Leaving page banner
 
Leaving page banner
 

pregnancy-tests

ตรวจครรภ์เร็วสุดกี่วัน ตรวจวิธีตรวจครรภ์ไหนแม่นยำที่สุด?

Enfa สรุปให้

  • ตรวจครรภ์สามารถทำได้ทั้งการตรวจในห้องปฏิบัติการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตรวจเองที่บ้านโดยใช้ที่ตรวจครรภ์ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

  • การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยวิธีตรวจเลือด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ให้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำสูงมาก เพราะนอกจากจะสามารถบอกว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ก็ยังสามารถบอกได้ว่าขณะนี้ตั้งครรภ์กี่สัปดาห์แล้ว รวมถึงสามารถตรวจพบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์

  • อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรตรวจครรภ์เร็วเกินไป เพราะการตรวจครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ผ่านไปแค่ไม่กี่วัน ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม นั่นไม่ได้การันตีผลตรวจครรภ์ว่าจะมีความแม่นยำสูง แต่มีความเสี่ยงสูงที่ผลการตรวจครรภ์จะการคลาดเคลื่อน ทางที่ดีควรรออย่างน้อย 12-14 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ในวันตกไข่จะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ตรวจตั้งครรภ์มีกี่วิธี และตรวจอย่างไรบ้าง
     • ตรวจตั้งครรภ์เร็วสุดกี่วัน
     • ค่า hCG กับการตรวจครรภ์
     • เมื่อไหร่ถึงควรตรวจตั้งครรภ์
     • ผลตรวจครรภ์อ่านอย่างไร
     • วิธีตรวจครรภ์ในสมัยโบราณ
     • เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจครรภ์
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการตรวจครรภ์กับ Enfa Smart Club

การตรวจครรภ์ ถือว่าเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในระยะแรกเริ่มของการตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้คุณแม่ได้ทราบว่า หลังจากเริ่มมีอาการคล้ายอาการคนท้องแล้ว ขณะนี้ตัวเองกำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ซึ่งบางคนก็อาจจะรู้สึกได้ถึงอาการแพ้ท้อง แล้วจึงทำการตรวจครรภ์ ขณะที่บางคนไม่มีอาการแพ้ท้องหรืออาการผิดปกติใด ๆ เลย กว่าจะรู้ว่าตั้งครรภ์อีกทีก็อาจจะเข้าไตรมาสที่สองไปแล้ว

ดังนั้น บทความวันนี้จาก Enfa จึงจะพาคุณแม่ทุกคนมารู้จักกับการตรวจครรภ์แบบต่าง ๆ กันค่ะ มาดูกันสิว่าตรวจการตั้งครรภ์ ทำอย่างไร? เช็กวิธีตรวจครรภ์ ด้วยวิธีไหนถึงจะให้ผลแม่นยำที่สุด และตรวจตั้งครรภ์เร็วสุดกี่วัน? ถึงจะพบว่ามีการตั้งครรภ์ มาหาคำตอบเหล่านี้กันได้เลยค่ะ

ตรวจตั้งครรภ์ทำอย่างไร เช็กวิธีตรวจครรภ์เรียงลำดับตามความแม่นยำ


การตรวจครรภ์ สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

ตรวจครรภ์โดยแพทย์ หรือตรวจครรภ์ในห้องปฏิบัติการ

1. ตรวจครรภ์ด้วยการเจาะเลือดตรวจครรภ์ (Blood Test)

การตรวจเลือดตั้งครรภ์ หรือการตรวจเลือดเพื่อหาการตั้งครรภ์ เป็นอีกหนึ่งวิธีการตรวจครรภ์ที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำสูง เพราะผลการตรวจเลือดไม่เพียงแค่จะบอกว่าคุณแม่กำลังตั้งท้องหรือไม่ แต่ยังสามารถตรวจพบระดับฮอร์โมน hCG หรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถตรวจได้ 2 วิธี คือ

  • การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณ hCG (Quantitative blood test) เพื่อดูว่ามีปริมาณ hCG เท่าไหร่ อายุครรภ์กี่สัปดาห์แล้ว และมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ใดบ้าง ซึ่งการตรวจเลือดแบบนี้อาจจะต้องรอผลตรวจตั้งแต่ 1-3 วัน เพราะเป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการ

  • การตรวจเลือดเพื่อวัดคุณภาพของhCG (Qualitative blood test) เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีปริมาณ hCG เท่าไหร่ หรือตั้งครรภ์ได้กี่สัปดาห์แล้ว หรือมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง

2. ตรวจครรภ์ด้วยการตรวจปัสสาวะคนท้อง "Urine Pregnancy Test" หรือ ยูพีที (UPT)

การตรวจปัสสาวะสามารถทำได้เองทั้งที่บ้าน และสถานพยาบาล ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สามารถทำได้เองที่บ้าน โดยการปัสสาวะผ่านแท่งตรวจ

ซึ่งแท่งตรวจก็จะมีทั้งแท่งตรวจแบบหยด และแท่งตรวจแบบจุ่ม

  • สำหรับแท่งตรวจแบบจุ่ม ก็จะปัสสาวะใส่ในถ้วยตวงปัสสาวะ และนำแท่งตรวจจุ่มลงไปในปัสสาวะ ทิ้งไว้สักพักเพื่อรอผล

  • สำหรับแท่งตรวจแบบหยด ผู้ตรวจจำเป็นจะต้องปัสสาวะผ่านแท่งตรวจให้พอชุ่ม แล้ววางทิ้งไว้เพื่อรอผลตรวจ

3. ตรวจครรภ์ด้วยการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์

การตรวจการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีนี้ จะเป็นการตรวจด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่องท้องและสร้างภาพขึ้นมา ทำการตรวจโดยแพทย์ทั่วไปหรือสูตินรีแพทย์

ซึ่งนอกจากจะช่วยตรวจดูว่ามีการตั้งครรภ์ ยังบอกตำแหน่งการตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ มีการท้องนอกมดลูกหรือไม่ มดลูกมีก้อนเนื้องอกมดลูก ถุงน้ำ หรือซีสต์รังไข่หรือไม่

นอกจากนี้ หลังอายุครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว การตรวจอัลตร้าซาวด์ยังสามารถตรวจเพศของลูก และคัดกรองความพิการหรือภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น รกเกาะต่ำ ภาวะน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป ความพิการแต่กำเนิดของทารก เป็นต้น

ตรวจครรภ์โดยตรวจด้วยตนเอง

ตรวจตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง แบบที่คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยการซื้อที่ตรวจครรภ์ หรือชุดทดสอบการตั้งครรภ์จากปัสสาวะที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้าทั่วไปหรือร้านขายยา

ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีทดสอบหาฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) ที่ออกมากับปัสสาวะ โดยเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากรกและบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ โดยสามารถตรวจพบฮอร์โมน hCG ได้ในปัสสาวะ หลังจากปฏิสนธิไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ และจะขึ้นสูงสุดในช่วง 9-12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งความแม่นยำของการตรวจวิธีนี้จะมีมากถึง 90 %

โดยอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์นี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

  • ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม อุปกรณ์ชุดนี้จะมีราคาถูก ประกอบไปด้วยแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ และถ้วยตวง (บางยี่ห้อไม่มี) วิธีการใช้คือเก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบจุ่มลงในถ้วยตวงประมาณ 3 วินาที แล้วนำออกมาจากถ้วยตวง ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อรออ่านผลตรวจครรภ์ ข้อควรระวัง คือ อย่าให้น้ำปัสสาวะเลย หรือสูงเกินกว่าขีดลูกศรของแผ่นทดสอบ

  • ที่ตรวจครรภ์แบบหยด หรือแบบปัสสาวะผ่าน มีเพียงแท่งตรวจครรภ์ที่ใช้ในการทดสอบเท่านั้น วิธีการใช้คือ ถอดฝาครอบออกแล้วถือแท่งให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะผ่านบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 30 วินาที จากนั้นรออ่านผลประมาณ 3-5 นาที

  • ที่ตรวจครรภ์แบบปากกาหรือแบบตลับ ชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วยหลอดหยด ตลับตรวจครรภ์ และถ้วยตวงปัสสาวะ ขั้นตอนการใช้ คือ เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นนำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะแล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วจึงอ่านผลการตรวจ

  • ที่ตรวจครรภ์ดิจิตอล ประกอบไปด้วยอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว คือแท่งสำหรับตรวจครรภ์ที่เป็นแบบดิจิตอล มีลักษณะคล้ายกับที่ตรวจครรภ์แบบปากกา และวิธีใช้ก็คล้ายกันด้วย คือเพียงแค่ถอดฝาครอบแท่งตรวจครรภ์ออก แล้วถือให้ลูกศรหัวทิ่มลงพื้น จากนั้นปัสสาวะผ่านให้โดนบริเวณที่อยู่ตำกว่าลูกศร โดยปัสสาวะผ่านประมาณ 5-30 วินาที เพื่อให้ที่ตรวจครรภ์มีความชุ่มเพียงพอ จากนั้นวางพักไว้ในแนวราบ และรออีกประมาณ 5 นาที เพื่ออ่านผลลัพธ์การตั้งครรภ์

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ตรวจการตั้งครรภ์เร็วสุดกี่วัน


หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว อีกกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง? และกระบวนการที่จะสามารถบอกได้ว่าท้องหรือไม่ท้องนั้นก็คือการตรวจครรภ์นั่นเอง ซึ่งก็สามารถเลือกได้ว่าจะตรวจด้วยตนเอง หรือเข้ารับการตรวจโดยตรงกับแพทย์

ส่วนระยะเวลาในการตรวจนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคำนวณวันตกไข่ไว้ได้อย่างแม่นยำหรือไม่ เพราะถ้าหากคำนวณวันตกไข่เอาไว้แล้ว หลังจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ไปอีก 12-14 วัน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ เพราะเป็นระยะเวลาที่มีการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิเสร็จสมบูรณ์พอดี ก็จะให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

