เลือกอ่านตามหัวข้อ
เหตุการณ์สุดน่ากังวลใจอย่างลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลัง ถือเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่ไม่ว่าครอบครัวไหน ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แม้คุณพ่อคุณแม่จะระมัดระวังแค่ไหนก็ตาม โดยเฉพาะในช่วงของวัยหัดเดิน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในหลายด้าน ซึ่งหากไม่ได้รับการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อยของเราได้
ดังนั้นในวันนี้ Enfa จึงได้นำข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังมาฝากให้ เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้คลายกังวลใจ สามารถสังเกตอาการ และทราบวิธีในการปฏิบัติเมื่อลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังได้ ดูแลเจ้าตัวน้อยของบ้านได้อย่างอุ่นใจ สังเกตอาการทุกอย่างได้อย่างทันท่วงที
ลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลัง อันตรายไหม
การที่ลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังนั้นความจริงแล้วถือเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างอันตราย โดยระดับความอันตรายที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกระแทก และอาการที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น หากเป็นการล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังที่ไม่รุนแรง และไม่มีอาการผิดปกติที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ร้องไห้เพียงชั่วครู่แล้วกลับมาเล่นตามปกติ ไม่มีอาการซึมลง หรืออาเจียน กรณีนี้มักไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไม่ลืมสังเกตอาการของเจ้าตัวน้อยเป็นระยะอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
ในทางกลับกันหากลูกน้อยของเรามีอาการผิดปกติ เช่น หมดสติแม้เพียงช่วงสั้น ๆ อาเจียนซ้ำ ๆ ซึมลง ไม่ตอบสนองเหมือนปกติ เดินเซ แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการชัก อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของการบาดเจ็บที่สมอง ถือว่าอันตรายมาก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
ล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
ทราบกันไปแล้วว่าเมื่อลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังก็ย่อมมีความเสี่ยงตามมา โดยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังจะมีดังต่อไปนี้
-
การกระทบกระเทือนทางสมอง (Concussion): เกิดจากแรงกระแทกที่ส่งผลต่อเนื้อสมอง อาจทำให้ลูกมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือหมดสติในบางกรณี
-
กะโหลกศีรษะแตกร้าว (Skull Fracture): หากมีแรงกระแทกรุนแรง อาจทำให้กะโหลกศีรษะแตก ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกภายใน โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่ากะโหลดศีรษะอาจแตกร้าว คือ มีอาการซึม เลือดออกจากหู หรือจมูก
-
ภาวะเลือดออกในสมอง (Brain Hemorrhage): เป็นภาวะร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อศีรษะได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง โดยสัญญาณที่ต้องระวัง ได้แก่ อาการปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวลำบาก อาเจียนบ่อย ชัก หรือหมดสติ
-
ไขสันหลังบาดเจ็บ (Spinal Cord Injury): การกระแทกอย่างรุนแรงอาจส่งผลต่อไขสันหลัง ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว หรือในกรณีร้ายแรง อาจส่งผลให้เกิดอัมพาตได้
-
อาการสมองบวม (Brain Swelling): แรงกระแทกอาจทำให้สมองบวม ส่งผลต่อความดันในกะโหลกศีรษะ หากลูกมีอาการซึมลง ตอบสนองช้า หรือหมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
อย่างไรก็ตามเมื่อลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังคุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตอาการหลังเกิดอุบัติเหตุอย่างใกล้ชิด หากพบสัญญาณผิดปกติควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และดูแลอย่างเหมาะสมทันที
ล้มหัวฟาดพื้น มึนหัว กี่วันหาย
อาการมึนหัวหลังจากที่ลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังนั้นจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการกระแทก โดยทั่วไปแล้วหากเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น การกระทบกระเทือนทางสมอง (Concussion) ระดับเบา
อาการมึนหัวอาจดีขึ้นภายใน 1-3 วัน และหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวควรให้ลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรง หรือการเคลื่อนไหวศีรษะอย่างรวดเร็ว และติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตามหากอาการมึนหัวยังคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนซ้ำ ๆ ตาพร่า ซึมลง หรือหมดสติ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะบาดเจ็บทางสมองที่ร้ายแรงขึ้น เช่น สมองบวม หรือเลือดออกในสมอง
เด็กล้มหัวฟาดพื้นควรดูแลอย่างไร
เมื่อมีอุบัติเหตุลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลังเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยจะมีแนวทางในการดูแลลูกดังนี้
-
สังเกตอาการเบื้องต้น: ตรวจสอบว่าลูกมีอาการผิดปกติ หรือไม่ เช่น ร้องไห้มากผิดปกติ ซึม อาเจียน หรือหมดสติ หากพบอาการผิดปกติที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
-
ให้ลูกนอนพัก และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวศีรษะ: หลังจากการกระแทก ควรให้ลูกได้นอนพักในท่าที่สบาย หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวศีรษะอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงของอาการเวียนศีรษะ และคลื่นไส้
-
ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม: ใช้ผ้าห่อน้ำแข็ง หรือเจลเย็นประคบบริเวณที่ศีรษะกระแทกประมาณ 15-20 นาทีทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อลดอาการบวมและช้ำ
-
หลีกเลี่ยงการให้ลูกนอนทันทีหลังล้มหัวฟาดพื้น: ควรปลุกลูกทุก 2-3 ชั่วโมงในช่วง 24 ชั่วโมงแรกเพื่อตรวจสอบอาการ หากลูกตอบสนองช้า หรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที
-
หลีกเลี่ยงการให้ยาแก้ปวดบางชนิด: หลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมอง หากต้องการให้ลูกรับประทานยาควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ยา
-
สังเกตอาการต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง: แม้อาการของลูกจะดูปกติดี แต่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการซึม อาเจียนซ้ำ ๆ เดินเซ หรือชัก ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
-
งดกิจกรรมที่ต้องใช้แรง หรือกระทบกระเทือนศีรษะ: ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังเกิดอุบัติเหตุ ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงการเล่นที่เสี่ยงต่อการกระแทกซ้ำ เช่น วิ่ง กระโดด หรือเล่นเครื่องเล่นที่ต้องใช้แรงมาก
เด็กล้มหัวฟาดพื้น สังเกตอาการใดบ้าง
ในบางครั้งลูกอาจล้มหัวฟาดพื้นโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทันได้เห็นเหตุการณ์ แต่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรม และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นได้ โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกอาจล้มหัวฟาดพื้น ได้แก่ อาการซึมผิดปกติ งอแงกว่าปกติ ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม มีอาการเวียนศีรษะ เดินเซ หรือเสียการทรงตัว
รวมถึงหากลูกมีอาการคลื่นไส้อาเจียนโดยไม่มีสาเหตุ ปวดศีรษะ จับศีรษะบ่อย หรือแสดงความไม่สบายตัวบริเวณศีรษะ อาจเป็นสัญญาณว่ามีการกระแทกเกิดขึ้น หากพบอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการตัวอ่อนแรง ตอบสนองช้า รูม่านตาขยายไม่เท่ากัน หรือหมดสติ ควรรีบนำลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินโดยละเอียดทันที
ลูกล้มหัวฟาดพื้นแล้วมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์
- ลูกมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- ลูกมีอาการหมดสติเกิน 5 นาที
- ลูกมีอาการง่วงซึมจนผิดปกติ
- ลูกมีอาการชัก เกร็ง กระตุก
- ลูกอาเจียนบ่อย หรืออาเจียนมากกว่า 5 ครั้งขึ้นไป
- ลูกเริ่มพูดจาไม่เป็นภาษา พูดไม่รู้เรื่อง พูดจาสับสน
- ลูกมีอาการเดินเซ ทรงตัวไม่ได้
- ลูกมีเลือดไหลไม่หยุดจากจุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย
- ศีรษะของลูกยังมีอาการบวม และไม่หายโนแม้จะทำการปฐมพยาบาลไปแล้วระยะหนึ่ง
หากลูกมีอาการดังที่กล่าวมานี้ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาทันทีก่อนที่อาการจะลุกลาม
นมแม่ที่มี MFGM เพื่อ IQ และทักษะสมองเพื่อความสำเร็จ EF ที่เหนือกว่า
คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ ว่าการดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ให้ลูกรับประทานอาหารที่ดีมีโภชนาการ ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ และเสริมสร้างพัฒนาการตามช่วงวัยให้ลูกโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรกของลูกนั้น ถือเป็นการปูรากฐานที่สำคัญที่สุดในชีวิตให้กับลูกน้อยทุกคน
โดยเฉพาะการให้ลูกได้รับโภชนาการที่สำคัญที่สุดอย่างนมแม่ หนึ่งเดียวที่มีงานวิจัยรองรับว่า* ช่วยให้มี IQ และ EF ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ขวบปีแรก ให้ลูกพร้อมกว่าเมื่อถึงวัยเข้าเรียน โดย MFGM ในนมแม่ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณประสาทเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้และจดจำได้ดียิ่งขึ้น
*สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีและศูนย์นมแม่
แห่งประเทศไทย. นมแม่กับการพัฒนาทักษะสมองส่วน Executive Function. 2561
ไขข้อข้องใจเรื่องลูกล้มหัวฟาดพื้นด้านหลัง กับ Enfa Smart Club
ลูก 10 เดือนล้มหงายหลังหัวฟาดพื้น ทำไงดี
วัย 10 เดือนถือเป็นวัยที่ทารกน้อยหลายคนเริ่มตั้งไข่ หัดเดินก้าวแรกของตัวเอง ทำให้อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อมีอุบัติเหตุลูกล้มหัวฟาดพื้นเกิดขึ้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติในทันที คือ ตรวจสอบร่างกายส่วนต่าง ๆ ของลูกว่ามีจุดไหนได้รับบาดเจ็บบ้าง และทดสอบความผิดปกติว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย และการตอบสนองของลูกไหม หากไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ควรเฝ้าสังเกตอาการต่อไปอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง แต่หากพบอาการผิดปกติรุนแรงควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
ลูกล้มหัวฟาดพื้น มีไข้ อันตรายไหม
เมื่อลูกล้มหัวฟาดพื้น และมีไข้ร่วมด้วยถือเป็นอาการที่ไม่ผิดปกติ และมีความเสี่ยงอันตราย ขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที