นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

เด็กตาแฉะ มีขี้ตาเยอะ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลตาแฉะในทารก

Enfa สรุปให้

  • ลูกตาแฉะ ลูกตาแฉะข้างเดียว เป็นอาการที่พบได้ในวัยทารกและเด็กเล็ก 2-5 ขวบ มักเกิดจากท่อน้ำตาอุดตัน ติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส หรืออาการแพ้ โดยอาการตาแฉะในเด็กมักหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น
  • เด็กตาแฉะมักมีอาการที่สังเกตได้ เช่น น้ำตาไหลมากผิดปกติ มีขี้ตาสีขาว เหลือง หรือเขียว สะสมบริเวณหัวตา มีอาการตาบวมแดง หนังตาติดกันตอนตื่นนอน มีภาวะตาแดง มีอาการคันตาหรือระคายเคืองตา มีอาการไวต่อแสงหรือมองเห็นผิดปกติ
  • พ่อแม่สามารถดูแลอาการตาแฉะในทารกและเด็กเล็กได้โดยเช็ดด้วยน้ำเกลือหรือน้ำอุ่น วันละ 2-3 ครั้ง หรือเมื่อมีขี้ตาสะสมมาก หรือนวดท่อน้ำตาเพื่อลดอาการตาแฉะในทารก แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการไข้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

วัยทารกและเด็กเล็กเป็นวัยที่ร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลสุขภาพของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมาก หากพบว่าลูกมีอาการตาแฉะ อาจทำให้พ่อแม่กังวลว่าลูกเป็นโรคร้ายแรงหรือไม่

บทความนี้ Enfa จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจถึงสาเหตุของอาการลูกตาแฉะ และแนวทางการดูแลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอาการลูกตาแฉะข้างเดียว 2 ขวบ และลูกตาแฉะข้างเดียว 5 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พบอาการตาแฉะมากที่สุดค่ะ

 

เด็กตาแฉะเกิดจากอะไร


อาการตาแฉะในทารกและเด็กเล็กเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอาการลูกตาแฉะข้างเดียว 2 ขวบ และอาการลูกตาแฉะข้างเดียว 5 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พบอาการตาแฉะได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

 

ท่อน้ำตาอุดตัน  

อาการท่อน้ำตาอุดตันมักพบมากในทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน เนื่องจากท่อน้ำตายังไม่เปิดเต็มที่ ทำให้น้ำตาไหลและมีขี้ตาสะสม โดยอาการมักหายเองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นร่วมด้วย

 

การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส

การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสทำให้เกิดอาการเยื่อบุตาอักเสบก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของตาแฉะ
ทำให้ตาแดง มีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด หากเป็นนานไม่หาย หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดตาอักเสบอาการตาแฉะรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์

 

อาการแพ้

อาการแพ้บางอย่าง เช่น ภูมิแพ้ทางตา อาจเกิดจากจากฝุ่นละออง ละอองเกสร หรือขนสัตว์ ที่กระตุ้นอาการภูมิแพ้ ทำให้ลูกตาแฉะ ตาแดง น้ำตาไหล และมีขี้ตา นอกจากนี้ อาจมีอาการคันตาร่วมด้วย ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น ตุ๊กตา ผ้าห่มมีขนระคายเคือง

 

สิ่งแปลกปลอมเข้าตา

ฝุ่นละอองหรือสารระคายเคืองบางชนิดที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เช่น ควัน หรือสารเคมี ทำให้เกิดการระคายเคือง ตาแฉะ และมีน้ำตาไหล โดยหากลูกมีอาการตาแฉะเรื้อรังหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น ตาบวมแดง ติดเชื้อ หรือมีไข้สูง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสม

 

อาการของเด็กตาแฉะ


อาการของเด็กตาแฉะที่พ่อแม่ควรสังเกตเบื้องต้นคือ อาการลูกตาแฉะทั้ง 2 ข้าง และอาการลูกตาแฉะข้างเดียว  ซึ่งโดยทั่วไปมักมีอาการที่สังเกตได้ง่าย เช่น

  • มีน้ำตาไหลมากผิดปกติ แม้ลูกไม่ได้ร้องไห้
  • มีขี้ตาสีขาว เหลือง หรือเขียว สะสมบริเวณหัวตา
  • มีอาการตาบวมแดง หรือมีอาการอักเสบที่บริเวณรอบดวงตา
  • หนังตาติดกันตอนตื่นนอน เนื่องจากขี้ตาแห้งเกาะกัน
  • มีภาวะตาแดงร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เยื่อบุตาอักเสบ
  • มีอาการคันตาหรือระคายเคืองตา อาจเกิดจากอาการแพ้
  • มีอาการไวต่อแสงหรือมองเห็นผิดปกติ

นอกจากนี้ หากเด็กมีอาการตาแฉะเรื้อรังหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น ไข้สูง ตาบวมมาก หรือมีขี้ตามากจนตาปิด ควรพาไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอาการลูกตาแฉะข้างเดียว 2 ขวบ และ 5 ขวบ เนื่องจากลูกยังเล็กมาก อาจมีการขยี้ตา หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นรุนแรงมากขึ้น

 

ทำความรู้จัก ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก


ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็กเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของอาการตาแฉะ โดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็กที่มีน้ำตาไหลมากผิดปกติและมีขี้ตาสะสม ซึ่งเกิดจากท่อน้ำตาที่ไม่สามารถระบายของเหลวออกจากดวงตาได้ตามปกติ ทำให้น้ำตาค้างอยู่ในถุงน้ำตาและเกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ง่าย โดยสาเหตุของภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็กที่พบได้บ่อย คือ

  • มีเยื่อบาง ๆ ที่ควรจะเปิดออกหลังคลอดยังคงปิดอยู่ ทำให้น้ำตาไหลย้อนกลับปิดกั้นท่อน้ำตา ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุดในทารกแรกเกิด
  • การพัฒนาของท่อน้ำตายังไม่สมบูรณ์ มักพบในทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากโครงสร้างของท่อน้ำตายังไม่เจริญเติบโตเต็มที่
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน มักมาจากอาการหวัด หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ท่อน้ำตาเกิดการอักเสบและบวม
  • โครงสร้างกระดูกจมูกและท่อน้ำตาผิดปกติ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือภาวะผิดปกติแต่กำเนิด

ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก มักเริ่มแสดงตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น เยื่อบุตาอักเสบ ถุงน้ำตาอักเสบ ตาดำติดเชื้อ เป็นต้น

 

เด็กตาแฉะ หายเองได้ไหม


อาการเด็กตาแฉะหรือภาวะตาแฉะที่เกิดจากท่อน้ำตาอุดตันในทารกมักหายได้เองเมื่อเด็กอายุประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นเรื้อรัง หรือลูก 2-5 ขวบยังมีอาการตาแฉะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษา

 

วิธีดูแลตาแฉะในทารกเบื้องต้น ที่พ่อแม่ทำเองได้


เมื่อทารกมีอาการตาแฉะ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลตาแฉะในทารกเบื้องต้นด้วยตนเองได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

 

เช็ดด้วยน้ำเกลือ

ใช้สำลีสะอาดชุบน้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Normal Saline) เช็ดขี้ตาเบา ๆ จากหัวตาไปหางตา วันละ 2-3 ครั้ง หรือเมื่อมีขี้ตาสะสมมาก

 

เช็ดด้วยน้ำอุ่น

ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 37-40 องศาเซลเซียส เช็ดบริเวณรอบดวงตาเพื่อลดการอุดตันของท่อน้ำตา

 

เคล็ดลับนวดตาให้ลูก บรรเทาอาการตาแฉะ


การนวดท่อน้ำตาสามารถช่วยลดอาการตาแฉะที่เกิดจากท่อน้ำตาอุดตันได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นให้เยื่อที่ปิดท่อน้ำตาเปิดออกและช่วยให้น้ำตาไหลเวียนได้ดีขึ้น ด้วยการนนวดตาให้ลูกเพื่อเบาเทาอาการตาแฉะ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาด ก่อนสัมผัสดวงตาของลูก เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ
  • ใช้นิ้วชี้สะอาด กดเบา ๆ บริเวณหัวตา (ใกล้ดั้งจมูก)
  • ลากนิ้วลงมาตามแนวดิ่ง ตามแนวของท่อน้ำตา โดยออกแรงกดเล็กน้อยแต่ไม่แรงเกินไป
  • ทำซ้ำ 5-10 ครั้งต่อรอบ วันละ 2-3 ครั้ง หรือทำทุกครั้งที่เช็ดตา

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูก หากมีการบวมแดง หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์

 

เด็กตาแฉะและมีอาการร่วมแบบนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์


ปกติแล้วเด็กตาแฉะหากได้รับการดูแลเบื้องต้น เช่น เช็ดตาด้วยน้ำเกลือหรือน้ำอุ่น ควรมีอาการดีขึ้น แต่หากลูกมีอาการเหล่านี้ร่วมกับตาแฉะ หรือมีแนวโน้มว่าอาการไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ทันที

  • ตาแดงและบวมมากผิดปกติ
  • มีหนองหรือขี้ตาสีเขียวจำนวนมาก
  • ตาไวต่อแสง หรือมองเห็นผิดปกติ
  • ไข้สูงร่วมกับอาการตาแฉะ

อาการตาแฉะทั้ง 2 ข้างและลูกตาแฉะข้างเดียว 2 – 5 ขวบ เป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กที่มีภาวะท่อน้ำตาอุดตันหรือเกิดจากการติดเชื้อ แม้ว่าในบางกรณีอาการจะหายได้เอง แต่หากลูกน้อยมีอาการรุนแรง ควรรีบพบแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

 

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama