ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
อายุ 40 มีลูกได้ไหม ตั้งท้องตอน 40 ช้าไปหรือเปล่า

อายุ 40 มีลูกได้ไหม ตั้งท้องตอน 40 ช้าไปหรือเปล่า

 

Enfa สรุปให้

  • ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่พัฒนาไปมาก ทำให้คนที่อายุมากถึง 40 ปีแล้ว ก็ยังสามารถที่จะมีลูกได้ หากว่าก่อนหน้านั้นมีการเก็บสเปิร์มและไข่ที่สมบูรณ์เอาไว้
  • การตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติในวัยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป โอกาสยังคงมีอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าช่วงอายุ 20-35 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีภาวะเจริญพันธ์ุสมบูรณ์และร่างกายพร้อมสำหรับการมีลูก
  • เมื่ออายุมากขึ้นแล้วภาวะเจริญพันธุ์ก็จะลดลง อสุจิก็จะมีคุณภาพน้อยลง ไข่ไม่ค่อยสมบูรณ์ รวมไปถึงปัญหาโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่ทำให้สภาพร่างกายไม่พร้อมสำหรับการมีบุตร

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • อายุ 40 มีลูกได้ไหม
     • มีลูกตอนอายุเท่าไหร่ดีที่สุด
     • อายุมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไร
     • อายุ 40 ช้าไปหรือไม่สำหรับการตั้งครรภ์
     • ท้องตอนอายุ 40 มีความเสี่ยงอะไรบ้าง
     • มีลูกตอนอายุ 40+ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
     • อาหารสำหรับคนท้องอายุ 40
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการมีลูกในวัย 40+ กับ Enfa Smart Club

อายุอาจจะเป็นเพียงตัวเลขก็จริงอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอายุที่มากขึ้น อาจจะทำให้เกิดข้อจำกัดทางสุขภาพเพิ่มมากขึ้นไปด้วย หนึ่งในนั้นคือการตั้งครรภ์ สำหรับผู้ชายแล้วอายุที่มากขึ้นก็มีผลทำให้ปริมาณอสุจิที่แข็งแรงลดลง ส่วนผู้หญิงก็จะมีปัญหาเรื่องรังไข่ที่เสื่อมสภาพ ทำให้แนวโน้มที่จะเกิดการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติจึงอาจจะเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้น้อยแล้วสำหรับคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป

อายุ 40 มีลูกได้ไหม


อายุที่มากขึ้น แนวโน้มในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติก็จะลดลง แต่ก็ไม่ถึงกับว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย บางครั้งเราอาจจะได้ยินข่าวว่าคนที่อายุ 40 แล้วหลาย ๆ คนก็ยังสามารถที่จะมีลูกได้ ทั้งการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ และการตั้งครรภ์ที่ผ่านกระบวนการทางการแพทย์

  • ผู้หญิงอายุ 40 มีลูกได้ไหม

สำหรับผู้หญิงแล้ว เมื่ออายุมากขึ้น รังไข่หรือเซลล์ไข่ก็จะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง นั่นทำให้ไข่อาจจะไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะเกิดการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น การตั้งครรภ์สำหรับผู้หญิงในวัย 40 ปีขึ้นไป จึงอาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก

เว้นเสียแต่ว่าจะดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดีมาโดยตลอด ทำให้รังไข่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ กระบวนการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติจึงยังสามารถที่จะเป็นไปได้ และมีโอกาสสำเร็จสูง

แต่ถ้าเป็นกระบวนการทางการแพทย์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งมีการเก็บไข่ที่สมบูรณ์เอาไว้ก่อนหน้าแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะสามารถเป็นคุณแม่ในวัย 40 ได้อยู่เหมือนกัน

  • ผู้ชายอายุ 40 มีลูกได้ไหม

สำหรับผู้ชายอายุ 40 ปีที่อยากจะมีลูก ถือว่ามีโอกาสสูงที่จะมีลูกโดยธรรมชาติได้ เพราะปริมาณและคุณภาพอสุจิของผู้ชายในวัยนี้ยังไม่ลดลงจนถึงขั้นจะทำให้มีลูกยาก แต่เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป แนวโน้มที่จะมีลูกโดยธรรมชาติของผู้ชายก็จะเริ่มลดลง เนื่องจากคุณภาพอสุจิมักจะเสื่อมสภาพลงไปตามวัยที่มากขึ้น ฮอร์โมนเริ่มมีความผันผวน ทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ลดลง หรือเริ่มมีอาการเจ็บป่วยแทรกซ้อนต่าง ๆ ก็ส่งผลทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงตามไปด้วย

มีลูกตอนอายุเท่าไหร่ดีที่สุด


ถ้าตั้งครรภ์ตอนอายุ 40 เริ่มเป็นไปได้ยาก แล้วแบบนี้ควรมีลูกตอนอายุเท่าไหร่ถึงจะดีที่สุดล่ะ?

หากยึดตามข้อมูลทางการแพทย์นั้น ช่วงวัยที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์ที่สุด จะอยู่ระหว่างอายุ 20-35 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีความแข็งแรง สภาพร่างกายพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ และคลอดทารกที่มีสุขภาพแข็งแรง

แต่ถ้าหากยึดตามความพร้อมโดยอ้างอิงจากปัจจัยในการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ การมีลูกเมื่อพร้อมก็จะมีช่วงเวลาที่หลากหลายและแตกต่างกันไป เพราะคำว่าพร้อมของแต่ละคนยังไงก็ไม่เท่ากันอยู่ดีค่ะ

เข้าใจภาวะเจริญพันธุ์เมื่ออายุเข้าวัย 40: อายุมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไร


เมื่ออายุมากขึ้น สุขภาพก็จะเริ่มมีการถดถอยลงไป เริ่มมีปัญหาสุขภาพ เริ่มมีโรคประจำตัว ความถดถอยทางสุขภาพเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์โดยตรง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของฮอร์โมน ซึ่งเมื่อพ้นวัยกลางคนไปแล้ว หรือเริ่มเข้าสู่วัยทอง ระดับฮอร์โมนในร่างกายก็จะค่อย ๆ ลดลง ส่งผลให้ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นภาวะเจริญพันธ์ลดลงตามไปด้วย

อายุ 40 ช้าไปหรือไม่สำหรับการตั้งครรภ์


การตั้งครรภ์ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย สำหรับบางคนการตั้งครรภ์ช่วงอายุ 40 อาจจะเป็นช่วงที่มีความพร้อมมากที่สุดก็ได้ เช่นนั้นก็ไม่ถือว่าช้าเกินไป

แต่ถ้าในเชิงสุขภาพนั้น การตั้งครรภ์ในวัย 40 อาจจะถือว่าช้าไปนิดหน่อยเพราะเริ่มเข้าสู่ช่วงที่รังไข่เสื่อมสภาพ การตั้งครรภ์ตามธรรมชาติจึงอาจเกิดขึ้นได้ยาก หรือหากว่าตั้งครรภ์ได้สำเร็จแล้วก็ยังมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา หรือเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติต่อการตั้งครรภ์ได้ง่ายกว่าการตั้งครรภ์ในช่วงที่อายุยังน้อย

ท้องตอนอายุ 40 มีความเสี่ยงอะไรบ้าง


การตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก มีความเสี่ยงต่อสุขภาดที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

เสี่ยงต่อสุขภาพคุณแม่ เพราะอายุที่มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้คุณแม่เสี่ยงที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามวัยได้ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน

เสี่ยงต่อสุขภาพลูก ปัญหาสุขภาพบางอย่างที่คุณแม่เผชิญอยู่ สามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อการตั้งครรภ์ และมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษเนื่องจากความดันโลหิตสูง เด็กเสี่ยงที่จะมีภาวะดาวน์ซินโดรม

มากไปกว่านั้น แม้ว่าคุณแม่วัย 40 จะมีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวหรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้วก็ตาม แต่การตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ก็ยังมีแนวโน้มความเสี่ยงต่อสุขภาพการตั้งครรภ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

  • ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์
  • เสี่ยงต่อภาวะรกเกาะต่ำ
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • เสี่ยงต่อการแท้งบุตรง่าย
  • เสี่ยงต่อภาวะตายคลอด
  • เสี่ยงที่เด็กจะมีภาวะดาวน์ซินโดรม
  • มีแนวโน้มสูงที่จะต้องทำการผ่าคลอด
     

มีลูกตอนอายุ 40+ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง


หากคุณแม่ท่านใดที่วางแผนจะมีลูกตอนอายุ 40 ปีล่ะก็ สิ่งที่ควรจะทำเป็นอันดับแรกเลยก็คือการไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยสภาพร่างกายเพื่อดูว่ามีความพร้อมและมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้สำเร็จมากน้อยเพียงใด รับฟังคำแนะนำการดูแลตัวเองเพื่อให้สภาพร่างกายพร้อมต่อการตั้งครรภ์ ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และวิธีรับมือที่สามารถทำได้

อาหารสำหรับคนท้องอายุ 40


คนท้อง ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ในช่วงอายุใด สิ่งสำคัญที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ก็คือเรื่องของอาหารการกิน เพื่อเสริมสุขภาพของคุณแม่ให้แข็งแรง และเพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ การสร้างอวัยวะ และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

โดยอาหารคนท้องที่แม่ท้องอายุ 40 ควรจะต้องหมั่นกินเป็นประจำ มีดังนี้

1. อาหารที่มี DHA สูง

ดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid) คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อีกด้วย อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น คุณแม่ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง หรือดื่มนมสูตรเสริมดีเอชเอก็ดีเช่นกันค่ะ

2. อาหารที่มีโปรตีนสูง

โปรตีน เป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่ ตัวอย่างอาหารที่มีโปรตีนสูง เหมาะสำหรับคนท้อง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วต่าง ๆ ประมาณ 75 – 110 กรัม/วัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของคุณแม่ และไตรมาสของการตั้งครรภ์ โดยคำนวณง่าย ๆ คือในหนึ่งมื้ออาหาร ควรมีโปรตีนประมาณ 30 - 40% ของอาหารที่กินนั่นเอง

3. อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง

อาหารที่มีธาตุเหล็ก ถือเป็น อาหารคนท้องที่สำคัญอีกหนึ่งชนิด เพราะสามารถช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ดังนั้น คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กไม่ต่ำกว่า 27 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งสามารถหาได้จากการกินอาหารประเภท เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

4. อาหารที่มีโฟเลตสูง

กรดโฟลิก หรือโฟเลต ก็เป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรมองข้าม เพราะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรได้รับโฟเลตอย่างน้อย 600-800 มิลลิกรัม/วัน จากการกินอาหารประเภท ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

5. อาหารที่มีแคลเซียมสูง

อย่างที่รู้กันว่า แคลเซียมนั้นมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง โดยเฉพาะในช่วงเวลาการเจริญเติบโตของลูกน้อย ยิ่งทำให้คุณแม่ต้องบำรุงร่างกายเพิ่มเติมพร้อมเสริมแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดยปกติ ผู้หญิงตั้งครรภ์มักจะต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งหาได้จากการกินอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

6. อาหารที่มีไอโอดีนสูง

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรควรได้รับไอโอดีนจำนวน 250 ไมโครกรัม/วัน ไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา

7. อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต

การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ย่อยง่าย และให้พลังงานสูง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนระหว่างตั้งครรภ์ได้

8. อาหารที่มีโคลีน

โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับจากการกินอาหารในแต่ละวัน เพราะโคลีนมีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ การกินอาหารที่ให้สารโคลีนอย่างเพียงพอ หรือประมาณ 450 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ได้

9. อาหารที่มีไฟเบอร์สูง

ไฟเบอร์ เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแม่ก่อนคลอด แม่อุ้มท้อง แม่หลังคลอด หรือแม่ให้นมลูกก็ควรได้รับอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ ควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพราะไฟเบอร์จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ไฟเบอร์ยังช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและอาจช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไฟเบอร์ประมาณ 25-35 กรัมในแต่ละวัน โดยสามารถได้ไฟเบอร์จากอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ

10. อาหารที่มีโอเมก้า 3

โอเมก้า 3 เป็นสารอาหารสำคัญที่ควรได้รับอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 200-300 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เพราะโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่สมองของทารกมีการพัฒนาและเจริญเติบโตสูงสุด มากไปกว่านั้น การได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอขณะตั้งครรภ์ ยังอาจช่วยต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ควบคุมอารมณ์แปรปรวนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำอีกด้วย

นอกจากอาหารการกินแล้ว การดื่มนมก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ โดยนมสำหรับคุณแม่นั้นมีด้วยกันหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น:

  • นมวัว
  • นมแพะ
  • นมถั่วเหลือง
  • นมจากพืชต่าง ๆ เช่น นมข้าวโอ๊ต นมอัลมอนด์
     

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นฐานสุขภาพของคุณแม่แต่ละคนนั้นค่อนข้างที่จะแตกต่างกัน คุณแม่บางคนแพ้ทั้งนมวัว และแพ้นมที่ทำมาจากธัญพืชอย่างเช่น นมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต นมอัลมอนด์ ทำให้ดื่มนมไม่ได้ ดังนั้น นมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จึงเป็นอีกตัวเลือกที่ดี เพราะนอกจากจะปลอดภัยจากอาการแพ้ต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีส่วนผสมที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์ ดังนี้

  • DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการกินอาหาร โดย DHA มีสำคัญต่อกระบวนการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ เช่น สมอง ผิวหนัง ดวงตา ทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด
  • โฟเลต ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินบีที่สำคัญมาก หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ เพราะโฟเลตทำหน้าที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง คุณแม่ตั้งครรภ์ในเดือนแรกจำเป็นต้องได้รับโฟเลตเพื่อช่วยในการสร้างหลอดประสาท และสมองที่สมบูรณ์ของทารก
  • แคลเซียมและฟอสฟอรัส  มีส่วนช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก ทำให้กระดูและฟันแข็งแรง หากแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะขับเอาแคลเซียมในกระดูกของคุณแม่เพื่อไปสร้างมวลกระดูกให้ทารกแทน ทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน จึงเป็นสาเหตุสำคัญว่า ทำไมแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ
  • โคลีน ทำหน้าที่สำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ หากคุณแม่ได้รับโคลีนน้อยเกินไปจะเสี่ยงต่อภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ได้
  • ไอโอดีน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกายและสมอง ซึ่งไอโอดีนถือว่าเป็นหนึ่งสารอาหารที่คุณแม่จำเป็นจะต้องได้รับอย่างเพียงพอ หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์
  • โปรตีน ให้กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการสร้างโปรตีนชนิดต่างๆ ในร่างกายและมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ มากไปกว่านั้น โปรตีนช่วยเสริมสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่ เพื่อเป็นการเตรียมน้ำนมของแม่ให้พร้อมต่อการคลอดที่กำลังมาถึง
  • ธาตุเหล็ก เป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และธาตุเหล็กมีส่วนช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติด้วย
     

ไขข้อข้องใจเรื่องการมีลูกในวัย 40+ กับ Enfa Smart Club


อายุ 44 มีลูกได้ไหม

อายุ 44 ยังสามารถมีลูกได้ค่ะ เพียงแต่โอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาตินั้นก็อาจจะน้อยลงกว่าช่วงวัย 20-35 ปี เพราะรังไข่เริ่มที่จะเสื่อมสภาพ รวมถึงภาวะเจริญพันธุ์ก็เริ่มลดลง ส่งผลให้กระบวนการตั้งครรภ์ในวัยนี้แม้จะมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ก็ถือว่าน้อยอยู่ดี

ผู้หญิงอายุ 40 ยังสามารถท้องตามธรรมชาติได้หรือไม่

ผู้หญิงวัย 40 ยังสามารถที่จะท้องตามธรรมชาติได้ ต้องขยันใช้โปรแกรมนับวันไข่ตก แม้ว่าจะไม่มีโอกาสท้องมากนัก แต่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ดูแลสุขภาพร่างกายเป็นอย่างดีมาโดยตลอด แม้จะอายุ 40 แล้วแต่ก็ยังมีร่างกายที่แข็งแรง พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ กรณีเช่นนี้ก็สามารถที่จะตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อผู้หญิงอายุ 40 โอกาสในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติก็จะลดลงค่ะ เพราะภาวะเจริญพันธุ์เริ่มลดลง โรคภัยไข้เจ็บเริ่มรุมเร้า รวมถึงเซลล์รังไข่ก็เริ่มเสื่อมสภาพลงด้วย

ท้องตอนอายุมาก ลูกเสี่ยงดาวน์ซินโดรมจริงหรือ

จากผลการศึกษาพบว่าการตั้งครรภ์ตอนอายุมาก มีความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะมีภาวะดาวน์ซินโดรมสูงกว่าปกติจริง โดยผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุ 40 พบว่าเด็กในครรภ์จะมีภาวะดาวน์ซินโดรมคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 85 ราย และในกลุ่มแม่ที่ตั้งครรภ์อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป พบว่าเด็กในครรภ์จะมีภาวะดาวน์ซินโดรมคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 35 ราย

ด้วยตัวเลขนี้เราก็จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่ายิ่งตั้งครรภ์ตอนอายุมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อภาวะดาวน์ซินโดรมมากเท่านั้น



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

นับวันตกไข่-เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
มีลูกยาก-ภาวะมีบุตรยาก
ตรวจตั้งครรภ์-ท้องหรือไม่
Enfa Smart Club

Leaving page banner