ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
น้ำเดิน น้ำคร่ำแตก สัญญาณก่อนคลอดที่ต้องจับตาดูให้ดี

น้ำเดิน น้ำคร่ำแตก สัญญาณก่อนคลอดที่ต้องจับตาดูให้ดี

 

Enfa สรุปให้

  • น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) คือ ของเหลวสีใส หรือสีออกเหลืองเล็กน้อย ซึ่งรายล้อมอยู่รอบทารกที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ
  • เมื่อการตั้งครรภ์เริ่มเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของไตรมาสที่สาม ทารกก็จะเริ่มเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน จากนั้นมดลูกก็จะเริ่มมีการหดตัว เพื่อบีบให้เด็กสามารถเคลื่อนตัวสู่อุ้งเชิงกรานได้ง่ายขึ้น
  • และแรงกดดังกล่าวก็มีผลทำให้ถุงน้ำคร่ำแตกออก จนมีของเหลวไหลออกมา หรือที่เราเรียกกันว่า น้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก

เลือกอ่านตามหัวข้อ

• น้ำคร่ำคืออะไร
• น้ำเดิน คืออะไร
• ตกขาว ปัสสาวะเล็ด กับอาการน้ำเดินต่างกันยังไง
• ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด หรือ PROM คืออะไร
• ไขข้อข้องใจเรื่องอาการน้ำเดิน น้ำคร่ำแตก กับ Enfa Smart Club

น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน เป็นหนึ่งในสัญญาณใกล้คลอดที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเจ้าตัวเล็กพร้อมสุด ๆ แล้วที่จะโผล่ออกมาจ๊ะเอ๋คุณพ่อคุณแม่ แต่อาการน้ำเดิน เป็นแค่เพียงอาการใกล้คลอดเท่านั้นหรือ ยังมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับน้ำเดินที่เรายังไม่รู้บ้าง Enfa จะมาเล่าให้ฟังค่ะ 

น้ำคร่ำคืออะไร คุณแม่มีน้ำคร่ำมากน้อยแค่ไหนจึงจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ  


น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) คือ ของเหลวสีใส หรือสีออกเหลืองเล็กน้อย ซึ่งรายล้อมอยู่รอบทารกที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ 
โดยปริมาณน้ำคร่ำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 10 สัปดาห์ จะมีอยู่ประมาณ 30 มิลลิลิตร และจะเพิ่มปริมาณเป็น 200 มิลลิลิตรเมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ 16 สัปดาห์ และน้ำคร่ำจะเพิ่มปริมาณสูงสุดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 800 มิลลิลิตร เมื่อายุครรภ์ราว ๆ 34 สัปดาห์ หลังจากอายุครรภ์ 36 สัปดาห์เป็นต้นไป น้ำคร่ำจะค่อย ๆ ลดปริมาณลง 

ซึ่งแพทย์จะมีการตรวจปริมาณน้ำคร่ำเพื่อคอยหาความผิดปกติอยู่เสมอ โดยวิธีการตรวจนั้นจะตรวจด้วยวิธีอัลตรา (Ultrasonic) เพื่อวัดความลึกของถุงน้ำคร่ำทั้ง 4 ตำแหน่ง ซึ่งค่าปกติของความลึกของถุงน้ำคร่ำจะอยู่ระหว่าง 5-25 เซนติเมตร 

ถ้าแพทย์ตรวจปริมาณน้ำคร่ำและพบว่าถุงน้ำคร่ำของคุณแม่วัดค่าได้เกิน 25 เซนติเมตร ถือว่ามีภาวะครรภ์น้ำคร่ำมาก (Polyhydramnios)  

ในทางกลับกันถ้าแพทย์ตรวจพบว่าถุงน้ำคร่ำของคุณแม่วัดค่าได้น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ถือว่ามีภาวะน้ำคร่ำน้อย(Oligohydramnios) 

น้ำเดิน คืออะไร เข้าใจปัจจัยที่ทำให้น้ำคร่ำแตก  


ขณะตั้งครรภ์ ทารกจะอาศัยอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ซึ่งภายในถุงน้ำคร่ำก็จะมีของเหลวอยู่ภายในที่เรียกว่าน้ำคร่ำ จนเมื่อการตั้งครรภ์เริ่มเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของไตรมาสที่สาม ทารกก็จะเริ่มเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน จากนั้นมดลูกก็จะเริ่มมีการหดตัว เพื่อบีบให้เด็กสามารถเคลื่อนตัวสู่อุ้งเชิงกรานได้ง่ายขึ้น และแรงกดดังกล่าวก็มีผลทำให้ถุงน้ำคร่ำแตกออก จนมีของเหลวไหลออกมา หรือที่เราเรียกกันว่า น้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก  

อาการน้ำเดิน มักจะพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ไปจนถึงอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ คุณแม่อาจมีอาการน้ำเดินขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ในช่วงเวลานี้ค่ะ เพราะทารกสามารถที่จะคลอดได้ทุกเมื่อ โดยไม่ต้องรอจนครบอายุครรภ์ 40 สัปดาห์เสมอไป 

น้ำเดินเป็นยังไง 

อาการน้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก คือ อาการที่มีของเหลวไหลออกมาจนรู้สึกได้ว่าเปียกชื้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ โดยของเหลวที่ไหลออกมานั้นจะคล้ายกับปัสสาวะไหล และเพราะว่าน้ำคร่ำแตกนั้นคล้ายกับปัสสาวะ จึงค่อนข้างที่จะแยกออกได้ยากว่าเป็นปัสสาวะ หรือเป็นน้ำคร่ำกันแน่ 

ดังนั้น หากมีอาการที่คลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะน้ำคร่ำแตก จะแน่ใจหรือไม่แน่ใจ ให้รีบติดต่อแพทย์ทันทีนะคะ เพราะถ้าหากเป็นอาการน้ำคร่ำเดินจริง ๆ ก็มีโอกาสที่เด็กจะคลอดออกมาในเร็ว ๆ นี้ค่ะ 

ตกขาว ปัสสาวะเล็ด กับอาการน้ำเดินต่างกันยังไง 


ตกขาว กับปัสสาวะเล็ดนั้น จะไม่ไหลพรวดพราดออกมาทีเดียวเหมือนกับน้ำเดิน แต่ลักษณะตกขาวของคนท้องจะมีลักษณะเป็นของเหลวสีใส หรือสีออกเหลือง ไหลออกมาเพียงกระปริดกระปรอย และไม่ถึงกับเปียกชื้นจนรู้สึกได้  

แต่น้ำเดินนั้น น้ำคร่ำสีใส ๆ จะไหลออกมาคล้ายกับปัสสาวะ ในปริมาณที่มากจนรู้สึกได้ว่ากางเกงในเปียกชื้น 

บางครั้งน้ำคร่ำก็อาจมีสีเขียว หรือเหลืองปนเขียว ซึ่งเกิดจากขี้เทา หรืออุจจาระครั้งแรกสุดของทารก หากน้ำคร่ำมีสีดังกล่าว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยขั้นตอนในการคลอดลูกได้อย่างปลอดภัย 

น้ำคร่ำแตกกี่ชั่วโมงถึงคลอด  

ส่วนใหญ่แล้ว หลังจากที่น้ำคร่ำแตก ทารกมักจะคลอดออกมาภายใน 12-24 ชั่วโมง หรืออย่างช้าสุดก็คือ 48 ชั่วโมง 

แต่ก็มีบ้างบางครั้งที่ทารกใช้เวลากว่านั้นก่อนที่จะคลอดออกมา ซึ่งยิ่งรอนานมากเท่าไหร่ ก็หมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นสูงมากตามไปด้วย 

น้ำเดิน แต่ไม่ปวดท้อง แบบนี้ต้องไปโรงพยาบาลหรือยัง 

มีคุณแม่หลายคนที่มีอาการน้ำเดิน แต่ไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย ลักษณะเช่นนี้ ก็มีคำอธิบายที่ต่างกันออกไปนะคะ 

ลักษณะเช่นนี้อาจเป็นภาวะน้ำคร่ำเดินก่อนกำหนด (Premature rupture of membranes หรือ PROM)  ทำให้ไม่มีอาการเจ็บท้องคลอดร่วมด้วย  

อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำคร่ำเดินก่อนกำหนดนี้ถือว่าค่อนข้างอันตรายนะคะ เพราะเป็นไปได้ว่าคุณแม่อาจจะมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในโพรงมดลูก และทารกในครรภ์ก็เสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อรุนแรงตามไปด้วย ซึ่งหากมีอาการน้ำคร่ำแตกก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ค่ะ เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจอย่างละเอียด และดูว่ามีแนวโน้มที่จะมีการคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ 

หรือ...ถ้าหากมีอาการน้ำคร่ำแตกในช่วงท้อง 37 สัปดาห์ อาการใกล้คลอด-40 สัปดาห์ตามปกติ แต่ไม่มีอาการปวดท้อง อาจเป็นเพราะว่า 

  • หลังจากน้ำคร่ำแตกแล้ว ไม่ได้หมายความว่าทารกจะคลอดออกมาทันทีเหมือนในละครเสมอไปนะคะ ส่วนใหญ่แล้วจะต้องรออย่างน้อย 12-24 ชั่วโมงกว่าที่จะมีการคลอดเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ก็อาจจะทำให้มีอาการปวดท้องตามมาทีหลังได้ค่ะ 
  • การหดตัวของมดลูกนั้นเบาจนกระทั่งคุณแม่ไม่รู้สึกว่ามันจะเจ็บหรือปวดสักเท่าไหร่ แต่เมื่อทารกใกล้จะคลอดการหดตัวของมดลูกก็จะเริ่มแรงขึ้น คุณแม่บางคนจึงอาจใช้ระยะเวลานานหน่อยกว่าที่จะรู้สึกปวดท้องหลังจากน้ำคร่ำแตกค่ะ 

เจ็บท้องแข็งถี่ ไม่มีมูก ไม่มีน้ำเดิน แบบนี้ใกล้คลอดหรือยังนะ 

หากคุณแม่รู้สึกว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นแบบถี่ ๆ แต่ไม่มีมูก หรือมูกเลือดเก่อนคลอด หรือไม่มีอาการใดที่ใกล้เคียงกับคำว่าน้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก และปากมดลูกไม่ขยาย แบบนี้ยังไม่ใช่อาการใกล้คลอดค่ะ เป็นเพียงอาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอกเท่านั้น 

ส่วนอาการใกล้คลอดของจริง หรืออาการเจ็บท้องจริงนั้น นอกจากจะมีอาการปวดท้อง มีอาการท้องแข็งถี่ ๆ แล้ว ก็อาจมีอาการน้ำเดิน และมีมูก หรือมูกเลือดก่อนคลอดออกมา และปากมดลูกขยายด้วย 

อาการน้ำคร่ำแตกไม่รู้ตัว เป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้จริงหรือ 

ปกติเราไม่สามารถจะคำนวณช่วงเวลาที่น้ำคร่ำจะแตกได้แบบเป๊ะ ๆ อยู่แล้วค่ะ และน้ำคร่ำอาจจะแตกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ระหว่างช่วงอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีอาการน้ำคร่ำแตกโดยไม่รู้ตัว 

มากไปกว่านั้น น้ำคร่ำแตกกับปัสสาวะ ก็แยกออกค่อนข้างยาก อาจทำให้คุณแม่สับสน หรือแยกไม่ออกจริง ๆ ว่าเป็นน้ำคร่ำหรือปัสสาวะ 

แต่ถ้าหลังจากนั้นมีอาการปวดท้องตามมาภายใน 12-24 ชั่วโมง ก็น่าจะชัดเจนว่า ไอ้ของเหลวที่ไหลออกมาก่อนหน้านั้น น่าจะเป็นน้ำคร่ำแตกไม่ผิดแน่ 

PROM คืออะไร เข้าใจภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด หนึ่งในความเสี่ยงของคุณแม่ใกล้คลอด 


ปกติแล้วอาการน้ำเดินจะเกิดในช่วงอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการน้ำเดินเกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นภาวะน้ำคร่ำเดินก่อนกำหนด (Premature rupture of membranes หรือ PROM) 

ซึ่งภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายค่ะ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อขึ้นที่โพรงมดลูก และเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์มีการติดเชื้อที่รุนแรงตามไปด้วย หรืออาจก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพในทารก หรือทารกเสี่ยงที่จะมีปัญหาต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในระยะยาว เช่น ปอดไม่สมบูรณ์ หัวใจทำงานผิดปกติ เป็นต้น 

หากคุณแม่มีอาการลักษณะนี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที 

โดยทั่วไปแล้ว ถ้ามีอาการน้ำเดินเมื่อไหร่ ก็ควรจะต้องมีการติดต่อแพทย์ และรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะทารกกำลังจะคลอดออกมาในไม่ช้าแล้ว 

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการน้ำเดิน และมีอาการดังต่อไปนี้ ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด 

  • มีไข้สูง 
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ 
  • เหงื่อออกมาก 
  • มดลูกบาง 
  • มีอาการปวดท้องอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่ปวดคลอดลูก 
  • ของเหลวที่ไหลออกมามีกลิ่นเหม็น 

ซึ่งสัญญาณต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นนี้ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้ค่ะ  

ไขข้อข้องใจเรื่องอาการน้ำเดิน น้ำคร่ำแตก กับ Enfa Smart Club 


มีน้ำใส ๆ ไหลออกมาตอนท้อง 9 เดือน แต่ไม่ปวดท้อง แบบนี้ใช่อาการน้ำเดินหรือเปล่า? 

อาการปวดท้อง ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นทันทีหลังจากน้ำคร่ำแตกค่ะ คุณแม่บางคนอาจใช้เวลานานกว่าปกติ กว่าที่จะมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นหลังจากที่น้ำเดิน 

ดังนั้น หากมีของเหลวใส ๆ ไหลออกมาเมื่ออายุครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะถ้าหากของเหลวนั้นเป็นน้ำคร่ำแตกจริง ๆ การคลอดก็จะเกิดขึ้นตามมาอีกในไม่ช้าค่ะ 

ปวดท้องคลอด แต่น้ำไม่เดิน แบบนี้ใกล้คลอดหรือยัง? 

หากมีอาการปวดท้อง แต่ไม่มีน้ำเดิน ไม่มีมูก หรือมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด และปากมดลูกยังไม่ขยาน อาจเป็นไปได้ว่านี่คืออาการเจ็บครรภ์เตือนค่ะ และถ้าเป็นอาการเจ็บครรภ์เตือนจริง ๆ ก็จะยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น 

น้ำเดินเมื่อไหร่? 

อาการน้ำเดินจะเกิดขึ้นช่วงอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ค่ะ โดยอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ในระหว่างนี้ แต่ถ้ามีอาการน้ำเดินเกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ลักษณะเช่นนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ค่ะ เพราะมีแนวโน้มที่จะมีการคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้น 

น้ำคร่ำสีอะไร? 

น้ำคร่ำมักจะมีสีใส ๆ หรือสีออกเหลือง แต่บางครั้งก็อาจจะมีสีเขียว หรือเขียวปนเหลือง ซึ่งกรณีอย่างหลังนั้น เกิดจากขี้เทา หรืออุจจาระครั้งแรกสุดของทารก  

หากน้ำคร่ำมีสีออกเขียว หรือเขียวปนเหลือง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยขั้นตอนในการคลอดลูกได้อย่างปลอดภัย 

น้ำเดินแล้วนานไหมกว่าจะคลอด? 

หลังจากที่มีอาการน้ำเดิน ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการคลอดเกิดขึ้นหลังจากนั้นในช่วงเวลา 12-24 ชั่วโมง หรือช้าสุดคือ 48 ชั่วโมง 

น้ำเดินก่อนกำหนด อันตรายไหม? 

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายค่ะ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อขึ้นที่โพรงมดลูก และเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์มีการติดเชื้อที่รุนแรงตามไปด้วย หรืออาจก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพในทารก หรือทารกเสี่ยงที่จะมีปัญหาต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในระยะยาว เช่น ปอดไม่สมบูรณ์ หัวใจทำงานผิดปกติ เป็นต้น   

น้ำเดินไหลนานไหม? 

ระยะเวลาของน้ำเดินในคุณแม่แต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เนื่องจากปริมาณของน้ำคร่ำที่แตกออกมานั้นก็จะแตกต่างกัน บางคนมีน้ำเดินมาก ขณะที่บางคนมีน้ำเดินน้อย 

Nitrazine Paper Test คืออะไร? 

Nitrazine Paper Test คือกระดาษที่ชุบ  Sodium  Dinitrophynylozonaphal  Disulphonate  และใช้เพื่อทดสอบความเป็นกรดด่างของช่องคลอด เพื่อดูว่าน้ำคร่ำแตกแล้วหรือยัง 

โดยผลตรวจความเป็นกรดด่าง มีดังนี้: 

ผลตรวจที่แสดงว่าถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก 

  • กระดาษเปลี่ยนเป็นสีเหลือง Yellow ค่า pH 5.0 
  • กระดาษเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน  Olive Yellow ค่า pH 5.5 
  • กระดาษเปลี่ยนเป็นสีเขียวขี้ม้า Olive Green ค่า pH 6.0 

ผลตรวจที่แสดงว่าถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว 

  • กระดาษเปลี่ยนเป็นสีเขียวทะเล  Blue Green ค่า pH 6.5 
  • กระดาษเปลี่ยนเป็นสีฟ้าหม่น Blue Grey ค่า pH 7.0 
  • กระดาษเปลี่ยนเป็นสีกรมท่า Deep  Blue ค่า pH 7.5


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

น้ำเดิน น้ำคร่ำแตก สัญญาณก่อนคลอดที่ต้องจับตาดูให้ดี
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner