Enfa สรุปให้
- น้ำคาวปลาเป็นเลือดและเนื้อเยื่อที่ไหลออกมาจากช่องคลอด มีลักษณะและกลิ่นคล้ายกลับประจำเดือน โดยร่างกายของคุณแม่จะเริ่มขับน้ำคาวปลาออกมาตั้งแต่หลังแรกคลอด และจะขับออกมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 – 6 สัปดาห์
- ในระยะแรก น้ำคาวปลาจะมีสีแดงหรือแดงเข้ม เมื่อผ่านไปประมาณ 4 – 10 วัน ก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีที่มีความจางลงจากเดิม กลายเป็นสีชมพูและสีน้ำตาลตามลำดับ หลังจากนั้นจะเปลี่ยนสีเป็นสีขาวหรือสีออกเหลือง
- ลักษณะของน้ำคาวปลาที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นเน่า เป็นลิ่มเลือด มีลักษณะเป็นก้อนกลม ๆ ขนาดใหญ่ หรือมามากกว่าปกติ รวมไปถึงอาการร่วม เช่น มีอาการปวด ตาเบลอ มีไข้ หนาวสั่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น หากพบอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• น้ำคาวปลาคืออะไร
• น้ำคาวปลาสีอะไร
• น้ำคาวปลาต่างจากประจำเดือนอย่างไร
• น้ำคาวปลากี่วันหมด
• น้ำคาวปลาแบบไหนผิดปกติ
• ยาขับน้ำคาวปลาจำเป็นไหม
• น้ำคาวปลายังไม่หมด มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม
• ไขข้อข้องใจเรื่องน้ำคาวปลากับ Enfa Smart Club
การตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายของคุณแม่หลายอย่าง ตั้งแต่เริ่มตั้งท้อง ขณะตั้งท้อง ไปจนถึงหลังคลอดแล้วก็ยังคงพบการเปลี่ยนแปลงตามมาได้อีก หนึ่งในนั้นคือ น้ำคาวปลา ที่จะถูกขับออกมาหลังคลอด
ซึ่งมักทำให้คุณแม่หลาย ๆ ท่านวิตกกังวลว่าอาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือกังวลว่าน้ำคาวปลาไม่ยอมหมดไปสักที จะทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายด้วยไหม แต่ความจริงเป็นอย่างไร ลองมาหาคำตอบกันค่ะ
น้ำคาวปลาคืออะไร
น้ำคาวปลา (Lochia) คือ เลือดและเศษเนื้อเยื่อที่ไหลออกมาจากช่องคลอดของผู้หญิงหลังจากการคลอดลูก มีกลิ่นเหม็นอับคล้ายกับประจำเดือน โดยคุณแม่หลังคลอดมักจะมีน้ำคาวปลาไหลออกมาทันทีหลังคลอด และจะยังไหลออกมาเป็นระยะต่อไปอีกประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด
น้ำคาวปลาสีอะไร
น้ำคาวปลาในช่วงระยะแรกหลังคลอดลูกจะมีสีแดงหรือแดงเข้ม แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 4-10 วัน น้ำคาวปลาก็จะเริ่มมีสีที่จางลง เป็นสีชมพู หรือสีน้ำตาล จากนั้นเมื่อผ่านไป 10-14 วัน น้ำคาวปลาจะมีลักษณะคล้ายกับตกขาวคนท้องระยะแรกที่จะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการมีประจำเดือน และเมื่อพ้น 14 วันไปแล้ว จนกระทั่งครบ 6 สัปดาห์ น้ำคาวปลาจะมีลักษณะเป็นมูกสีขาวหรือสีออกเหลือง และอาจขับออกมามากผิดปกติ
น้ำคาวปลา VS ประจำเดือน ต่างกันอย่างไรบ้าง
น้ำคาวปลาแม้จะมีลักษณะคล้ายกับประจำเดือน แต่แท้จริงแล้วมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะเลือดและมูกที่ไหลออกมาหลังคลอดนี้ ไม่ได้เป็นผลพวงของการมีรอบเดือน แต่เป็นผลพวงจาการคลอดลูก และน้ำคาวปลาก็จะไหลออกมามากกว่าประจำเดือน มีระยะเวลาในการหลั่งที่นานกว่าประจำเดือน อีกทั้งน้ำคาวปลายังมีเศษซากของเนื้อเยื่อ หรือรก ไหลออกมาด้วย ขณะที่เลือดประจำเดือนจะไม่พบองค์ประกอบดังกล่าว
น้ำคาวปลากี่วันหมด
น้ำคาวปลาอาจจะไหลออกมาทันทีหลังคลอด หรือเริ่มหลั่งหลังจากคลอดผ่านไป 3 วัน และจะมีการขับออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งครบ 6 สัปดาห์ น้ำคาวปลาจึงจะค่อย ๆ หมดไป มาฟังคำอธิบายสั้นๆ จากพยาบาลต้อ จุฑามาศ จากทีมพยาบาลของ Enfa Smart Club กันค่ะ
น้ำคาวปลาหลังคลอด... ลักษณะของน้ำคาวปลา แบบนี้ปกติหรือไม่
น้ำคาวปลาถือเป็นเรื่องปกติของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลังคลอด และมักไม่ใช่สัญญาณของความผิดปกต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่ถ้าหากน้ำคาวปลามีลักษณะดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนบางประการ
- น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นเน่า (ปกติจะเป็นเพียงกลิ่นอับ)
- น้ำคาวปลาเป็นลิ่มเลือด
- น้ำคาวปลาหลั่งออกมาเป็นก้อนกลม ๆ ขนาดใหญ่
- น้ำคาวปลาหลั่งออกมามาก และสลับเป็นหลั่งออกมาน้อย ก่อนจะหลั่งออกมามากอีกครั้ง
- มีเลือดหลั่งออกมาทางช่องคลอดมากผิดปกติจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง
นอกจากลักษณะของน้ำคาวปลาที่ต้องสังเกตแล้ว ควรสังเกตดูว่า มีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วยหรือไม่
- มีอาการตาเบลอ
- มีไข้
- หนาวสั่น
- มีอาการมึนงง ง่วงนอน หรือสับสน
- วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้
- ผิวซีด และมีเหงื่อออกมาก
- มีอาการปวด ตะคริว หน้าท้องบวม
- หัวใจเต้นเร็ว
ลักษณะของน้ำคาวปลาและอาการร่วมดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หรือมีอาการตกเลือด ซึ่งค่อนข้างอันตราย ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา
ยาขับน้ำคาวปลาคืออะไร คุณแม่จำเป็นต้องกินยาขับน้ำคาวปลาหรือไม่
น้ำคาวปลาจะมีกระบวนการหลั่งและขับออกมาเองตามธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องไปกินยาขับ และไม่มียาใดที่ใช้สำหรับการขับน้ำคาวปลาโดยตรง ส่วนมากจะเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่มีสรรพคุณเชื่อว่าช่วยขับน้ำคาวปลาได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณแม่หลังคลอดไม่จำเป็นต้องไปกินหรือดื่มยาอะไรเพื่อขับน้ำคาวปลา เพราะน้ำคาวปลาจะขับออกมาเองและหยุดไหลไปเองตามธรรมชาติ
มากไปกว่านั้น ยาที่เชื่อว่าจะช่วยขับน้ำคาวปลา อาจส่งผลต่อการผลิตน้ำนมแม่ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อลูกที่กินนมแม่เข้าไปด้วย ยิ่งยาที่เชื่อว่าจะช่วยขับน้ำคาวปลาบางชนิดเป็นยาดอง หากทารกดื่มนมแม่ที่กินยาดองเข้าไป ก็เสี่ยงที่จะทำให้ทารกเมาได้ และแม่ให้นมบุตร ไม่ควรกินยาเองสุ่มสี่สุ่มห้าโดยที่ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากแพทย์
น้ำคาวปลายังไม่หมด มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำระยะเหมาะสมของการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดอยู่ที่ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อให้คุณแม่ได้มีเวลาพักฟื้นร่างกาย เพื่อให้แผลผ่าคลอดแห้งสนิทหรือสมานตัวดีขึ้น และเพื่อรอให้น้ำคาวปลาขับออกมาจนหมดเสียก่อน เพราะการมีเพศสัมพันธ์ขณะที่ยังมีน้ำคาวปลาหลั่งออกมานั้น เสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้
ไขข้อข้องใจเรื่องน้ำคาวปลากับ Enfa Smart Club
น้ำคาวปลายังไม่หมด ตรวจหลังคลอดได้ไหม?
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำให้ไปตรวจหลังคลอดเมื่อน้ำคาวปลาหมดแล้ว หรือถ้าหากยังมีน้ำคาวปลาขับออกมาอยู่ แพทย์ก็จะทำการเลื่อนนัดออกไปก่อน
ผ่าคลอด น้ำคาวปลาหมดกี่วัน?
ในกรณีที่ทำการผ่าตัดคลอด แพทย์จะทำความสะอาดมดลูก และนำเอาชิ้นส่วนของรกและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ออกมาให้ด้วย ซึ่งก็หมายความว่า เศษต่าง ๆ ทั้งเมือกและเนื้อเยื่อส่วนใหญ่ก็จะหายไปตั้งแต่ผ่าคลอดเสร็จแล้ว ด้วยเหตุนี้คุณแม่ที่คลอดโดยการผ่าตัดจึงรู้สึกได้ว่าน้ำคาวปลาหมดเร็วกว่าคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ หรือน้ำคาวปลาอาจจะหยุดไหลก่อน 4-6 สัปดาห์
น้ำคาวปลาไม่หมดสักที ควรทำอย่างไร?
น้ำคาวปลาจะใช้เวลาในการขับออกมาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกาย อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะหมดเร็วก่อนถึง 6 สัปดาห์ หรืออาจจะนานกว่านั้น แต่คุณแม่ไม่จำเป็นต้องไปกินยาขับเพื่อเร่งการขับน้ำคาวปลาแต่อย่างใด เพียงแค่หมั่นดูแลตัวเอง เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้น้ำคาวปลาขับออกมาได้เร็วยิ่งขึ้น
ทํายังไงให้น้ำคาวปลาหมดเร็ว?
น้ำคาวปลามีระยะเวลาในการขับตามธรรมชาติ แต่การหมั่นดูแลตัวเอง การเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว ก็จะช่วยให้น้ำคาวปลาขับออกมาได้ง่ายและเร็วขึ้นด้วย
ผ่าคลอด กินยาขับน้ำคาวปลาได้ไหม
น้ำคาวปลามีระยะเวลาในการขับตามธรรมชาติ โดยที่คุณแม่หลังคลอดไม่จำเป็นต้องกินยาขับใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแม่ให้นมบุตร ไม่ควรกินยาเองสุ่มสี่สุ่มห้าโดยที่ไม่ผ่านการเห็นชอบจากแพทย์
น้ำมะพร้าวช่วยขับน้ำคาวปลา ได้จริงหรือ?
ไม่มีผลการศึกษาและงานวิจัยที่เพียงพอจะรองรับว่าน้ำมะพร้าวช่วยในการขับน้ำคาวปลาแต่อย่างใด เป็นเพียงความเชื่อที่ส่งต่อกันมามากกว่า
อย่างไรก็ตาม น้ำมะพร้าวจัดเป็นน้ำผลไม้ชนิดหนึ่งที่คุณแม่สามารถดื่มได้เพื่อเพิ่มความสดชื่น อีกทั้งสารอาหารจากน้ำมะพร้าวก็ยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ทั้งนี้ควรเป็นน้ำมะพร้าวธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งหรือเพิ่มน้ำตาลจนหวานกว่าปกติ
- Cleveland Clinic. Pregnancy: Physical Changes After Delivery. [Online] Accessed https://my.clevelandclinic.org/health/articles/9682-pregnancy-physical-…. [28 January 2022]
- Verywell Family. What Is Lochia?. [Online] Accessed https://www.verywellfamily.com/what-is-lochia-5079613. [28 January 2022]
- Verywell Health. What Is Lochia?. [Online] Accessed https://www.verywellhealth.com/lochia-5186843. [28 January 2022]
- Healthline. Is Postpartum Bleeding Normal?. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/pregnancy/is-postpartum-bleeding-norm…. [28 January 2022]
- What to Expect. Postpartum Bleeding (Lochia). [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/symptoms-and-solutions/postpartu…. [28 January 2022]
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. สารพัดความเชื่อของแม่ท้อง ตอนที่ 2. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=427. [28 มกราคม 2022]
- โรงพยาบาลขอนแก่นราม. 10 ความเชื่อ...จริง และ ไม่จริง กับคุณแม่หลังคลอด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.khonkaenram.com/th/services/health-information/health-artic…. [28 มกราคม 2022]
- โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ. คำถามยอดฮิตที่คุณแม่ผ่าคลอดอยากรู้. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.sikarin.com/health/คำถามยอดฮิตที่คุณแม่ผ่. [28 มกราคม 2022]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- ปวดท้องน้อยหลังคลอด ผิดปกติไหม อันตรายหรือเปล่า
- ลดน้ำหนัก ลดหน้าท้องหลังคลอด ลดยังไงให้ปลอดภัย และได้ผล
- เริ่มเลย! ออกกำลังกายหลังคลอด ทวงหุ่นฟิต พิชิตความเฟิร์ม
- นมแม่ สารพันประโยชน์ และคุณค่าดี ๆ จากอกแม่
- อาหารบำรุงน้ำนมที่แม่น้ำนมน้อย น้ำนมหด ควรกินบ่อย ๆ
- อาหารหลังคลอด ที่แม่ให้นมลูกห้ามกิน เลี่ยงได้เลี่ยง
- น้ำนมหด น้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล จะกู้น้ำนมยังไงได้บ้าง
- ปั๊มนมยังไงให้ถูกวิธี ปั๊มแบบไหนให้นมเกลี้ยงเต้า
- รู้ไหม? นมแม่อยู่ได้กี่ชม. เก็บนมแม่ยังไงให้อยู่ได้นานๆ
- วิธีอุ่นนมแม่ อุ่นยังไงให้ถูกต้อง และน้ำนมไม่เสียคุณภาพ
- ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
- ทารกเป็นหวัด หายใจไม่สะดวก คุณพ่อคุณแม่รับมืออย่างไรดี
- อยู่ไฟหลังคลอดจำเป็นไหม? ไม่อยู่ไฟหลังคลอดได้หรือเปล่า?