นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ผื่นไข้เลือดออกในเด็ก อันตรายหน้าฝนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง

Enfa สรุปให้

  • ผื่นไข้เลือดออกในเด็กเป็นหนึ่งในอาการสำคัญซึ่งเป็นสัญญาณบอกความรุนแรงของโรคได้โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในอาการระดับรุนแรงซึ่งควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
  • ผื่นไข้เลือดออกเด็กในระยะเริ่มต้นจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงเล็ก ๆ คล้ายผื่นอีสุกอีใสหรือผื่นลมพิษ พบได้ตามใบหน้า ลำตัว แขน และขา อาจเกิดร่วมกับจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งไม่จางหายเมื่อกด
  • ผื่นไข้เลือดออกเด็กในระยะฟื้นตัวจะมีลักษณะคล้าย "เกาะสีขาวในทะเลสีแดง" โดยเป็นบริเวณสีขาวล้อมรอบด้วยจุดแดง พบได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณแขน ขา และลำตัว อาจมีอาการคันร่วมด้วย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกขยายพันธุ์ได้ดี ซึ่งโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่อันตรายและควรเฝ้าระวังใกล้ชิด โดยเฉพาะในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเกิดอาการรุนแรงได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง หนึ่งในสัญญาณที่สำคัญของโรคนี้คือผื่นไข้เลือดออกในเด็ก ซึ่งสามารถบ่งชี้ระดับความรุนแรงของโรคได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะของผื่น เพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด

 

ทำความรู้จักกับผื่นไข้เลือดออก


ผื่นไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในอาการสำคัญของโรคไข้เลือดออกซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี (Dengue virus) ที่แพร่กระจายโดยยุงลาย โดยผื่นนี้สามารถปรากฏในระยะต่าง ๆ ของโรค และมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป โดยผื่นที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยไข้เลือดออกสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะหลัก ได้แก่

 

1. ผื่นในระยะไข้สูง (ช่วง 1-3 วันแรก)

  • มีลักษณะเป็นผื่นแดงเล็ก ๆ คล้ายผื่นอีสุกอีใสหรือผื่นลมพิษ
  • พบได้ตามใบหน้า ลำตัว แขน และขา
  • อาจเกิดร่วมกับจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง (petechiae) ซึ่งไม่จางหายเมื่อกด

 

2. ผื่นในระยะฟื้นตัว (ช่วง 4-7 วัน)

  • ผื่นที่มีลักษณะคล้าย "เกาะสีขาวในทะเลสีแดง" โดยเป็นบริเวณสีขาวล้อมรอบด้วยจุดแดง
  • พบได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณแขน ขา และลำตัว
  • อาจมีอาการคันร่วมด้วย

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน (39-41°C) ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มีจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือเยื่อบุ เช่น เหงือก เลือดกำเดาไหล และอาจมีภาวะช็อกจากการรั่วของพลาสมา (ในกรณีรุนแรง) ซึ่งหากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ร่วมกับอาการซึม อ่อนเพลีย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ปวดท้องรุนแรงหรืออาเจียนตลอดเวลา อาเจียนเป็นสีดำ หรือถ่ายเป็นสีดำ ควรรีบพาไปพบแพทย์

 

สัญญาณบ่งชี้ว่าลูกน้อยเป็นไข้เลือดออก และลักษณะผื่นไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออกในเด็กมีอาการที่คล้ายกับไข้หวัดหรือไข้ไวรัสทั่วไปในช่วงแรก แต่มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าอาจเป็นลูกน้อยเป็นไข้เลือดออก โดยโรคไข้เลือดออกในเด็กมักมีอาการที่เปลี่ยนแปลงตามระยะของโรค ดังนี้

 

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง

หากลูกน้อยเป็นไข้เลือดออกในระยะที่ 1 ระยะไข้สูง หรือช่วง 1-3 วันแรกนี้ มักมีอาการสำคัญ คือ

  • ไข้สูงเฉียบพลัน 39-41°C ไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ทั่วไป
  • หน้าแดง ตาแดง แต่ ไม่มีน้ำมูกหรือไอมาก
  • ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • มือเท้าเย็น อ่อนเพลีย

รวมถึงมีผื่นแดงเล็ก ๆ คล้ายผื่นอีสุกอีใส หรือผื่นลมพิษ หรือจุดเลือดออกใต้ผิวหนังขนาดเล็ก ซึ่งมักพบบริเวณแขน ขา และลำตัว ทั้งนี้ในเด็กบางรายอาจสังเกตไม่พบผื่นแดง

 

ระยะที่ 2 ระยะวิกฤติ

หากลูกน้อยเป็นไข้เลือดออกในระยะที่ 2 หรือระยะวิกฤติ ในช่วง 3-7 วันต่อมา มักมีอาการสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ดังนี้

  • ไข้เริ่มลดลง จนอาจเข้าใจผิดว่าเด็กอาการดีขึ้น
  • อาจมีภาวะช็อก หรือเลือดออกผิดปกติ
  • ปวดท้องรุนแรง อาเจียนบ่อย
  • มีอาการซึม มือเท้าเย็น เหงื่อออกมาก ชีพจรเบาเร็ว
  • เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน
  • อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด (สีดำ)

นอกจากนี้ จะเริ่มพบว่ามีผื่นเลือดออกชัดเจนขึ้น มีจุดแดงเข้ม ไม่จางหายเมื่อกด อาจพบรอยช้ำหรือจุดจ้ำเลือดตามร่างกาย หากพบอาการนี้ ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลโดยด่วน

 

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว

อาการไข้เลือดออกในระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว หรือช่วง 7-10 วันต่อมา มักมีอาการสำคัญ คือ

  • ไข้ลดลงและเด็กเริ่มรู้สึกดีขึ้น
  • ความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติ
  • ปัสสาวะมากขึ้น กินอาหารได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ผื่นไข้เลือดออกจะมีลักษะเฉพาะที่เรียกว่า "เกาะสีขาวในทะเลสีแดง" โดยเป็นจุดขาวเล็ก ๆ กระจายอยู่ และอาจมีอาการคันร่วมด้วย

 

รูปผื่นไข้เลือดออกในเด็ก

 

การดูแลรักษาเมื่อลูกน้อยป่วยเป็นไข้เลือดออก


การดูแลรักษาเมื่อลูกน้อยป่วยเป็นไข้เลือดออกนั้นควรมีการดูแลอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์ เพื่อให้ลูกน้อยปลอดภัยและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หากลูกน้อยมีอาหารไม่รุนแรงมากและแพทย์วินิจฉัยว่าสามารถพักฟื้นที่บ้านได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยตนเอง โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 

  • ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เช่น น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ หรือน้ำเปล่า หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ใช้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ ห้ามใช้แอสไพรินและไอบูโพรเฟนเพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเลือดออก
  • ใช้น้ำอุ่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้ โดยเน้นบริเวณข้อพับ คอ และรักแร้
  • หมั่นสังเกตอาการของลูก หากมีสัญญาณอันตราย เช่น ซึม อ่อนเพลีย มือเท้าเย็น ปวดท้องรุนแรง อาเจียนบ่อย ถ่ายดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด หายใจลำบาก ควรรีบพาไปโรงพยาบาลทันที

หากลูกมีอาการรุนแรงควรพาไปพบแพทย์ทันที โดยการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น แพทย์จะทำการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันภาวะช็อก ตรวจเลือดติดตามภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และดูแลอาการเลือดออกผิดปกติอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การดูแลรักษาเมื่อลูกน้อยป่วยเป็นไข้เลือดออกโดยพักฟื้นที่บ้านนั้น ควรให้ลูกพักผ่อนมาก ๆ ดูแลเรื่องอาหารโดยหลีกเลี่ยงอาหารมันและย่อยยาก ป้องกันยุงกัดเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ติดตามอาการ และพาไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายฟื้นตัวสมบูรณ์

 

การป้องกันลูกน้อยไม่ให้เสี่ยงเป็นไข้เลือดออก


ไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่อันตรายหากอาการรุนแรง อีกทั้งยังสังเกตอาการได้ยากในช่วงแรกเพราะคล้ายกับอาการไข้หวัดทั่วไป อีกทั้งการเป็นซ้ำในครั้งที่สองยังเพิ่มความรุนแรงจากการติดโรคครั้งแรกอีกด้วย โรคไข้เลือดออกจึงเป็นโรคที่หลายคนกังวลอย่างมาก เพื่อป้องกันลูกน้อยไม่ให้เสี่ยงเป็นไข้เลือดออก คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเฝ้าระวังลูกน้อยได้ ดังนี้

 

สวมเสื้อผ้าให้ปกปิดมิดชิด

ให้ลูกสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่มียุงชุกชุม ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อนเพราะสีเข้มอาจดึงดูดยุงมากกว่า และหลีกเลี่ยงการพาลูกออกไปเล่นในช่วงเวลาเช้าและเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่ยุงลายออกหากิน

 

ใช้ผลิตภัณฑ์กันยุง

โดยอาจใช้โลชั่นหรือสเปรย์กันยุงที่เหมาะสำหรับเด็ก ไม่มีสารอันตรายหรือสารตกค้าง หรือเลือกใช้แผ่นแปะกันยุงหรือปลอกแขนกันยุงเพื่อป้องกันยุงกัด และควรติดตั้งมุ้งลวดที่หน้าต่างและประตู หรือให้ลูกนอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด

 

กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

วิธีป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งคือ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ดังนี้

  • คว่ำภาชนะที่อาจมีน้ำขัง เช่น ถังน้ำ กระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า
  • เปลี่ยนน้ำในแจกันและภาชนะรองขาตู้กับข้าวทุกสัปดาห์
  • ใส่ทรายอะเบทหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในแหล่งน้ำขัง
  • ทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบบ้านให้โล่งโปร่ง ไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของยุงลาย
  • ร่วมมือกับชุมชนในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของยุงลาย

 

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่อันตราย โดยเฉพาะในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการไข้และผื่นไข้เลือดออกในเด็ก รวมถึงอาการอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด หากพบว่าลูกมีอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และใช้มาตรการป้องกันยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กันยุง หรือให้ลูกนอนในมุ้ง เป็นต้น

 

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama