ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
why-is-it-important-to-have-your-marriage-certificate

จดทะเบียนสมรสดีไหม อยากจดทะเบียนสมรสต้องทำยังไงบ้าง

Enfa สรุปให้

  • การจดทะเบียนสมรส คือ การจดทะเบียนเพื่อเป็นเอกสารและหลักฐานยืนยันความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองฝ่าย
  • โดยการจดทะเบียนสมรสยังอำนวยสิทธิและประโยชน์ของคู่สมรสในการยืนยันสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตร สิทธิ์ในการรับรองบุตร การฟ้องหย่า การแบ่งสินสมรส การรับมรดก เป็นต้น
  • ในปัจจุบันนี้ การจดทะเบียนสมรสสามารถทำได้เมื่อชาย - หญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป โดยจะต้องมีผู้ปกครองร่วมให้ความยินยอม หากทั้งสองฝ่ายมีอายุ 20 ปีขึ้นไป การจดทะเบียนสมรสไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครองร่วมในความยินยอม

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • จดทะเบียนสมรส คืออะไร
     • การจดทะเบียนสมรส สำคัญอย่างไร
     • เอกสารที่ใช้ยื่นจดทะเบียนสมรสมีอะไรบ้าง
     • ขั้นตอนในการจดทะเบียนสมรสเป็นอย่างไร

ในยุคสมัยที่การอยู่กันก่อนแต่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หรือการครองคู่กันโดยไม่มีการแต่งงานก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้นก็อาจนำมาซึ่งความลังเลใจแก่คู่รักว่า ในเมื่อความรักนั้นหลอมรวมสองเราอย่างเหนียวแน่นขนาดนี้ การจดทะเบียนสมรส ยังถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ไหม การจดทะเบียนสมรสมีประโยชน์อย่างไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกับใบทะเบียนสมรสให้มากขึ้นกันค่ะ 

จดทะเบียนสมรสคืออะไร


การจดทะเบียนสมรส คือ การจดทะเบียนเพื่อเป็นเอกสารและหลักฐานยืนยันความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองฝ่าย มากไปกว่านั้น ทะเบียนสมรสยังอำนวยสิทธิและประโยชน์ของคู่สมรสในการยืนยันสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตร สิทธิ์ในการรับรองบุตร สิทธิประกันสังคม การฟ้องหย่า การแบ่งสินสมรส การรับมรดก เป็นต้น 

จดทะเบียนสมรส อายุเท่าไหร่จึงสามารถทำได้   

การจดทะเบียนสมรสในปัจจุบันสามารถทำได้เมื่อชาย-หญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป โดยต้องมีผู้ปกครองร่วมให้ความยินยอมในการจดทะเบียนสมรสด้วย

แต่ในกรณีที่ชาย-หญิงมีอายุต่ำกว่า 17 ปี จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสได้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป สามารถทำการจดทะเบียนสมรสได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครองมาให้ความยินยอม 

จดทะเบียนสมรสที่ไหน  

การจดทะเบียนสมรสสามารถทำได้ทุกพื้นที่ อำเภอใดก็ได้ สำนักงานเขตใดก็ได้ที่สะดวก โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงตามภูมิลำเนาของคู่สมรส 

จดทะเบียนสมรสเสียเงินไหม 

การจดทะเบียนสมรส หากจดทะเบียนที่อำเภอหรือสำนักงานในเขตพื้นที่ใดก็ตาม จะไม่เสียค่าธรรมเนียม เว้นเสียแต่ว่าจะมีการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักงาน กรณีนี้จะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 200 บาท และจะต้องมีการจัดพาหนะเพื่อรับ-ส่งนายทะเบียนด้วย และถ้าเป็นการจดทะเบียนสมรสในท้องที่ที่ห่างไกลมาก ๆ ก็จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 1 บาท 

ทะเบียนสมรสคืออะไร บนใบทะเบียนสมรสมีข้อมูลอะไรบ้าง  

ใบทะเบียนสมรส คือ เอกสารเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ของคู่สมรส ดังนั้น ข้อมูลและรายละเอียดในใบจดทะเบียนสมรสก็จะประกอบไปด้วย 

  • ชื่อ-สกุล ของคู่สมรสทั้งสองคน และข้อความรับรองว่า ได้จะทะเบียนสมรส 
  • ชื่อสำนักทะเบียนและจังหวัดที่จดทะเบียนสมรส  
  • เลขทะเบียนสมรส 
  • วันที่จดทะเบียนสมรส 
  • ลายเซ็นนายทะเบียนที่ทำการจดทะเบียนสมรส และประทับตรารับรอง 

การจดทะเบียนสมรสสำคัญอย่างไร


กฎหมายของประเทศไทยไม่ได้มีการบังคับว่าประชากรทุกคนจะต้องจดทะเบียนสมรส อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนสมรสก็ถือเป็นเอกสารสำคัญในทางกฎหมายที่สามารถเอื้อประโยชน์และสิทธิต่าง ๆ ในฐานะคู่สมรสได้ ซึ่งก็สามารถแบ่งความสำคัญออกมาเป็นข้อดี-ข้อเสียเบื้องต้น ดังนี้ 

ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส 

  • สามีภรรยามีสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกัน เช่น สิทธิ์รับเงินจากทางราชการ หรือนายจ้างในกรณีที่สามีหรือภรรยาเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ สิทธิ์ในการจัดการมรดก สิทธิ์ในการจัดการสินสมรสร่วมกัน 
  • ได้รับการลดหย่อนภาษี โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดมีรายได้มากหรือน้อยกว่ากัน 
  • บุตรที่เกิดมามีสิทธิ์ในมรดกโดยชอบตามกฎหมายทันที 
  • สามารถดำเนินการนิติกรรมต่าง ๆ แทนคู่สมรสได้ เช่น การฟ้องร้องหรือการดำเนินคดีต่าง ๆ แทนคู่สมรส 
  • สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายในกรณีที่ผู้อื่นกระทำให้คู่สมรสเสียชีวิต 
  • สามารถฟ้องร้อง หรือฟ้องหย่าในกรณีที่อีกฝ่ายมีชู้ได้ 
  • ในกรณีที่สมรสกับชาวต่างชาติมีสิทธิ์ในการขอรับสัญชาติตามคู่สมรสได้ 
  • ภรรยาสามารถใช้นามสกุลของสามีได้ 

ข้อเสียของการจดทะเบียนสมรส 

  • หากมีหนี้สิน คู่สมรสทั้งสองจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน 
  • ทรัพย์สินที่งอกเงยขึ้นหลังจากการจดทะเบียนสมรสกัน ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งหมด 
  • ในกรณีที่มีการทำนิติกรรมตามมาตรา 1476 จำเป็นที่จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนจึงจะสามารถยื่นทำนิติกรรมได้ 
  • การทำผิดระหว่างกัน เช่น สามีบุกเข้าบ้านภรรยา หรือภรรยาขโมยเงินสามี ผู้ที่ทำความผิดจะไม่ได้รับโทษทางกฎหมาย 

เอกสารจดทะเบียนสมรส มีอะไรบ้าง


ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้จดทะเบียนสมรส และการจดทะเบียนสมรสก็ไม่ได้จะเกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งบ่อย ๆ ดังนั้น ก็อาจจะมีการสงสัยกันว่า จดทะเบียนสมรสใช้เอกสารอะไรบ้าง ซึ่งการจดทะเบียนสมรสนั้นใช้เอกสารสำคัญ เพียง 4 อย่าง ได้แก่

          1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือบัตรอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ 

          2. สำเนาทะเบียนบ้าน 

          3. กรณีที่คู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ ให้ใช้สำเนาหนังสือเดินทางประกอบด้วย

          4. กรณีที่คู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ จะต้องใช้หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุล หรือองค์การของรัฐบาลที่ประเทศนั้น ๆ มอบหมาย พร้อมแปลให้เรียบร้อย 

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสมีอะไรบ้าง


ขั้นตอนจดทะเบียนสมรส จะมีขั้นตอนโดยทั่วไป ดังนี้ 

  • คู่สมรสทำการเลือกวันที่สะดวกจะไปจดทะเบียนสมรส และนัดพยานอย่างน้อย 2 คนให้พร้อม โดยเลือกสำนักงานเขตที่สะดวกในการเดินทางได้เลย โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส 
  • เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ทั้งหมดให้พร้อม และไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสได้ที่สำนักงานเขตทุกที่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส 
  • จากนั้นนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบเอกสารและหลักฐานของผู้ขอจดทะเบียนสมรส พร้อมพยานอย่างน้อย 2 คน 
  • เมื่อตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ครบถ้วน นายทะเบียนจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนสมรส และดำเนินการจดทะเบียนให้ผู้ขอจดทะเบียนสมรส 
  • โดยนายทะเบียนจะลงรายการพิมพ์ข้อความในทะเบียนสมรส และใบสำคัญการสมรส รวมถึงข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและเรื่องอื่น ๆ โดยจะต้องทำการตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ในใบทะเบียนสมรสให้ถูกต้องและครบถ้วน หากตรวจสอบแล้วไม่มีส่วนใดผิดพลาดก็สามารถพิมพ์ใบทะเบียนสมรสได้เลย 
  • จากนั้นคู่สมรสจึงทำการลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส นายทะเบียนลงชื่อในใบสำคัญการสมรส และมอบใบทะเบียนสมรสให้กับคู่สามีภรรยาคนละหนึ่งฉบับ 

ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่มีลูก ใครมีสิทธิ์ในตัวบุตร และสามารถฟ้องชู้ได้หรือไม่   

ในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และมีลูกด้วยกัน ตามกฎหมายแล้วจะถือว่าเด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรที่ชอบตามกฎหมายของแม่แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่สนว่าลูกจะใช้นามสกุลของพ่อ หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของพ่อ หรือพ่อมีการส่งเสียเลี้ยงดูมาอย่างดีแค่ไหนก็ตาม หรือแม้แต่กรณีที่แม่ทิ้งไปแล้วพ่อไปฟ้องศาล ก็ยังถือว่าบุตรนั้นเป็นลูกของแม่ ส่วนพ่อจะมีสิทธิ์ในความเป็นพ่อหรือไม่นั้นก็จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล 

อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น จะถือว่าเป็นลูกเป็นบุตรของพ่อก็ต่อเมื่อพ่อได้ทำการจดทะเบียนรับรองบุตรหลังจากที่มีลูกแล้ว  

จดทะเบียนสมรสซ้อนคืออะไร ตรวจสอบการจดทะเบียนสมรสซ้อนได้อย่างไร   

การจดทะเบียนสมรสซ้อน คือ การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไปทำการจดทะเบียนสมรสกับบุคคลอื่นโดยที่ตนเองมีพันธะความสัมพันธ์ทางการสมรสอยู่แล้ว และการสมรสนั้นยังไม่มีการหย่าทางกฎหมาย ซึ่งบุคคลไม่สามารถทำการสมรสกับผู้อื่นในกรณีที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว 

โดยกระบวนการในการตรวจสอบว่าคู่สมรสของเรานั้นจดทะเบียนสมรสซ้อนหรือเปล่า ทำได้ง่าย ๆ แค่เพียงไปขอตรวจสอบกับทางสำนักทะเบียนได้โดยตรง  

อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจสอบจะพบว่าไม่ปรากฎข้อมูลการจดทะเบียนสมรสมาก่อน ก็ไม่ได้การันตีว่าคู่สมรสของเราไม่ได้นอกใจหรือกำลังมีพันธะความสัมพันธ์กับผู้อื่นแต่อย่างใด 

จดทะเบียนสมรสไม่เปลี่ยนนามสกุล ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง   

การจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนนามสกุลนั้น ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของคู่สมรสที่ได้แจ้งให้ทางหน่วยงานทะเบียนท้องที่บันทึกข้อตกลงว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนนามสกุล โดยให้บันทึกข้อตกลงนั้นต่อท้ายในใบคร.2 

ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่อยากให้ลูกใช้นามสกุลพ่อ สามารถทำได้ไหม   

แม้ว่าจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และลูกมีสิทธิ์ใช้นามสกุลของแม่ และเป็นบุตรที่ชอบทางกฎหมายของแม่แต่เพียงผู้เดียว 

แต่ลูกก็มีสิทธิ์ใช้นามสกุลของพ่อ หากพ่อและแม่ให้ความยินยอม และพ่อเป็นคนไปแจ้งเกิด ก็สามารถแจ้งความยินยอมของทั้งสองฝ่ายต่อเจ้าพนักงานได้เลย 



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

บทความที่แนะนำ

เงินสงเคราะห์บุตร
สูติบัตร
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner