ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
perineal-tears-recovery-and-care

แผลฝีเย็บหลังคลอด ดูแลอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ

 

Enfa สรุปให้

  • ฝีเย็บ คือ บริเวณระหว่างปากช่องคลอดและรูทวารหนัก ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นจุดที่เกิดความตึงและมีการฉีกขาดขณะคลอด
  • แพทย์จะทำการตัดบริเวณฝีเย็บเพื่อช่วยขยายช่องคลอด ช่วยให้ทารกคลอดได้ง่ายขึ้น หลังจากจุดฝีเย็บเกิดการฉีกขาด ก็จะต้องมีการเย็บแผล จึงเรียกแผลบริเวณนี้ว่า แผลฝีเย็บ
  • แผลฝีเย็บสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์

หนึ่งในความกังวลหลังคลอดของคุณแม่ทั้งหลาย นอกเหนือจากอยู่ไฟหลังคลอด ก็คือปัญหาเรื่องแผลผ่าคลอดที่ยากจะลดเลือน และทำให้สูญเสียความมั่นใจ แต่...รู้หรือไม่ว่า? ไม่ใช่แค่การผ่าคลอดเท่านั้นที่ฝากรอยแผลแห่งการกำเนิดใหม่ไว้ให้ดูต่างหน้า เพราะแม่ที่คลอดธรรมชาติส่วนมาก ก็มักจะมี แผลฝีเย็บ หลงเหลือไว้ให้เห็นด้วยเช่นกัน แต่แผลฝีเย็บคืออะไร ใช้เวลารักษานานหรือไม่ และแม่หลังคลอดจะต้องดูแลแผลฝีเย็บอย่างไรบ้าง มาติดตามกันได้ที่บทความนี้เลย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

รู้จักแผลฝีเย็บ
ดูแลแผลฝีเย็บอย่างไร
วิธีช่วยบรรเทาอาการปวดแผลฝีเย็บ
คันแผลฝีเย็บ คุณแม่ควรทำยังไงดี
แผลฝีเย็บแยก ปัญหาหลังคลอดกวนใจคุณแม่
ไขข้อข้องใจเรื่องการดูแลแผลฝีเย็บกับ Enfa Smart Club

รู้จักแผลฝีเย็บ หรือแผลคลอดธรรมชาติ


แผลฝีเย็บคืออะไร?

ฝีเย็บ คือ บริเวณระหว่างปากช่องคลอดและรูทวารหนัก ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นจุดที่เกิดความตึงและมีการฉีกขาดขณะคลอด ซึ่งแพทย์จะทำการตัดส่วนนี้เพื่อช่วยขยายช่องคลอด ช่วยให้ทารกคลอดได้ง่ายขึ้น หลังจากจุดฝีเย็บเกิดการฉีกขาด ก็จะต้องมีการเย็บแผล จึงเรียกแผลบริเวณนี้ว่า แผลฝีเย็บ

ลักษณะแผลฝีเย็บ เป็นอย่างไร?

แผลฝีเย็บสามารถแบ่งออกได้หลายลักษณะ ดังนี้

  • ระดับที่ 1 แผลฝีเย็บขนาดเล็กบริเวณปากช่องคลอด หรือปากอวัยวะเพศหญิง สามารถหายเองได้ และหายเร็ว
  • ระดับที่ 2 แผลฝีเย็บที่เกิดจากการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อกลางของฝีเย็บ ซึ่งจะต้องมีการเย็บและมีแผลลึกกว่าระดับที่ 1
  • ระดับที่ 3 แผลฝีเย็บที่เป็นแผลลึกไปจนถึงกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก และจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเย็บอย่างเหมาะสม
  • ระดับที่ 4 แผลฝีเย็บที่เป็นแผลลึกไปจนถึงกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก แต่ลึกกว่าระดับที่ 3 และจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเย็บอย่างระมัดระวังและเหมาะสม

แผลฝีเย็บกี่วันหาย?

แผลคลอดธรรมชาติและแผลฝีเย็บสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ โดยจะใช้เวลาตั้งแต่ 3-4 สัปดาห์

คุณแม่ควรดูแลแผลเย็บหลังคลอดอย่างไร?


แม่หลังคลอดสามารถดูแลแผลฝีเย็บได้ ดังนี้

  • คอยดูแลทำความสะอาดแผลฝีเย็บอยู่เสมอ โดยในระยะแรกหลังคลอด ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำสะอาดเท่านั้น ไม่ใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำในการทำความสะอาดแผลฝีเย็บ
  • ไม่ปล่อยให้แผลเปียกชื้น หลังการอาบน้ำและทำความสะอาด ควรดูแลให้บริเวณแผลฝีเย็บแห้งสนิท เพื่อป้องกันการหมักหมม อับชื้น หรือติดเชื้อ
  • ไม่ถูหรือสัมผัสที่แผลฝีเย็บ ปล่อยให้แผลฝีเย็บแห้งตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ผ้าเช็ดหรือซับ ยกเว้นในกรณีที่ปัสสาวะหรืออุจจาระในที่สาธารณะ สามารถใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษชำระสำหรับการทำความสะอาด ซับเบา ๆ ให้แห้งได้
  • หมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
  • สวมใส่กางเกงหรือกระโปรงตัวหลวม ๆ ไม่รัดแน่น เพื่อไม่ให้เนื้อผ้าสัมผัสกับแผลโดยตรง และควรเลือกสวมใส่กระโปรงหรือกางเกงที่ทำมาจากผ้าฝ้าย เพราะสามารถระบายอากาศได้ดี ป้องกันการอับชื้น
  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายดี หรือจนกว่าน้ำคาวปลาจะหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ หรือแผลจากการคลอดฉีกขาด
  • หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลกดทับ เวลานั่งควรมีเบาะรองนั่งเพื่อช่วยให้นั่งสบายขึ้น บรรเทาความรู้สึกเจ็บที่แผล
  • แช่น้ำอุ่นหรือน้ำเย็น ครั้งละ 20 นาที เพื่อช่วยลดอาการบวมของแผล หลังจากคลอดผ่านไปแล้ว 3 วัน สามารถประคบอุ่นหรือประคบเย็นได้
  • หมั่นออกกำลังกายโดยการขมิบก้นและช่องคลอด โดยการขมิบแต่ละครั้งให้ค้างไว้แล้วนับ 1-10 นับเป็น 1 รอบ ทำเช่นนี้อย่างน้อยวันละ 30 รอบ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดเกิดการยืดหยุ่น

วิธีช่วยบรรเทาอาการปวดแผลฝีเย็บ


หากมีอาการปวดแผลฝีเย็บ หรือปวดแสบแผลฝีเย็บ คุณแม่สามารถบรรเทาอาการเหล่านั้นได้ ดังนี้

  • กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน ซึ่งควรเป็นยาแก้ปวดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะแม่ให้นมบุตรไม่ควรกินยาเองสุ่มสี่สุ่มห้า และยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดไม่ควรเป็นยาแอสไพรินเพราะจะเข้าไปผสมกับน้ำนมและส่งผ่านไปถึงลูกน้อยได้
  • ประคบอุ่นหรือประคบเย็น การประคบอุ่นหรือประคบเย็นสามารถช่วยลดอาการบวมและอาการปวดบริเวณแผลฝีเย็บได้
  • เวลานั่งควรนั่งบนเบาะรองนั่ง หรือนั่งบนห่วงยาง เพื่อป้องกันไม่ให้แผลกดทับ และช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บที่แผล
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ เลือกอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก เพราะถ้าหากมีอาการท้องผูกร่วมด้วย จะยิ่งทำให้รู้สึกปวดแผลมากขึ้นในเวลาที่ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ

คันแผลฝีเย็บ คุณแม่ควรทำยังไงดี?


หากมีอาการคันแผลฝีเย็บ คุณแม่สามารถดูแลแผลได้ ดังนี้

  • หมั่นรักษาความสะอาดของแผลอยู่เสมอ คอยดูแลแผลให้สะอาดและแห้งสนิท เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ทำให้เกิดอาการคัน
  • สวมใส่กางเกงหรือกระโปรงตัวหลวม เพื่อลดความเสี่ยงที่เนื้อผ้าจะเกิดการเสียดสีกับแผล และอาจทำให้เกิดอาการคันได้
  • ใช้ยาทาบรรเทาอาการคัน แพทย์อาจสั่งจ่ายยาใช้ภายนอกในกรณีที่มีอาการคันแผลมาก

แผลฝีเย็บแยก : ปัญหาแผลหลังคลอดกวนใจคุณแม่


แผลฝีเย็บแยกเกิดจากอะไร?

แผลฝีเย็บแยกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • เกิดจากการบวมและอักเสบของแผลฝีเย็บจนทำให้แผลแยก
  • มีอาการท้องผูก และต้องออกแรงเบ่งอุจจาระทำให้แผลเกิดการระบมหรือบวม และทำให้แผลแยก
  • การติดเชื้อที่แผลฝีเย็บ
  • การนั่งในท่านั่งที่ต้องมีการอ้าหรือฉีกขาออก เช่น นั่งขัดสมาธิ
  • การฉีดน้ำจากสายฉีดชำระแรงเกินไป
  • การออกแรงมาก เช่น ยกหรือลากสิ่งของ

อาการแผลฝีเย็บแยก & แผลฝีเย็บแยกเป็นยังไง

โดยปกติแผลจะต้องเริ่มติดกันสนิทเมื่อคลอดผ่านไปแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม หลังคลอดได้ไม่กี่วันหรือหลังคลอดผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์คุณแม่อาจมีอาการแผลฝีเย็บแยก ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อน และอาจจะมาพร้อมกับอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • แผลบวมแดง
  • แผลอักเสบ
  • แผลปริออกจากกัน
  • เจ็บแผลเวลาลุกหรือนั่ง
  • มีเลือดหรือหนองซึมออกจากแผล

แผลฝีเย็บอักเสบ แผลฝีเย็บบวม บอกอะไร? คุณแม่ควรทำยังไงดี

แผลฝีเย็บอักเสบหรือบวมแดง อาจหมายถึงมีการติดเชื้อเกิดขึ้น เนื่องจากการรักษาความสะอาดแผลที่ไม่เพียงพอ มีการขยับเขยื้อน หรือออกแรงมากเกินไป จนกระทั่งทำให้แผลฝีเย็บมีการอักเสบและบวมขึ้นมา ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์และรับการรักษาต่อไป

แผลฝีเย็บติดเชื้อ คืออะไร? อาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์ทันที

โดยปกติแผลจะต้องเริ่มติดกันสนิทเมื่อคลอดผ่านไปแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้าเกินหนึ่งสัปดาห์แล้ว แผลยังไม่เริ่มปิดสนิทอาจหมายถึงมีการติดเชื้อเกิดขึ้น

ซึ่งอาการแผลฝีเย็บติดเชื้อสามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ไม่สบาย มีไข้ คล้ายจะเป็นไข้หวัดใหญ่
  • ปวดแผล
  • แผลแยกออกจากกัน
  • แผลมีกลิ่นเหม็น
  • มีเลือดหรือหนองไหลออกจากแผล
  • มีอาการปวดแผลลามจนไม่สามารถเดินได้

ไขข้อข้องใจเรื่องการดูแลแผลฝีเย็บกับ Enfa Smart Club


1. เดือนแล้ว แผลฝีเย็บยังไม่หาย คุณแม่ควรทำอย่างไร?

ปกติแล้วแผลฝีเย็บจะปิดสนิทเมื่อผ่านไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ หากยังอยู่ในระยะเวลา 1 เดือน ก็อาจจะเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน บางคนแผลหายช้า บางคนแผลหายเร็ว

แต่...ถ้าพ้น 1 เดือนไปแล้ว และแผลยังไม่ปิดกันสนิท หรือแย่ลง ควรไปพบแพทย์ทันที

2. แผลฝีเย็บนูน กดแล้วเจ็บ อันตรายไหม? คุณแม่ควรทำอย่างไร?

แผลฝีเย็บนูน กดแล้วเจ็บ อาจหมายถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น คือมีก้อนเลือดคั่งอยู่ในแผลทำให้แผลนูนขึ้นมา หรืออาจมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ไม่ควรจับ แกะ หรือบีบที่แผลนั้นอีก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา

3. แผลฝีเย็บปริ หรือฉีกขาด แม่ควรทำยังไงดี?

หากแผลเย็บปริหรือฉีกขาด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที เพราะอาจเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบของแผลเกิดขึ้น

4. แผลฝีเย็บมีตุ่มหรือติ่งเนื้อ แม่ควรทำยังไงดี?

แผลฝีเย็บควรจะเริ่มปิดกันเมื่อผ่านไป 3-5 วัน และควรจะปิดกันสนิทเมื่อผ่านไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ โดยไม่มีการปริหรือแยกออกจากกัน ซึ่งถ้ามีตุ่มหรือติ่งเนื้อเกิดขึ้นอาจหมายถึงการติดเชื้อ หรือการอักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย

5. แผลฝีเย็บยังไม่สมาน คุณแม่ควรนอนท่าไหน?

คุณแม่ควรนอนในท่าตะแคง หรือนอนตะแคง เพราะจะช่วยลดแรงกดทับต่อแผลฝีเย็บ ช่วยให้แผลสมานตัวกันได้เร็วขึ้น

6. แผลเย็บหลังคลอดไม่ติด ไม่สมานตัว คุณแม่ควรทำยังไงดี?

แผลฝีเย็บควรจะเริ่มปิดกันเมื่อผ่านไป 3-5 วัน และควรจะปิดกันสนิทเมื่อผ่านไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ หากพ้นระยะนี้ไปแล้วแต่แผลยังไม่ติดกันสนิท ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา

7. แผลฝีเย็บที่เย็บด้วยไหมละลายจะหายในกี่วัน?

แผลฝีเย็บที่ใช้ไหมละลายในการเย็บ แผลจะหายภายในระยะเวลาประมาณ 7 วัน แต่อาจจะยังมีอาการปวดแผลต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์

8. แม่ท้องผูก แต่ไม่กล้าเบ่งอุจจาระแรง กลัวแผลฝีเย็บฉีก ควรทำยังไงดี?

แม่หลังคลอดควรกินอาหารที่ให้กากใยหรือไฟเบอร์สูง เพื่อลดอาการท้องผูก และลดการเบ่งอุจจาระเพราะเสี่ยงจะทำให้แผลฝีเย็บอักเสบหรือแผลฉีกได้

แต่สำหรับคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกแล้ว ควรดื่มน้ำมาก ๆ เคลื่อนไหวร่างกายบ้าง หรืออาจใช้ยาระบายอ่อน ๆ ไม่ควรใช้ยาระบายขนานแรงเพราะทารกอาจจะได้รับยาระบายผ่านทางน้ำนมแม่ หรืออาจทำการสวนทวารเพื่อช่วยในการขับถ่าย

9. การแช่น้ำอุ่นผสมด่างทับทิมช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลฝีเย็บได้จริงหรือ?

การแช่น้ำอุ่นมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลฝีเย็บได้ ทั้งยังทำให้รู้สึกสบายตัว ลดอาการปวดเมื่อย แต่การแช่น้ำอุ่นผสมด่างทับทิมนั้นไม่พบว่ามีผลวิจัยหรือผลการศึกษาที่เพียงพอจะรับรองว่ามีความแตกต่างไปจากการแช่น้ำอุ่นเพียงอย่างเดียวอย่างไร

หรืออาจจะทำให้แผลแย่ลงในกรณีที่แม่บางท่านอาจจะมีอาการแพ้ด่างทับทิม อีกทั้งการสัมผัสกับด่างทับทิมยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้อีกด้วย การแช่แค่เพียงน้ำอุ่นอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว

10. แผลฝีเย็บทาเบตาดีนได้ไหม?

การรักษาความสะอาดแผลฝีเย็บนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเกิดขึ้น โดยสามารถใช้น้ำยาทำความสะอาดแผลฆ่าเชื้อรอบแผล เช่น เบตาดีน ได้

แต่ทั้งนี้ควรสอบถามถึงการดูแลรักษาความสะอาดแผลฝีเย็บโดยตรงจะดีที่สุด เพื่อความมั่นใจในการรักษาความสะอาดของแผล

11. แสบแผลฝีเย็บเวลาฉี่ แบบนี้ปกติหรือไม่?

ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด การเคลื่อนไหวร่างกาย การลุก การนั่ง การขับถ่าย หรือการปัสสาวะ อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บหรือแสบแผลบ้างเล็กน้อย

แต่เมื่อผ่านไปแล้ว 2-4 สัปดาห์ และยังมีอาการแสบแผลฝีเย็บอยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา เพราะแผลอาจเกิดการติดเชื้อหรือแผลยังปิดไม่สนิท


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่


บทความที่แนะนำ

อาการของครรภ์เป็นพิษ สาเหตุครรภ์เป็นพิษ เกิดจากอะไร
ปัญหาท้องลาย...ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเจอ
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner