Enfa สรุปให้
- เบิกค่าคลอดประกันสังคม สามารถเบิกได้ในอัตราเหมาจ่าย 15,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง โดยผู้ประกันที่ได้รับสิทธิ จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนการคลอดบุตร
- นอกจากค่าคลอดบุตรประกันสังคมแล้ว ประกันสังคมยังให้สิทธิในการเบิกสิทธิเบิกค่าฝากครรภ์กับคุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนประกันสังคม รวมทั้งยังให้สิทธิผู้ประกันตนชายมาตรา 33 และ 39 ที่มีภรรยาไม่เป็นผู้ประกันตน สามารถเบิกค่าฝากครรภ์ได้เช่นกัน
- ค่าคลอดประกันสังคม หากไม่ได้ใช้สิทธิเบิกค่าฝากครรภ์หรือเบิกค่าคลอดบุตรในสถานพยาบาลประกันสังคม สามารถสำรองจ่ายไปก่อนแล้วยื่นเรื่องเบิกในภายหลังได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• เบิกค่าคลอดประกันสังคม
• สิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม “กรณีสงเคราะห์บุตร”
• สิทธิประกันสังคม กรณีลาคลอด
• ค่าฝากครรภ์ ประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่
• เงินอุดหนุนบุตร
• ไขข้อข้องใจเรื่องสิทธิประกันสังคมของพ่อแม่กับ Enfa Smart Club
คุณแม่ที่มีสิทธิประกันสังคม รู้กันหรือไม่ว่า เราสามารถขอรับผลประโยชน์ตอบทดแทนกรณีคลอดบุตร และสงเคราะห์บุตรกันได้ด้วยนะ แต่คุณแม่จะสามารถขอรับสิทธิได้ยังไง และเบิกได้เท่าไหร่ วันนี้เอนฟารวบรวมข้อมูลมาแบ่งปันคุณแม่กันค่ะ
เบิกค่าคลอดประกันสังคม
สำหรับการเบิกค่าคลอดประกันสังคมนั้น หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมมีดังนี้
- การเบิกค่าคลอดประกันสังคม กรณีคลอดบุตร คุณแม่ที่มีสิทธิ์ในการเบิก จะต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 เดือน และภายใน 15 เดือน ก่อนการคลอดบุตร โดยประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายในกรณีคลอดบุตร ในอัตรา 15,000 บาท
- คุณแม่มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยจะเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน ในกรณีใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรนี้
- หากคุณแม่และคุณพ่อเป็นผู้ประกันตนประกันสังคมทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิการเบิกคลอดบุตร ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่จำกัดจำนวนบุตรและจำนวนครั้ง
เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน และการพิจารณาการสั่งจ่ายค่าคลอดบุตรประกันสังคม
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม) กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดมาด้วย)
- ในกรณีที่คุณพ่อ เป็นคนขอเบิกสิทธิ กรณีคลอดบุตร ให้แนบทะเบียนสมรส หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนมาแทน
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรก ซึ่งมีชื่อรับรองของผู้ยื่นคำขอ รายชื่อธนาคารที่สามารถยื่นได้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาติ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
- ยื่นเอกสารทั้งหมดได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานประกันสังคมสังหวัด และสาขา ที่สะดวก ยกเว้นสำนักงานใหญ่บริเวณกระทรวงสาธารณสุข
- การพิจารณาสั่งจ่าย จะสั่งจ่ายเป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีที่ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน จะจ่ายโดยการใช้เช็ค
นอกจากนี้ ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่แจ้งคำสั่ง ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดทดแทน
เงินสงเคราะห์บุตร อีกสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมในกรณีสงเคราะห์บุตร
นอกจากคุณแม่ จะสามารถเบิกค่าคลอดบุตร จากประกันสังคมได้แล้ว คุณแม่ยังสามารถเบิกค่าสงเคราะห์บุตรได้อีกด้วย โดยจะต้อง
- เป็นผู้ประกันสังคม ตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39
- ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
- ประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท ต่อบุตรหนึ่งคน จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
- บุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแต่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิด จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน กรณีสงเคราะห์บุตร
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01) (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม)
- กรณีที่ที่คุณแม่เคยยื่นใช้สิทธิแล้ว และประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ
- สำเนาสูติบัตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝด) 1 ชุด ในกรณีที่คุณพ่อขอใช้สิทธิ ใช้สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่า พร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตน หรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แนบมาพร้อมกับสำเนาสูติบัตรของบุตร 1 ชุด
- ในกรณีที่มีการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล ให้แนบเอกสารในการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุลมาด้วย 1 ชุด
- ในกรณีผู้ประกันตนชาวต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทน ให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคม และสำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ 1 ชุด
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรก ซึ่งมีชื่อรับรองของผู้ยื่นคำขอ รายชื่อธนาคารที่สามารถยื่นได้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาติ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
- เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน ทุกฉบับที่เป็นสำเนาให้เซ็นรับรองความถูกต้องทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ ในกรณีที่เอกสาร หรือหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศ ให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย และรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน
คุณแม่ หรือคุณพ่อ สามารถยื่นเอกสารขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีสงเคราะห์บุตร ได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขา ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริวเวณกระทรวงสาธารณสุข และสามารถยื่นขอรับได้ทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน ในกรณีที่คุณแม่ หรือคุณพ่อ ต้องการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร 3 คน ในคราวเดียวกัน สามารถใช้คำขอฯ ชุดเดียวกันได้
เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบหลักฐาน และพิจารณาอนุมัติ โดยสำนักงานประกันสังคมจะมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา และจะพิจารณาสั่งจ่ายเป็นรายเดือน ด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีฝากธนาคารของผู้รับประโยชน์ทดแทน
หากคุณแม่ หรือคุณพ่อ มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อ สอบถามรายละเอียด ได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 หรือ www.sso.go.th
สิทธิประกันสังคม กรณีลาคลอด
ตามประกาศของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปี 2540 ระบุว่า พนักงานหญิงสามารถลาคลอดได้สูงสุด 90 วัน แต่กฎหมายล่าสุดได้เพิ่มสิทธิ์ในการลาคลอดอีกเป็น 8 วัน รวมเป็น 98 วัน โดยจะนับวันลาคลอด และนับวันที่ลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดรวมอยู่ในสิทธิ์การลาคลอด 98 วันนี้ด้วย
ในส่วนของค่าจ้างนั้นผู้ลาคลอดจะได้รับค่าจ้าง โดยนายจ้างจ่าย 45 วัน ประกันสังคมจ่าย 45 วัน ส่วนอีก 8 วันที่เหลือไม่ได้มีการระบุว่าใครจะต้องเป็นคนจ่าย ดังนั้น นายจ้างและประกันสังคมมีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าจ้างในอีก 8 วันที่เพิ่มมาโดยไม่มีความผิด
อย่างไรก็ตาม จำนวนวันในการลาคลอด การลาคลอดล่วงหน้า การรับเงินชดเชยจากองค์กร หรือหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสวัสดิการอื่น ๆ อาจขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท คุณแม่จำเป็นจะต้องสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลในองค์กร
ข้อกำหนดค่าสิทธิการลาคลอดของประกันสังคม
- จ่ายค่าประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนคลอดบุตร
- ค่าสิทธิการลาคลอดใช้ได้เฉพาะฝ่ายหญิงเท่านั้น ฝ่ายชายไม่สามารถเบิกใช้ได้
- จ่ายให้ไม่เกินฐานเงินเดือน 15,000 บาท หากเงินเดือนมากกว่ากำหนด จะคิดแค่ 15,000 บาท
- มีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- มีระยะเวลาจ่ายเงินให้ทั้งหมด 90 วัน หรือ 3 เดือน นับรวมวันหยุดราชการ
- กรณีกลับมาทำงานก่อนถึง 90 วัน คุณแม่ยังคงได้รับเงินสงเคราะห์ตามปกติ
ค่าฝากครรภ์ ประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่
ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ประกันสังคมจะจ่ายค่าฝากครรภ์ให้คุณแม่โดยปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์ 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,500 บาท (จากเดิม 3 ครั้ง 1,000 บาท) ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
เอกสารสำหรับเบิกค่าฝากครรภ์ ประกันสังคม
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม สปส. 2-01(สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม)
- ใบเสร็จจากสถานพยาบาลที่เข้ารับการฝากครรภ์
- ใบรับรองแพทย์ หรือสามารถใช้สมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวแม่และเด็ก ที่มีชื่อแม่ผู้ตั้งครรภ์และรายละเอียดการบันทึกตามแต่ละช่วงอายุครรภ์แทนได้
- หากคุณพ่อเป็นคนมาเบิกให้นำสำเนาทะเบียนสมรส หรือ หนังสือรับรองผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสมาด้วย (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม) และหากแม่มาเบิกหลังคุณพ่อ ควรใส่เลขประจำตัวประชาชนของคุณพ่อเพื่อป้องกันการรับสิทธิ์ซ้ำ
เงินอุดหนุนบุตร
เงินอุดหนุนบุตร หรือเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เป็นโครงการเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยในเรื่องการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยมีหลักเกณฑ์ในการรับเงินอุดหนุนบุตร ดังนี้
สิทธิของเด็กแรกเกิด
- มีสัญชาติไทย (พ่อและแม่มีสัญชาติไทย พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย)
- เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป จนมีอายุครบ 6 ปี
- อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
- ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน
ผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียน
- มีสัญชาติไทย
- เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะ
- เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
- อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี
เอกสารประกอบการลงทะเบียน ประกอบด้วย
- แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
- แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
- บัตรประจําตัวประชาชนของผู้ปกครอง
- สูติบัตรเด็กแรกเกิด
- สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (บัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกธนาคารออมสิน หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)
- สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์ (ในกรณีที่สมุดสูญหายให้ใช้เฉพาะสําเนาหน้าที่ 1 พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบันทึกข้อมูลและรับรองสําเนา)
- กรณีที่ผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียนและสมาชิกในครัวเรือนของผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท ต้องมีเอกสาร ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนที่มีรายได้ประจํา (สลิปเงินเดือน หรือเอกสารหลักฐานที่นายจ้างลงนาม)
- สําเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตําแหน่ง หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
สถานที่สำหรับลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนบุตร
สามารถลงทะเบียนได้ในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิด และผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง ดังนี้
กรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนที่สํานักงานเขต
เมืองพัทยา : ลงทะเบียนที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
ส่วนภูมิภาค : ลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล
ไขข้อข้องใจเรื่องสิทธิประกันสังคม กับ Enfa Smart Club
เบิกค่าคลอดประกันสังคมภายในกี่วัน?
การเบิกค่าคลอดของประกันสังคม สามารถทำได้เลยนับตั้งแต่วันที่คลอด และหากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
โดยการเบิกค่าคลอดบุตรสามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) vย่างไรก็ตาม สามารถสอบถามเพิ่มเติมกับประกันสังคมได้ที่ โทร: 1506
เบิกค่าคลอดบุตร โอนเข้าบัญชีกี่วัน?
เมื่อดำเนินการเบิกคลอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เงินค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมจะถูกโอนเข้าบัญชีภายใน 5-7 วันนับจากวันที่เอกสารได้รับการอนุมัติแล้ว อย่างไรก็ตาม สามารถสอบถามเพิ่มเติมกับประกันสังคมได้ที่ โทร: 1506
เงินค่าคลอดบุตรไม่เข้าต้องดำเนินการอย่างไร?
หากครบกำหนดแล้วเงินค่าคลอดบุตรยังไม่เข้า สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมในสาขาที่สะดวก หรือโทรสอบถามที่ 1506
- สำนักงานประกันสังคม. กรณีคลอดบุตร. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.sso.go.th/wpr/main/service/. [30 ธันวาคม 2021]
- สำนักงานประกันสังคม. สิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.sso.go.th/wpr/main/privilege/. [30 ธันวาคม 2021]
- สำนักงานประกันสังคม. สิทธิประกันตนสำหรับคนตั้งครรภ์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://sso.megazy.com/detail/index?name=sso-talk-07. [30 ธันวาคม 2021]
- มติชนออนไลน์. เพิ่มสิทธิลาคลอด 8 วัน คำถามใครจ่ายค่าแรง. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_2625703. [30 ธันวาคม 2021] - ทีคิวเอ็ม. สิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ตามกฎหมายใหม่ ลาคลอดได้ 98 วัน. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.tqm.co.th/blog/. [30 ธันวาคม 2021]
- รักษ์นรีคลินิก. คนท้องเบิกประกันสังคมได้กี่บาท ? เบิกอะไรได้บ้าง ? (2564). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://raknareeclinic.com/social-security/. [30 ธันวาคม 2021]
- ไทยรัฐออนไลน์. มีผลแล้ว "ประกันสังคม" ปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท ค่าคลอด 15,000 บาท. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.thairath.co.th/business/economics/2005284. [30 ธันวาคม 2021]
- กรุงเทพธุรกิจ. 'ประกันสังคม' เพิ่มสิทธิ 'ค่าคลอดบุตร' ปรับเป็น 15,000 บาท. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/915341. [30 ธันวาคม 2021]
- ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด. โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://csg.dcy.go.th/th/support/how-to-register. [30 ธันวาคม 2021]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
• ที่ตรวจครรภ์ แม่นยำแค่ไหน และใช้อย่างไรให้ถูกวิธี
• สังเกต 20 อาการคนท้อง และอาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์
• อาการแพ้ท้อง รับมืออย่างไรให้ไม่แพ้
• มีเพศสัมพันธ์ตอนท้องได้ไหม? อันตรายหรือเปล่า?
• อยากมีลูกต้องทำไง? อยากท้องไวๆ ต้องมาดูเคล็ดลับนี้เลย
• ท้องลม ท้องหลอก คือท้องจริงๆ หรือว่าท้องเทียม
• แพ้ท้องแทนเมีย เรื่องจริงหรืออุปาทานกันแน่?
• เลือดล้างหน้าเด็ก สัญญาณแรกสู่การตั้งครรภ์ที่คุณแม่ควรรู้
• อาการเจ็บเต้านม ปวดเต้านมตอนท้องแบบนี้ ปกติหรือควรระวัง?
• ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
• ฤกษ์ผ่าคลอด 2567 โดย การะเกต์พยากรณ์
• การแจ้งเกิด ขอสูติบัตร ทำยังไงและต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
• ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ไม่ท้องเสีย เกิดจากอะไร ทำไมลูกอ้วกบ่อย
• ฝากท้องคลีนิค เสียเงินเท่าไหร่
• ให้นมลูกอยู่ กินยาคุมให้นมบุตรได้ไหม