Enfa สรุปให้
- ลูกหลุด หรือการแท้งลูกในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกพบได้ค่อนข้างบ่อย ราว 10%-20% ของการตั้งครรภ์ และประมาณ 80% ของการแท้งบุตรจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก
- ท้อง 4 เดือนยังมีโอกาสหลุดได้ แต่ความเสี่ยงน้อยกว่าไตรมาสแรก ความเสี่ยงในการแท้งหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์นั้นอยู่ที่ราวๆ 2-3%
- ลูกหลุดต้องขูดมดลูกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น อายุครรภ์มากน้อยแค่ไหน เนื้อเยื่อของการตั้งครรภ์ทั้งหมดถูกขับออกมาหมดหรือไม่ ซึ่งสูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ด้วยจะเป็นผู้ประเมินว่าคุณแม่ควรต้องขูดมดลูกหรือไม่

ลูกหลุด การแท้งลูกน้อยในครรภ์เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนไม่อยากเกิดขึ้น แต่รู้ไหมคะว่าอาการลูกหลุดในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เราคิด สถิติจากสมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (The American College of Obstetricians and Gynecologists: ACOG) ระบุว่าการแท้งลูกในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกพบได้ค่อนข้างบ่อย ราว 10%-20% ของการตั้งครรภ์ และประมาณ 80% ของการแท้งบุตรจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก
แม้เราจะไม่สามารถป้องกันการแท้งบุตรได้ในหลายๆ กรณี แต่ความรู้ความเข้าใจเรื่องอาการตั้งครรภ์ระยะแรก การสังเกตอาการผิดปกติในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก รวมถึงการดูแลตนเองหลังจากลูกหลุดเพื่อเตรียมพร้อมร่างกายสู่การตั้งครรภ์ครั้งใหม่ ก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากและมีโอกาสตั้งครรภ์อย่างราบรื่นในอนาคตได้ค่ะ
ลูกหลุดเกิดจากอะไร
ลูกหลุด หรือการแท้งบุตรในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
-
ความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosomal Abnormalities): ในกรณีส่วนใหญ่ ลูกหลุดเป็นกลไกที่ธรรมชาติจัดสรรให้ตัวอ่อนที่ผิดปกติหรือไม่แข็งแรงไม่สามารถเจริญต่อไปได้ โดยมักจะมาจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิสนธิ ทำให้ตัวอ่อนมีจำนวนโครโมโซมมากหรือน้อยเกินไป ซึ่งธรรมชาติกำหนดให้ตัวอ่อนที่ผิดปกติในลักษณะนี้ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ และนำไปสู่การแท้ง
-
ความไม่สมดุลของฮอร์โมน (Hormonal Imbalances): ลูกหลุด อาจเกิดจากการมีระดับฮอร์โมนบางชนิดต่ำเกินไป เช่น โปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเตรียมความพร้อมของมดลูกสำหรับการฝังตัวของไข่หลังปฏิสนธิแล้ว หากร่างกายผลิตโปรเจสเตอโรนไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ผนังมดลูกไม่หนาพอสำหรับตัวอ่อนที่จะฝังตัวและเจริญเติบโตในครรภ์ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งได้
-
ความผิดปกติของมดลูก (Uterine Abnormalities): ลูกหลุด อาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูก ที่ส่งผลกระทบต่อการฝังตัวและการพัฒนาของตัวอ่อน เช่น ปากมดลูกอ่อนแอ (Incompetent Cervix) จึงทำให้ปากมดลูกเปิดเร็วเกินไปในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่จึงมีความเสี่ยงต่อการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าปกติ รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น มดลูกมีผนังกั้น (Uterine Septum) ซึ่งเป็นภาวะที่มดลูกมีผนังเนื้อเยื่อแบ่งตรงกลาง จนรบกวนการฝังตัวของตัวอ่อนและทำให้ตัวอ่อนมีพื้นที่ในการเจริญเติบโตไม่เพียงพอ เป็นต้น
-
การติดเชื้อ (Infections): ลูกหลุด อาจเกิดจากการติดเชื้อโรคบางอย่าง โดยเชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่และส่งผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตัวอ่อนที่กำลังเติบโตและนำไปสู่การแท้งได้ เชื้อโรคที่อันตรายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มีหลายชนิด เช่น หัดเยอรมัน (Rubella) ซึ่งหากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อหัดเยอรมันในไตรมาสแรก มักจะนำไปสู่การแท้งหรือความผิดปกติที่รุนแรงของทารก หรือการติดเชื้อลิสทีเรีย (Listeria) จากอาหารที่ปนเปื้อน เช่น ผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงสุกดี ก็อาจนำไปสู่การแท้งหรือการตายคลอดได้
-
ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง (Chronic Health Conditions): ลูกหลุด อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพเรื้อรังของคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งได้ โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้รับการจัดการให้ดีในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปจนกระทบต่อการพัฒนาของตัวอ่อน ทำให้มีความเสี่ยงในการแท้งและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ สูง หรือโรคลูปัส (Lupus) และโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disorders) ชนิดอื่นๆ ซึ่งในบางกรณี ระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่อาจโจมตีตัวอ่อนและนำไปสู่การแท้งได้
-
ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle): ลูกหลุด อาจเกิดจากปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดการแท้งหรือความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้
ท้อง 4 เดือนมีโอกาสหลุดไหม
ท้อง 4 เดือนยังมีโอกาสหลุดได้ แต่ความเสี่ยงน้อยกว่าไตรมาสแรกมากค่ะ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ หรือหลังจากอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป ความเสี่ยงในการแท้งนั้นอยู่ที่ราวๆ 2-3% ในขณะที่คุณแม่มีความเสี่ยงในการแท้งราว 10-20% ในไตรมาสแรก สาเหตุของการลูกหลุดหลัง 12 สัปดาห์เป็นต้นไปมีหลายประการ ซึ่งบางอย่างก็ไม่ต่างกับสาเหตุในการแท้งช่วงไตรมาสแรก เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม การติดเชื้อบางอย่าง ปากมดลูกไม่แข็งแรง เป็นต้น
มดลูกบีบตัว ท้องอ่อน อันตรายไหม
มดลูกบีบตัวเล็กน้อยจนทำให้มีอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ ถือเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นกับคุณแม่หลายๆ คนค่ะ ซึ่งอาการแบบนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การขยายตัวของมดลูกเพื่อรองรับการเติบโตของทารก ความเครียด หรือการเคลื่อนไหวร่างกายมาก โดยการบีบตัวตามปกติของมดลูกควรอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง และไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดมาก
แต่หากคุณแม่มีอาการมดลูกบีบตัวถี่และรุนแรงขึ้น มีอาการปวดเกร็งมากขึ้นหรือปวดเหมือนกับอาการปวดท้องประจำเดือน มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือรู้สึกปวดหลังอย่างรุนแรง ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณของการแท้งที่คุณแม่ควรไปโรงพยาบาลทันทีค่ะ
อาการหลังลูกหลุด
อาการหลังลูกหลุดที่พบได้บ่อยมีดังนี้
-
มีเลือดออกทางช่องคลอด: คุณแม่อาจมีเลือดออกเป็นจุดเลือดเล็กๆ จนถึงเลือดออกมาก และมีก้อนเลือด ซึ่งอาจมีเลือดออกต่อเนื่อง ในระยะเวลาไม่กี่วันถึงหลายสัปดาห์
-
ปวดท้อง: คุณแม่อาจมีอาการปวดท้องหน่วงๆ หรือปวดเกร็งคล้ายกับอาการปวดประจำเดือน เนื่องจากมดลูกหดตัวเพื่อขับเนื้อเยื่อของการตั้งครรภ์ออกมา
-
ก้อนเลือด: ร่างกายคุณแม่อาจมีการขับก้อนเลือดเล็กๆ หรือชิ้นเนื้อเยื่อ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในระหว่างการแท้ง
-
เจ็บคัดเต้านม: หลังลูกหลุด คุณแม่บางคนอาจจะยังรู้สึกเจ็บคัดเต้านมอยู่ เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายยังไม่ลดลง
-
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน: ฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ฮอร์โมน hCG อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการลดลงหลังมีการแท้งบุตร ดังนั้นอาการคนท้อง เช่น คลื่นไส้หรืออ่อนเพลีย อาจยังคงมีอยู่ในช่วงสั้นๆ
-
ความเศร้า: ความรู้สึกเศร้า ผิดหวัง หรือกังวลใจ เป็นอารมณ์ที่มักเกิดขึ้นหลังการแท้ง คุณแม่จึงควรดูแลรักษาทั้งสุขภาพกายและใจให้ดี หาที่ปรึกษาที่คอยอยู่เคียงข้าง ช่วยให้คุณแม่ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ ซึ่งอาจเป็นคุณพ่อหรือคนอื่นๆ ในครอบครัว
หากคุณแม่พบว่าอาการหลังลุกหลุดมีบางอย่างผิดปกติ เช่น มีอาการเลือดออกมากเกินไป ปวดรุนแรง มีไข้ หรือมีกลิ่นผิดปกติจากช่องคลอด ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้
ลูกหลุดต้องขูดมดลูกไหม
ลูกหลุดต้องขูดมดลูกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น อายุครรภ์มากน้อยแค่ไหน เนื้อเยื่อจากครรภ์ทั้งหมดถูกขับออกมาหมดหรือไม่ ในบางกรณีที่ลูกหลุดในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก ร่างกายของคุณแม่อาจขับเนื้อเยื่อออกมาได้เองตามธรรมชาติ หรือแพทย์อาจให้ยาเพื่อช่วยขับเนื้อเยื่อออกได้ ทั้งนี้ ผู้ที่จะประเมินว่าลูกหลุดควรต้องขูดมดลูกหรือไม่นั้น คือสูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ด้วยค่ะ
ลูกหลุด กับโอกาสในการตั้งครรภ์ในอนาคต
คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจจนเกินไปนะคะ ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เคยแท้งในระยะการตั้งครรภ์แรกๆ ยังสามารถตั้งครรภ์อีกครั้งและคลอดลูกน้อยที่มีสุขภาพดีได้ อาการลูกหลุดหรือการแท้งลูกในช่วงไตรมาสแรก มักไม่ได้บ่งบอกถึงปัญหาภาวะมีบุตรยากในระยะยาว และมักไม่ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต
งานวิจัยจากทาง American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) ที่แสดงให้เห็นว่า 85% ของผู้หญิงที่เคยแท้ง 1 ครั้งในช่วงไตรมาสแรก สามารถตั้งครรภ์และคลอดลูกได้อย่างปกติในครั้งถัดไป ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก
การแท้งเพียงครั้งเดียวมักไม่ส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ในอนาคต และคุณพ่อคุณแม่สามารถพยายามตั้งครรภ์ได้อีกครั้งเมื่อร่างกายและจิตใจพร้อมค่ะ แต่หากคุณแม่เคยแท้งมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ควรเข้าไปปรึกษาคุณหมอเพื่อประเมินหาสาเหตุอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการแท้งได้
คำแนะนำในการเตรียมตัวตั้งครรภ์หลังแท้งบุตร
-
ควรรอประมาณ 2-3 รอบประจำเดือนก่อนพยายามตั้งครรภ์อีกครั้ง: แพทย์หลายท่านมักจะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่รอประมาณ 1-3 รอบประจำเดือนก่อนพยายามตั้งครรภ์ครั้งใหม่ นอกจากจะให้ร่างกายของคุณแม่ได้ใช้เวลาฟื้นตัวแล้ว ยังทำให้การนับอายุครรภ์ในครั้งต่อไปแม่นยำขึ้นด้วย
-
ปรึกษาคุณหมอ: ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุของการแท้งที่ชัดเจน หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่เคยตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ควรตรวจก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์หรือการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ อาจปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับอาหารบํารุงมดลูกก่อนตั้งครรภ์ การรับประทานกรดโฟลิก และสารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ
-
รักษาสุขภาพ ปรับไลฟ์สไตล์: ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสารที่เป็นอันตราย เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ รวมถึงคาเฟอีนในปริมาณที่สูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
-
นับวันตกไข่เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์: หลังจากร่างกายคุณแม่ได้รับการฟื้นฟูเต็มที่แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มนับวันตกไข่ เพื่อเข้าใจช่วงเวลาที่มีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุด
อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่
สมองของลูกน้อยเริ่มพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์ โภชนาการที่คณแม่ได้รับจะถูกส่งต่อไปยังเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ ซึ่งในระหว่างนี้ คุณแม่และทารกน้อยต้องการสารอาหารหลากหลายชนิดที่ช่วยให้สุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยสมบูรณ์ที่สุดตลอดการตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็น
-
ดีเอชเอ (DHA) คือกรดไขมันจำเป็นในตระกูลโอเมก้า 3 เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเซลล์สมอง และจอประสาทตา โดย WHO แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ และแม่ให้นมบุตรรับประทาน DHA ในปริมาณ 200 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการสมองลูก
-
โคลีน (Choline) ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทส่วนกลาง และ Cognitive Function ของทารก โดยปริมาณที่แนะนำคือ 450 มิลลิกรัมต่อวัน
-
โฟเลต (Folate) หรือกรดโฟลิก (Folic Acid) ช่วยป้องกันการสร้างหลอดประสาทไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจทำให้ทารกพิการ และป้องกันภาวะซีดหรือโลหิตจางในคุณแม่ตั้งครรภ์ ปริมาณที่แนะนำคือ 0.6 มิลลิกรัมต่อวัน
-
แคลเซียม (Calcium) เพื่อการเจริญของระบบกระดูกของทารก โดยปริมาณแคลเซียมคนท้องที่เหมาะสมคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
-
เหล็ก (Iron) เพื่อการพัฒนาของตัวอ่อนและรก รวมถึงการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงของคุณแม่ โดยคุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กในระหว่างการตั้งครรภ์ในปริมาณ 15-30 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง
และยังรวมถึงสารอาหารอื่นๆ อีกมากมายที่คุณแม่อาจจะไม่ได้รับประทานอย่างครบถ้วนจากมื้ออาหารปกติ การรับประทานนมบำรุงครรภ์จึงเป็นทางเลือกที่ดีอย่างยิ่งในการเสริมสารอาหารให้กับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และอย่าลืมเลือกนมที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยนะคะ