมจึงไหลออกมา เป็นสัญญาณว่าทารกกำลังจะคลอดออกมา ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
อาการก่อนคลอด 3 วัน เป็นอย่างไร
ในช่วง 3 วันก่อนคลอด อาจพบกับอาการใกล้คลอด ดังนี้
- มีมูกเลือดก่อนคลอด
- ท้องแข็ง
- รู้สึกปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ หรือมีอาการท้องเสียใกล้คลอด (Prelabor Diarrhea) (110)
- น้ำเดิน น้ำคร่ำเดิน
- ปวดท้องคลอด หรือ เจ็บท้องจริง
- ปวดหลัง
- ปากมดลูกเปิด
อาการใกล้คลอดท้องสอง ต่างจากท้องแรกไหม
อาการใกล้คลอดมักจะไม่ต่างกันมากไม่ว่าจะเป็นการคลอดครั้งที่เท่าไหร่ก็ตาม แต่ความรู้สึกอาจจะไม่เท่ากันในการท้องแต่ละครั้ง กล่าวคือมักมีอาการเจ็บท้องคลอดน้อยกว่าท้องแรก และมักคลอดลูกคนที่สองง่ายกว่าลูกคนแรก อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละคนด้วย
ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ มีอาการปวดหน่วง ปกติไหม? แบบนี้ใกล้คลอดหรือเปล่า?
อาการปวดหน่วงเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากการบีบตัวของมดลูก ทารกดิ้นแรง ภาวะแท้งคุกคาม หรืออาจเป็นอาการเจ็บท้องจริงใกล้คลอดก็ได้ ดังนั้น หากมีอาการปวดหน่วงแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจจะมีการคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้น หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นก็ได้
ปวดท้องคลอดลูกดิ้นไหม
ช่วงใกล้คลอด แม่อาจจะรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง เพราะทารกมีขนาดตัวมากขึ้น แต่มดลูกนั้นคับแคบเกินไปสำหรับทารก จึงอาจจะดิ้นไม่ถนัด แต่ก็ยังดิ้นอยู่แม้จะดิ้นน้อยลงไปบ้างก็ตาม แต่ถ้าลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นเลย ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกได้
มูกก่อนคลอดเป็นแบบไหน
มูกก่อนคลอดจะมีทั้งมูกเหนียวสีขาวข้น หรืออาจจะมีมูกขาวปนเลือดก็ได้เช่นกัน
มีมูกเลือดออกทางช่องคลอดแต่ไม่ปวดท้อง อันตรายไหม
ก่อนจะคลอดปากมดลูกจะเริ่มขยายกว้างขึ้น หรือปากมดลูกเริ่มเปิด ทำให้เส้นเลือดบริเวณมดลูกแตกออก มูกเลือดที่คอยป้องกันสิ่งแปลกปลอมจึงไหลออกมา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นพร้อมกับอาการปวดท้องหรือไม่ก็ได้
- What to Expect. Diarrhea Before Labor (Prelabor Diarrhea). [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/symptoms-and-solutions/prelabor-…. [23 February 20222]
- What to Expect. Signs of Labor. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/labor-signs. [23 February 20222]
- What to Expect. Nesting During Pregnancy. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/labor-and-delivery/preparing/nes…. [23 February 20222]
- Pregnancy, Birth and Baby. Giving birth - stages of labour. [Online] Accessed https://www.pregnancybirthbaby.org.au/labour-the-signs-and-stages. [23 February 20222]
- NHS. Signs that labour has begun. [Online] Accessed https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/signs-of-labour/signs-tha…. [23 February 20222]
- Healthline. 8 Signs That Labor Is 24 to 48 Hours Away. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/pregnancy/signs-that-labor-is-24-to-4…. [23 February 20222]
- โรงพยาบาลบางปะกอก 3. 6สัญญาณเตือนการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://bangpakok3.com/care_blog/view/93. [23 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลนครธน. สัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด เตรียมพร้อมได้ทันเวลา. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.nakornthon.com/article/. [23 กุมภาพันธ์ 2022]
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. สัญญานอันตรายที่แม่ตั้งครรภ์ต้องรีบไปพบแพทย์ : พบหมอรามาฯ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/. [23 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลพญาไท. ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงอันตรายแค่ไหน. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/article_detail/. [23 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลพญาไท. คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้! สัญญาณเตือนแบบไหน..ที่เสี่ยง ‘คลอดก่อนกำหนด’. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/article_detail/. [23 กุมภาพันธ์ 2022]
- เมดไทย. 8 อาการก่อนคลอด & อาการใกล้คลอด (เจ็บท้องคลอด) ฯลฯ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/. [23 กุมภาพันธ์ 2022]
- งานการพยาบาลผู้ป่วยสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่. เจ็บครรภ์ก่อนคลอด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://w2.med.cmu.ac.th/nob/index.php?option=com_content&view=article&…. [23 กุมภาพันธ์ 2022]
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. การคลอดปกติทางช่องคลอด (Normal vaginal delivery). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/normal-labor/. [23 กุมภาพันธ์ 2022]
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ตกขาวคราวตั้งครรภ์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=402. [23 กุมภาพันธ์ 2022]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- บล็อกหลังผ่าคลอดปลอดภัยไหม เสี่ยงอันตรายหรือเปล่า
- เข้าใจการคลอดธรรมชาติ ปลอดภัยและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
- คลอดลูกในน้ำ วิธีคลอดแบบใหม่ เจ็บน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น
- แม่ ๆ เช็กให้พร้อม ดูซิ! ของเตรียมคลอดที่จำเป็นมีอะไรบ้าง
- รู้จักกับน้ำคาวปลาหลังคลอด ที่แสนจะกวนใจคุณแม่
- แผลผ่าคลอด ดูแลอย่างไร ให้หายเร็ว และลดรอย
- ลดน้ำหนัก ลดหน้าท้องหลังคลอด ลดยังไงให้ปลอดภัย และได้ผล
- เริ่มเลย! ออกกำลังกายหลังคลอด ทวงหุ่นฟิต พิชิตความเฟิร์ม
- ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
- ผ่าคลอด ประกันสังคม จ่ายให้เท่าไหร่ ใช้สิทธิ์ยังไงได้บ้าง
- ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐ เตรียมตัวยังไง ใช้สิทธิ์อะไรได้บ้างนะ
- บล็อกหลังผ่าคลอดปลอดภัยไหม เสี่ยงอันตรายหรือเปล่า
- อาการท้องผูก ตั้งครรภ์อ่อน ๆ ปกติไหม ป้องกันได้อย่างไร