แต่ไม่ควรตรวจครรภ์เร็วเกินไป เพราะการตรวจครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ผ่านไปแค่ไม่กี่วัน ไม่ได้เป็นตัวการันตีผลตรวจครรภ์ว่าจะมีความแม่นยำสูง แต่กลับเสี่ยงที่จะเกิดการคลาดเคลื่อนเพราะการปฏิสนธิอาจจะยังไม่สมบูรณ์ดี ทางที่ดีควรรออย่างน้อย 12-14 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ในวันตกไข่จะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด

ค่า hCG สำคัญกับการตรวจครรภ์อย่างไร


hCG คืออะไร

ฮอร์โมน hCG เป็นฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เกิดจากรก ประกอบไปด้วยความยาวกรดอะมิโนจำนวน 237 ตัว แบ่งเป็น

  • อัลฟ่า เอชซีจี (Alpha Subunit) หรือ Alpha-hCG คือ ประกอบย่อยของฮอร์โมน hCG มีความยาวของกรดอะมิโน 92 ตัว

  • เบต้า เอชซีจี (Beta Subunit) หรือ Beta-hCG คือ ประกอบย่อยของฮอร์โมน hCG มีความยาวของกรดอะมิโน 145 ตัว

ซึ่งจะฮอร์โมน hCG จะสามารถตรวจพบได้หลังจากผ่านการปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน หากมีระดับ hCG สูงก็แปลว่ากำลังตั้งครรภ์ แต่ถ้าระดับ hCG อยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ก็แปลว่ายังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ซึ่งการตรวจหา hCG นั้นจะตรวจเพื่อดักจับส่วนประกอบย่อยฮอร์โมน โดยใช้น้ำยาสำหรับตรวจหา hCG โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม hCG ยังสามารถบอกถึงความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย เพราะแม้ว่าจะตรวจพบการตั้งครรภ์แล้ว แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งแล้วพบว่าระดับ hCG ลดลง ก็อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องอยู่ เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิต

หรือถ้าหากจู่ ๆ ระดับhCGเกิดพุ่งสูงขึ้นมา ก็อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงของครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งเป็นภาวะที่ตัวอ่อนไม่เจริญเติบโตเป็นทารก แต่กลายเป็นเนื้องอกที่ไม่ได้ร้ายแรงแทน

ค่า hCG คนท้อง

ค่า hCG ในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ จะอยู่ที่ 25 mIU/mL แต่ถ้าหากตรวจพบอยู่ที่ 6-24 mIU/mL ถือว่าเป็นระยะอ่อนไหวที่อาจจะต้องกลับมาตรวจอีกรอบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น โดยค่า hCG ก่อนจะทยอยเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงไตรมาสแรก จากนั้นจะค่อย ๆ ลดปริมาณลงในไตรมาสสุดท้าย

ค่า hCG ของคนท้องสามารถตรวจพบตามอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ ดังนี้

  • อายุครรภ์ 3 สัปดาห์: 6 – 70 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ : 10 - 750 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 5 สัปดาห์: 200 - 7,100 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 6 สัปดาห์: 160 - 32,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 7 สัปดาห์: 3,700 - 160,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ s: 32,000 - 150,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 9 สัปดาห์: 64,000 - 150,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 10 สัปดาห์: 47,000 - 190,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 12 สัปดาห์: 28,000 - 210,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 14 สัปดาห์: 14,000 - 63,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 15สัปดาห์: 12,000 - 71,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 16 สัปดาห์: 9,000 - 56,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 16 - 29 สัปดาห์ (ไตรมาสสอง): 1,400 - 53,000 mIU/mL

  • อายุครรภ์ 29 - 41 สัปดาห์ (ไตรมาสสาม): 940 - 60,000 mIU/mL

ค่า hCG คนไม่ท้อง

ค่า hCG ที่น้อยกว่า 5 mIU/mL ถือว่าไม่พบการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากตรวจพบอยู่ที่ 6-24 mIU/mL ถือว่าเป็นระยะอ่อนไหวที่อาจจะต้องกลับมาตรวจอีกรอบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น

ตรวจ hCG กี่วัน

การตรวจวัดระดับhCG แบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

  • ตรวจโดยการตรวจเลือด สามารถตรวจพบระดับ hCG ได้หลังจากที่มีการปฏิสนธิผ่านไปแล้ว 8-11 วัน

  • ตรวจโดยการตรวจปัสสาวะ สามารถตรวจพบระดับ hCG ได้หลังจากที่มีการปฏิสนธิผ่านไปแล้ว 12-14 วัน

ค่า hCG ขึ้นน้อย แต่ท้อง เป็นไปได้ไหม

โดยทั่วไปแล้วระดับ hCG ที่ต่ำกว่า 5 mIU/mL ถือว่าไม่พบการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากตรวจพบอยู่ที่ 6-24 mIU/mL ถือว่าเป็นระยะอ่อนไหวที่อาจจะต้องกลับมาตรวจอีกรอบ ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แต่ตรวจครรภ์เร็วเกินไป ทำให้ระดับฮอร์โมนมีน้อยกว่าที่ควรจะตรวจพบการตั้งครรภ์

ตรวจครรภ์ได้ตอนไหน ตรวจเมื่อไหร่ถึงชัวร์ที่สุด


โดยปกติแล้วคงไม่มีใครที่จู่ ๆ ก็นึกอยากจะตรวจครรภ์ขึ้นมาเสียดื้อ ๆ เพราะคนที่ต้องการจะตรวจครรภ์นั้น ก็มักจะต้องมีเหตุปัจจัยบางประการที่รู้สึกว่าตัวเองอาจจะกำลังตั้งครรภ์โดยที่ไม่ทันรู้ตัว หรือสังเกตว่าประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ มีอาการคนท้อง หรือเริ่มมีอาการแพ้ท้อง

ดังนั้น หากจะถามว่า ควรตรวจครรภ์ตอนไหน ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับว่า อยู่ระหว่างการพยายามตั้งครรภ์หรือไม่ ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือเปล่า หรือมีอาการแพ้ท้องเบื้องต้นไหม หากมีอาการบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่ง และสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งท้องหรือไม่ ก็สามารถที่จะตรวจครรภ์ได้ทันที

แต่หากจะถามว่า แล้วตรวจครรภ์ตอนไหนชัวร์สุด ตรวจครรภ์ควรตรวจตอนไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงที่สุด ก็ควรจะต้องรอจนกว่าจะถึงวันที่ประจำเดือนขาดไป จึงเริ่มทำการตรวจครรภ์ได้

แต่ในกรณีที่ต้องการตรวจเร็วที่สุด ส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณแม่ได้คำนวณวันตกไข่ไว้ก่อนหน้านั้นหรือไม่ หรือจำครั้งสุดท้ายที่มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ หากมีข้อมูลในส่วนนี้ ก็ให้นับไป 12-14 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ในวันที่คาดว่าจะมีการตกไข่แล้ว ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นระยะเวลาเร็วที่สุดที่จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้

แต่ถ้าหากตรวจครรภ์ก่อน 12-14 ถือว่าตรวจครรภ์เร็วเกินไป ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่แม่นยำ เพราะการปฏิสนธิยังไม่สมบูรณ์ ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ยังไม่คงที่ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่ตรงกับความจริงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่

ปฏิสนธิกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง? เราควรเริ่มนับความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์จากวันที่มีเพศสัมพันธ์ไหม?

แม้ส่วนมากแล้วมักจะมีการแนะนำให้ตรวจครรภ์หลังการมีเพศสัมพันธ์ล่าสุด แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งจะนำไปสู่การตั้งครรภ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่การตั้งครรภ์ จะต้องเป็นจังหวะที่ร่างกายของผู้หญิงมีการตกไข่ จึงจะมีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์ได้

แล้วแบบนี้หลังปฏิสนธิกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง?

ส่วนมากแล้ว หากสามารถคาดคะเนวันที่จะมีการตกไข่ได้ ก็ให้นับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตกไป 12-14 วันหลังปฏิสนธิ ก็จะสามารถทราบได้ว่ากำลังตั้งท้องหรือไม่

ท้องกี่สัปดาห์ตรวจเจอ ตรวจครรภ์ต้องรอ 14 วัน จริงหรือ? ตัวเลขนี้มาจากไหน?

การตรวจครรภ์อย่างเร็วที่สุดที่สามารถตรวจพบได้คือ 12-14 วัน เพราะหลังจากที่มีการตกไข่ ประจำเดือนของผู้หญิงจะมาอีกใน 14 วันถัดมา หากมีประจำเดือนมาหลังจาก 14 วันผ่านไปแล้ว ก็แปลว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์

แต่ถ้าครบ 14 วันหลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดที่มีการตกไข่แล้วประจำเดือนยังไม่มา ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ใช้ได้ผลกับคนที่ประจำเดือนมาปกติเท่านั้น ในกรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจจะต้องมาคำนวณหาครั้งล่าสุดที่มีประจำเดือน และคำนวณวันที่คาดว่าจะมีไข่ตก แล้วนำข้อมูลมาประกอบกันเพื่อคำนวณดูว่าหลังจากนั้นประจำเดือนจะมาในช่วงไหน

ผลตรวจครรภ์อ่านอย่างไร ทำความเข้าใจ Sensitivity ของการตรวจแต่ละแบบ


ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด

เป็นที่ค่อนข้างจะแน่นอนว่า หากผลจากที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด หรือผลเป็นบวก ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่ด้วย เพราะน่าจะกำลังมีเบบี๋ตัวน้อย ๆ เข้ามาเติมเต็มชีวิตครอบครัวเร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ผลตรวจครรภ์ 2 ขีด ก็ยังแบ่งออกเป็นกรณีต่าง ๆ ดังนี้

  • ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีดเข้ม บอกอะไร

ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีดเข้ม แสดงว่า น่าจะกำลังตั้งครรภ์ แต่เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น ควรทำการตรวจใหม่อีกครั้งในอีก 2-3 วันข้างหน้าด้วยที่ตรวจครรภ์อันใหม่ หรือไปเข้ารับการตรวจโดยตรงอีกครั้งกับแพทย์

  • ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีดเข้ม 1 ขีดจาง บอกอะไร

ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด แต่อีกขีดหนึ่งขีดแค่เพียงจาง ๆ ก็เป็นผลลัพธ์ที่แสดงว่า น่าจะกำลังตั้งครรภ์ แต่เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น ควรทำการตรวจใหม่อีกครั้งในอีก 2-3 วันข้างหน้าด้วยที่ตรวจครรภ์อันใหม่ หรือไปเข้ารับการตรวจโดยตรงอีกครั้งกับแพทย์

  • ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด แต่ไม่ท้อง เป็นไปได้ไหม

ในกรณีที่ผลตรวจครรภ์ขึ้นเป็นบวก แต่ไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่เกิดขึ้นได้น้อย ซึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากการรับประทานยารักษาภาวะการมีบุตรยาก หรือมีปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ที่ทำให้มีเลือดหรือโปรตีนปนอยู่ในปัสสาวะ และทำให้ผลตรวจผิดเพี้ยนไป หรือที่ตรวจครรภ์อาจไม่ได้คุณภาพ

แต่เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น ควรทำการตรวจใหม่อีกครั้งในอีก 2-3 วันข้างหน้าด้วยที่ตรวจครรภ์อันใหม่ หรือไปเข้ารับการตรวจโดยตรงอีกครั้งกับแพทย์

ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีด

หากผลจากที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีด หรือผลเป็นลบ ก็ค่อนข้างจะแน่นอนว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลตรวจครรภ์ 1 ขีด ก็ยังแบ่งออกเป็นกรณีต่าง ๆ ดังนี้

  • ตรวจครรภ์ 1 ขีดแต่ท้อง เป็นไปได้ไหม

มีหลายกรณีที่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง แต่ครั้นเวลาตรวจครรภ์ กลับพบว่าผลตรวจครรภ์ขึ้นเป็นลบ หรือขึ้น 1 ขีด ซึ่งก็มีคำอธิบายอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ดังนี้

  • มีระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ หรือฮอร์โมนhCG ในปัสสาวะน้อยเกินไป

  • ตรวจครรภ์เร็วเกินไป เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงสุด ควรรอตรวจครรภ์หลังจากที่มีการปฏิสนธิไปแล้วประมาณ 12-14 วัน

  • ที่ตรวจครรภ์หมดอายุการใช้งาน ชำรุด หรือไม่ได้มาตรฐาน

  • อาจมีการตั้งครรภ์นอกมดลูก

หากมั่นใจหรือเอะใจว่าน่าจะมีการตั้งครรภ์ และผลตรวจขึ้นเป็นลบ หรือขึ้นแค่ 1 ขีด ควรทำการตรวจอีกครั้งในวันถัดไปด้วยที่ตรวจครรภ์อันใหม่ หรือไปเข้ารับการตรวจโดยตรงอีกครั้งกับแพทย์ เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น

ตรวจฉี่ไม่ท้อง แต่ประจําเดือนไม่มา แปลว่ามีโอกาสท้องไหม?

หากตรวจฉี่แต่ผลเป็นลบ หรือผลจากที่ตรวจครรภ์ขึ้นขีดเดียว ก็อาจจะมีโอกาสท้องได้ ในกรณีที่:

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ หรือฮอร์โมนhCG ในปัสสาวะน้อยเกินไปจนทำให้ตรวจไม่พบการตั้งครรภ์

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่ตรวจครรภ์เร็วเกินไป เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงสุด ควรรอตรวจครรภ์หลังจากที่มีการปฏิสนธิไปแล้วประมาณ 12-14 วัน

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่ที่ตรวจครรภ์หมดอายุการใช้งาน ชำรุด หรือไม่ได้มาตรฐาน

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่อาจเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่ก่อนหน้านั้นหรือระหว่างนั้นมีการรับประทานยาสำหรับใช้รักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งอาจส่งผลต่อองค์ประกอบของปัสสาวะ ทำให้ตรวจไม่พบการตั้งครรภ์

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่มีการแท้งไปก่อนหน้านั้นแล้วโดยไม่รู้ตัว

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่เป็นการท้องลม ซึ่งตัวอ่อนฝ่อไปนานแล้วโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น หากไม่มั่นใจในผลตรวจครรภ์นั้น สามารถตรวจใหม่อีกครั้งได้ในวันถัดไป โดยใช้ที่ตรวจครรภ์อันใหม่ หรือสามารถไปเข้ารับการตรวจอีกครั้งโดยตรงกับแพทย์เพื่อให้ทราบผลลัพธ์ที่แม่นยำได้

วิธีตรวจครรภ์แบบโบราณมีอะไรบ้าง และแม่นยำแค่ไหน


การตรวจครรภ์ในสมัยก่อนนั้น มีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี อย่างถ้าย้อนไปไกลสุดเท่าที่มีหลักฐานปรากฎไว้ก็คือในสมัยอียิปต์โบราณ หรือราว ๆ 1350 ปีก่อนคริสตกาล จะให้ผู้หญิงปัสสาวะรดกระดาษปาปิรุสที่มีเมล็ดข้าวบาร์เลย์และเมล็ดข้าวสาลีวางเอาไว้ ซึ่งการปัสสาวะรดนี้กระดาษปาปิรุสนี้จะกินเวลาหลายวัน และจะวัดผลการตั้งครรภ์จากการที่

  • ถ้าหากเมล็ดข้าวบาร์เลย์งอกขึ้นมาเป็นต้น แปลว่ากำลังจะมีบุตรชาย

  • แต่ถ้าเมล็ดข้าวบาร์เลย์งอกขึ้นมาแทน ก็แปลว่ากำลังจะมีบุตรสาว

  • แต่ถ้าเมล็ดทั้งสองไม่งอกต้นใด ๆ ออกมาเลย ก็แปลว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ แน่นอนว่าในเรื่องของความแม่นยำนั้น ก็คงจะไม่ได้แม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์

พอมาถึงยุคกลาง - ยุคศตวรรษที่ - ยุคศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มมีการจำแนกสีของปัสสาวะ โดยจะมีการนำไวน์ไปผสมกับปัสสาวะเพื่อสังเกตปฏิกิริยา ซึ่งสีปัสสาวะที่มีการตั้งครรภ์ จะเป็นปัสสาวะที่มีสีซีดใสเหมือนเลมอน ไปจนถึงสีขาวนวล แต่ด้านบนของปัสสาวะจะมีสีที่ออกคล้ำขุ่น ซึ่งก็ยังไม่ถือว่ามีความแม่นยำเพียงพอแต่อย่างใด ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจึงมักจะสังเกตจากอาการต่าง ๆ เช่น อาการแพ้ท้อง เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่

จนเริ่มเข้าสู่ยุคปี 1900 นักวิทยาศาสตร์เริ่มมีการศึกษาถึงฮอร์โมนต่าง ๆ ที่น่าจะมีผลต่อการตั้งครรภ์ จนในช่วงปี 1920 เซลมาร์ อัชเฮม (Selmar Aschheim) และ เบิร์นฮาร์ด ซอนเดก (Bernhard Zondek) เริ่มมีการศึกษาว่ามีฮอร์โมนเฉพาะในการตั้งครรภ์อยู่จริง (รู้จักกันในยุคหลังว่าคือฮอร์โมน hCG) โดยทำการทดลองฉีดปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์เข้าไปในหนูทดลอง ก่อนที่จะ มีการเปลี่ยนมาใช้กระต่าย กบ คางคก เพื่อทดลองฉีดhCGและกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ในสัตว์เหล่านั้น

กระทั่งราวปี 1970 ที่วงการแพทย์เริ่มมีการรณรงค์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการคัดกรองการตั้งครรภ์เบื้องต้น และมีชุดทดสอบการตั้งครรภ์ผลิตออกมาใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ยังจำกัดอยู่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ไม่สามารถนำกลับมาตรวจเองที่บ้านได้

และกว่าที่โลกจะมีชุดตรวจครรภ์ขนาดจิ๋วที่สามารถพกพาได้และใช้ตรวจเองที่บ้านได้ ก็ในปี 1979 ที่เริ่มมีการจำหน่ายชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่สามารถตรวจได้เองที่บ้านโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แบบที่พวกเราใช้กันในปัจจุบันนี้นี่เอง

จะเห็นได้ว่า กว่าจะมีที่ตรวจครรภ์ขนาดมินิให้เราได้ใช้อย่างสะดวกในทุกวันนี้ เราต้องสูญเสียเมล็ดข้าวสาลี เมล็ดข้าวบาร์เลย์ และชีวิตของหนู กระต่าย กบ คางคก ไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ถือว่าเป็นวิวัฒนาการที่ยาวนาน กว่าที่ผู้หญิงจะสามารถมีทางเลือกในการตรวจครรภ์และทางเลือกในการดำเนินชีวิตได้เฉกเช่นปัจจุบัน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจครรภ์


ก่อนจะเริ่มทำการตรวจครรภ์ คุณแม่ควรทราบหลักทั่ว ๆ ไปในการตรวจครรภ์ก่อน ดังนี้

  • การตรวจครรภ์ ไม่ควรตรวจเร็วเกินไป เพราะจะทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อน ระยะเวลาเร็วที่สุดในการตรวจครรภ์ด้วยตนเองคือ 12-14 วัน หรือ 8-10 วัน กรณีตรวจเลือดกับแพทย์ หรือรอจนกระทั่งประจำเดือนขาดแแล้วจึงตรวจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงสุด

  • การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ที่ตรวจครรภ์ ซึ่งเป็นชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจหาการตั้งครรภ์ ที่ผู้ใช้สามารถทำการตรวจได้ด้วยตัวเอง และสามารถหาซื้อได้เองตามร้านค้าหรือร้านขายยาทั่วไป โดยจะมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ คือ ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม ที่ตรวจครรภ์แบบหยด ที่ตรวจครรภ์แบบปากกา ที่ตรวจครรภ์ดิจิตอล

  • การตรวจครรภ์กับแพทย์ มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี คือ เจาะเลือดตรวจครรภ์ (Blood Test) ตรวจปัสสาวะคนท้อง “Urine Pregnancy Test” หรือ ยูพีที (UPT) ตรวจหาฮอร์โมน hCG (hCG Test) และการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์ ซึ่งการตรวจเหล่านี้จะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงสุด

  • ก่อนที่จะทำการตรวจครรภ์ ไม่ควรดื่มน้ำมากจนเกินไป เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ระดับของฮอร์โมนhCG ในปัสสาวะเจือจางลง และอาจทำให้ผลการตรวจขาดความแม่นยำ

  • ก่อนจะซื้อที่ตรวจครรภ์ และก่อนที่จะทำการตรวจครรภ์ เช็กวันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุก่อน หากพบว่าผลิตภัณฑ์หมดอายุการใช้งาน หรือมีการชำรุด ไม่ควรใช้ เพราะอาจทำให้ผลการตรวจขาดความแม่นยำ

  • ในกรณีที่มีอาการคล้ายคนท้องในระยะแรก แต่ตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์แล้วผลเป็นลบ ให้ตรวจอีกครั้งในวันถัดไปด้วยที่ตรวจครรภ์อันใหม่ หรือไปเข้ารับการตรวจครรภ์โดยตรงกับแพทย์เพื่อความแม่นยำ

ไขข้อข้องใจเรื่องการตรวจครรภ์กับ Enfa Smart Club


 เมนส์ไม่มากี่วันถึงท้อง

โดยปกติแล้วมักจะแนะนำให้ตรวจครรภ์เมื่อประจำเดือนขาด แต่ประจําเดือนขาดกี่วันถึงท้อง?

ในส่วนนี้ก็จะแตกต่างกันไป เพราะประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละคนจะมาไม่เท่ากัน ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว หากพ้น 14 วันหลังจากที่มีไข่ตกแล้วประจำเดือนไม่มา ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดการตั้งครรภ์

แต่ถ้าในกรณีที่ประจำเดือนมาไม่ค่อยปกติ การนับ 14 วันหลังไข่ตก ก็อาจจะไม่ตรงกับการมีประจำเดือนในรอบต่อไป จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลอื่น ๆ มาประกอบกัน เช่น ครั้งที่มีรอบเดือนล่าสุด วันที่คาดว่าจะมีการตกไข่ล่าสุด

 จับท้องยังไงให้รู้ว่าท้อง? เราสามารถจับท้องหรือกดท้องเพื่อเช็กการตั้งครรภ์ได้หรือไม่

การจับท้อง ไม่สามารถการันตีว่าจะตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ เว้นเสียแต่ว่าในกรณีที่ตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว และผ่านไปหลบายเดือนจนกระทั่งตัวอ่อนพัฒนาเป็นทารก และเห็นความเปลี่ยนแปลงของทารกผ่านหน้าท้อง กรณีเช่นนั้นก็อาจจะตรวจพบการตั้งครรภ์ได้

แต่โดยปกติแล้ว การจับท้อง ไม่สามารถบอกว่าตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ได้ ทางที่ดีควรตรวจครรภ์ด้วยที่ตรวจครรภ์ หรือไปตรวจครรภ์กับแพทย์จะดีที่สุด

 เป็นไปได้ไหม ท้องแต่ตรวจไม่เจอ

มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีการตั้งครรภ์ แต่ตรวจไม่พบ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ส่วนมากแล้วมักจะตรวจพบการตั้งครรภ์

แต่ในกรณีที่ตรวจไม่พบ อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ หรือฮอร์โมนhCG ในปัสสาวะน้อยเกินไปจนทำให้ตรวจไม่พบการตั้งครรภ์

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่ตรวจครรภ์เร็วเกินไป เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงสุด ควรรอตรวจครรภ์หลังจากที่มีการปฏิสนธิไปแล้วประมาณ 12-14 วัน

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่ที่ตรวจครรภ์หมดอายุการใช้งาน ชำรุด หรือไม่ได้มาตรฐาน

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่อาจเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่ก่อนหน้านั้นหรือระหว่างนั้นมีการรับประทานยาสำหรับใช้รักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งอาจส่งผลต่อองค์ประกอบของปัสสาวะ ทำให้ตรวจไม่พบการตั้งครรภ์

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่มีการแท้งไปก่อนหน้านั้นแล้วโดยไม่รู้ตัว

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่เป็นการท้องลม ซึ่งตัวอ่อนฝ่อไปนานแล้วโดยไม่รู้ตัว

 ท้อง 4 สัปดาห์ตรวจเจอไหม

ท้อง 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ เพราะรกเริ่มมีการผลิตฮอร์โมน hCG มากขึ้น ทำให้สามารถตรวจพบได้ง่ายขึ้น

 ค่าตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลแพงไหม

ค่าตรวจครรภ์ของแต่ละโรงพยาบาลจะแตกต่างกันไป ไม่เท่ากัน อย่างโรงพยาบาลของรัฐฯ ก็จะเริ่มตั้งแต่ 100 บาทต่อครั้ง ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ก็อาจจะเริ่มตั้งแต่ 1,000 บาทต่อครั้ง

แต่เพื่อให้ได้ราคาที่แม่นยำที่สุด สามารถติดต่อสอบถามกับโรงพยาบาลที่สนใจจะทำการตรวจครรภ์ได้โดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลและรายละเอียดอื่น ๆ ที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด

 ตรวจครรภ์ 2 ขีด ไม่ท้อง เกิดจากอะไร

ในกรณีที่ผลตรวจครรภ์ขึ้นเป็นบวก แต่ไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่เกิดขึ้นได้น้อย

ซึ่งอาจเป็นผลพวงมาจาก

  • การรับประทานยารักษาภาวะการมีบุตรยาก

  • ปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ที่ทำให้มีเลือดหรือโปรตีนปนอยู่ในปัสสาวะ และทำให้ผลตรวจผิดเพี้ยนไป

  • ที่ตรวจครรภ์อาจไม่ได้คุณภาพ

ดังนั้น เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น ควรทำการตรวจใหม่อีกครั้งในอีก 2-3 วันข้างหน้าด้วยที่ตรวจครรภ์อันใหม่ หรือไปเข้ารับการตรวจโดยตรงอีกครั้งกับแพทย์

 วิธีการตรวจครรภ์แบบไหนแม่นยำที่สุด

การตรวจเลือดเพื่อหาการตั้งครรภ์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ให้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำสูง และให้รายละเอียดต่าง ๆ ได้มากกว่าการบอกว่าตั้งท้องหรือไม่ เพราะสามารถตรวจพบระดับฮอร์โมน hCG หรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ได้อย่างชัดเจนว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ทั้งยังสามารถบอกได้ว่าขณะนี้ตั้งครรภ์กี่สัปดาห์แล้ว

 ตรวจฉี่ไม่ท้อง ตรวจเลือดท้อง เกิดจากอะไร

เป็นไปได้หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น

  • ที่ตรวจครรภ์ชำรุด เสื่อมสภาพ

  • ตรวจปัสสาวะในช่วงเวลาที่ฮอร์โมน hCG ต่ำ

  • ดื่มน้ำเยอะก่อนที่จะตรวจปัสสาวะ ทำให้ระดับฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะถูกเจือจางจนตรวจพบได้น้อยหรือตรวจไม่พบเลย

  • ตรวจครรภ์เร็วเกินไป

 ตรวจเลือดตั้งครรภ์รอผลนานไหม

การตรวจเลือดเพื่อหาการตั้งครรภ์ อาจจะต้องรอผลตรวจตั้งแต่ 1-3 วัน เพราะเป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการ

 ตรวจเลือดตั้งครรภ์ ราคาประมาณเท่าไหร่

ราคาในการตรวจเลือดตั้งครรภ์นั้นจะแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาล แต่ราคาอาจเริ่มต้นที่ 1,000 บาทขึ้นไป

แต่เพื่อให้ได้ราคาที่แม่นยำที่สุด สามารถติดต่อสอบถามกับโรงพยาบาลที่สนใจจะทำการตรวจเลือดหาการตั้งครรภ์ได้โดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลและรายละเอียดอื่น ๆ ที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด

 hCG คือที่ตรวจอะไร

hCG ไม่ใช่ที่ตรวจ แต่เป็นฮอร์โมน hCG หรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เกิดจากรก ประกอบไปด้วยความยาวกรดอะมิโนจำนวน 237 ตัว ซึ่งจะฮอร์โมน hCG จะสามารถตรวจพบได้หลังจากผ่านการปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน

หากมีระดับ hCG สูงก็แปลว่ากำลังตั้งครรภ์ แต่ถ้าระดับ hCG อยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ก็แปลว่ายังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ซึ่งการตรวจหา hCG นั้นจะตรวจเพื่อดักจับส่วนประกอบย่อยฮอร์โมน โดยใช้น้ำยาสำหรับตรวจหา hCG โดยเฉพาะ

 ตรวจครรภ์ 2 ขีดเข้ม แต่ไม่ท้อง เกิดจากอะไร

ในกรณีที่ผลตรวจครรภ์ขึ้นเป็นบวก หรือขึ้น 2 ขีดเข้ม แต่ไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่เกิดขึ้นได้น้อย ซึ่งกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น

  • การรับประทานยารักษาภาวะการมีบุตรยาก

  • ปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ที่ทำให้มีเลือดหรือโปรตีนปนอยู่ในปัสสาวะ และทำให้ผลตรวจผิดเพี้ยนไป

  • ที่ตรวจครรภ์อาจไม่ได้คุณภาพ

ดังนั้น เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น ควรทำการตรวจใหม่อีกครั้งในอีก 2-3 วันข้างหน้าด้วยที่ตรวจครรภ์อันใหม่ หรือไปเข้ารับการตรวจโดยตรงอีกครั้งกับแพทย์


EFB Form

EFB Form